นางพญาแห่งผ้าซิ่น 1

นางพญาแห่งผ้าซิ่น 1

วิลักษณ์ ศรีป่าซาง

เฮือนเจียงลือ เอาใจชายหาญมาเป็นเวลาเมินนานแล้ว แม่ละอ่อนว่า มีแต่เรื่องดาบเรื่องมีด ข้าเจ้ากลัว เว้นวรรคบ้างได้มั้ย เราเองต้องตามใจ ด้วยว่าอำนาจนั้น เกี่ยวข้องกับความลึกลับบางอย่างอันพูดถึงก็ไม่ได้ รูปประกอบก็หายาก

จึงขอปรับอารมณ์หมู่เราเจ้าข้า คนหูมดาบหูมศาสตรา อ่านเรื่องผ้าเรื่องซิ่นบ้าง เห็นจับอยู่ทุกคืน ชื่นอยู่ทุกยาม เหล่าชายหาญก็รู้ไว้ใช่ว่าเนาะ

ส่วนภาพประกอบนั้น คงรวบรวมจากที่บันทึกไว้เองบ้าง ขอมาบ้าง อันใดที่ล่วงล้ำละเมิดเอา ก็ขอเมตตาอนุญาตจากเจ้าของ ผู้เขียนจะขอตอบแทนด้วยบุญกุศลจากข้อเขียนนี้ (ถ้ามี) มอบแด่ท่าน ให้ได้อยู่ม่วนกินหวานตานดี

ความจริงรู้แล้วแต่ต้นว่า มิใคร่มีใครอ่านข้อเขียนยาวๆ หากท่านเมื่อยตา ก็ดูรูปเอาเน้อ เสื้อผ้าหน้าผมแม่ญิง อาจไม่น่าชมเท่าเรือนร่าง แต่ภาพร่างกายแห่งนางๆชาวล้านนานั้น หามาประกอบยาก อดเอาเต๊อะ บุรุษเหย

"นางพญาแห่งผ้าซิ่น" ผู้เขียนกำหนดคำนี้ เพื่อเขียนเล่าเรื่องผ้าซิ่นโบราณ หายากและราคาแพง 5 กลุ่ม ต่อมาเมื่อนำบทความชุดนี้ ตีพิมพ์เป็นสารคดีเชิงวัฒนธรรมในนิตยสารสกุลไทย เมื่อปี พ.ศ. 2548 และตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง ในหนังสือที่ระลึกครบรอบ 80 วัสสา ดร.เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2552 ทำให้นางพญาแห่งผ้าซิ่นเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

กล่าวสำหรับข้อมูลการตัดสินใจเลือกผ้าซิ่นโบราณ 5 กลุ่มดังกล่าวนี้ ผู้เขียนได้ข้อมูลจากคุณอัญชลี ศรีป่าซาง (ภรรยา) ผู้สะสมผ้าโบราณมานานเท่าอายุการแต่งงาน และ รศ.ทรงศักดิ์ ปรางวัฒนากูล ผู้เชี่ยวชาญผ้าโบราณล้านนา รวมทั้งนักภูษิตาภรณ์พิลาส อันจะเอ่ยนามต่อไป ต่างร่วมกันดำริเห็นพ้องว่า ผ้าที่หายากในหมู่นักสะสมผ้าโบราณล้านนา 5 กลุ่ม ได้รับการสถาปนา เป็นนางพญาแห่งผ้าซิ่น คือ

1. ซิ่นไหมคำราชสำนักเชียงตุง

2. ซิ่นตีนจกไหมเงินไหมคำราชสำนักล้านนา

3. ซิ่นจกน้ำท่วมดอยเต่า

4. ซิ่นจกวิเศษ เมืองน่าน

5. ซิ่นน้ำปาด – ฟากท่า จ. อุตรดิตถ์

ก่อนจะเล่ายาว ขอนิยามคำศัพท์ ให้เข้าใจตรงกันก่อนเนาะ จะว่าเป็นคำๆ ไป ส่วนบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย อ่านจบแล้วจะสอบ ระวังไว้

"หรรษาวิชาการ" คำนี้ ผู้เขียนกำหนดขึ้น เป็นลีลาการเขียนเพื่อเย้าอารมณ์ผู้อ่าน ทำให้น่าอ่านยิ่งขึ้น โดยไม่ละทิ้งข้อเท็จจริงการนำเสนอผลงาน หรรษาวิชาการถือเป็นองค์ประกอบหลักในการนำเสนอผลงานในครั้งนี้ กล่าวคือ งานเขียนเจือสุนทรียะทางภาษา ทำให้ผู้อ่านอ่านแล้วได้ภาพ เร้าความรู้สึกให้เห็นคุณค่าของงานสะสม เร้าความรู้สึกให้ตระหนักค่า ต่อเรื่องที่ต้องการกล่าวถึง

"นักภูษิตาภรณ์พิลาส" คำนี้ ผู้เขียนกำหนดขึ้นเพื่อใช้เรียกขานนักนิยมสะสมผ้าโบราณ หรือผู้ที่สนใจ เรื่องความสวยความงามของผ้าและเครื่องประดับอย่างโบราณ ส่วนคำว่า ภูษิตาภรณ์พิลาส ให้หมายถึง ผ้าทอโบราณล้านนาอย่างงาม

"อัตลักษณ์ล้านนา" อัตลักษณ์ คือ ลักษณะเฉพาะตัว (พจนานุกรมฉบับมติชน, 2547) คำนี้ ในอดีตใช้คำว่า เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ผ้าทอโบราณล้านนา (ผ้าซิ่น) มีองค์ประกอบหลักคือ หัวซิ่น ตัวซิ่น และส่วนเชิง หรือตีนซิ่น หัวซิ่นเป็นผ้าพื้นสีขาว หรือเข้ม ตัวซิ่นทอลายขวางมีหลายแบบ เช่นเดียวกับตีนซิ่นมีลวดลายแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งวัสดุการทอด้วย

"ภูมิปัญญา" คือ องค์ความรู้ในทุกๆ ด้าน ที่ถูกสั่งสมมาตั้งแต่อดีต ผ่านการทดลองทำ ลองผิดลองถูก จนได้ข้อสรุปว่าดีแล้ว ได้รับการรักษาและสืบทอดมาสู่ยุคปัจจุบัน องค์ความรู้เกี่ยวข้องกับชีวิต เกี่ยวข้องกับตัวเรา ทั้งในด้านวัตถุธรรม และนามธรรม ภูมิปัญญาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ ศิลปวิทยาการ งานสล่าช่าง อันถูกสั่งสมมายาวนาน ภูมิปัญญาอาจไม่ใช่ทุกคำตอบหรือทางออกทั้งหมดของการดำรงชีวิตในปัจจุบัน หากแต่มีบทบาทค้ำจุนจิตวิญญาณของคนในท้องถิ่น

"จิตวิญญาณ" หมายถึงสภาวะความระลึกมั่น ในน้ำเนื้อตัวตนแห่งเรา รู้สำนึก รู้เหตุผล รู้ค่าความเป็นตัวตน จนเกิดความภูมิใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ คือสภาวะว่าเรานั้นแท้จริงเป็นใคร ยอมรับความเป็นจริงในสิ่งที่เราเป็นและมีอยู่ รู้สำนึกต่อหน้าที่ เข้าใจอย่างมีเหตุผล ระลึกรู้ว่า สิ่งเหล่านั้นย่อมมีคุณค่าในตัวมันเอง คุณค่านั้นอาจเป็นองค์ความรู้ เป็นภูมิปัญญา เป็นประโยชน์สืบต่อ ความรู้สึกภูมิใจมั่นใจในตัวตนนั้น ส่งผลให้เราอิ่มเอิบและภูมิใจ

"สุนทรียะ" ในที่นี้ หมายถึงรสนิยมที่มีต่อ ความงาม ความสวย รสชาติ ความชอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ย่อมไม่เป็นสากล คือ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะบุคคล ดังนั้น สุนทรียะ อย่าง ความงาม ความอร่อย หรือชอบ ประทับใจ ซึ้งใจ กล่าวโดยรวมอย่างรูป รส กลิ่น เสียง จึงเป็นของใครของมัน

สุนทรียะเกี่ยวพันกับจิตวิญญาณ ซึ่งหมายถึงสิ่งแฝงลึกอยู่ในหน่วยความจำ ครอบงำ หรือติดตนมา อันเกิดจากประสบการณ์ทั้งมวล สุนทรียะเฉพาะบุคคล นั้นๆ อาจจะคล้าย หรือเหมือนได้ หากมีประสบการณ์เดิมคล้ายกัน สุนทรียะแนะนำกันได้ แต่จะให้เป็นอย่างเดียวกันนั้น ย่อมหาข้อพิสูจน์ยาก เช่นเดียวกับผู้อิ่มในรสธรรม ย่อมพบธรรมด้วยตนเองเท่านั้น

"อนุรักษ์" ผู้เขียนมักได้ฟังคำย้ำเตือนเสมอว่า ต้องให้ความสำคัญแก่พื้นถิ่น ประมาณว่าให้คนในพื้นถิ่น“สำนึกรักบ้านเกิด รู้จักสืบสานวัฒนธรรม” เห็นค่า หวงแหน และรักษาไว้ให้ลูกให้หลานได้เข้าใจ คำหรูให้สำนึกเหล่านี้ ในความเป็นจริงแล้ว หน้าที่สำคัญของผู้รู้มาก่อนต้องสร้างองค์ความรู้ให้กระจ่าง คือก่อนที่จะทำนุบำรุงรักษานั้น ต้องมีกระบวนการอื่นอีกหลายขั้นตอน เช่น

๑)รู้จักมักคุ้น ๒)รู้ศึกษา ๓)รู้อย่างเข้าใจ ๔)รู้คุณค่า ๕)เกิดความศรัทธา ๖)รักและหวงแหน ๖)อนุรักษ์รักษา ๗)ทำนุบำรุง (ส่วนมากองค์กรของรัฐมักกำหนดให้อนุรักษ์รักษา หรือไม่ก็ทำนุบำรุงหรือสืบสาน เราจะรักและหวงแหนในสิ่งที่เราไม่รู้ไม่ศรัทธา ไม่รู้ค่าได้อย่างไร)