Digitized Thailand
พัฒนาคลังข้อมูลดิจิทัลแห่งชาติ สร้างไทยสู่ยุค “สังคมอุดมปัญญา”
ความยากลำบากในการค้นหาข้อมูลจากเอกสารกองพะเนิน อาจทำให้ใครหลายคน เหนื่อยหน่ายกับการใช้เวลาอันยาวนานเพื่อค้นหาข้อมูลที่ต้องการ แต่จะดีกว่านี้ไหม? หากเพียงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราสามารถสืบค้นข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม งานวิชาการ ท่องเที่ยว ธุรกิจ หรือแม้แต่ข้อมูลเพื่อความบันเทิงหลากหลายจากทั่วประเทศไทยได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส
ด้วยมุ่งหวังที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาคลังข้อมูลดิจิทัลระดับชาติขึ้น ภายใต้โครงการดิจิไทย หรือ Digitized Thailand เพื่อรวบรวมข้อมูลสำคัญในหน่วยงาน และสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศไทย ที่ปัจจุบันจัดเก็บกระจัดกระจายในรูปแบบเอกสารกระดาษ นำมาแปลงและจัดเก็บใหม่ในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนทั่วไป สามารถสืบค้นข้อมูลที่ต้องการได้อย่างง่ายดายผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์
โครงการดิจิไทย ถือเป็นโครงการเป้าหมายหลัก ที่ศูนย์ฯ นำเทคโนโลยีหลากหลาย ซึ่งได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาภายในมากว่า 10 ปี มาปรับใช้เพื่อพัฒนาคลังข้อมูลดิจิทัลแห่งชาติ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ภายใต้เป้าหมายที่จะนำประเทศไปสู่สังคมอุดมปัญญา หรือ Knowledge-based society
ภายใต้ระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี ระหว่างปี 2551 -2553 การพัฒนาระบบคลังข้อมูลดิจิทัลแห่งชาติ วางแผนในการจัดเก็บ รวบรวม และแปลงข้อมูลต่างๆไปสู่รูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ จากหลากหลายแหล่งที่มา สามารถเชื่อมโยงและเข้าถึงได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้โครงการดิจิไทย จะมีการสร้างความร่วมมือและให้การสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ในการรวบรวม และแปลงข้อมูลสู่ระบบดิจิตัลให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการจัดระเบียบข้อมูล มาตรฐานการสืบค้น จนถึงมาตรฐานในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
เมื่อข้อมูลต่างๆ ได้รับการพัฒนาเข้าสู่ระบบคลังข้อมูลดิจิทัลแห่งชาติ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในทุกระดับชั้นทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูลหลากหลายผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญานี้ จะส่งเสริมให้ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนไทย ตระหนักถึงการเรียนรู้และเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง (self-learning) เพื่อพัฒนาและยกระดับประเทศไทยไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ รวมถึงเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆของประเทศให้คงอยู่ต่อไป
เนื่องจากการพัฒนาระบบคลังข้อมูลดิจิทัลแห่งชาติ ถือเป็นการจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ระดับประเทศ โครงการดิจิไทย จึงเป็นโครงการตัวอย่างที่ได้มีการนำเทคโนโลยีหลากหลายมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดการให้บริการข้อมูลสมบูรณ์แบบ ไม่เพียงแต่เทคโนโลยีในการแปลงข้อมูลสู่ข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป แบบสื่อสามมิติ หรือ พิพิธภัณฑ์เสมือน (e-museum) เท่านั้น เทคโนโลยีอื่นๆ อาทิ เทคโนโลยีการจัดการฐานข้อมูลและเหมืองข้อมูล (Data Mining) การสืบค้นข้อมูล (Web Crawler & Search Engine) การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) รวมถึงวิศวกรรมความรู้ (Knowledge Engineering) ได้มีบทบาทสำคัญในการสร้าง พัฒนา และจัดการระบบฐานความรู้ในโครงการดิจิไทยเช่นกัน
เทคโนโลยีด้านเครือข่าย (Networking) และความปลอดภัย (Security) นับเป็นอีกหัวใจสำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบคลังข้อมูลดิจิทัล และเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ในทุกที่ ทุกเวลา การพัฒนายังครอบคลุมถึงการกำหนดมาตรฐานการเชื่อมโยงในระดับแอพพลิเคชั่น (Application Program Interface) ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลในคลังข้อมูลดิจิทัลได้โดยผ่านอุปกรณ์สื่อสารหลากหลายชนิด
ที่ผ่านมา โครงการดิจิไทยได้ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อการจัดเก็บข้อมูลดิจิทัล โดยเริ่มจากการเก็บข้อมูลและองค์ความรู้ด้านสมุนไพรไทยจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ภายใต้โครงการ Knowledge Unifying Initiator for Herbal Information หรือ KUIHerb รวมถึงโครงการจัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลทางด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของล้านนาในแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ Digitized Lanna เพื่อจัดสร้างและเก็บรวมรวมข้อมูลของอาณาจักรล้านนา เป็นต้น
โครงการดิจิไทย ได้ตั้งเป้าหมายว่า การมีข้อมูลจัดเก็บสู่คลังข้อมูลดิจิทัลแห่งชาติมากขึ้น จะทำให้ประเทศไทยมีแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรม การส่งเสริมการเรียนรู้ รวมไปถึงการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาธุรกิจบริการข้อมูลรูปแบบใหม่ ที่ภาคเอกชนสามารถนำฐานข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในประเทศ
การพัฒนาระบบคลังข้อมูลดิจิทัลแห่งชาติ ภายใต้โครงการดิจิไทย นับเป็นย่างก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและบทบาทในการวิจัยและพัฒนาของนักวิจัยไทย ในการนำเทคโนโลยีหลากหลายมาหลอมรวม เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ที่ไม่เพียงก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในอนาคต แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญในการนำพาประเทศ ก้าวสู่ยุคใหม่บนโลกดิจิทัลได้อย่างเต็มภาคภูมิ...
Digitized Thailand หมายถึงผลของความพยายามในการสร้างและจัดระบบข้อมูลของประเทศไทยและของชาติ ให้เป็นข้อมูลดิจิทัล เพื่อการอนุรักษ์และสร้างโอกาสของการเข้าถึงของชาวไทยในโลกดิจิทัล
ดิจิไทยคือก้าวแรกสู่การสร้าง "สังคมอุดมปัญญา"
Digital wave
การรวบรวมข้อมูลและเครื่องมือที่เกี่ยวข้องให้เป็นระบบเพื่อให้พร้อมนำไปใช้งานต่อได้ (Accumulating)
การสร้างองค์ความรู้จากข้อมูลที่รวบรวม (Knowledging)
การดำเนินการเพื่อให้เกิดความสามารถในการใช้องค์ความรู้ที่ได้ เพื่อทำความเข้าใจ ปรากฏการณ์ หรือเหตุการณ์ใหม่ (Understanding) และ
การดำเนินการเพื่อให้ระบบสามารถแก้ไขปัญหาหรือตัดสินใจได้ (Problem solving)