เส้นทางการท่องเที่ยว

เดือนมกราคม


งานทุ่งทานตะวันบานที่ลพบุรี

จัดที่ เขาจีนแล อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี วันงาน จัดขึ้นประมาณเดือนธันวาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ดอกทานตะวันบาน ปัจจุบันจังหวัดลพบุรีมีพื้นที่ปลูกทานตะวันนับแสนไร่ ก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิต ดอกทานตะวันจะบานเหลืองอร่ามเต็มท้องทุ่ง กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามของจังหวัดลพบุรี กิจกรรมที่น่าสนใจในงาน อาทิ การประกวดรถบุปผชาติ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากทานตะวัน การแข่งขันแรลลี่ประเภทต่างๆ

เดือนกุมภาพันธ์

งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


จัดที่ อ.เมือง เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่มีต่อลพบุรี และประเทศชาติ เนื่องจากเมืองลพบุรีเป็นราชธานีแห่งที่สอง ในสมัยนั้นที่พระองค์ทรงโปรดปรานประทับ อยู่ที่นี่นานเกือบตลอดปี เฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น จึงจะเสด็จไปประทับ ณ กรุงศรีอยุธยา ในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การแสดงแสง และเสียง การแสดงสาธิตวิถีชีวิตไทย งานราตรีวังนารายณ์ การละเล่นของเด็กไทย (จุก แกละ โก๊ะ เปีย) และการละเล่นพื้นเมืองมหรสพ และการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง

ประเพณีเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาทยอดเขาวงพระจันทร์

นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเดินทางขึ้นเขาเพื่อไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทกันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงการจัดงานประเพณีขึ้นเขาวงพระจันทร์ ซึ่งเป็นช่วงที่ทางวัดเขาวงพระจันทร์เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นเขาได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งมีการประดับไฟสวยงาม รวมถึงมีร้านค้าไว้คอยให้บริการตลอดเส้นทาง

เดือนมีนาคม

ประเพณีกำฟ้า


จัดที่ อ.เมือง อ.บ้านหมี่ วันงาน ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3. เป็นงานบุญพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวไทยพวน ซึ่งมีอยู่หลายหมู่บ้านในเขตอำเภอเมืองลพบุรี และอำเภอบ้านหมี่ จัดขึ้นเพื่อขอพรจากเทพยดา ผู้รักษาฟากฟ้า และบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล มักจะถือเอาวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันสุกดิบ และรุ่งขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จะเป็นวันกำฟ้า โดยชาวบ้านจะร่วมกันใส่บาตรด้วยข้าวหลามและข้าวจี่ ตกบ่ายมีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น มอญซ่อนผ้า ช่วงชัย หม่าเบี้ย หมากันห่าน

เดือนเมษายน

ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีตรุษสงกรานต์ ซึ่งหมายถึงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึง ประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่า การสิ้นปีประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และการให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็น ถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน โดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมสัมพันธไมตรี ปัจจุบันสงกรานต์ตรงกับวันที่ ๑๓, ๑๔ และ ๑๕ เมษายนของทุกปี ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการต่อเนื่องกัน เพื่อให้ประชาชนที่ทำงานในต่างท้องที่ได้กลับไปยังถิ่นฐานของตน เพื่อร่วมทำบุญ เยี่ยมเยียนบุพการีและสนุกสนานกับครอบครัว เพื่อนฝูง

เดือนพฤษภาคม


เดือนมิถุนายน

ประเพณีชักพระศรีอาริย์ วัดไลย์ หรือประเพณีแห่พระศรีอาริย์


จัดที่ อ.ท่าวุ้ง - บ้านหมี่ วันงาน วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี. เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาช้านาน โดยทางวัดจะจัดให้มีการอัญเชิญพระศรีอาริย์ มาประดิษฐานบนแท่นตะเฆ่ แล้วให้ประชาชนร่วมกันชักพระไปทางทิศเหนือ เริ่มจากวัดไลย์ไปสุดทางที่วัดท้องคุ้ง แล้วชักกลับมายังวัดไลย์ ระหว่างทางจะมีผู้เข้าร่วมขบวนเป็นจำนวนมาก มีการหยุดขบวนในแต่ละจุด เพื่อให้ผู้ที่ศรัทธาได้สรงน้ำ และนมัสการ ตลอดระยะทาง จะมีผู้ตั้งโรงทาน สำหรับเลี้ยงอาหารฟรี แก่ผู้เข้าร่วมขบวนแห่นับสิบแห่ง

ประเพณีกวนข้าวทิพย์

เป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาแต่พุทธกาล ในจังหวัดลพบุรีได้มีประเพณีกวนข้าว ทิพย์หลายแห่ง โดยเฉพาะที่วัดนิคมสามัคคีชัย ต.นิคม อ.เมือง ได้ทำพิธีกวนข้าวทิพย์มานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยจะกระทำในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 และจะนำไปถวายพระในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ส่วนที่เหลือก็จะแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ไปร่วมทำบุญในวันนั้น ถือเป็นการให้ทาน

เดือนกรกฎาคม

เทศกาลกระท้อนหวานและของดีเมืองลพบุรี

จัดที่ อ.เมือง จ.ลพบุรี

“กระท้อน” เป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดลพบุรี ที่สร้างชื่อเสียงมายาวนาน พื้นที่ในการปลูกกระท้อนส่วนใหญ่อยู่ในเขตตำบลตะลุง อำเภอเมืองลพบุรี เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย และเผยแพร่ผลผลิตกระท้อนของจังหวัดลพบุรี ให้อยู่ในความนิยมของตลาด ส่งเสริมให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปลูกไม้ผล ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร จังหวัดลพบุรี

เดือนสิงหาคม

บุญเข้าพรรษา วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศานาที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดฤดูฝนเป็นระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระธรรมวินัยได้บัญญัติไว้โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรืออาจพูดเป็นภาษาทั่วไปว่า จำพรรษา (พรรษา แปลว่า ฤดูฝน , จำ แปลว่า พักอยู่) พิธีเข้าพรรษานี้ถือว่าเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ไม่สามารถละเว้นได้ทุกกรณี ซึ่งการเข้าพรรษาตามปกติจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และจะสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา

เดือนกันยายน

ประเพณีสารทพวน (บุญห่อข้าว) ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 (ถือเป็นวันสิ้นเดือน 9) ของทุกปี ถือว่าเป็นประเพณีสำคัญของชาวไทยพวน เพราะเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศล อันแสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

เดือนตุลาคม

งานประเพณีผ้าป่าทางเรือ

วัดอัมพวัน ต.บางขันหมาก อำเภอเมือง

สืบเนื่องมาจากเมื่อสมัยก่อน ทำเลที่ตั้งของชุมชนแห่งนี้เป็นพื้นที่ลุ่ม พอถึงช่วงวันออกพรรษาซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมทุกปี หนุ่มสาวชาวมอญบางขันหมากจึงชวนกันนำเรือที่บ้านของตนมารวมกัน โดยตั้งตะเกียงเจ้าพายุที่หัวเรือ และตั้งกองผ้าป่าสามัคคีขึ้น พร้อมทั้งพากันร้องรำทำเพลง พายเรือทวนแม่น้ำลพบุรี บอกบุญตามริมตลิ่ง เชิญชวนให้ชาวบ้านมาทำบุญร่วมกัน เกิดเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้

ตักบาตรเทโว การตักบาตรเทโวเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ตักบาตรเทโว หรือเรียกว่า การตักบาตรเทโวโรหณะ ซึ่งคำว่า "เทโว” ย่อมาจาก "เทโวโรหณะ” แปลว่า การเสด็จจากเทวโลก การตักบาตรเทโวจึงเป็นการระลึกถึงวันที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาในเทวโลก ประเพณีการทำบุญกุศลเนื่องในวันออกพรรษานี้ ทุกวัดในประเทศไทย เช่น พิธีการตักบาตรเทโวนี้งาน “เขาพระงาม เทโวโรหณะ

จัดที่ วัดเขาพระงาม อ.เมือง

นมัสการหลวงพ่อใหญ่ ตักบาตรข้าวต้มลูกโยน” นับเป็นประเพณีแห่งความศรัทธามานานกว่า 107 ปี

เดือนพฤศจิกายน

ประเพณีใส่กระจาด


จัดที่ อำเภอบ้านหมี่ วันงาน จัดในเทศกาลออกพรรษา หรือประเพณีเสื่อกระจาด ตามภาษาพวน เรียกว่า "เส่อกระจาด" เป็นประเพณีของชาวไทยพวน ซึ่งถือปฏิบัติกันในเขตอำเภอบ้านหมี่ จัดให้มีขึ้นในงานเทศกาลเทศมหาชาติ ส่วนมากจะกำหนดในเทศกาลออกพรรษา (เดือน 11) ข้างแรม ก่อนถึงวันใส่กระจาดหนึ่งวัน ชาวบ้านจะช่วยกันทำขนมห่อข้าวต้ม ตำข้าวปุ้น รุ่งขึ้นจะเป็นวันใส่กระจาด ชาวบ้านจะนำของ เช่น กล้วย อ้อย ส้ม ธูปเทียน หรืออื่นๆ มาใส่กระจาดตามบ้านของคนรู้จัก เจ้าของบ้านจะนำอาหารที่เตรียมไว้มาเลี้ยงรับรองแขก เมื่อแขกกลับ เจ้าของบ้านจะนำข้าวต้มมัดฝากไปให้ เรียกว่า "คืนกระจาด" ในวันรุ่งขึ้นเป็นวันเทศก์มหาชาติ เป็นการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ประจำปี

งานเลี้ยงโต๊ะจีนลิง


จัดที่ ณ บริเวณศาลพระกาฬ และพระปรางค์สามยอด อ.เมือง

วันงาน จัดขึ้นในวันอาทิตย์ สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน บริเวณนี้มีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก บรรดานักท่องเที่ยวที่มานมัสการเจ้าพ่อพระกาฬมักจะนำอาหาร และผลไม้มาเลี้ยงลิง ทำให้ลิงมีความเชื่อง และคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น

ในงานมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การเลี้ยงอาหารที่ตกแต่งอย่างสวยงามเป็นพิเศษสำหรับลิง การแสดงพื้นบ้าน เป็นต้น

งานฤดูหนาวลพบุรี

จัดที่สนามโรงเรียนพิบูลวิทยาลัยจัด. ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม ของทุกปี

งานเทศกาลลอยกระทง ย้อนยุคไปในสมัย จอมพล.ป พิบูลสงคราม จัด ณ.วงเวียนสระแก้ว ลพบุรี

เดือนธันวาคม


งานทุ่งทานตะวันบานที่ลพบุรี

จัดที่ เขาจีนแล อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี วันงาน จัดขึ้นประมาณเดือนธันวาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ดอกทานตะวันบาน ปัจจุบันจังหวัดลพบุรีมีพื้นที่ปลูกทานตะวันนับแสนไร่ ก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิต ดอกทานตะวันจะบานเหลืองอร่ามเต็มท้องทุ่ง กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามของจังหวัดลพบุรี กิจกรรมที่น่าสนใจในงาน อาทิ การประกวดรถบุปผชาติ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากทานตะวัน การแข่งขันแรลลี่ประเภทต่างๆ

งานทำบุญเมืองจังหวัดลพบุรี

จัด ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (หน้าสถานีรถไฟ) อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี การทำบุญเมืองลพบุรี จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๒ โดยหลวงพ่อถม หรือพระครูโสภณธรรมรัตน อดีตเจ้าอาวาสวัดเชิงท่า ผู้เป็นพระสงฆ์ที่ประชาคมชาวลพบุรีให้ความเคารพ นับถือ และศรัทธาเป็นอย่างสูง เป็นผู้ดำริจัดงานทำบุญเมืองขึ้น โดยการจัดงานได้รับความร่วมมือร่วมใจจากชาวเมืองลพบุรี โดยมีวัดเชิงท่า และชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จังหวัดลพบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคประชาชน เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดงาน