ประเด็นด้านนโยบาย กฎหมายและสังคมเกี่ยวกับการใช้ DRM

การคุ้มครองข้อมูลดิจิทัลด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์

โดยทั่วไป งานสร้างสรรค์ใดๆที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างขึ้นมาด้วยตนเอง (originality) และใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในระดับหนึ่ง (minimal degree of creativity) ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว ไม่ว่างานนั้นจะบรรจุอยู่ในสื่อบันทึกใดๆ และไม่ว่างานนั้นจะอยู่ในรูปดิจิทัลหรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน เมื่อมีการแปลงข้อมูลลิขสิทธิ์ให้อยู่ในรูปดิจิทัล และนำข้ามูลเหล่านั้นเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย การปกป้องคุ้มครองงานลิขสิทธิ์จากการทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อไปให้กับสาธารณชน ภายใต้บทบังคับของกฎหมายลิขสิทธิ์นั้น ก็ไม่เป็นการเพียงพออีกต่อไป เนื่องจากการทำซ้ำใน digital file นั้นเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว มีค่าใช้จ่ายน้อยมาก ถูกส่งต่อให้กับใครก็ได้ในโลกที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ นอกจากนี้ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ยังเอื้ออำนวยให้การดาวน์โลด รวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ เจ้าของลิขสิทธิ์จึงต้องหันมาพึ่ง DRM เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ digital content และเพื่อป้องกันการละเมิด

ก่อนที่จะนำไปสู่หัวข้อผลกระทบของการใช้ DRM หัวข้อถัดไปจะได้กล่าวถึงหลักการคุ้มครอง content ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์โดยสังเขป

หลักกฎหมายลิขสิทธิ์

  • งานอันมีลิขสิทธิ์

ผลงานสร้าสรรค์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ เป็นงานประเภทวรรณกรรมและศิลปกรรม เช่น หนังสือ รูปภาพ ภาพยนตร์ วิดีโอ รายการโทรทัศน์ งานเพลง งานโสตทัศน์ (audio-visual) สิ่งบันทึกเสียง เว็บไซท์ blogs รวมทั้งโปรแกรม คอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่คุ้มครองข้อมูลที่เป็นเพียงความคิด (idea) แนวความคิด (concept) ทฏษฎีทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ข้อเท็จจริง (fact) กระบวนการ (process) ระบบ (system) หรือ วิธีการดำเนินงาน (method of operation)

  • สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์

ผู้สร้างสรรค์ย่อมมีลิขสิทธิ์ในผลงานของตนทันทีที่ได้มีการสร้างสรรค์ โดยไม่จำเป็นต้องนำไปจดทะเบียนต่อ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองแก่งานลิขสิทธิ์ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอายุต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต (บางประเทศมีอายุต่อไปอีก 70 ปี) โดยในช่วงอายุลิขสิทธิ์นั้น เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิแต่ผู้เดียว (exclusive rights) ที่จะกระทำการ หรือ อนุญาตให้ผู้อื่นกระทำการดังต่อไปนี้

  • ทำซ้ำ (making a copy or reproduction)

  • ดัดแปลง (adaptation or making derivative works)

  • เผยแพร่ต่อสาธารณชน (making available to the public or distributing the work)

  • ความเป็นเจ้าของผลงานลิขสิทธิ์

งานลิขสิทธิ์ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นในทางการที่จ้าง ย่อมตกเป็นของผู้สร้างสรรค์ เว้นแต่จะได้มีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร เช่นระบุในสัญญาจ้างว่าให้ผลงานที่สร้างสรรค์โดยลูกจ้าง หรือพนักงาน ตกเป็นของสำนักงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีข้อตกลงดังกล่าว นายจ้างก็ยังมีสิทธินำเอางานนั้นออกแสดงต่อสาธารณชน หากเป็นกิจกรรมในทางการที่จ้าง2 ส่วนงานลิขสิทธิ์ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นภายใต้ “สัญญาว่าจ้างทำของ” (Work made for hire) ลิขสิทธิ์จะเป็นของผู้ว่าจ้าง3

  • ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์

กฎหมายลิขสิทธิ์ไทย ได้กำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ในมาตรา 32-43 ซึ่งมีสาระสำคัญว่า การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ ได้แก่ การศึกษาวิจัย การใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง การติชม วิจารณ์ การเสนอรายงานข่าว การใช้เพื่อการเรียนการสอน ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากการกระทำนั้นไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร ซึ่งข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์นี้ นิยมเรียกกันว่าเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์แบบธรรมสิทธิ หรือ fair use

การเผยแพร่ข้อมูลลิขสิทธิ์ด้วย license ในรูปแบบต่างๆ

เมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ทราบว่าตนมีสิทธิอย่างไรต่องานที่ตนเป็นเจ้าของแล้ว และมีความประสงค์จะอนุญาตให้บุคคลอื่นนำงานของตนไปใช้ ก็มักจะกำหนดเงื่อนไขการใช้ และอาจกำหนดค่าตอบแทนการใช้งานไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า มีบริการข้อมูลทางเว็บไซท์ ที่มีลักษณะที่เจ้าของข้อมูลประสงค์ที่จะแบ่งปันการใช้ข้อมูลแก่ผู้อื่น โดยอาจไม่มีข้อกำหนดที่ห้ามการทำซ้ำหรือดัดแปลง เช่น wikipedia.com หรือ อาจมีการกำหนดเงื่อนไขการใช้ข้อมูลในลักษณะที่ไม่เคร่งครัด เช่น creative commons.org หรือ gutenberg.org เป็นต้น อย่างก็ตาม ข้อมูลที่ปรากฎบนเว็บไซท์เหล่านั้น จะประกอบไปด้วยข้อมูลที่มีลิขสิทธิ์ เช่นบทความ เพลง วิดีโอ และรวมทั้งข้อมูลที่ไม่มีลิขสิทธิ์ เช่น ข้อมูลที่หมดอายุการคุ้มครองแล้ว, ข้อเท็จจริง, ข่าวประจำวัน, หรือ แนวความคิด ซึ่งเว็บไซท์อย่าง creative commons จัดให้มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (licenses) ประเภทต่างๆไว้ เพื่อให้เจ้าของงานสามารถเลือกได้ว่าตนประสงค์จะให้ผู้อื่นใช้งานของตนในลักษณะใด เช่น

  • มอบผลงานให้ตกเป็นสมบัติสาธารณะ (public domain works) และอนุญาตให้ผู้อื่นใช้งานของตนได้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

  • รักษาลิขสิทธิ์ไว้ แต่อนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำ ดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อได้ โดยต้องมีการอ้างอิง แต่ไม่อนุญาตให้นำผลงานไปใช้ในเชิงการค้า

  • รักษาลิขสิทธิ์ไว้ แต่อนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำหรือเผยแพร่ต่อได้โดยต้องมีการอ้างอิง แต่ไม่อนุญาตให้ดัดแปลง หรือนำผลงานไปใช้ในเชิงการค้า

  • รักษาลิขสิทธิ์ไว้โดยสมบูรณ์ การทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ หรือหาประโยชน์ในทางการค้าจากผลงาน

(Need permission: ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน)

ที่มา: ดัดแปลงจาก Creative Commons

นอกจากสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิจะเป็นเครื่องมือที่ดีอย่างหนึ่งในการควบคุม หรือบริหารจัดการข้อมูล หรือผลงานลิขสิทธิ์แล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์ จะมาพึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ป้องกันการทำซ้ำ หรือ การเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว และเพื่อการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ของข้อมูลดิจิทัลด้วย วัตถุประสงค์เริ่มแรกของการใช้ DRM ก็คือการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ขนาดใหญ่ (large-scale copyright infringement) ที่เกิดขึ้นในลักษณะ Peer-to-Peer file sharing ดังนั้น DRM จึงเป็นเทคโนโลยีที่เป็นเสมือนยามเฝ้าประตู digital content โดยผู้ใช้จะไม่สามารถเข้าถึง หรือไม่สามารถ ทำซ้ำ content ได้ หากไม่มีรหัสผ่าน หรือไม่ได้ใช้ hardware ที่สามารถถอดรหัสได้ เป็นต้น ด้วยระบบที่สร้างความปลอดภัยสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตเช่นนี้ DRM จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นที่ต้องการของ content providers อย่างมาก

ผลกระทบของการใช้ DRM ต่อ fair use และ Interoperability

DRM technologies ไม่ได้มีความน่าเชื่อถือ หรือปลอดภัยที่สุด หากแต่ขึ้นอยู่กับระดับของคุณภาพของเทคโนโลยี (what technology can do, another technology can undo) เจ้าของ DRM technology ในหลายประเทศ จึงได้รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายลิขสิทธิ์ ให้คุ้มครองทั้งตัว digital content เอง และตัวเทคโนโลยีที่ใช้คุ้มครอง digital content (DRM technology)

ซึ่งหลักการก็คือ กำหนดให้ (1) การหลีกเลี่ยง (bypass) หรือ ทำลาย (circumvent) DRM เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้บางประเทศยังกำหนดว่า (2) ผู้ใด กระทำการเผยแพร่ จำหน่าย หรือนำเข้าซึ่งอุปกรณ์ หรือบริการที่ใช้สำหรับหลีกเลี่ยงหรือ ทำลาย DRM ก็เป็นความผิดด้วย กฎหมายในลักษณะเช่นนี้ ได้รับการบัญญัติขึ้นในประเทศต่างๆมากกว่า 65 ประเทศทั่วโลก (อย่างน้อยมี 65 ประเทศที่เป็นภาคีของ World Intellectual Property Organization (WIPO) Copyright Treaty ซึ่งสนธิสัญญาดังกล่าว กำหนดให้ประเทศสมาชิก ต้องมีกฎหมายที่คุ้มครอง DRM ที่มีประสิทธิภาพ) โดยรูปแบบของกฎหมายที่เป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ก็คือ กฎหมาย Digital Millennium Copyright Act ของสหรัฐฯ และ EU Copyright Directive ของสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายดังกล่าว มีข้อยกเว้นในการทำลายหรือหลีกเลี่ยง DRM ที่ค่อนข้างจำกัดมาก และลักษณะของการกำหนดความผิดโดยเด็ดขาดเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการทำวิจัยและพัฒนาในเรื่อง encryption research, software interoperability รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้งานลิขสิทธิ์ในลักษณะ private use, fair use และรวมทั้ง การเรียนการสอน และ การให้บริการของห้องสมุดอีกด้วย

ประเด็นของ interoperability of proprietary DRM อาจถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาบริการ ใหม่ๆสำหรับการเผยแพร่ digital content online หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา hardware กล่าวคือ เจ้าของ DRM technology บางรายถูกมองว่าได้สร้างปรากฏการณ์ consumer lock-in (หรือ competitor lock-out) โดยผู้บริโภคไม่สามารถมีทางเลือกในการใช้ hardware ต่าง brand ได้ (เช่น กรณี iPod-iTune) หรือไม่อาจทราบได้ว่า DVD ที่ซื้อมานั้นจะไม่สามารถใช้กับเครื่องเล่น DVD ในรถยนต์ได้ เป็นต้น ดังนั้น DRM interoperability เป็นประเด็นที่ผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งรัฐบาลของหลายประเทศ กำลังถกเถียงหรือพยายามกำหนดกรอบนโยบาย ซึ่งนโยบายดังกล่าว อาจเกี่ยวข้องกับ DRM transparency หรือ กำหนดมาตรฐาน interoperability หรือ การก่อตั้งองค์กรกำกับดูแลเรื่อง DRM และความเกี่ยวโยงกับประเด็นด้านการแข่งขันทางการค้า เป็นต้น

นอกจากนี้ การใช้ DRM เพื่อคุ้มครอง digital content ต่างๆ นั้น อาจรวมไปถึงการคุ้มครอง digital content ที่หมดอายุการคุ้มครองภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์และตกเป็นสมบัติสาธารณะแล้ว (public domain works) หรือ อาจมีการใช้ DRM ไปคุ้มครองข้อมูลที่ไม่อาจได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ได้ เช่น ข้อมูลที่เป็น ข่าว ข้อเท็จจริง หรือ แนวความคิด (concept) หากมีกฎหมายที่กำหนดให้การทำลาย DRM เป็นความผิดเสียแล้ว ข้อมูลเหล่านี้ ก็จะถูกจำกัดการเข้าถึงไปด้วย

นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลลิขสิทธิ์ที่มี DRM คุ้มครองอยู่ อาจมีวัตถุประสงค์การใช้ที่เข้าหลัก fair use ก็ได้ หากการทำลายหรือหลีกเลี่ยง DRM เป็นความผิดเสียแล้ว การใช้งานลิขสิทธิ์ในลักษณะ fair use ก็จะถูกจำกัดไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้หลัก fair use มีความศักดิ์สิทธิ์น้อยลง ทั้งๆที่เป็นข้อยกเว้นการละเมิดที่สำคัญที่สุดของกฎหมายลิขสิทธิ์