ชุมชนวัฒนธรรม
"ไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง"

ไทยเบิ้ง หรือไทยเดิ้ง หรือไทยโคราช เป็นกลุ่มชนพื้นถิ่นที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ในพื้นที่อำเภอพัฒนานิคม อำเภอโคกสำโรง อำเภอสระโบสถ์ และอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ชาวไทยเบิ้ง มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมคล้ายกลุ่มชนไทยภาคกลาง แต่ยังมีภาษา ความเชื่อ เพลงพื้นบ้าน การละเล่น การทอผ้า ที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนอยู่ กลุ่มชนชาวไทยเบิ้งที่อาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก ประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก เมื่อย่างเข้าฤดูแล้งผู้ชายอาจจะเข้าป่า หาของป่า ล่าสัตว์ ส่วนผู้หญิงจะทอผ้าไว้ใช้ในครอบครัว และปลูกฝ้ายในบริเวณบ้าน ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม เป็นแหล่งชุมชนไทยเบิ้งหมู่บ้านใหญ่ ที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยสร้างสมวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ต่อเนื่องกันมา ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 จนถึงปัจจุบันหลักฐานที่บ่งบอกร่องรอยทางโบราณคดีให้เห็นอยู่ เช่น สิ่งก่อสร้างที่วัดโคกสำราญ หมู่ 3 ที่ถลุงแร่ของบรรพบุรุษ ส่วนโบราณสถาน โบราณวัตถุที่พบ เช่น วัดโคกระฆัง เสาหงส์ที่วัดโคกสำราญ ฐานโยนี บัวกลีบขนุน และก้อนเศษเหล็กที่หนองนฤพัฒน์ผจง หรือหนองใหญ่ ที่สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ถลุงแร่ของชาวบ้านในสมัยก่อน จนเรียกชื่อว่า หมู่บ้านโคกถลุง และเพี้ยนเป็นหมู่บ้านโคกสลุง บ้านโคกสลุงตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของลำน้ำป่าสัก ห่างจากสันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ขึ้นไปทางเหนือราว 14 กิโลเมตร โดยชุมชนแห่งนี้มีมาก่อนการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์นานนับ 100 ปี ร่องรอยที่บ่งบอกได้ว่าผู้คนแถบนี้เคลื่อนย้ายมาจากทางโคราช ประการแรกคือสำเนียงการพูดเหน่อแบบโคราชที่ยังคงเหลืออยู่ โดยมักลงท้ายคำพูดว่า "เบิ้ง" ,"เหว่ย" ,หรือ "เด้อ" โดยเฉพาะคำว่า "เบิ้ง" จะเป็นคำที่ติดปากเสมอ ทำให้คนเมืองกลุ่มอื่นเรียกชุมชนนี้ว่า "ไทยเบิ้ง" ปัจจุบันนี้ หมู่บ้านโคกสลุงเปลี่ยนแปลงไป หลังมีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกิดขึ้น ทำให้หมู่บ้านซึ่งอยู่ติดกับสันเขื่อนป่าสักฯ มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในด้านอุปโภคและบริโภค ทำการเกษตรได้อย่างสมบูรณ์ เช่น ทำการประมง ทำนาข้าวหอมมะลิ การทอผ้าพื้นเมือง การทำขนมข้าวแตนน้ำแตงโม เมื่อชุมชนมีความเป็นอยู่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านโคกสลุงจะมารวมตัวกันร้องรำทำเพลงพื้นบ้าน มีการละเล่น แสดงศิลปะพื้นเมืองของไทยเบิ้ง ที่อนุรักษ์ไว้ไม่เลือนหายไป ที่ชุมชนไทยเบิ้งแห่งนี้มีจุดเด่นในการรักษาวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดมาอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น ภาษาพูด ย่ามไทยเบิ้งที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่อื่น นามสกุลของคนในหมู่บ้าน ที่มีคำว่า "สลุง" นำหน้าเสมอ อีกทั้งศิลปะพื้นบ้าน เช่น การรำโทน การเล่นเพลงพื้นบ้าน และมีการอนุรักษ์เรือนไทยเบิ้งจำลองโดยสร้างไว้ในพิพิธภัณธ์ไทยเบิ้ง ที่นำใบของต้นค้อ ซึ่งมีลักษณะคล้ายทางมะพร้าวหรือปาล์ม มาสานเป็นฝาเรือน เรียกว่าเรือนฝาค้อ ภายในเรือนจัดเป็นห้องต่างๆ จำลองบรรยากาศให้เหมือนกับการอยู่อาศัยจริง ใต้ถุนเรือนจะเป็นที่แสดงเครื่องมือหาปลา เครื่องมือดักสัตว์ และหัตถกรรมจากไม้ไผ่ ส่วนเพิงอีกสองหลังปลูกไว้จัดแสดงเครื่องมือเกี่ยวกับการทำนา เช่น ไถ ครกตำข้าว พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนโคกสลุง

ขอขอบพระคุณ ที่มา : ที่มา http://www.matichon.co.th/khaosod/kh...day=2006/10/12


ประเพณี-การละเล่น


เพลงรำโทนและเพลงหอมดอกมะไพ

การแต่งกาย




อาหารพื้นถิ่น


หมกเห็ด

วัตถุดิบเตรียมทำเครื่องดำ

ขนมเบื้อง

วัตถุดิบทำขนมเบื้อง

วัตถุดิบทำหมกเห็ด

ลาบปลากับเครื่องเคียง

ตารางกิจกรรม


ตำแหน่งที่ตั้ง