กลุ่มชาติพันธ์ุลาวแง้ว-หนองเมือง

ลาวแง้ว คือ กลุ่มพูดภาษาลาวที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เวียงจันทน์และหลวงพระบางและได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในภาคกลางประเทศไทยนานนับศตวรรษก่อน โดยการถูกกวาดต้อนรวมทั้งสมัครใจโยกย้ายถิ่นฐาน ครั้งสำคัญของการย้ายถิ่นฐานน่าจะเป็นคราวสงครามกับเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ (พ.ศ. 2369-2371) ที่ได้มีการกวาดต้อนชาวลาวจากหัวเมืองพวน เมืองเชียงขวาง เมืองเวียนจันทน์ เมืองหลวงพระบางเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรีและจังหวัดอื่นๆ มากมาย มีลาวแง้วถูกกวาดต้อนมาในคราวนั้นเป็นจำนวนมากด้วย

ถิ่นฐานสำคัญของลาวแง้วในจังหวัดลพบุรี คือที่บ้านหนองเมือง (อำเภอบ้านหมี่) บ้านห้วยโป่ง (อำเภอโคกสำโรง) บ้านท่าแค บ้านท่าศาลา บ้านดงน้อย (อำเภอเมืองลพบุรี) และมีถิ่นฐานในจังหวัดสระบุรี ที่บ้านนายาว บ้านตาลเสี้ยน บ้านส้มป่อย (อำเภอพุทธบาท) และบ้านหนองโดน (อำเภอหนองโดน) เป็นต้น ชาวไทยพวนจะเรียกคนกลุ่มนี้ (ที่มาจากเวียงจันทน์และหลวงพระบาง) ว่า "ลาวแง้ว"

อุปนิสัยชาวลาวแง้ว คือรักสงบ ซื่อสัตย์ รักความสะอาด รักสวยรักงาม มีความโอบอ้อมอารีและเป็นมิตรกับทุกคน ยึดมั่นในพุทธศาสนา ฝักใฝ่การศึกษา นิยมส่งลูกเรียนสูงๆ ในหมู่บ้านมีตำราเก่าๆ เช่นสมุดข่อย ใบลานจารอักษรไทยน้อยเขียนเรื่องนิทานทางโลก และใบลานจารอักษรธรรม เขียนบันทึกเรื่อง

ประเพณีและพิธีกรรม

ประเพณีที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของแง้ว ได้แก่ ประเพณีแต่งงาน หรือเรียกว่า "การกินดอง" ผู้หญิงอายุไม่ถึง 20 ปี จะไม่ให้แต่งงาน ส่วนผู้ชายต้องบวชก่อนและมีอายุราว 25 ปี การแต่งงานจะแบ่งเป็น 2 วัน วันแรกจะเป็นวันสุกดิบ และ วันที่สองจะเป็นวันทำขวัญบ่าวสาว

ประเพณีการเกิด แต่เดิมจะคลอดที่บ้านโดยมีหมอตำแยเป็นผู้ทำคลอด เมื่อทารกคลอดออกมาก็จะตัดสายสะดือ ด้วยไม้รวกที่เหลาบาง ๆ นำเด็กไปอาบน้ำแล้วให้นอนในกระด้งก่อนเป็นเวลา 3 วันจึงจะนำไปนอนเปล การอยู่ไฟเป็นการดูแลเชื่อมความรัก ความอบอุ่น พ่อกับแม่ไปหาฟืนจากไม้สะแก เชื่อกันว่าใครอยู่ไฟได้ร่างกายจะแข็งแรง ทำให้ร่างกายสมส่วน ระหว่างการอยู่ไฟ ห้ามพูดเรื่องไม่มงคล เมื่อมารดาอยู่ไฟครบ กำหนดแล้วก็จะออกจากเรือนไฟนำเด็กไปเหยียบดินหญ้าแพรก โดยเชื่อว่าต่อไปภายหน้าเด็กจะเป็นผู้แข็งแรงมีบุญวาสนา ต่อจากนั้นจะมีการสู่ขวัญแก่แม่และเด็ก สำหรับประเพณีการตาย หากบ้านใดมีคนตาย คนในหมู่บ้าน จะช่วยกันนำข้าวปลาอาหารไปช่วยสมทบกับเจ้าภาพเพื่อเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน ญาติพี่น้องผู้ตายจะช่วยกันอาบน้ำให้ศพ โดยใช้น้ำอุ่น เมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะแต่งตัวให้ผู้ตายใหม่ นำเงินทองใส่ไว้ในปากของผู้ตาย ขอขมาศพแล้วนำศพบรรจุลงโลง ตั้งศพไว้ที่บ้านตามความเหมาะสมเพื่อเป็นการพักพา ครั้งสุดท้ายซึ่งเรียกว่า "การงันเฮียนดี" (การงันเรือนดี) ก่อนที่จะเคลื่อนศพลงจากบ้านเพื่อไปยังสถานที่ฌาปนกิจหรือป่าช้านั้น ญาติพี่น้องจะนำข้าวห่อมาใส่ในโลงศพคนละห่อหรือมากกว่านั้นเพราะเชื่อว่าผู้ตายนำเสบียงอาหารมาน้อยจึงตายเร็วและผู้ตายจะได้มีอาหารติดตัวไปไม่อดอยาก เมื่อเคลื่อนศพลงจากบ้านญาติพี่น้องจะคว่ำโอ่งไหคว่ำบันไดทันทีโดยเชื่อว่าผู้ตายจะได้ไม่ห่วงใยหรือถ้ามีความห่วงใยผู้ตายก็มาไม่ถูก และในการเผาศพนั้น ญาติพี่น้องจะช่วยกันนำฟื้นไปเผาเอง

ประเพณีการบวช งานบวชแบ่งเป็น 2 วัน วันแรกเรียก "วันเพาะ" จะมีการทำขวัญนาคโดยเพื่อนบ้านจะมาร่วมทำบุญด้วย วันรุ่งขึ้นจะเป็นวันพานาคไปวัดซึ่งจะมีการแห่อย่างสนุก ครึกครื้น ประเพณีลงแขกทำนา เมื่อถึงฤดูทำนา บ้านใดทำ ก่อนก็จะไปบอกเพื่อนบ้าน เพื่อนบ้านก็จะพากันไปช่วยโดยไม่ มีค่าจ้างใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนเจ้าของบ้านก็จะเตรียมข้าวปลาอาหาร ไว้เลี้ยงแขกทั้ง 3 มื้อ ช่วยกันจนกว่างานบ้านนี้จะแล้วเสร็จจึง ไปช่วยบ้านอื่น ๆ อีกต่อไป

แง้วเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างมาก จึงมีประเพณีเกี่ยวกับศาสนาหลายประเพณี โดยส่วนใหญ่สืบทอดจากชาวลาวที่เวียงจันทน์ ได้แก่ เดือนยี่ ทำบุญคูนลาน เดือนสาม ทำบุญข้าวจี่ เดือนสี ทำบุญข้าวหลามและบุญพระเวส เดือนห้า ทำบุญสงกรานต์ เดือนหก ทำบุญยกธงพระขึ้นและบุญกลางบ้าน เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษา เดือนสิบ ทำบุญข้าวสารท เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา บุญพระเวสและไต้สังฆทีป เดือนสิบสอง ทำบุญกฐิน


ประเพณีลาวแง้ว คือ ประเพณีเพาะกระจาด หรือใส่กระจาด การใส่กระจาดจะเริ่มเมื่อมีการประกาศกำหนดงานบุญมหาชาติ โดยแต่ละหมู่บ้านจะกำหนดไม่ตรงกัน หมู่บ้านใดตรงถึงวันกำหนดวันทำบุญ แต่ละบ้านจะทำขนมเส้นหรือขนมจีบ และข้าวต้มมัดเพื่อเตรียมไว้สำหรับวันงาน วันริ่มแรกของการทำบุญ เรียกว่า "วันตั้ง" ในวันตั้งนี้หมู่บ้านที่ยังไม่ทำบุญก็จะนำผลไม้ เช่น กล้วย อ้อย ส้ม ฯลฯ ไปยังบ้านที่มีงานโดยหนุ่มสาวจะแต่งตัวสวยงามเดินทางเป็นกลุ่มๆ การร่วมงานบุญ นั้นอาจใช้ผลไม้ต่างๆ ที่นำมาหรือเงินก็ได้ และอาจมีธูปเทียนใส่พานนำไปให้เจ้าของบ้าน การนำเอาของมาร่วมสมทบทำบุญ เรียกว่า "ใส่กระจาด" เจ้าของบ้านเลี้ยงอาหารแก่แขก และเมื่อแขกกลับก็จะให้ข้าวต้มมัดเป็นของตอบแทน ประเพณีการใส่กระจาดนี้ หนุ่มสาวจะได้มีโอกาสพบปะ พูดคุยกันโดยพ่อแม่ฝ่ายหญิงไม่ขัดขวาง วันรุ่งขึ้นจากวันตั้งก็จะเป็นวันเทศน์มหาชาติโดยแต่ละบ้านจะจับสลากกันว่าบ้านไหนจะได้ติดกัณฑ์เทศน์มหาชาติกัณฑ์ไหน สถานที่ก็จัดเตรียมและตกแต่งอย่างสวยงามให้มีบรรยายกาศคล้ายป่าหิมพานต์ ประดับไปด้วยต้นไม้ ดอกไม้ รังผึ้ง เครื่องจักรสานเป็นสัตว์ต่างๆ หรือทำด้วยกระดาษสวยงาม การเทศน์จะเริ่มขึ้นในตอนเที่ยงคืนของวันตั้ง โดยต้องเทศน์ให้เสร็จภายใน 1 วัน ปัจจุบันงานบุญเพาะใส่กระจาดก็ยังคงมีอยู่

มีคำที่เป็นภาษาลาวและภาษาอีสานหลายคำที่น่าสนใจ ดังนี้

ช่วงเกริ่นมีความหมายดังนี้ "สวัสดีพี่น้อง ใครนะว่าเมืองลาวเศร้า ก็แล้วแต่ใครจะคิด มันอาจจะยิ่งใหญ่ในตอนท้าย เหมือนผลแตงเครือสุดท้ายก็ได้"

ไผว่า = ใครว่า

ฮูงเฮือง = รุ่งเรือง

จั่งเว้า = ค่อยพูด

แม่นจั่งได๋ = ได้อย่างไร

ทางใด๋ = ทางใด

ยังใสยังเลี่ยม = ยังสดใสรุ่งเรือง

สู่หม่อง = ทุกที่

งามฮ้าย = งามเลิศเลอ

เบิ่งสะออน = ดูน่าชื่นชม

ออนซอนแท้เด = พากภูมิใจมาก

เว้านัวหัวม่วน = พูดจาไพเราะ ยิ้มแย้ม

แล่นซ่วน = ต้อนรับด้วยความยินดี

น่าเบิ่ง = น่าดู, น่าชื่นชม

งามแฮง = งดงามมาก

ปานปั้นปานหล่อ = ดั่งหล่อหลอมจากเบ้าพิมพ์

ท้ายเปิ่งเซิง = บั้นท้ายผายงอน

ชั้นเทิง = ชั้นบน

รำวงสวรรค์เมืองลาว

(เกริ่น) ซำบายดีพี่ น้องเอ้ย ไผว่าเมืองลาวเศร้า แล้วแต่ไผสิหว่า มันสิโป้บาดหล่า บักแตงซ้างหน่วยปาย ดอกนา พี่น้องเอย

โอ้น้อ ไผว่าเมืองละแม่นลาวเศร้า พี่น้องเฮา ละอย่าไปเซื่อ พระธาตุหลวง ฮูงเฮืองจั่งเว้า ซิไปเศร้า เด้อแม่นจั่งได๋ แม่นบ่ แม่นบ่

นี่เด้อ มองทางได๋ กะยังใสยังเลี่ยม เทียมทันบ้านน้องเมืองพี่ เทคโนโลยี เด้อละแม่นรุดหน้า เขื่อนไฟฟ้า สว่างไสว วิไลงามตา

นี่เด้อ ยังอุดมสมบูรณ์สู่หม่อง คูคลอง ห้วยหนอง น้ำท่า ธรรมชาติ ภูผา ป่าไม้ งามฮ้าย เบิ่งสะออน ออนซอน แท้เด

โอ้นอ งามแท้เด้ ประเพณีบ้าน ยิ้มหวาน เว้านัวหัวม่วน มีแขกไป ไทมา แล่นซ่วน หวานล้ำ ซำบายดี นี่คือเมืองลาว

** โอ้หลวงพระบาง นั้นยังมีมนต์ดลใจ เวียงจันทน์ บริคำไซย ยังพาใจนี่ให้ไหลหลง

บ่แก้ว เชียงขวาง สาละวัน นั้นยังมั่นคง อุดมไซ ทุ่งไหงามโล่ง แม่น้ำโขงยังคงเอื่อยไหล

คำม่วน ซำเหนือ งามเหลือ ไซยะบุรี สะหวันนะเขตนั้นมี ของดีๆ พาให้ชื่นใจ แขวงอัตตะปือ หัวพัน เซกอง นั้นไง

จำปาสัก ปากเซแดนใต้ ชั่งงามหลาย เป็นตาน่าเบิ่ง แดนพงสาลี หลวงน้ำทา ป่าเหนือนั้นหนอ

งามแฮงปานปั้นปานหล่อ ผู้สาวหนอ เบิ่งท้ายเปิ่งเซิง โอ้ถิ่นแดนลาว จั่งแม่นงามเป็นตาน่าเบิ่ง

ปานเวียงวัง สวรรค์ชั้นเทิง เบิ่งมองไปพาให้สุขสันต์ สวรรค์เมืองลาว

(ซ้ำ **)

การแต่งกาย

ชาวแง้วมีเอกลักษณ์การแต่งกายคือ หญิงจะนุ่งโจงกระเบน ถ้าอยู่บ้านก็จะใช้ผ้าขาวม้าคาดอกแบบตะแบงมาน แต่หากไปวัด จะใช้ผ้าคาดอกแล้วมีผ้าอีกผืนหนึ่ง ห่มทำสไบเฉียง หญิงสาวโสดนิยมใส่กำไลขา 2 ข้างตามฐานะ ถ้าฐานะดีใส่กำไลทอง ฐานะไม่ดีนักใส่กำไลเงิน และจะถอดกำไรออกเมื่อแต่งงาน นอกจากนี้ยังเจาะหูใส่ต่างหูทั้ง 2 ข้าง

อาหาร

ลาวแง้วมีความเป็นอยู่กินกันอย่างเรียบง่าย เก็บผักตามหมู่บ้านและป่าละเมาะ หมู เนื้อ ไก่ ปลา เพิ่งนำมาประกอบเป็นอาหารกันบ้างในปัจจุบัน ชาวลาวแง้วบริโภคข้าวเจ้ากันเป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็อาจนำข้าวเหนียวไปด้วย หากต้องออกไปทำนาไกล ๆ สำหรับกับข้าวนั้นจะชอบกับข้าวที่มีรสจัด เช่น ลาบ ก้อย ฯลฯ อาหารประเภทสุก ๆ ดิบ ๆ และ อาหารที่นิยมกิน เช่น ปลาร้า รับประทานทั้งดิบและสุก ปลาจ่อม ปลาส้ม น้ำพริก แจ่ว แกงอ่อม โดยกินแนมกับผักสดต่าง ๆ ลาวแง้วไม่นิยมกินอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นกะทิ



ขนมตาควาย


ผัดหมี่เปียก

ตารางกิจกรรม


ภาษา

ภาษาลาวแง้วอยู่ในตระกูลภาษาขร้า-ไท (ไท-กะได) มีเสียงวรรณยุกต์ใกล้เคียงกับภาษาลาวกลุ่มหลวงพระบางและยังใกล้เคียงกับการแยกเสียงวรรณยุกต์ในภาษาลาวครั่งที่นครชัยศรีด้วยมีลักษณะคล้ายกับภาษาอีสาน และมีข้อแตกต่างจากภาษาไทย มาตรฐาน คือ ไม่มีเสียงพยัญชนะ "ร" และ "ช" ภาษาไทยมาตรฐานใช้เสียง ร ภาษาแง้วจะใช้เสียง ฮ แทน เช่น รัก เป็น ฮัก, รู้ เป็น ฮู้ หากคำใดที่ภาษาไทยมาตรฐาน ออกเสียง "ช" ภาษาแง้วจะออกเป็น "ซ" เช่น ชื่อ เป็น ซื่อ, ชัง เป็น ซัง เป็นต้น ภาษาลาวแง้วไม่มีเสียงสระประสม ภาษาไทยมาตรฐานออกเสียงสระเอือ ภาษาแง้วจะออกเป็น สระเอีย เช่น เกลือ เป็น เกีย มะเขือ เป็น มะเขีย เป็นต้น เสียงใดที่ตามด้วย ไ_, ใ_ จะออกเสียงคำที่มีวรรณยุกต์จัตวา เช่น ที่ไหน ใช้ว่า ไผ๋, ได้ ใช้ว่า ได๋ เป็นต้น

ภาษาแง้วมีคำศัพท์ของตนเองสำหรับเรียกผัก ผลไม้ และสิ่งของ ที่ต่างจากภาษาไทยมาตรฐาน เช่น กำไร ใช้ว่า ก้องแขน, กางเกง ใช้ว่า โซ้ง, รองเท้า ใช้ว่า เกิ๊บ คำเรียกชื่อนำหน้าผลไม้ จะมีคำว่า หมาก/บัก แทบทั้งหมด เช่น มะละกอ ใช้ว่า หมากหุ่ง, น้อยหน่า ใช้ว่า หมากเขียบหรือบักเขียบ นอกจากนี้ ภาษาลาวแง้ว ยังมักใช้คำว่า "ตี้" ลงท้ายประโยคทั้งประโยคบอกเล่าและประโยคคำถาม เช่น ไปซอยนี้ตี้ หมายถึง ไปซอยนี้นะ, อาจารย์ไปโฮงเฮียนมาตี้ หมายถึง อาจารย์ไปโรงเรียน มาหรือ


อ้างอิง