ความจำเป็น

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 200 ล้านคน หรือร้อยละ 3.2 ของประชากรโลกทั้งหมด เฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาแห่งเดียว มีผู้ใช้ถึง 80 ล้านคน (ประมาณร้อยละ 29 ของพลเมืองสหรัฐอเมริกา) และจากข้อมูลการสำรวจผู้ใช้อินเตอร์เน็ตของชาวอเมริกัน ยังพบว่ากิจกรรมต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นแบบตัวต่อตัว หรืออาจจะกระทำได้ผ่านระบบเครือข่ายวิทยุ โทรทัศน์ หรือโทรศัพท์ เช่น ซื้อขายสินค้า ปรึกษาแพทย์ ฟังการถ่ายทอดวิทยุ ลงทุน รับทราบข่าว หรือ สนทนาโทรศัพท์ นั้น ในยุคสังคมดิจิทัลนี้ หนึ่งในสามของชาวอเมริกันก็ดำเนินกิจกรรมเหล่านี้โดยใช้อินเตอร์เน็ต

ด้วยสภาวการณ์เช่นนี้ เราจึงไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า นับจากนี้ไป การเติบโตของ “ปริมาณข้อมูลดิจิทัล” จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เนื่องจากความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารได้อย่างสะดวก ง่ายดายทั้งผู้สร้างและผู้แสวงหานี้ และอีกไม่นาน ข่าวสารและการสื่อสารต่างๆ ก็คงจะถูกปรับเปลี่ยนหรือแปลงเป็นดิจิทัล (Digitized) แทบทั้งหมด

ประเทศไทยของเราก็ก้าวเข้าสู่ยุคสังคมดิจิทัลอย่างเต็มตัวแล้วเช่นกัน รายงาน ผลสำรวจการมีและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน ปีพ.ศ. 25501 แสดงให้เห็นว่า ประชากรที่มีอายุ 6 ปี ขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 59.97 ล้านคน นั้น มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 16.04 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 26.8 และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 9.32 ล้านคน หรือ ถึงร้อยละ 15.5

บริบทการเติบโตของข้อมูลดิจิทัลของประเทศก็มิได้แตกต่างไปจากที่กล่าวถึง ข้างต้นแต่อย่างใด ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนฮาร์ดดิสก์ที่ใช้เก็บ ข้อมูล ระหว่างปี 2549-2550 และประมาณการการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของการใช้ในปี 2551 เป็นต้นไป ดังแสดงในรูปที่ 1 ซึ่งเป็นการประมาณการจำนวนฮาร์ดิสที่ใช้เก็บข้อมูล Web archive ที่คำนวณจากจำนวนเว็บไซต์ที่ใช้ในการทำดัชนี (Index) ของ www.sansarn.com ประกอบกับขนาดของไฟล์ข้อมูลซึ่งสุ่มจากเว็บไซต์ข่าวภาษาไทย

ในส่วนของสาระ (Content) นั้น แม้ว่าเราจะไม่สามารถหาจำนวนสถิติของสาระที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ภาษไทย หรือคนไทยที่เพิ่มขึ้นได้ แต่จากจำนวนโดเมนภายใต้ .th ที่เพิ่มขึ้นทุกปี 2 หรือ จำนวนผลการค้นคืนหน้าเว็บเพจที่เป็นภาษาไทยจาก google.co.th กว่า 700,000,000 หน้า ก็แสดงให้เห็นข้อมูลดิจิทัลจำนวนมหาศาลที่พร้อมให้เข้าถึงได้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ จำนวนพิกเซลของกล้อง รูปแบบการเก็บไฟล์ ตลอดจนพฤติกรรมการใช้งาน ระดับปานกลางก็เป็นเรื่องราวที่จะสามารถใช้คำนวณประมาณการการเพิ่มขึ้นของการใช้ฮาร์ดดิสก์ที่ใช้ เก็บรูปของกล้องดิจิทัลได้ด้วย ดังรูปที่ 2 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจำนวนฮาร์ดดิสก์ที่ใช้เก็บภาพถ่าย ดิจิทัลที่ใช้ในปี 2549-2550 และประมาณการตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไป ซึ่งจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แบบต่อเนื่อง หรือแม้แต่ปริมาณการเพิ่มขึ้นของจำนวนฮาร์ดดิสก์ที่ใช้เก็บข้อมูลภาพวีดีโอดิจิทัล ตามรูปที่ 3 ซึ่งเป็นการประมาณการจากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ขนาดพื้นที่และความถี่ในการใช้งาน ของผู้ใช้ทั่วไป ก็แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของข้อมูลดิจิทัลเช่นกัน

การเพิ่มขึ้นของข้อมูลดิจิทัลที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ มีประเด็นเกี่ยวเนื่องที่ต้องพิจารณาอยู่ 2 ประเด็น คือ

  1. ข้อมูลเดิม ซึ่งยังอยู่ในสื่ออื่นๆ อาจจะเป็นหนังสือ รูปภาพ หรือ เทปเสียงนั้น เมื่อความสะดวก ความรวดเร็วและความนิยมในการสร้างและใช้ข้อมูลดิจิทัลมีเพิ่มมากขึ้น ก็อาจจะทำให้ข้อมูลที่ยังมิได้ถูกแปลงหรือจัดเก็บเป็นข้อมูลดิจิทัลได้รับความนิยมจัดเก็บหรือเรียกใช้น้อยลง จนอาจจะสูญหายไปได้ในที่สุด

  2. ข้อมูลดิจิทัลที่จะเกิดขึ้นใหม่ ได้อย่างไม่มีขีดจำกัดนั้น ก็ต้องคำนึงถึงคุณภาพ การจัดการ และการนำไปใช้ด้วย หากมิได้มีการดูแลเรื่องความถูกต้องและควบคุมเรื่องคุณภาพของข้อมูล ปล่อยให้ข้อมูลของชาติถูกบิดเบือนไปตามศักยภาพของผู้เสนอ หรือหากไม่มีการจัดระบบเพื่อการจัดเก็บที่ได้มาตรฐานก็อาจจะมีปัญหาเรื่องการเผยแพร่ เชื่อมต่อ และสืบค้นได้

ในฐานะคนไทยซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลที่มีค่าของชาติ เราจึงต้องให้ความสำคัญและเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างชาญฉลาด

รูปที่ 1 ขนาดไฟล์ข้อความหน้าเว็บที่โตขึ้นในแต่ละปี

(ข้อมูลปี 2006-2007 จาก www.sansarn.com และคำนวณอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 30 ต่อปี)

รูปที่ 2 ขนาดไฟล์รูปภาพที่โตขึ้นในแต่ละปี

(ขนาดของพิกเซลประมาณโดยใช้ข้อมูลฐานนิยมจาก www.dpreview.com แล้วประมาณค่าแบบเส้นตรง โดยคำนวณที่รูปแบบการเก็บแบบ JPG ที่อ้างอิงจากกล้องตัวอย่าง)

รูปที่ 3 ขนาดไฟล์วีดีโอที่โตขึ้นในแต่ละปี