การประยุกต์ใช้เทคนิคการสร้างภาพพาโนรามารายละเอียดสูงกับงานอนุรักษ์เชิงดิจิทัล

ขอบเขตของงานอนุรักษ์เชิงดิจิทัล (Digital Preservation) นั้นครอบคลุมงานหลัก 3 ส่วน ได้แก่ การแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปดิจิทัล การบริหารจัดการข้อมูล และการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ ซึ่งในกระบวนการอนุรักษ์เชิงดิจิทัลของพิพิธภัณฑ์ก็จะต้องมีการดำเนินงานทั้ง 3 ส่วนนี้เช่นเดียวกัน โจทย์ที่สำคัญของานด้านพิพิธภัณฑ์อยู่ที่ความหลากหลายในประเภทของข้อมูล มีลักษณะหรือชนิดของวัสดุที่แตกต่างกัน เช่น สิ่งของบางชนิดทำจากโลหะ บางชนิดทำจากแก้วเจียระไน บางชนิดทำจากดิน ไม้ หรือวัสดุอื่นๆ นอกจากนั้นขนาดที่แตกต่างกันของสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งอาจจะมีขนาดเล็กกว่าฝ่ามือ หรือมีขนาดใหญ่มากๆ เช่น บ้าน เจดีย์ โบราณสถาน เป็นต้น

ความแตกต่างดังที่กล่าวข้างต้น ทำให้เทคนิคที่นำมาประยุกต์ใช้ในงานด้านต่างๆ มีรายละเอียดและลักษณะที่แตกต่างกันไป เทคนิคการสร้างภาพพาโนรามารายละเอียดสูง (High Dynamic Range Panorama) เป็นเทคนิคหนึ่งที่นำมาใช้ในขั้นตอนของการแปลงข้อมูล ซึ่งเหมาะสำหรับการแปลงข้อมูลที่มีรายละเอียดอยู่รอบด้าน เช่น การใช้เทคนิคนี้เพื่อการเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมของสถานที่สำคัญ ซึ่งอาจจะหมายถึงจุดใดจุดหนึ่งของโบราณสถานที่สำคัญ หรือในเคหะสถานของบุคคลสำคัญ เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตในอดีต ซึ่งจะทำให้สามารถเก็บข้อมูลของสถานที่นั้นๆ ได้รายละเอียดมากกว่าการถ่ายภาพแบบปกติ สามารถหมุนดูภาพสถานที่นั้นๆ ได้ 360 องศาในแนวนอน และ 180 องศาในแนวตั้ง เสมือนว่าได้เข้าไปยืน ณ ตำแหน่งนั้นและหมุนตัวมองได้โดยรอบ รวมทั้งสามารถมองภาพที่อยู่ที่พื้นและเหนือศีรษะ ณ จุดที่ยืนอยู่ได้

ในส่วนของเทคโนโลยีที่ใช้ จะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนของการถ่ายภาพพาโนรามารายละเอียดสูง ซึ่งเป็นการประยุกต์การถ่ายภาพดิจิทัลรายละเอียดสูง โดยถ่ายภาพในเฟรมเดียวกันให้มีความสว่างที่แตกต่างกัน (Multiple Exposure) และการถ่ายภาพแบบพาโนรามา คือ การถ่ายภาพโดยรอบ ณ จุดหมุนเดียวกัน ซึ่งจะต้องมีการหมุนกล้องเป็นองศาที่เท่ากัน และมีการเหลื่อมของแต่ละภาพ อย่างน้อย 1 ใน 3 ของภาพ เพื่อนำมาให้ใช้การต่อทุกๆ ภาพเข้าด้วยกันในขั้นตอนต่อไป

อีกขั้นตอนหนึ่ง คือ ขั้นตอนของการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลภาพที่ได้จากในขั้นตอนแรก ซึ่งจะมีขั้นตอนการทำงาน ดังต่อไปนี้ คือ การรวมภาพเฟรมเดียวกันที่มีความสว่างแตกต่างกันให้เป็นภาพรายละเอียดสูง จากนั้นนำภาพรายละเอียดสูงแต่ละภาพที่ถูกถ่ายในแบบพาโนรามา มาต่อกันให้เป็นภาพเดียวกัน จะได้เป็นภาพนิ่งที่มีมุมมอง 360 องศา จากนั้นจึงแปลงข้อมูลภาพนิ่งที่ได้นี้ให้เป็นภาพแบบ Quicktime VR ที่สามารถหมุนดูโดยรอบได้ เสมือนว่าผู้ชมไปยืน ณ จุดนั้นจริงๆ

ปัญหาที่สำคัญของการประยุกต์ใช้เทคนิคการสร้างภาพพาโนรามารายละเอียดสูงกับการแปลงข้อมูลในงานอนุรักษ์เชิงดิจิทัลของพิพิธภัณฑ์คือ เทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ต้องใช้ทักษะและความเชี่ยวชาญพิเศษทั้งในส่วนของการถ่ายภาพ และการประมวลผลภาพ ซึ่งจะต้องอาศัยอุปกรณ์พิเศษ เช่น กล้องพร้อมเลนส์ที่มีองศาการรับภาพกว้าง ขาตั้งกล้องที่มีหัวที่สามารถวัดองศาได้อย่างแม่นยำทั้งในแนวตั้งและแนวนอน เพื่อลดความผิดพลาดจากการถ่ายภาพ และเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงพร้อมซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการประมวลผลข้อมูล ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ ดังกล่าวนี้เป็นอุปกรณ์ที่มีราคาสูง ซึ่งงานวิจัยในระดับต่อไปก็คือ การหาเทคนิค กระบวนการที่เหมาะสม หรือการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อช่วยลดระยะเวลา และต้นทุนในการนำเทคนิคนี้ไปใช้ในการแปลงข้อมูลที่สำคัญต่อไป

Workflow ในการสร้างภาพพาโนรามารายละเอียดสูง

ตัวอย่างการต่อภาพ

ตัวอย่างภาพรายละเอียดสูง