แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์

ในขณะที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงตั้งอาณาจักรสุโขทัยนั้น มีชนชาวไทยหลายพวกด้วยกันอพยพมาอยู่ในดินแดนตอนใต้ของคาบสมุทรอินโดจีน พวกที่มีกำลังเข้มแข็งก็ตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้น พวกที่อ่อนแอไม่สามารถรวบรวมกันเป็นปึกแผ่นได้ก็เข้ามาอยู่ในความปกครองของชนเหล่าอื่น ระหว่างระยะเวลานี้ มีเจ้านายไทยองค์หนึ่ง ปรากฎพระนามตามที่เรียกกันเป็นสามัญว่า พระเจ้าอู่ทอง ซึ่งเป็นเชื้อสายของราชวงศ์ไชยปราการ สามารถตั้งตนเป็นใหญ่ในบริเวณภาคกลาง แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยตั้งราชธานีขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 1893 ที่หนองโสน หรือบึงพระราม เพราะเห็นว่าอยู่ในทำเลที่เหมาะสมเป็นราชธานี ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์และการเมือง มีลำน้ำล้อมอยู่เป็นคูเมือง ได้แก่ลำน้ำป่าสัก ลำน้ำลพบุรี ลำน้ำเจ้าพระยา ลักษณะชัยภูมิดังกล่าวนี้มีความสำคัญยิ่งทางยุทธวิธีทำให้ปลอดภัยจากศัตรูผู้รุกราน สะดวกในการป้องกันเมืองและเหมาะสำหรับเป็นที่ตั้งมั่นรับข้าศึก เมื่อถึงฤดูน้ำหลากบริเวณนอก พระนครจะเจิ่งไปด้วยน้ำ ข้าศึกไม่สามารถจะตั้งทัพได้สะดวกต้องล่าถอยกลับไป

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วทรงตั้งพระราชโอรส (คือพระราเมศวร) ไปครองเมืองลพบุรีในฐานะเป็นเมืองลูกหลวง และเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญทางหนือ ในการที่จะคอยสดับตรับฟังข่าวคราวของอาณาจักรสุโขทัย และทรงตั้งขุนหลวงพะงั่ว (พี่มเหสี) เป็นพระบรมราชาให้ไปครองเมืองสุพรรณบุรี เมืองหน้าด่านทิศตะวันตก พระบรมราชาได้ยกกองทัพไปตีเมืองชัยนาท เป็นการขู่ขวัญฝ่ายสุโขทัยไว้ก่อน เหตุการณ์ช่วงนี้ แสดงให้เห็นว่าเมืองอินทร์ เมืองสิงห์บุรี เมืองพรหม ในสมัยนั้นอยู่ในความปกครองของกรุงศรีอยุธยาแล้ว

ในปี พ.ศ. 1895 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ได้เสด็จยกทัพไปล้อมเมืองพระนครหลวง (นครธม) และได้ยึดเมืองพระนครหลวงได้ใน พ.ศ. 1896 ทำให้พระเดชานุภาพแพร่หลายทั่วไปเป็นผลให้เมืองต่าง ๆ เข้ามาสวามิภักดิ์เป็นเมืองขึ้นอีกเป็นส่วนมาก มีเมืองประเทศราช 20 เมือง เมือง พระยามหานครถือน้ำพิพัฒสัตยา 8 เมือง เมืองลูกหลวง 5 เมือง เมืองหลานหลวง 2 เมือง

สมเด็จพระรามาธิบดี 1 ทรงจัดการปกครองส่วนภูมิภาคตามแนวของกรุงสุโขทัย คือจัดเสมือนการจัดกองทัพเพื่อป้องกันข้าศึกศัตรู มีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีอยู่กลาง เวลามีสงครามก็ระดมพลเมืองเข้าเป็นทัพหลวง มีกษัตริย์ผู้เป็นประมุขเป็นแม่ทัพใหญ่ และทรงจัดหัวเมืองหน้าด่านตามทิศ ทั้ง 4 เป็นทัพหน้าทัพหลัง ปีกซ้ายและปีกขวา มีระยะทางเดินทัพติดต่อกับราชธานี ซึ่งเป็นทัพหลวงได้ภายในระยะเวลา 2 วัน

สำหรับการปกครองภายในราชธานีนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ได้เริ่มนำการ ปกครองแบบจตุสดมภ์มาใช้ กล่าวคือ การดำเนินการปกครองภายในราชธานี ได้ดำเนินตามแบบสุโขทัยและเขมรผสมกันมาเป็นแบบที่เรียกว่า “จตุสดมภ์” คือ จัดหน่วยงานแบ่งออกเป็น 4 หน่วยแต่ละหน่วยมีเสนาบดีเป็นผู้ควบคุมดูแลบริหารราชการ ลักษณะการจัดระเบียบเป็น 4 แผนกนั้นสันนิษฐานว่าจะเป็นแบบที่นำมาจากอินเดีย เพราะประเทศอื่น ๆ เช่น พม่า เขมร ชวา มลายู ต่างมีระเบียบ การแบ่งหน่วยราชการเป็น 4 แผนกเช่นกัน ส่วนของไทยได้รับสืบทอดมาจากเขมรอีกต่อหนึ่ง หน่วยงานทั้ง 4 แผนกคือ

1. กรมเมือง มีขุนเมืองเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองรักษาสันติสุขบังคับบัญชาบรรดาไพร่บ้านพลเมือง ซึ่งมีถิ่นฐานภูมิลำเนาอยู่ในเขตเมืองหลวง รวมทั้งมีหน้าที่ลงโทษ ผู้กระทำผิดทางอาญาในเขตเมืองหลวงด้วย

2. กรมวัง มีขุนวังเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ที่เกี่ยวกับราชสำนัก และพิพากษาคดีด้วยและสำหรับหัวเมืองต่าง ๆ ขุนวังมีอำนาจตั้งยกกระบัตรไปประจำตามเมือง ๆ ละคน ทำหน้าที่พิพากษาคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองนั้น ๆ ด้วย

3. กรมคลัง มีขุนคลังเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่จ่าย และเก็บรักษาพระราชทรัพย์ตลอดจนการเงินของประเทศ

4. กรมนา มีขุนนางเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับเรือกสวนไร่นาและออกสิทธิที่นาซึ่งถือว่าเป็นงานสำคัญอย่างยิ่ง หน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือ การเก็บ “หางข้าว” ขึ้นฉางหลวง (เพราะในสมัยโบราณยังไม่มีการเก็บเงินค่านา ใครทำนาได้ข้าวต้องแบ่งเอามาส่งขึ้นฉางหลวงไว้สำหรับใช้ในราชการเรียกว่า “หางข้าว”)

จากหลักฐานการจัดการปกครองของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ที่ทรงจัดให้ เมืองพรหม เมืองอินทร์ เมืองสิงห์ เมืองสรรค์ เป็นหัวเมืองขึ้นในหน้าด่าน รายทางสำหรับทางทิศเหนือ โดยมีเมืองลพบุรีเป็นเมืองหน้าด่านหลักนั้น แสดงให้เห็นว่า เมืองพรหม เมืองอินทร์ เมืองสิงห์ ได้มีอยู่แล้วในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยถูกจัดให้เป็นหัวเมืองชั้นใน ก่อนหน้านั้นเมืองดังกล่าวทั้งสามนี้ อาจอยู่ในความ ปกครองของอาณาจักรสุโขทัยก็ได้ เพราะในช่วงที่อาณาจักรสุโขทัยรุ่งเรืองนั้น ได้มีอำนาจอิทธิพลแผ่ขยายครอบงำในบริเวณภาคกลางและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ด้วย แต่ก็ไม่ปรากฏแน่ชัดว่า เมืองทั้งสามนี้ได้สร้างขึ้นในสมัยใน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่ ก็ไม่มีพอที่จะให้ค้นคว้าได้ ชาวไทยมักจะรู้จักประวัติศาสตร์ของคนดีก็ในยุคของอาณาจักรสุโขทัยสมัยราชวงศ์พระร่วงเป็นต้นมา

การปกครองกรุงศรีอยุธยามาแก้ไขมาก เมื่อรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เหตุด้วยเมื่อรัชกาลก่อน ได้อาณาเขตกรุงสุโขทัย ซึ่งได้ลดศักดิ์ลงเป็นประเทศราชอยู่นั้น มาเป็นเมืองขึ้น กรุงศรีอยุธยา และตีได้เมืองนครธม (พระนครหลวง) ซึ่งเป็นราชธานีของประเทศขอม เมื่อปีฉลู พ.ศ. 1976 ในสมัยนั้นได้ข้าราชการเมืองสุโขทัยและชาวกรุงกัมพูชา ทั้งพวกพราหมณ์ พวกเจ้านายท้าวพระยา ซึ่งชำนาญการปกครองมาไว้ในกรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก ได้ความรู้ขนบธรรมเนียมราชการงานเมืองทั้งทางกรุงสุโขทัยและกรุงกัมพูชาถ้วนถี่ดีกว่าที่เคยรู้มาแต่ก่อน จึงเป็นเหตุให้แก้ไขประเพณีการปกครอง เลือกทั้งแบบแผนในกรุงสุโขทัยและแบบแผนขอมในกรุงกัมพูชา มาปรับปรุงเป็นวิธีการปกครองกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ 2 ซึ่งเป็นราชโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ วิธีปกครองที่ปรับปรุงขึ้นเมื่อระหว่าง พ.ศ. 1991 จนถึง พ.ศ. 2072 ใน 2 รัชกาลที่กล่าวมาจึงได้เป็นหลัก ของวิธีปกครองประเทศสยามสืบมา ถึงแก้ไขบ้างในบางสมัยก็เป็นแต่แก้พลความตัวหลัก วิธียังคงอยู่จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้

การปกครองตามแบบพระบรมไตรโลกนาถนั้น ทรงจัดการปกครองในลักษณะแบบการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง หลักใหญ่คือ แบ่งการปกครองออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนกลาง ส่วน ภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ การปกครองส่วนกลางได้แยกฝ่ายทหารกับพลเรือนออกจากกัน ฝ่ายทหารก็ให้มีหัวหน้าคนหนึ่ง คอยควบคุมดูแล มีบรรดาศักดิ์ เป็นสมุหกลาโหมดูแลราชการเกี่ยวกับการทหารทั้งหมด ฝ่ายพลเรือนก็มีสมุหนายกเป็นหัวหน้า และมีตำแหน่งรองลงไปคือจตุสดมภ์ และได้เปลี่ยนชื่อกรมเมือง เป็นนครบาล กรมวัง เป็นธรรมาธิการ กรมคลัง เป็นโกษาธิบดีและกรมนา เป็นเกษตราธิราช สำหรับการปกครองส่วนภูมิภาคให้เป็นแบบเดียวกันกับราชธานี โดยให้แต่ละเมืองใช้วิธีการปกครอง ฝ่ายพลเรือน คือ มีจตุสดมภ์ มีเวียง วัง คลัง นา ตามหัวเมืองนั้น ๆ ด้วย ได้กำหนดให้หัวเมืองชั้นในคือ บรรดาเมืองที่อยู่ใกล้ในวงราชธานีเป็นเมืองจัตวา หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่หัวเมืองซึ่งอยู่นอกเขตวงราชธานีออกไป กำหนดฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี โดยลำดับกันตามขนาดและความสำคัญของเมือง ส่วนการปกครองส่วนท้องถิ่น มีการแบ่งอาณาเขตการปกครองท้องที่ออกเป็นหน่วย ๆ เริ่มต้น “หมู่บ้าน” มีผู้ใหญ่บ้านซึ่งผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นเป็นหัวหน้าปกครองหลายหมู่บ้านรวมตัวกันเป็น “ตำบล” กำนัน ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์ “พัน” เป็นหัวหน้าปกครองหลาย ๆ ตำบลรวมกันเป็น “แขวง” มีหมื่นแขวงเป็นผู้ปกครองหลาย ๆ แขวงรวมกันเป็นเมือง มีผู้รั้งเมืองหรือเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครอง

ในยุคสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมืองอินทร์ เมืองพรหม เมืองสิงห์ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นหัวเมืองชั้นในก็ได้มีการปรับการปกครองให้เป็นไปตามรูปแบบที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถวางไว้ด้วย นั่นคือ ได้มีสภาพฐานะเป็นหัวเมืองจัตวา ผู้ว่าราชการเมืองเรียกว่า “ผู้รั้ง” ไม่เรียก เจ้าเมือง เพราะไม่มีอำนาจเด็ดขาดอย่างเจ้าเมือง ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเจ้ากระทรวงในราชธานีพระมหากษัตริย์มักจะทรงแต่งตั้งขุนนางในกรุงศรีอยุธยาออกไปทำหน้าที่ดังกล่าว จึงอยู่ภายใต้การควบคุมของราชธานีอย่างใกล้ชิด

ประวัติของนายอินทร์ เมืองพรหม เมืองสิงห์ ในสมัยอยุธยานั้น มีเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกสงครามน้อยมาก สามารถกล่าวได้ว่าเป็นเมืองที่มีแต่ความสงบสุขสงครามที่เกิดขึ้น แทบจะทั้งหมดมีการรบพุ่งกันในที่อื่น โดยเฉพาะสงครามไทยกับพม่านั้น การสงครามจะมีทางภาคพายัพและภาคตะวันตกเป็นส่วนมาก มีการสงครามที่ทำในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี เพียง 2 ครั้ง เท่านั้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2127 เป็นระยะที่ไทยประกาศอิสรภาพใหม่ ๆ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ได้ยกกองทัพมาตีไทยหวังให้ยอมอยู่ภายใต้อำนาจพม่าต่อไปอีก เพราะเห็นว่าไทยเสียบ้านเมืองมาก่อนกำลังที่จะต่อสู้ย่อมมีน้อยกว่าแต่ก่อนจึงไม่จำเป็นต้องยกทัพหลวงเข้ามาเหมือนอย่างครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ก็คงจะตีกรุงศรีอยุธยาได้ พอถึงฤดูแล้วปลายปีนั้น จึงให้จัดทัพยกมาเป็น 2 ทางพร้อมกันประสงค์จะให้ไทยละล้าละลังในการที่จะต่อสู้ในครั้งนั้น ให้เจ้าเมืองพสิมซึ่งเป็นพระเจ้าอาคุมกองทัพจำนวนพล 30,000 คนยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทัพ 1 ให้พระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระอนุชายกกองทัพบกทัพเรือจากเชียงใหม่ จำนวนพล 100,000 คน ลงมาทางเมืองเหนืออีก ทาง ๆ ให้มาสมทบกันตีกรุงศรีอยุธยา

ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงเตรียมการคอยท่าศึกอยู่แล้ว ให้กองสอดแนมออกไปคอยสืบสวนอยู่ทุกทางที่ข้าศึกจะยกมา ครั้งทรงทราบว่าข้าศึกจะยกมาเป็น 2 ทางจึงให้ตระเตรียมการต่อสู้ ให้จัดพลอาสาชาวหัวเมืองเหนือเป็นทัพบกทัพ ๆ มีจำนวนพล 10,000 คนให้เจ้าพระยาสุโขทัยเป็นนายทัพ แล้วจัดพลอาสาชาวกรุงฯ เป็นกองทัพเรืออีกทัพ 1 ให้พระยาจักรีเป็น นายทัพพระยาพระคลังเป็นยกกระบัตร และสั่งให้ขนย้ายเสบียงอาหารและพาหนะ ในหนทางที่ข้าศึกจะยกมาเสียให้พ้นมือข้าศึกทั้ง 2 ทาง แล้วให้ต้อนคนเข้าอยู่ในพระนคร เตรียมรักษาป้อมปราการเป็นสามารถ


จากหลักฐานทางธรณีวิทยาพบว่า เดิมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดสิงห์บุรี เป็นส่วนหนึ่งของอ่าวไทยตอนบน ที่ล้ำเข้ามาในแผ่นดิน


จนถึงจังหวัดนครสวรรค์ อย่างไรก็ตามแนวตะเข็บรอยต่อระหว่างจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดชัยนาท น่าจะมีอายุเก่าแก่กว่าพื้นที่ด้านอื่น ๆ ของจังหวัด


เพราะเป็นแนวตะพักต่อจากภูเขา และเป็นส่วนที่สูงที่สุดของจังหวัดซึ่งสูงประมาณ 19 เมตร จากระดับน้ำทะเล พบร่องรอยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เป็นจำนวนมากอยู่หลายแห่ง เช่น

แหล่งโบราณคดีเมืองบ้านคู ตำบลฟักทัน อำเภอบางระจัน

บ้านบางวัว ตำบลไม้ดัด อำเภอบางระจัน พบดินเผาและหินดุ

ชุมชนโบราณบ้านชีน้ำร้าย อำเภออินทร์บุรี พบชิ้นส่วนของขวานหินและชิ้นส่วนกำไลสำริด

บ้านโพธิ์ทะเล อำเภอบางระจัน พบขวานหิน


จากร่องรอยที่พบแสดงว่าเคยมีผู้คนอาศัยอยู่มานานแล้ว และพัฒนารูปแบบของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์มาสู่ความเป็นเมือง โบราณในยุคการขุดคูเมือง และคันดินกำแพงเมือง เป็นการก้าวเข้าสู่ทวารวดี เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 - 14

ในบางครั้งจะมีการขุดคูเมืองล้อมรอบเพียงอย่างเดียว ไม่มีการนำดินไปพูนสูงเป็นกำแพง แต่อาจนำไปปรับพื้นที่ในเมืองให้ราบเรียบ เมืองที่มีลักษณะเช่นว่านี้ได้แก่ เมืองโบราณต่าง ๆ ในเขตจังหวัดสิงห์บุรี เช่น เมืองคูเมือง อำเภออินทร์บุรี เมืองวัดพระนอนจักรสีห์ เมืองสระกระพังและเมืองบ้านเก่า

แหล่งชุมชนโบราณที่บ้านคูเมือง อำเภอห้วยชัน อำเภออินทร์บุรี จากการสำรวจพบว่าเป็นเมืองสมัยทวารวดีฟูนัน มีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมมน มีคูคลองจำนวนมากขุดเชื่อมโยงกับคูเมืองและลำน้ำธรรมชาติ แบ่งพื่นที่ออกเป็นส่วน ๆ และถมดินสูงเป็นตารางรูปสี่เหลี่ยมขนาดต่าง ๆ เป็นลักษณะโครงข่ายคมนาคมทางน้ำ มีรูปร่างคล้ายใยแมงมุมหรือร่างแห ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร จัดเป็นการตั้งถิ่นฐานแบบเมืองคูคลอง สมัยทวารวดีฟูนัน ชุมชนตั้งอยู่บนลำน้ำแม่ลาซึ่งเป็นทางน้ำเก่า ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ขนาบด้วยลำน้ำใหญ่สองสายคือ แม่น้ำน้อยทางด้านทิศตะวันตก และแม่น้ำเจ้าพระยา ทางด้านทิศตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 13 - 18 เมตร

จากการศึกษาลักษณะทางภูมิศาสตร์ ของแหล่งชุมชนโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างพบว่า ในช่วงสมัยทวารวดี ชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทย เว้าลึกเข้าไปในแผ่นดินเป็นชะวากทะเล โดยชุมชนเหล่านั้นตั้งอยู่บนภูมิประเทศที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปัจจุบันประมาณ 4 เมตร เมื่อชายฝั่งเลื่อนออกไป และแม่น้ำเปลี่ยนทางเดิน ชุมชนต่าง ๆ ต้องขุดคลองเลียบเพื่อให้สามารถออกสู่ทะเลได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ชุมชนโบราณบ้านคูเมืองออกสู่ทะเลไม่สะดวก จึงต้องสร้างชุมชนขึ้นใหม่ที่บ้านคู บนฝั่งแม่น้ำดงคอน ที่เป็นทางแม่น้ำสำคัญในเวลานั้น ซึ่งมีทางออกทะเลได้สะดวกอยู่บริเวณอำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง เป็นผลให้ชุมชนโบราณบ้านคูเมืองหมดความสำคัญลงไป และเกิดเมืองแห่งใหม่บนแม่น้ำน้อย ที่อำเภอสรรคบุรี และในช่วงเวลาหลังจากนั้นแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เคยไหลอยู่ทางด้านตะวันออก ได้เปลี่ยนเส้นทางไหลตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ทำให้ความสำคัญของแม่น้ำน้อย และแม่น้ำลพบุรีลดลงไป

จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่า เมืองโบราณบ้านคูเมืองมีร่องรอยการอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในประเทศไทยต่อเนื่องไปถึงสมัยทวารวดี ลักษณะของเมืองมีแผนผังคล้ายกับผังเมืองสมัยทวารวดีทางภาคกลางของประเทศไทย ชุมชนโบราณแห่งนี้รู้จักใช้เครื่องมือโลหะ พบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็ก ตะกั่ว ดีบุก และเครื่องประดับที่ทำจากโลหะเช่น ตุ้มหู แหวน รวมทั้งเศษโลหะต่าง ๆ มีความรู้ในการทอผ้า โดยสันนิษฐานจากบริเวณของแวดินเผาที่พบ แวดินเผา เป็นก้อนดินเผาเจาะรูตรงกลาง มีลักษณะกลมพองตรงลงมากลวงคล้ายถังเบียร์ กล่าวกันว่า เป็นส่วนหนึ่งของไม้สำหรับปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นใย นอกจากนั้นยังมีหลักฐานว่าชุมชนแห่งนี้นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เนื่องจากพบประติมากรรมหินสลักพระพุทธรูปปางต่าง ๆ อันเป็นคตินิยมของพุทธศาสนาฝ่ายใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นฝ่ายเถรวาท


สิงห์บุรีเป็นเมืองเก่าก่อนสมัยสุโขทัย ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ทางลำน้ำแม่น้ำจักรสีห์ ในท้องที่ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี ในปัจจุบันบริเวณใกล้วัดหน้าพระธาตุมีเมืองเก่าเรียกว่า “ บ้านหน้าพระลาน” ปรากฏอยู่ “สันนิษฐานว่า พระเจ้าไกรสรราช โอรสพระเจ้าพรหม (พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก) ครองเมืองชัยปราการ (ฝาง) โปรดให้สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1650 ครั้งเสด็จพาไพร่พลมาครองเมืองลพบุรีตามรับสั่งพระราชบิดา ซึ่งเข้าใจว่า คงจะมาพักขึ้นบก ณ ที่ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสิงห์เดิมนี้ เพื่อเดินทางไปลงเรือที่วัดปากน้ำ แม่น้ำลพบุรี เพราะสมัยนั้นลำแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าอำเภอเมืองสิงห์บุรี และคลองบางพุทรายังไม่มี เมื่อเกิดแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นใหม่ทางหน้าจังหวัดสิงห์บุรีบัดนี้ จึงได้ย้ายเมืองไปตั้งทางแม่น้ำน้อย ตำบลโพสังโฆ ใต้วัดสิงห์ (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอค่ายบางระจัน) ลงมา ครั้ง พ.ศ. 2310 เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า เห็นกันว่าแม่น้ำใหม่เป็นทางคมนาคมสำคัญ จึงย้ายเมืองสิงห์บุรีมาตั้งทางแม่น้ำเจ้าพระยา ริมปากคลองนกกระทุ่ง ฝั่งใต้ที่ปากบางต้นโพธิ์ ตำบลบางมอญ (ปัจจุบันคือ ตำบลต้นโพธิ์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี) การย้ายครั้งนี้น่าจะเป็นสมัยเดียวกับตั้งเมืองอ่างทองในสมัยกรุงธนบุรี ภายหลังจึงย้ายไป

คำขวัญ ประจำจังหวัด

ถิ่นวีรชนคนกล้า คู่หล้าพระนอน นามกระฉ่อนปลาแม่ลา ย่านการค้าภาคกลาง


สิงห์บุรี เมืองอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยด้วยเรื่องราววีรกรรมการสู้รบของชาวบ้านบางระจัน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากกรุงเทพ ฯ ประมาณ 142 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 841 ตารางกิโลเมตร ตัวเมืองตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำสามสายไหลผ่านคือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงเมืองสิงห์ไว้ว่า “เมืองสิงห์บุรีเป็นเมืองใหญ่และเก่ามาก มีป้อมปราการ วัง วัดมหาธาตุและของสำคัญคือ พระนอนจักรสีห์ใหญ่กว่าพระนอนองค์อื่นๆ ในเมืองไทย


ทำเป็นแบบพระนอนอินเดียเหมือนเช่นที่ถ้ำเมืองยะลา เมืองสิงห์บุรีเรียกชื่อต่างกันดังนี้คือ เมืองสิงหราชาธิราช เมืองสิงหราชา เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมน้ำจักรสีห์อันเป็นลำน้ำใหญ่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยา 200 เส้น เพราะแม่น้ำจักรสีห์ตื้นเขิน เมืองสิงห์จึงกลายเป็นเมืองลี้ลับ” เมืองสิงห์บุรีตั้งขึ้นเป็นจังหวัดสิงห์บุรีเมื่อปี พ.ศ. 2438 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5


ปัจจุบันแบ่งการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ คืออำเภอเมือง อำเภออินทร์บุรี อำเภอบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน อำเภอพรหมบุรี และอำเภอท่าช้าง เสน่ห์ของเมืองสิงห์บุรี คือ การตั้งชื่อถนนในเมืองเป็นชื่อวีรชนบ้านบางระจัน เช่น ถนนนายแท่น ถนนนายดอก ถนนนายอิน ถนนนายเมือง ถนนขุนสรรค์ เป็นต้น และนอกจากนี้จังหวัดสิงห์บุรียังเป็นเมืองที่มีวัดมากมายทั้งเก่าและใหม่ต่างยุคกัน