ประวัติ "ไท - ยวนสระบุรี"

ประวัติ "ไท - ยวนสระบุรี"

ไทยวนสระบุรี

หลังจากที่บุเรงนองกษัตริย์พม่านำกองทัพ มาตีเมืองเชียงใหม่เพื่อเตรียมจะใช้เป็นหัวหาด ในการนำทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาต่อไปอีกนั้น อาณาจักรล้านนาก็ตกอยู่ในอำนาจของพม่าตั้งแต่วันสงกรานต์ปี พ.ศ. 2101 เป็นต้นมา จากนั้นพม่าก็เข้าปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือเรื่อยมา จนพระญากาวิละจากนครลำปาง ได้ขอกำลังสนับสนุนจากพระเจ้าตากสินไปขับไล่พม่าเมื่อ พ.ศ. 2317 หลังจากนั้น หัวเมืองฝ่ายเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ก็ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ. 2325 พระเจ้ากาวิละแห่งนครเชียงใหม่ได้ทราบว่า เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ขึ้นครองราชย์ จึงได้พาเจ้านายลงมาเข้าเผ้าทูลละอองธุลีพระบาทยังกรุงเทพฯ และถวายสิ่งของกับเชลยศึกซึ่งตีได้มาจากเชียงแสนด้วย

ใน พ.ศ. 2347 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรดฯ ให้กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชพร้อมด้วยเจ้านายในหัวเมืองฝ่ายเหนือยก ทัพไปตีเมืองเชียงแสนซึ่งขณะนั้นพม่าปกครองอยู่ คราวนั้นพม่ามิได้ออกมาต่อสู้ด้วย เป็นแต่รักษาเมืองมั่นอยู่ กองทัพล้อมเมืองเชียงแสนเป็นเวลาเดือนเศษก็ไม่สามารถตีเมืองได้ และกองทัพก็ขัดสนเสบียงอาหาร ประกอบกับได้ข่าวว่ากองทัพเมืองอังวะจะยกมาช่วยเมืองเชียงแสนด้วย และช่วงนั้นเป็นฤดูฝนเดือนหกซึ่งทำให้ผู้คนในกองทัพล้มป่วย กรมหลวงเทพหริรักษ์จึงให้ล่าทัพลงมา ให้แต่ทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือล้อมเมืองอยู่ ผู้คนในเชียงแสนก็อดอยากมาก จึงยอมสวามิภักดิ์และออกไปหาทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือ โปมะยุง่วนแม่ทัพพม่าเห็นเหลือที่จะห้ามปรามไว้ได้ก็ยกทัพหนีไป และตัวโปมะยุง่วนเองก็ถูกปีนตายในที่รบ

คราวนั้นกองทัพไทยให้รื้อกำแพงเมืองและ บ้านเมืองเสีย รวบรวมผู้คนชาวเชียงแสนได้ 23,000 คน แบ่งออกเป็น 5 ส่วน แล้วแยกไปอยู่เชียงใหม่ ลำปาง น่าน เวียงจันทร์และอีกส่วนหนึ่งถวายลง ณ กรุงเทพฯ ซึ่งก็โปรดฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สระบุรีและราชบุรี

ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเมืองสระบุรีตั้งขึ้น เป็นเมืองตั้งแต่ครั้งใด สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าเมืองสระบุรีเห็นจะได้รับการประกาศตั้งเป็นเมืองเมื่อ พ.ศ. 2092 ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ การตั้งเมืองสระบุรีขึ้นนั้นก็เพื่อรวบรวมผู้คนไว้ช่วยป้องกันศัตรูคือพม่า เมืองที่ตั้งขึ้นครั้งนั้นกำหนดแค่เพียงเขตแดน มิได้สร้างบริเวณเมืองหากผู้รั้งเมืองตั้งจวนอยู่ที่ไหนก็ได้ชื่อว่าที่ทำ การของเมืองอยู่ที่นั้น ตัวเมืองสระบุรีดั้งเดิมตั้งอยู่บริเวณบึงโง้ว ใกล้วัดจันทรบุรี อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันชาวเชียงแสนที่อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ก็คือมาตั้งบ้านเรือนอยู่ใน ท้องที่อำเภอเสาไห้ปัจจุบันนี้โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่วันที่ว่าการอำเภอเสาไห้ขึ้นไปทางตะวันออก ภายหลังเมื่อมีบุตรหลานมากขึ้น ก็ย้ายถิ่นฐานออกไปตั้งบ้านเรือนทำนำไกลจากฝั่งแม่น้ำป่าสัก ออกไป

คนเชียงแสนที่อพยพไปอยู่สระบุรี เรียกตนเองว่า คนยวน เรียกกาษาที่ตนพูดว่า ภาษายวน มา จนทุกวันนี้ปัจจุบันมีคนยวนไปตั้งถิ่นฐานทุกอำเภอ (ยกเว้นอำเภอหนองโดนและอำเภอดอนพุด) อำเภอที่มีคนยวนตั้งบ้านเรือนอยู่มากที่สุด คืออำเภอเมือง อำเภอเสาไห้ และกิ่งอำเภอวังม่วง

คนยวนที่เป็นหัวหน้านำหมู่คนยวนจากเชียงแสนมาครั้งนั้น ที่ยังมีชื่อจดจำเล่าขานกันมาจนถึงทุกวัน

ปู่เจ้าฟ้า ได้นำ บริวารมาตั้งผังเรือนอยู่ที่บ้านกับปู่เจ้าฟ้าอยู่ที่บ้านเจ้าฟ้าที่บ้าน เจ้าจะมีศาลปู่เจ้าอยู่ เมื่อวันสงกรานต์ชาวบ้านจะมีพิธีไหว้ผีแบบไทยวน แล้วอัญเชิญวิญญาณปู่เจ้าฟ้ามาประทับทรง ให้ลูกหลานสรงน้ำและท่านก็จะพยากรณ์เหตุการณ์บ้านเมืองปีต่อไปให้ทราบ

ปู่เจ้าฟ้ามีน้องคนหนึ่งชื่อ หนานต๊ะ นำ บริวารมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสิบต๊ะ (ปัจจุบันเรียกว่าบ้านสวนดอกไม้) เล่ากันว่าหนานต๊ะเป็นผู้มีอาคมขลังมากและรบเก่ง สามารถยกเต้าปูนขึ้นรับลูกธนูที่ศัตรูยิงมาได้ และหนานต๊ะผู้นี้ที่ร่วมตัดต้นตะเคียนที่บ้านสันปะแหน แล้วส่งไม้นี้ไปยังกรุงทำฯ เพื่อคัดเลือกเป็นเสาหลักเมือง แต่ไม้นี้ไม่ได้รับการคัดเลือกจึงลอยทวนน้ำขึ้นมาจมอยู่ที่หน้าที่ว่าการ อำเภอเสาไห้ บางคืนนางไม้จะขึ้นมาบนผิวน้ำแล้วร้องโหยหวน ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่าบ้านเสาไห้ (เดิมชื่อบ้านไผ่ล้อมน้อย) ปัจจุบันได้นำเสานี้ขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดสูง อำเภอเสาไห้ ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 501

หัวหน้าอีกคนหนึ่งที่นำหมู่คนยวนมาครั้งนั้นชื่อว่า ปู่คัมภีระ ได้ นำหมู่คนยวนมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านไผ่ล้อมอันเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกับ บ้านเจ้าฟ้าขึ้นไปทางตะวันออก ท่านผู้นี้ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากองโคสมัยรัชการที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองสระบุรี มีบรรดาศักดิ์ว่า พระยารัตนกาศ ท่านผู้นี้มีบุตร 4 คน คือ

บุตรชายคนแรกไม่ทราบนามเดิม เมื่อบิดาของท่านถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองสระบุรีสืบต่อจากบิดา มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยารัตนกาศ เช่นเดียวกับบิดา

บุตรชายคนที่สองของปู่คัมภีระ ไม่ทราบนามเดิม เมื่อพี่ของท่านเป็นเจ้าเมืองสระบุรี ท่านก็ได้รับตำแหน่งเป็นปลัดเมืองสระบุรี มีบรรดาศักดิ์เป็น พระบำรุงราษฎร์

บุตรชายคนที่สามของปู่คัมภีระชื่อพ่อ เฒ่ามหาวงศ์ หรือหลวงยกรบัตรมหาวงศ์ บุตรของท่านผู้นี้คือพระการีสุนทรการ (ทองคำ) ซึ่งเคยเป็นนายอำเภอแก่งคอย (พ.ศ.2436 – 2457) และบุตรของพ่อเฒ่ามหาวงศ์อีกคนหนึ่งคือพระยารัตนกาศ (แก้วก้อน) เคยเป็นนายอำเภอเสาไห้ (พ.ศ.2439 – 2442)

บุตรคนที่สี่ของปู่คัมภีระเป็นหญิงชื่อแม่เฒ่าบัวนำ สามีของท่านคือพระบำรุงภาชี มีหน้าที่ดูแลพาหนะม้า สังกัดกองโค

แต่ละท่านที่กล่าวนามมานี้ มีบุตรหลานสืบสายต่อกันมามากมาย จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ชาวไทยวนสระบุรี จะมีเอกลักษณ์ของตนเองสองประการ คือ ภาษา และ ประเพณี ดังจะกล่าวต่อไปนี้

ภาษา

ชาวไทยวนสระบุรีจะพูดภาษายวน ซึ่งก็คือภาษาไทยนั่นเอง ต่างแต่ว่าจะมีสำเนียงเสียงต่างไปจากภาษาไทยกรุงเทพฯ ภาษาไทยวนสระบุรีจะมีสำเนียงเสียงและคำศัพท์ เช่นเดียวกับภาษาถิ่นล้านนาทุกประการ

ชาวไทยวนสระบุรียังได้นำเอาภาษาของตนมาร้อยกรองให้มีเสียงสัมผัส นำมาร้องอย่างท่วงทำนอง เรียกว่า จ๊อย ตาม แบบที่ล้านนาเรียกว่า “ ซอ ” ซึ่งมีปรากฏทั่วไป ผู้ที่มีปฏิภาณโวหารดีและมีน้ำเสียงดีจะจ๊อยได้ อย่างน่าฟัง การจ๊อยอาจจ๊อยคนเดียวหรือจ๊อยคู่โต้ตอบกันก็ได้ เมื่อจ๊อยตอนใดเป็นที่ถูกใจของผู้ฟัง ผู้ฟังจะร้องออกมาดัง ๆ ว่า เช้ย หรือ เต๊กเข้าไป เป็นที่สนุกสนาน เนื้อหาที่นำมาจ๊อยกันอาจมีทั้งบทเกี้ยวพาราสี คำสอน นิทาน ชาดก ประวัติต่าง ๆ ฯลฯ


ตัวอย่างบทจ๊อยเกี้ยวของฝ่ายชาย ของปู่หลวงเยีย บ้านหวยหวาย อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ว่า ดังนี้ “ รู้ข่าวว่าจะได้มานี้ หลับตะคืนนี้ พี่บ่เป็นอันนอน ใจระริ่งวิงวอน ใคร่อยากหัน (เห็น) หน้าเจ้า แจ้งรุ่งเช้า ผ้าและเสื้อ แนบเนื้อก็ลืมเอา

มาหัน (หน้า) หนึ่งเทื่อ (ครั้ง) พี่บ่อยากใคร่หนี มาหันหน้านายหนึ่งที ใจพี่อยากใคร่ได้ ขดตัวเข้าหา ขยับกายาเข้าใกล้ ตัดไม้ไขว่คว้าเติง (ถึง)

ขอบุญเถิงบุญเติงเต๊อะเจ้า พี่กินข้าววันละเท่าหน่วยมะแขว้ง (มะเขือพวง) ก็ยังเหลือ พี่กินข้าววันละเท่าหน่วยมะเขือ ก็ยังบ่เสี้ยง (หมด) คิดฮอด (ถึง) แม่นายหน้าแก้มเกลี้ยง พี่กินน้ำบาดคอลง

พี่คิดฮอด (ถึง) น้อง เหมือนแมงเม่าเมาฝน พี่คิดฮอดนายเหมือนคนเมาเหล้า ข้าเมาเจ้าเหมือนไก่เมาค้อน เมารีบเมาร้อน เหมือนปลาแกดก้างเมามัว

ตกตาเพิ่น (ท่าน) เป็นดีใคร่หัว (หัวเราะ) ตกตาตัวเป็นดีใคร่ได้ (ร้องไห้) ตายเป็นตาย พี่บ่หมายหวังได้ ฟู่ (พูด) เอาไว้เสี่ยงตามบุญ

(ลง) ดอกสบันงานแห้ง หอมสุนดา เฮย… ”

นอกจากนี้ชาวไทยวนยังได้มีอักษรของตนใช้ มานานแล้ว เมื่อชาวเชียงแสนอพยพมาอยู่สระบุรี ก็นำเอาอักษรเหล่านี้มาใช้ด้วย ใช้เขียนลงในสมุดข่อย หรือจารลงบนใบลาน ไทยวนสระบุรีเรียงหนังสือนี้ว่า หนังสือยวน ซึ่งชาวล้านนาเรียกว่า ตัวเมือง หรืออักษรพื้นเมือง

การบันทึกลงในสมุดไทยหรือสมุดข่อยด้วย อักษรยวน มักจะเป็นตำราหมอดู ตำรายาสมุนไพร เวทมนต์คาถาต่าง ๆ ส่วนที่จารลงในใบลานส่วนมากจะเป็นพระธรรมเทศนา คัมภีร์เทศน์ยวนที่คนยวนนิยมสร้างถวายวัดที่เชื่อว่าได้บุญมาก คือเรื่องพระเวสสันดรชาดร ยอดไถลปิฎก (ยอดพระไตรปิฎก) กรรมวาจา และพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์

เรื่องเวสสันดรชาดำนั้นมีทั้งฉบับที่มี สำนวนต่างกัน เช่น ฉบับท่าแป้น ฉบับวิงวอน ฉบับสายฟ้าหม่อน ฉบับหนองเสริญ ฉบับไผ่แจ้เรียวคำ คัมภีร์ยวนต่าง ๆ เหล่นี้ คนยวนได้ต้นฉบับมาจากเมืองเหนือ เพราะไม่เคยปรากฏว่าไทยวนสระบุรีแต่งคัมภีร์ต่าง ๆ ได้ เมื่อได้มาก็คัดลอกโดยจารต่อ ๆ กันมา หลายคนสามารถจารหนังสือยวนลงบนใบลานด้วยสายมือที่สวยงามมาก เช่น พระโอ่งวัดต้นตาล นายปู ท้าวมหาวงศ์ เป็นต้น

จากการที่มีหนังสือยวนนี้ ทำให้มีประเพณีที่เกี่ยวกับหนังสือยวนหลายประการ เช่น ประเพณีการเทศน์มหาชาติ โดยนิยมนิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์ยวนให้ฟัง แต่ละกัณฑ์จะมีท่วงทำนองที่ไพเราะแตกต่างกันไป ทำนองการเทศยวนนี้จะต่างจากทำนองที่เทศน์กันในภาคเหนือ

อีกประเพณีหนึ่งที่ชาวไทยวนสระบุรีได้มา จากชาวไทยวนในล้านนา คือการสะเดาะเคราะห์ประจำปี นิยมทำในระหว่างเทศกาลสงกรานต์ และทำให้ครอบครัวของแต่ละบ้านโดยทำสะตวง (กระทงทำด้วยหยวกกล้วย) 9 ห้อง เอาดินมาปั้นเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ และรูปคน 32 ชนิด ใส่ลงในสะตวงเอากระดาษสีมาตัดเป็นธงสามเหลี่ยม (ช่อน้อยตุงชัย) ปักรอบสะตวง มีฉัตร เบี้ยจั่น ข้าวสาร หมากพลูร้อย กล้วย 2 หวี มะพร้าว 2 ผล ข้าวเปลือก ข้าวสาร เอาสายสิญจน์มาวัดรอบตัว (ของทุกคนในครอบครัว) วัดจากศรีระจรดเท้า วัดรอบข้อมือข้อเท้า วัดรอบนิ้วมือนิ้วเท้า แล้วนำสายสิญจน์นี้มาตัดเป็นท่อนชุบน้ำมันหรือไขเทียนจุดเวลาพระเทศน์ จุดธูป 100 ดอก โยงสายสิญจน์รอบสิ่งของและทุกคน แล้วนิมนต์พระสงฆ์เทศน์เรื่องสารากริกวิชชานสูตร เมื่อเทศน์จบก็นำไปสะตวงนี้ไปวางที่ทางสามแพร่งนอกบ้าน เชื่อว่าพิธีกรรมนี้จะทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บไม่มีเคราะห์ร้ายใด ๆ ทั้งสิ้น

เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง คนยวนจะนำฝ้ายมาฟั่นเป็นรูปตีนก 3 ตีนใส่ลงในถ้วย 5 ใบ มีน้ำมันหล่อก้นถ้วยพอเป็นเชื้อเพลิง นำไปรวมกันที่วัดเวลาเย็น แล้วนิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์เรื่องพญากาเผือก ผู้ฟังก็จะจุดด้ายตีนกาที่ถ้วยของตนเป็นการบูชาธรรม พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตมะ และพระศรีอริยเมตไตรย ตามเนื้อเรื่องที่เทศน์ว่าเป็นลูกพญากาเผือก

ประเพณีการเทศน์ที่ถือว่าทำแล้วได้บุญ มากอีกอย่างหนึ่งคือ “ บุญสำรวมชาติ ” เป็นงานบุญใหญ่ต้องเตรียมการอย่างมาก คือเจ้าภาพต้องปลูกผาม (ปะรำ) 5 ห้อง ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ใช้เสา 30 ต้น เสาแต่ละต้นประดับด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย หลังคามุงด้วยใบไม้ ทำอาสน์สงฆ์ภายในผามให้หันหน้าไปทิศอุดรหรือบูรพา ห้องที่สามของผามทำธรรมาสน์ให้สูงเด่นประดับสวยงาม ห้องที่สองของผามก่อพระเจดีย์ทราย 7 องค์ เอาผ้าเหลือพันรอบเจดีย์ทั้ง 7 องค์ นอกผามออกมาทำราชวัติ 12 คู่ ปักฉัตร 24 ต้น ทำต้นกัลปพฤกษ์ไว้ที่สี่มุมของผาม เอาบาตร จีวร ขนม ผลไม้ ตะเกียง เครื่องอัฐบริขารของพระแขวนไว้ที่ต้นกัลปพฤกษ์นี้ เครื่องบูชากัณฑ์เทศน์มีดอกไม้เงิน 50 ดอก ดอกไม้ทอง 50 ดอก (ต้องใช้เงินแท้ ทองแท้) ข้าวพันก้อน ดอกบัวพันดอก ช่อหรือธงสามเหลี่ยมเล็กพันอัน ดอกไม้ธูปเทียนอย่างละพัน

งานจะเริ่มในตอนเย็นโดยนิมนต์พระสงฆ์ 25 รูปมาเจริญพระพุทธมนต์ที่ผามนี้ จบแล้วเจ้าภาพกล่าวคำถวายผามและธรรมาสน์แก่พระสงฆ์ เมื่อเสร็จงานก็จะรื้อสิ่งก่อสร้างทั้งหมดนี้ถวายวัดไป

รุ่งเช้านิมนต์พระสงฆ์ 25 รูป ที่มาเจริญพระพุทธมนต์เมื่อเย็นวานมารับอาหารบิณฑบาตที่ผ่านมา จากนั้นก็จะมีการเทศน์เรื่องยอดไถลปิฎกและกรรมวาจา โดยพระสงฆ์จะนั่งเทศน์ที่อาสน์สงฆ์ เมื่อพิธีกรอาราธนาจบ พิณพาทย์จะบรรเลงเพลงสาธุการรับ แล้วจึงเริ่มเทศน์ คัมภีร์เรื่องสำรวมธาตุจะมี 4 ผูก พระสงฆ์จะเทศน์ 4 รูป เมื่อแต่ละรูปเทศน์จบผูกหนึ่งก็จะลงมานั่งที่อาสน์สงฆ์ ภิกษุรูปต่อไปก็จะขึ้นเทศน์ผูกต่อไป เมื่อจบผูกที่ 4 พิณพาทย์ก็จะบรรเลงเพลงสาธุการรับ 7 จบด้วยกัน จากนั้นเจ้าภาพก็จะถวายเครื่องกัณฑ์ ถวายต้นกัลปพฤกษ์ ถวายต้นกล้วยต้นอ้อยทั้งหมดแก่ท่าน ส่วนผามและธรรมมาสน์ก็จะรื้อถวายวัดต่อไป

จะเห็นได้ว่างานบุญสำรวมธาตุเป็นกุศล ใหญ่ ต้องมีทรัพย์พอสมควรจึงทำได้ เนื้อหาที่เทศน์จะกล่าวถึงเรื่องอายุของพระศาสนาที่เรียวลดหดหายไปเรื่อย ๆ นัยว่าเป็นการทำบุญเพื่อสืบต่ออายุชองของพระพุทธศาสนา และเป็นการเตือนสติให้รับบำเพ็ญธรรม จึงถือการทำบุญสำรวมธาตุเป็นบุญที่มีผลกุศลแรงมาก

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าคนยวนมีภาษ ยวนไว้สื่อสารกัน และใช้จดจารึกสิ่งที่มีสาระต่าง ๆ อันเป็นที่มาแหล่งประเพณีที่เกี่ยวข้องกับภาษาหลายประการ

ประเพณี

ไทยวนสระบุรี มีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนหลายประการ ดังจะนำมากล่าวต่อไปนี้


1. การแต่งกาย

การแต่งกายของชาวไทยวน จากเชียงแสนซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่สระบุรีเมื่อ พ.ศ. 2347 นั้น สามารถพิจารณาได้จากจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดสมุหประดิษฐาราม อำเภอเสาไห้ ซึ่งเขียนประมาณสมัยรัชกาลที่ 4 หรือ 5 ประกอบคำบอกเล่าของผู้สูงอายุ

ผู้ชายสมัยก่อนนิยมสัก ตามร่างกาย ถือว่าเป็นของขลังประจำตัวและถือเป็นการอวดกันได้ เช่น การสักขาดำ แสดงถึงความอดทน แสดงถึงความเป็นลูกผู้ชาย มีคำกล่าวสนุก ๆ ว่า “ สักบ่พอสองแข้ง สาวบ่แกว่ง…หา สักบ่เต็มสองขา สาบ่อ้า…หี้อ ” เวลานุ่งผ้าจะถลกชายผ้าขึ้นสูง (เค็ดม่าม) เพื่ออวดขาดำของตน ชายแต่ก่อนนิยมนุ่งผ้าโจงกระเบน มีผ้าขาวม้าแต่เวลาไปทำงานนิยมนุ่งกางเกงสามส่วนเรียกว่ากางเกงขาก๊วย (ล้านน้าเรียกว่า เตี่ยวสะดอ ) สวมเสื้อกุยเฮงสีดำหรือกรมท่า ต่อมาเวลาไปงานหรือไปวัด นิยมนุ่งกางเกงสวมเสื้อขาวคอกลม ผ่าอก หรือนุ่งโสร่ง

ส่วนผู้หญิงสมัยก่อนเวลา ไปทำงานนอกบ้านจะใส่เสื้อแขนกระบอกสีดำหรือสีกรมท่า เวลาไปงานหรืออยู่บ้านจะใช้ผ้าขาวม้าหรือสไบพันอก ผ้าซิ่นจะมีระบายข้างบนและล่าง ตัวซิ่นจะมีลายพาดขวางกลาง จนมีคำล้อเลียนว่า “ ยวนก้นก่าน ” สมัยต่อมาจึงนิยมใส่เสื้อชั้นในคอกระเช้า ลำตัวหลวม ๆ จากนั้นก็ถึงสมัยใส่ยกทรงและมีเสื้อคอแบะ แขนสั้น ผ่าอก

การแต่งกายของชายหญิง ไทยวนสระบุรีได้พัฒนามาตามลำดับตามสมัยนิยม เครื่องแต่งกายแบบเก่าที่ยังเหลือมาถึงทุกวันนี้ ก็คือหญิงยังนิยมนุ่งซิ่นลายพาดขวางอยู่ ส่วนชายไทยวนปัจจุบันไม่มีการนุ่งผ้าโจงกระเบนกันแล้ว ส่วนมากทั้งชายและหญิงนิยมแต่งกายตามสมัยนิยมทั่วไป


2. ที่อยู่อาศัย

ชาวเชียงแสนมีเรือนเป็น เอกลักษณ์ของตนเรียกว่า เรือนเชียงแสน หรือเรือนกาแล คือมีไม้ไขว้กันบนหลังคาเหนือจั่ว เรือนส่วนบนจะผายออก ที่เรียกว่าเรือนอกโต เอวคอด

เมื่อชาวเชียงแสนอพยพมา อยู่สระบุรียุคนั้นคงปลูกเรือนกาแลอยู่บ้าง ด้วยว่าคนเราย่อมอดไม่ไม่ได้ที่จะปฏิบัติตามประเพณีของตน ภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดจันทรบุรี คือภาพเรือนกาแลปรากฏอยู่ จากการสอบถามผู้สูงอายุ เช่น ผู้ใหญ่สมบูรณ์ กำเนิดจันทร์ บ้านเสาไห้ ก็ว่าเรือนเก่าบิดามารดาของท่านก็เป็นเรือนกาแล ชาวไผ่ล้อมก็เล่าว่าเรือนเก่าของพ่อเฒ่าคัมภีร์นั้นก็เป็นเรือนกาแล ตลอดมาถึงลูกหลานเหลนคือนางทับทิน และได้รื้อเสียเมื่อ พ.ศ. 2516 เพราะเก่าและชำรุดมาก

ปัจจุบันไม่มีเรือนกาแลหรือเรียนเชียงแสนที่สระบุรีแล้ว ไทยวนส่วนมากนิยมปลูกบ้านทรงไทยแบบภาคกลาง หรือเรือนไทยอยุธยา

3. ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต

คนสมัยก่อนมีความเป็น อยู่พึ่งพาอาศัยกัน ผู้สูงอายุซึ่งมีประสบการณ์มาก จะเป็นที่พึ่งพาของผู้เยาว์ได้เป็นอย่างดี เช่น เมื่อคลอดบุตร ตำราของพ่อใหญ่สอน ทองอุ่นเรือน บ้านหัวปลวก อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ระบุการตัดรกไปทิ้งไว้ว่า

“ ผู้ใดเกิดเดือน 1, 2, 3 หื้อ (ให้) เสียรกวันตก จักรู้หลวก (ฉลาด) ดี มีข้าวของแล ผู้ใดเกิดเดือน 4, 5, 6 หื้อ (ให้) เสียรกหนพายัพ หรดี อีสาน มีข้าวของแล ผู้ใดเกิดเดือน 7, 8, 9 หื้อเสียรกหนเหนือ ดีแล ผู้ใดเกิดเดือน 10, 11, 12 หื้อเสียหนวันออก จักรู้หลวก (ฉลาด) ดี มีข้าวของและหากว่าเสียรกบ่ถูก เป็นง่าว (โง่) คือว่า อ่างอะ ไปเสียบ่เป็นคนดี ”

เมื่อคลอดบุตรแล้วมารดา ต้องอยู่ไฟ (เรียกว่า แม่เฮือนไฟ) ดินที่จะเอามาใส่แคร่ไฟ ก็ต้องเลือกทิศเอาเช่นกัน ดังตำราพ่อใหญ่สอน ทองอุ่นเรือน กล่าวว่า

“ สิทธิการ จักกล่าวดินชีไฟก่อนและ (แคร่ดินที่วาง ฟืน ไฟ คนยวนเรียก แม่ชีไฟ) เดือนเกี๋ยง (อ้าย) เดือนยี่ เอาดินหรดี เดือนสาม เอาดินหรดี เดือนสี่ ห้า เอาดินหนอาคเนย์ เดือนหก เจ็ด เอาดินหนพายัพ เดือนแปด เอาดินหนอีสาน เดือนเก้า เอาดินหนอุดร เดือนสิบ สิบเอ็ด สิบสอง เอาดินหนบูรพา ดีกันแล ” ขณะที่เอาดินถมแคร่ไฟนั้น ผู้ถมต้องผินหน้าไปทางตะวันออกหรือทิศใต้จึงจะดี

ระยะที่มารดาอยู่ไฟนี้ ต้องระวังเรื่องอาหารเป็นอย่างมาก กับข้าวส่วนมากจะเป็นปลาช่อนหรือเอาเกลือคั่วให้แตกเรียกว่า เกลือสะตุ เอาผักมาจิ้มเกลือนี้กินกับข้าว จนกระทั่งออกไฟ

การตั้งชื่อเด็ก พ่อแม่อาจตั้งชื่อเองหรือให้ญาติผู้ใหญ่ให้พระตั้งให้ก็ได้ ชื่อคนยวนแต่ก่อนจะมีพยางค์สั้น ๆ และมีเสียงเป็นสำเนียงยวน คำที่คนรุ่นเก่านิยมนำมาตั้งชื่อคน มีดังนี

• นำเอาสิ่งที่อยู่สูงมาตั้งชื่อคน เช่น จันทร์ (จั๋น) ดาว พรหม ฟ้า

• นำเอาสิ่งธรรมชาติมาตั้งชื่อคน เช่น ไม้ ดิน หิน ฝน อุ่น เย็น แสง เมฆ

• นำเอาอวัยวะมาตั้งชื่อคน เช่น ใจ ผิว ดี มูล ตา เนตร

• นำเอาชื่อสัตว์มาตั้งชื่อคน เช่น หนู ปลา แมว หมา ปู ควาย ด้วง บุตรคนหัวปีนิยมตั้งชื่อว่า “ หนู ” บุตรที่พ่อแม่รักมากนิยมตั้งชื่อว่า “ หมา ”

• เอาชื่อพีชมาตั้งชื่อคน เช่น บัว กุหลาย รัก ดาวเรือง ฝ้าย ใบ อุบล สายหยุด บุนนาค สำลี จำปี จำปา แตง พุด ฯลฯ

• นิยมนำเอาอาการกริยามาตั้งชื่อคน เช่น เชื่อม พริ้ง เที่ยง ชม หลอม หล่อ เพียร ปั้น ลือ ลา หยาด ไหว เชย ซ้อน ไซร้ นำ ตื่น ตา ผัน ผิน ผาย ฟุ้ง ทำ ฟื้น ฟู หัน เห หวน ยิ้มอิ่ม วุ่น หา ตั๋น มามีปลิวอยู่ จำวอน ย้อย อั้น ถ่วง หน่าย ช่วย สืบ เวียน สอน เจือ ฯลฯ

• นำเอาเครื่องใช้มาตั้งชื่อคน เช่น พัด กา หมึก พิณ ขวาน สุ่ม แห โต๊ะ ช้อน หมอน ตู้ เข็ม เทียน บุง ฯลฯ

• นำเอาคำวิเศษณ์มาตั้งชื่อคน เช่น อ่อน ใหม่ เหลี่ยม กลม แบน แหลม บ้าน เล็ก โต เจริญ มน ยอด หลวง พร้อม มาก ใส น้อย เหนือ หลาย เรือง สุข เป็ง ติ๊บ (ทิพย์) แป้น ดี คด นวล หวาน ฯลฯ

• นำเอาเวลาหรือทิศทางมาตั้งชื่อคน เช่น สาย เที่ยง บ่าย เย็น วัน ปี เดือน ขาล เถาะ กุน อ้าย รุน หล้า ได้

• นำเอาคำบอกจำนวนมาตั้งชื่อคน เช่น หนึ่ง สอง สาม หก มาก น้อย หลาย พัน แสน ซาว

• นำเอาชื่อเครื่องเรือนมาตั้งชื่อคน เช่น เสา เรือน รอด คา

• นำเอาสีต่าง ๆ มาตั้งชื่อคน เช่น ดำ แดง ขาว เขียว เหลือ ฟ้า อ่ำ ปู (ชมพู)

• นำเอาอัญมณีมาตั้งชื่อคน เช่น แก้ว เพชร พลอย คำ นาค เงิน นิล แหวน สร้อย

• นำเอาลักษณะนามมาตั้งชื่อคน เช่น พวง สาย ยวง ใย

• นำเอาเสียงธรรมชาติมาตั้งชื่อคน เช่น แอ๊ด อู๊ด อ๊อด

• คำอื่น ๆ เช่น แหยม แขม ขอม เนี่ยม ตอง ราน ฯลฯ

• สร้างคำผสมโดยใช้คำที่เป็นมงคลนำหน้าคำอื่น เช่น

แก้ว – แก้วตา แก้วดี แก้วคำ

บุญ – บุญตา บุญเหลือ บุญมี บุญมา บุญเรือง บุญธรรม

ทอง – ทองอุ่น ทองใบ ทองดี ทองคำ ทองอ่อน

จันทร์ – จันทร์แก้ว จันทร์ดี จันทร์ทิพย์ (ติ๊บ) จันคำ จันทรา (จั๋นตา)

คำ – คำเรือน คำหน้า คำผง คำฝอย คำน้อย คำตั๋น

สาย – สายทอง สายบัว สายใจ สายฝน

บัว – บัวตอง บัวคำ บัวผิน ผัวผาย บัวเผื่อน

หนู – หนูอินทร์ หนูอิ่ม หนูปั่น หนูนาย

ไทยวนปัจจุบันนิยมตั้งชื่อบุตรหลายของตนด้วยคำบาลีสันสกฤตที่ไพเราะ โดยยึดคัมภีร์มหาทักษาเป็นหลัก

ผู้อาวุโสจะเรียกเด็กชาย โดยใช้คำว่า “ ไอ่ ” หรือ บ่า นำหน้าชื่อ เรียกเด็กผู้ชาย โดยใช้คำว่า “ อี่ ” นำหน้าชื่อ เช่น ไอ่แดง บ่าแดง อี่แดง ฯลฯ ส่วนผู้เยาว์จะใช้คำดังกล่าวนำหน้าชื่อผู้อาวุโสไม่ได้เป็นอันขาด ถือว่าขาดความเคารพ ยกเว้นคำว่า “ อี่ ” คนยวนนำคำนี้มาเรียกพ่อแม่ได้ เช่น อี่พ่อ (อี่ป้อ) อี่แม่ ไม่ถือว่าขาดความเคารพแต่อย่างใด

ชายเมื่อมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก็จะบวชเป็นภิกษุ ถือว่าเป็นงานสำคัญของพ่อแม่และเป็นงานสำคัญของผู้บวชด้วย พิธีการบวชจะเริ่มจากไปพบพระอุปัชฌาย์ให้กำหนดวันบวช นิมนต์พระอื่นเพิ่มเติมตามข้อกำหนดของการบวช และบอกญาติมิตรให้มาร่วมอนุโมทนาด้วย

ก่อนจะถึงวันบวช ผู้จะบวชต้องไปอยู่วัดประมาณ 7 – 9 วัน เพื่อฝึกขานนาค ฝึกปรนนิบัติพระให้รู้ธรรมเนียมของชีวิตการเป็นภิกษุ ทั้งเป็นการปลอดภัยสำหรับผู้ที่จะบวชด้วย เมื่อวันงานจึงมาที่บ้าน

ตามปรกติงานบวชจะมี 3 วัน วันแรกเรียกว่าวันดาปอย (ดา – เตรียม ปอย – งาน) วันนี้ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านจะมาช่วยเตรียมงาน เช่น ทำขนม ขนมที่ต้องทำไว้ให้มากคือ ข้าวต้มผัด ยวนเรียกว่า “ เข้าต้มป๊าว ” และช่วยกันตกแต่งบ้าน สถานที่ วันที่สองเรียกว่าวันสุกดิบ วันนี้ญาติมิตรจะมาร่วมอนุโมทนาบุญด้วย (ยวนเรียก ฮอมปอย – ช่วยงาน) ผู้มาช่วยงานจะเอาข้าวสารใส่ขันประมาณครึ่งขัน พร้อมกับเอาเงินใส่ซองมามอบให้เจ้าภาพ เจ้าภาพเทข้าวสารออกจากขันแล้วก็จะเอาขนมที่เตรียมไว้ เช่น ข้าวต้มผัดใส่ขันคืนไป จากนั้นก็เลี้ยงอาหาร กันเรื่อยไป ตอนบ่ายก็มีพิธีทำขวัญนาค น่าสังเกตว่าไทยวนสระบุรีจะไม่มีการทำขวัญนาคด้วยภาษายวน แต่นิยมทำขวัญนาคแบบไทยภาคกลางทั่วไป ในช่วงค่ำคืนนี้หากเจ้าภาพมีฐานะดีก็จะมีมหรสพสมโภชนาคของตน รุ่งเช้าก็จะนำนาคไปวัด อาจให้นาคขี่ช้างหรือขี่ม้าหรือขี่คอคนแห่ไปเป็นที่สนุกสนาน เมื่อทำพิธีอุปสมบทเสร็จแล้ว ญาติก็จะนั่งเป็นสองแถวหันหน้าเข้าหากัน เว้นช่องกลางให้พระใหม่เดินผ่าน ญาติจะเอาดอกไม้ ธูปเทียน เงิน ใส่ถุงย่ามให้พระบวชใหม่ถือว่าได้บุญมาก ปูผ้าให้พระใหม่เหยียบถือว่าเป็นผ้ามงคล หรือนอนคว่ำให้พระใหม่เดินเหยียบถือว่าได้บุญ จากนั้นก็ถวายอาหารแด่พระสงฆ์ เลี้ยงอาหารญาติพี่น้อง แล้วมีเทศน์อานิสงส์เป็นอันเสร็จพิธีการอุปสมบท

ปัจจุบันการบวชนิยมจัดงานวันเดียว คือเข้าทำขวัญนาคหรือนิมนต์พระมาเทศน์สอนนาคแทนการทำขวัญ จากนั้นก็นำนาคเข้าสู่อุโบสถทำพิธีอุปสมบท เมื่ออุปสมบทเสร็จก็ถวายเพลแด่พระสงฆ์พร้อมกับเลี้ยงอาหาร (นิยมโต๊ะจีน อาหารจีน) แก่ญาติมิตรที่มาร่วมงาน เป็นอันเสร็จพิธี

สมัยก่อนภิกษุนิยมบวชอยู่อย่างน้อยสอง พรรษา จึงลาสิกขา ไทยวนเมื่อลาสิกขาแล้วจะได้นามว่า “ หนาน ” นำหน้าชื่อของตน เช่น หนานแก้ว หนานปั๋น ฯลฯ หากขณะที่อุปสมบทอยู่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส คนยวนเรียก “ ตุ๊หลวง ” เมื่อลาสิกขาแล้วจะได้นามว่า “ หลวง ” ติดมาด้วย เช่น หลวงเยีย หลวงเหมือย เป็นต้น

เมื่อลาสิกขาแล้วจะอยู่ที่วัน 3 – 7 วัน เพื่อทำความสะอาดวัด ตอนบ่ายหนานสึกใหม่จะนุ่งผ้าม่วง สวมเสื้อเชิ้ต พาดผ้าขาวม้าไหม มือข้างหนึ่งถือไม้ตะพดเลี่ยม มือข้างหนึ่งถือพานดอกไม้ธูปเทียนไปกราบขอพรจากผู้เฒ่าประจำหมู่บ้าน เช้าวันที่จะออกจากวัดนิยมให้หลานสาวหรือน้องสาว (ถ้าไม่มีก็ขอวานสาวอื่น) มารับออกจากวัด ถือเป็นเคล็ดว่าจักได้แต่งงานในไม่ช้า

ชายเมื่อลาสิกขาออกมาเป็นหนานแล้วก็จะ หาช่องทางแต่งงาน เมื่อผูกรักสมัครใจกับหญิงใดหรือญาติแนะนำให้แต่งงานกับผู้ใด ก็จะส่งเถ้าแก่ไปทาบทามกับผู้ปกครองฝ่ายหญิง เมื่อได้รับคำตกลงด้วยก็จะกำหนดค่าสินสอดทองหมั้น กำหนดวันแต่ง โดยทำพิธีหมั้นก่อน จากนั้นถึงวันแต่งงานก็จะยกขันหมากไปแต่ง พิธีการแต่งงานของไทยวนสระบุรีจะเป็นแบบไทยภาคกลางทั่วไป จักไม่นำมาในรายละเอียด ณ ที่นี้ จักข้ามไปยังประเพณีงานศพต่อไป

คนยวนไม่นิยมตั้งศพผู้ ที่ตายนอกบ้านไว้ในบ้าน แต่จะนำไปบำเพ็ญกุศลที่วัด แม้จะตายภายในเขตบ้านแต่ไม่ได้ตายบนเรือน ก็นำศพไปบำเพ็ญกุศลที่วัดเช่นกัน

คนยวนก็เหมือนคนไทยถิ่น อื่น คือมีน้ำใจต่อกันช่วยเหลือกัน เมื่อมีคนตายเกิดขึ้นในหมู่บ้านผู้ใดทราบเป็นคนแรกก็จะรีบไปบอกเพื่อนบ้าน ให้รู้ ผู้ที่รู้แม้จะมีงานอยู่ในมือก็จะละงานนั้น รีบมายังบ้านศพทันที แต่ละคนจะรู้ว่าตัวเองควรทำอะไร ผู้ชายกลุ่มหนึ่งก็จะไปหาอาหารเพื่อเตรียมทำกับข้าวเลี้ยงกัน ผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่งก็จะเข้าครัวเอาของใช้ออกมาเตรียมล้างเพื่อใช้ต่อไป ผู้ที่เหลือก็จะเตรียมอาบน้ำศพโดยต้มน้ำร้อนเอาใบไม้อะไรก็ได้ใส่ลงไปด้วย เช็ดตัวศพด้วยน้ำเย็นและน้ำร้อนจนสะอาด ประแป้งพอสมควร แต่งตัวศพด้วยเสื้อผ้าที่ผู้ตายรักแต่กลับข้างหน้าไว้หลังกลับหลังไว้หน้า ฉีกเสื้อผ้าเล็กน้อย จากนั้นก็มัดตราสัง คนยวนเรียกว่า “ ห้างลอย ” คือเอาด้ายเส้นใหญ่มาผูกที่คอ (ปุตฺตํ คีเว) ผูกที่ข้อมือ (ธนํ หตฺเถ) ผู้ที่ข้อเท้า (ภริยํ ปาเท) เอาดอกไม้ธูปเทียนใส่กรวยใบตองใส่มือศพเพื่อให้ไปไหว้พระเกศแก้วจุฬามณี จากนั้นก็คอยเวลาที่จะนำใส่โลงต่อไป

โลงศพ (หีบศพ) คนยวนเรียกว่า “ หล้อง ” ทำด้วยไม้ปากโลงศพจะผายออก คือกว้างกว่าก้นหีบฝาที่ครอบหีบศพเรียกว่า “ แมว ” ทำคล้ายหลังคาเรือนทรงปั้นหยา คือมีหลังลาดลงมา ประด้วยกระดาษสีสวยงาม อาจติดธนบัตรบนแผงยอดหลังคานี้ด้วยก็ได้

เมื่อทำโลงศพเสร็จแล้ว ผู้อาวุโสก็จะทำน้ำมนต์ธรณีสารประพรมที่เครื่องมือ ประพรมผู้คนที่ช่วยกันทำ เพื่อกันเสนียดจัญไร รวมทั้งประพรมหีบศพ คาถาทำน้ำมนต์ธรณีสารของปู่หลวงเหมือย ปัญญาไว บ้านต้นตาล มีว่า “ สิโร เม พุทฺธเทวญฺจ นราเก พฺรหฺมเทวตา หรติเย พิสฺสนูกญเจว ปสิทฺธิ เม ” จากนั้นก็นำศพเข้าโลง ถ้าเป็นศพของพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ จะตั้งไว้ทางทิศเหนือของตัวเรือน หัวศพจะหันไปทิศตะวันตกเสมอ จุดตะเกียง 1 ดวง ไว้ใกล้หีบศพ (ล้านนาเรียกว่า “ ไฟยาม ” )ตอนเช้าจะนำสำรับอาหารมาวางใกล้หีบศพทุกเช้าไป

กลางคืนจะนิมนต์พระสงฆ์ มาสวดพระอภิธรรม เมื่อพระสงฆ์สวดจบแต่ละบทก็จะตีฆ้องสลับระหว่างบทเรื่อยไปญาติมิตรก็จะมา ร่วมฟังพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมทุกคืนไป เรียกงานศพว่า “ งันเฮือนดี ” รุ่งเช้าก็นิมนต์พระสงฆ์มาฉันภัตตาหารที่หน้าศพ เรียกว่า “ ตักบาตรตีนไม้ ” (ไม้ ล้านนาแปลว่า เมรุลอย)

ถ้าเป็นศพที่ตายโหง ตายพราย หรือตายเพราะถูกฟ้าผ่า จะนำศพไปฝังทันที เมื่อครบสามปีแล้วขึงขุดขึ้นมาบำเพ็ญกุศลเพื่อเตรียมเผาต่อไป

วันเผาศพนั้น คนยวนมีข้อนิยมดังนี้

1. ข้างขึ้นห้ามเผาวันคู่ ข้ามแรมห้ามเผาวันคี่

2. วันในสัปดาห์ ท่านห้ามเผาศพวันพระ เพราะวันเช่นนี้เป็นวันบำเพ็ญกุศล เผาศพวันนี้ไฟอาจไหม้สัตว์ตายเป็นบาปได้ ไม่เผาศพวันพฤหัสบดี ด้วยถือว่าวันนี้เป็นวันครู ไม่เผาศพวันศุกร์ ถือว่า “ เผาศพวันศุกร์ให้ทุกข์แก่คนเป็น ” เพราะเทียบเสียงศุกร์ว่าสุข ตายวันเสาร์ห้ามเผาวันอังคารและห้ามเผาวันที่ตรงกับวันเกิดของผู้ตาย เมื่อถึงวันที่นำศพไปเผา ก็จะนำศพไปวัดหรือป่าช้า (ยวนเรียก ป่าเฮี่ยว) เมื่อศพพ้นประตูเรือนผู้อยู่บนเรือนก็จะเทน้ำออกจากตุ่ม (ในล้านนามีการโยนหม้อน้ำทิ้ง) มีชายโปรยข้าวตอกนำหน้าศพ มีคนถือตุง (ธง) สามหางนำหน้าด้วย พระสงฆ์จะเป็นผู้จูงศพไป นำศพไปตั้งไว้ที่อันควร เช่น บนศาลาแล้วนิมนต์พระสงฆ์มาแสดงธรรมจบแล้วพระสงฆ์มาติกาบังสุกุลแล้วเคลื่อน ศพไปยังเมรุที่เตรียมไว้

ชาวไทยวนได้ชื่อว่ามี ฝีมือในการเมรุ โดยเอาหยวกกล้วยมาแทงสลักลวดลายต่าง ๆ อย่างสวยงาม เมื่อนำศพมาเวียนซ้ายเมรุครบสามรอบแล้วก็จะวางศพลงให้ญาติมาประพรมน้ำศพอีก ครั้งหนึ่งนิมนต์พระสงฆ์มาพิจารณาผ้าบังสุกุลแล้วจึงนำศพขึ้นสู่เมรุ สัปเหร่อจะตัดด้ายตราสังออก ผ่ามะพร้าวเอาน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ พลิกศพให้ตะแคง จากนั้นจึงเริ่มวางไฟ ทุกคนก็วางไฟ พระสงฆ์เริ่มสวดหน้าไฟ ก่อนกลับทุกคนต้องล้างมือด้วยน้ำที่มีมะกรูดส้มป่อยเพื่อล้างสิ่งที่ไม่ดี ออก สัปเหร่อและญาติจะช่วยดูแลให้ไฟไหม้ศพให้เรียบร้อยก่อนจึงกลับได้

สมัยก่อนเผาศพแล้วสามวัน จึงเก็บกระดูกไปบำเพ็ญกุศล เรียกว่า “ ฟื้นเฝ่า ” โดยนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูปมาทำพิธีญาติจะเกลี่ยเถ้าและกองกระดูกให้เป็นรูปคน พระสงฆ์จะสวดบทบังสุกุลตาย (อนิจฺจา วต สงฺขารา) จบแล้วญาติเกลี่ยเถ้าและกระดูกกลับทิศทาง พระสงฆ์จะสวดบทบังสุกุลเป็น (อนิรํ วต ยํ กาโย) จบแล้วก็เลือกเก็บกระดูกใส่ภาชนะนำมาบำเพ็ญกุศลที่บ้าน

ที่บ้านผู้ตาย จะปลูกศาลเพียงตาสี่เสาไม่สูงนัก ทำร้านบนศาล มีบันไดขั้นคู่พาดขึ้นศาลนี้ ปักร่มที่ศาล วางภาชนะที่ใส่กระดูกผู้ตายบนศาลนี้ มีเสื้อผ้าของผู้ตาย กระจก หวี น้ำมัน แป้ง วางถาดใส่ขี้เถ้าไว้ด้วย นำสายสิญจน์มาวงรอบนำขึ้นสู่เรือน เย็นนี้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์

รุ่งเช้านิมนต์พระสงฆ์ ดังกล่าวมารับอาหารบิณฑบาตที่บ้าน เมื่อเจ้าภาพเตรียมอาหารไว้หน้าพระสงฆ์แล้ว จะมีผู้นำกล่าวคำถวายสังฆทานเพื่ออุทิศกุศลให้ผู้ตายเรียกว่า “ เวนทาน ” เป็นคำกล่าวด้วยภาษายวนที่ยืดยาวพรรณนาไพเราะมาก จากนั้นก็ประเคนอาหารแด่พระสงฆ์ เมื่อพระฉันเสร็จลากลับ จากนั้นก็เลี้ยงญาติที่มาร่วมงาน แล้วมีพระธรรมเทศนาอานิสงส์ 1 กัณฑ์ เป็นเสร็จพิธี

หลังจากนั้น ในวันหรือปีต่อ ๆ มา หากประสงค์จะทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตายอีก ก็จะทำได้หลายวิธี เช่น

ทานขันเข้า จะ นำอาหารใส่สำรับ มีน้ำ 1 แก้ว ไปประเคนพระสงฆ์ บอกท่านว่าต้องการอุทิศบุญนี้ไปให้แก่ผู้ใด พระสงฆ์ท่านจะกรวดน้ำกล่าวคำอุทิศเป็นภาษายวนให้ เป็นถ้อยคำที่ไพเราะ ฟังแล้วจะรู้สึกว่าวิญญาณของผู้ตายจะมารับผลบุญนั้นจริง ๆ

พอยข้าวสังฆ์ (อ่าน “ ปอยเข้าสัง ” ) อันนี้เป็นงานใหญ่ โดยเข้าภาพจะบอกญาติมิตรมาร่วมงานนี้ด้วย พิธีจะเริ่มจากนิมนต์พระสงฆ์ 25 รูปมาเจริญพระพุทธมนต์เย็น รุ่งเช้ามารับถวายอาหารบิณฑบาตที่บ้านงาน เจ้าภาพจะจัดของใส่ชะลอม (ก๋วย) ถวายพระด้วย เลี้ยงอาหารญาติที่มาร่วมงานแล้วมีเทศน์อานิสงส์ 1 กัณฑ์

ปัจจุบันงานปอยข้าวสังฆ์ นิยมถวายหนังสือเทศน์ เช่น พระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ หรือยอดไถลปิฎกะและกรรมวาจา ถวายปราสาทผึ้งร่วมด้วย จุดประสงค์ของงานปอยข้าวสังฆ์ก็เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ผู้ตาย เป็นการตอบแทนพระคุณของบุพการี

โปรดสังเกตว่าทุกงานจะจบ ลงด้วยการมีเทศน์อานิสงส์ ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าภาพเกิดความปีติเพิ่มพูนว่าจนบำเพ็ญกุศลแล้วจะได้รับผล อย่างใดบ้าง

ปราสาทผึ้งจะเป็นส่วนประกอบของงานบุญต่าง ๆ เช่น งานกฐิน ก็นิยมทำปราสาทผึ้งร่วมถวายด้วย

4. ประเพณีอื่น ๆ

การถวายสลากภัตต์ (ไทยวนล้านนาเรียกว่า ทานก๋วย ทานกวยสลาก ) ไทยวนสระบุรีเรียกว่า บุญกินเข้าสลาก บุญนี้ไม่มีกำหนดตายตัวในวันทำ คือจะทำเมื่อใดก็ได้ แต่ส่วนมากนิยมทำเมื่อมีผลไม้สุกมาก ๆ หรือทำเมื่อออกพรรษาแล้ว

งานนี้จะเริ่มเมื่อทางวัดตกลงกำหนดวัน ถวายแล้วก็จะประกาศรับสมัครเจ้าภาพ เมื่อรู้จำนวนเจ้าภาพแน่นอนว่าจะมีกี่กระจาดแล้ว ก็นิมนต์พระสงฆ์ต่างวัด (และในวัด) ให้ครบตามจำนวนสลากภัตที่มีเข้าภาพรับไว้ เจ้าภาพจะเตรียมจัดทำกระจาด โดยเอาไม้ไผ่มาสนเป็นกระจาดกลมลายเฉลวมีกระดาษประดับสวยงาม ภายในกระจาดก็หาของกินของใช้อันควรแก่สมรบริโภคมาใส่ไว้ ส่วนเข้าภาพที่มีทรัพย์มากและมีฝีมือก็จะทำกระจาดของตนให้สวยงามขึ้นไปอีก โดยปักไม้กลางกระจาด ตกแต่งให้เป็นช่อชั้นสวยงาม

เมื่อถึงวันงานก็นำกระจาดเหล่านี้ไปตั้ง บนร้านที่ทางวัดเตรียมไว้ เจ้าภาพก็ขึ้นไปบนศาลาพระสงฆ์ที่ได้รับอาราธนามาก็จะนั่งบนอาสนสงฆ์ มีเทศน์อานิสงส์สลากภัต สมัยก่อนนิยมเอาเด็กที่อ่านหนังสือยวนออกหัดเทศน์ แล้วบวชเณรเทศน์วันนี้ (เทศน์จบบ่ายก็สึก) เมื่อเทศน์จบก็จะกล่าวคำถวายสลากภัต ให้พระสงฆ์จับสลากแล้วก็จะอนุโมทนา จากนั้นก็ลงจากศาลามารับประเคนสลากภัตที่จับสลากได้ บรรดาศิษย์ที่ติดตามพระสงฆ์มา ก็จะช่วยขนกลับยังวัดของตน

ที่จริงสลากภัตเป็นบุญที่คนไทยทำกันทั่ว ไป แต่จุดเด่นของงานสลากภัตไทยวนสระบุรี อยู่ตรงที่ฝีมือในการตกแต่งประดับประดาต้นสลากภัตของตนให้สวยงาม ดูจะเป็นการประกวดกันไปในตัว

ประเพณีตรุษ – สงกรานต์ เมื่อถึงเทศกาลนี้ไทยวนสระบุรี นิยมทำกิจกรรม 3 ประการ คือ ทำบุญ แทนคุณ และเล่นสนุก

ทำบุญ ทุกเช้าชาวบ้าน จะนำอาหารไปตักบาตรทำบุญที่วัดทุกวันจนสิ้นวันตรุษ – สงกรานต์ ก่อนวันสรงน้ำพระ จะมีการก่อพระเจดีย์ทราย วันต่อไปจะมีการสรงน้ำพระ ถือว่าเป็นวันสุดท้ายของาน

แทนคุณ ในเทศกาลเช่น นี้ จะนำอาหาร เสื้อผ้า ไปมอบแก่ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ รดน้ำดำหัว ขอขมา และขอพรจากท่าน นิมนต์พระมาสวดบังสุกุลอัฐิบรรพบุรุษของตน

เล่นสนุก สมัยก่อน กลางวันนิยมเล่นรำวงกันที่วัด โดยตีกลองรำมะนาเสียงดังกระหึ่ม หนุ่มสาวจะเล่นรำวงกันสนุกสนาน ตกเย็นก็จะนัดเล่นรวมกันที่บ้านใดบ้านหนึ่งโดยหาฟืนมาติดไฟให้สว่าง อาจเล่นรำวง หรือเล่นเข้านางแมว นางกระด้ง นางหมอน จนดึกจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน รุ่งเช้าสาย ๆ ก็พบกันที่ลานวัดอีก ปัจจุบันการเล่นสงกรานต์นิยมเล่นกันในวันสรงน้ำพระเพียงวันเดียว

ประเพณีตีกลองประจำวัด แต่ ละวัดจะมีกลองอยู่สองชุด ชุดหนึ่งคือกลองทัด 1 คู่ ชาวบ้านเรียกว่ากลองเพล จะตีสามบอกเวลาเพล และจะตีกลองนี้อีกครั้งหนึ่งเมื่อสวดมนต์ทำวัตรเย็นเสร็จโดยตีรัวสามลา ตีระฆังประกอบด้วย เมือตีจบก็จะตีบอกวัน ถ้าวันนี้เป็นวันอาทิตย์ ก็จะตี 1 ตูม วันจันทร์ก็ตี 2 ตูม ฯลฯ สมัยก่อนเมื่อปฏิทินและนาฬิกายังไม่มีแพร่หลาย ชาวบ้านจะรู้จักเวลาก็โดยอาศัยฟังเสียงกลองที่ตีในวัด กลองอีกชุดหนึ่งประกอบด้วยกลองใหญ่ 1 ใบ ชาวบ้านเรียกว่า กลองเทิ่ง เพราะเสียงดังเทิ่ง อีกสอบใบเป็นกลองขนาดเล็กผูกติดกับกลองใหญ่ เรียกตามเสียงเช่นกันว่า กลองตุ๊บ และกลองต๊ะ กลองคู่นี้วันธรรมดาจะตีประมาณ 5 โมงเย็น ตี ตุ๊บ – เทิ่ง ช้าเร็วสลับกันไป บอกเวลาว่าเย็น 5 โมงแล้ว พระ – เณร ในวัดก็จะเตรียมสรงน้ำเพื่อเตรียมทำวัตรสวดมนต์ต่อไป ชาวนาที่อยู่กลางทุ่งนาก็จะเตรียมเข้าบ้าน หากมีแขกก็จะปล่อยแขกกลับบ้าน กลองตุ๊บเทิ่งนี้จะตีอย่างไพเราะเป็นพิเศษในคืนวันโกนและคืนวันพระ มีการตีฆ้องสลับร่วมด้วย ผู้ที่ตีเก่ง ๆ จะสามารถตีให้มีท่วงทำนองไม่ซ้ำกันเลย เช่น ตุ๊บ-ต๊ะ-ตุ๊บ-เทิ่ง-ตุ๊บ-หมุ่ย (หมุ่ยคือเสียงฆ้อง) เทิ่ง-ตุ๊บ-เทิ่ง-ตุ๊บ-เทิ่ง-ตุ๊บ-หม่ย ฯลฯ บางทีก็มีผู้แปลทำนองกลองออกมาว่า “ สาวเก็บเห็ด แม่ฮ้างเก็บกุ้ง เก็บใส่ไหน เก็บใส่ท้องบุ้ง ” เล่ากันว่าวัดบ้านยวนแห่งหนึ่ง มีพระสงฆ์ชื่อพระทะ พระเที่ยง และพระตุ้ย คนยวนเรียกพระว่า “ ตุ๊ ” เวลาตีกลองใหญ่เป็นทำนองเด็กวันก็จะแปลเสียงกลองเป็นเสียงพูดว่า “ ตุ๊ทะ ตุ๊ทะ ตุ๊เที่ยง ตุ๊เที่ยง ตุ๊เที่ยง ตุ๊ตุ้ย ” คำว่า “ ตุ้ย ” จะลงพร้อมกับเสียงฆ้องพอดี

  • ความเชื่อเรื่องผี คนไทยวนสระบุรีก็เหมือนคนถิ่นอื่นที่เชื่อว่า คนที่ตายไปแล้ว ยังมีวิญญาณล่องลอยอยู่ ผีเหล่านี้อาจให้คุณให้โทษต่อคนได้ ผีที่คนยวนเชื่อมีประเภทดังนี้

ผีเรือน หรือผีกระจำ ตระกูล หรือผีบรรพบุรุษ คนยวนเรียกว่าผีปู่ย่า โดยคนยวน 1 ตระกูลจะมีศาลผี (หิ้งผี) อยู่ที่บ้านญาติคนใดคนหนึ่ง เมื่อลูกหลานในตระกูลนี้แต่งงานก็จะพากันมาไหว้ผีปู่ย่าที่บ้านนี้ หรือเทศกาลสงกรานต์ก็จะมีบรรดาญาติในตระกูลนี้มาไหว้ผีรวมกัน เชื่อกันว่าหากไหว้ดีพลีถูกผีปู่ย่าก็จะอำนวยอวยพรให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็น สุข แต่ถ้าห่างเหินหรือปฏิบัติผิด ผีปู่ย่าก็จะลงโทษเอา เช่น ให้เจ็บป่วยบ้าง ให้เดือดเนื้อร้อนใจบ้าง ให้ประสบอุบัติเหตุบ้าง

ผีประจำหมู่บ้าน ทุกหมู่บ้านจะมีศาลผีประจำอยู่ บางหมู่บ้านจะมีมากกว่าหนึ่งศาลก็มี ที่บ้านไผ่ล้อม อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี จะมีศาลเจ้าชื่อ “ ปู่เจ้าเขียวเปลวโปร่งฟ้า ” เล่ากันว่าเดิมท่านอยู่ที่เชียงดาว เชียงใหม่ คราวที่คนยวนอพยพมาอยู่เสาไห้ สระบุรี ผู้คนขอให้ท่านเดินทางมาด้วยเพื่อคุ้มครองลูกหลานยวนอพยพคราวนั้น และก็ปลูกศาลให้ท่านอยู่ แต่ท่านจะกลับไปอยู่ที่เชียวดาว เมื่อถึงวันปีใหม่ สงกรานต์ก็จะมาเยี่ยมลูกหลานยวน เสาไห้ สระบุรี ทุกปี

ผีประจำวัด เรียกว่า เสื้อวัด ทุกวัดจะมีศาลผีนี้อยู่ บางวัดก็มีมากกว่าหนึ่งศาล มีความศักดิ์สิทธิ์เล่าขานแตกต่างกันไป เวลามีงานวัดจะต้องจุดธูปบอกเล่าท่านก่อน และมีอาหารเซ่นท่านด้วย

ผีประจำท้องนา คนยวนเรียกว่าเสื้อนา ความเชื่อเรื่องนี้มีมานานมาก ดังปรากฏในหนังสือ กฎหมายมังรายศาสตร์ ฉบับวัดเสาไห้ กล่าว ไว้ตอนหนึ่งว่า “ ผู้ใดขี้ใส่ข้าวแรกท่านตั้งแต่ตอนหว่านกล้าไปจนถึงตอนจะย้ายไปปลูก จะเก็บเกี่ยวให้มันหาเหล้า 2 ไห ไก่ 2 คู่ เทียน 2 เล่ม ข้าวตอกดอกไม้ มาบูชาขวัญข้าวและเสื้อนา ผิเพียงแต่เยี่ยว ไม่ได้ขี้ ให้มันหาไก่คู่หนึ่ง เหล่าขวดหนึ่ง เทียนคู่หนึ่ง ข้าวตอกดอกไม้ บูชาเสื้อนา.. ” ความเชื่อเรื่องเสื้อนานี้ เมื่อถึงเดือนหก แม่บ้านจะทำขนมบัวลอยไปวางเซ่นที่นาเพื่อเลี้ยงเสื้อนาของตนทุกปี

ผีที่มีอยู่ในตัวคน ผี เช่นนี้จะมีอยู่ในบางคนเท่านั้น เช่น ผีปอบ การที่จะรู้ว่าใครเป็นปอบนั้น จะรู้ได้เมื่อผีนี้เข้าสิงใคร ผู้นั้นจะร้องโหยหวน หมอไล่ผีจะขู่ถามว่า “ มึงคือใคร มาจากไหน ” เมื่อมันยอมต่ออำนาจของหมอไล่ผี มันก็จะบอกชื่อและที่อยู่ของมัน ก็จะรู้ว่าผู้นั้นเป็นปอบ สาเหตุที่เป็นปอบมีเล่าไว้ต่างกัน เช่น สืบทอดมาทางเชื้อพันธุ์ หรือเป็นนักเล่นของขลัง แต่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ของขลังนั้นจะกลายเป็นผีมาสิงสู่อยู่ในตัวของผู้นั้น เป็นต้น


ผีที่มาตามคำขอ ผี ประเภทนี้จะมาเมื่อขอร้องให้มา และจะไปเมื่อขอร้องให้ไป เช่น ผีประเภทเจ้าพ่อต่าง ๆ จะมาประทับทรงเมื่อคนทรงทำพิธีเชิญให้มาประทับทรง เมื่อแรกนั้นมักจะมาประทังเองโดยไม่ต้องเชิญ ผีอีกประเภทหนึ่ง หนุ่มสาวจะเชิญมาเล่นสนุกด้วยในเทศกาลสงกรานต์ เช่น ผีนางกระด้ง ผีนางแมว ผีนางหมอน เป็นต้น วิธีการเชิญผีประเภทหลังนี้ มักจะให้หญิงสาวเป็นร่างโทรโดยผูกตาหญิงนั้น ประนมมือ เพื่อน ๆ ก็จะร้องเพลงเชิญผี เมื่อผีนั้นมาเข้าร่าง สาวนั้นก็จะมีมือสั่นรัว เพื่อนก็จะแก้ผ้าที่ผูกตาออกให้หญิงนั่งก็จะลุกขึ้นรำอย่างสวยงาม จากนั้นก็จะถามเรื่องเนื้อคู่กันบ้าง ถามเรื่องโชคลางบ้าง เมื่อเห็นพอสมควรต้องการให้ผีนั้นออกไป เพียงร้องที่ริมหูหญิงผู้นั้นเบา ๆ ผีก็จะออกจากร่างนั้นไป

ประเพณีขึ้นท้าวทั้งสี่ ยวน เรียก “ ต๊าวตังสี่) หมายถึงทาวธตรฐ ท้าววิรูปักข์ ท้าววิรุฬหก และท้าวกุเวร ซึ่งเป็นเทวดาประจำทั้งสี่ทิศ (ท้าวจตุโลกบาล) ก่อนจะมีงานใดก็จะต้องทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่เสียก่อน โดยเลือกสถานที่เหมาะสมเอาไม้ 5 ท่อนมาปักเป็นเสา 4 มุม เสาต้นกลางสูงกว่าเสาอีกสี่ต้น บนเสานี้จะวางกระทงเครื่องเซ่น มีหมาก บุหรี่ ดอกไม้ ธูปเทียน กระทงเสากลางเป็นของพระอินทร์ ผู้รู้พิธีก็จะกล่าวอาราธนาให้เทพทั้ง 5 มารับของเครื่องเซ่น และช่วยปกป้องงานของตนให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย

บทสรุป

ไทยวนสระบุรี คือไทยวนที่อพยพไปจากเมืองเชียงแสน เมื่อ พ.ศ. 2347 ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สระบุรีมาจนถึงทุกวันนี้ เอกลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นไทยวน ก็คือภาษาและประเพณีที่ละม้ายคล้ายคลังกับภาษาและประเพณีของชาวล้านนาไทย และยังเรียกตัวเองว่าเป็นคนยวนมาจนถึงทุกวันนี้