แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์

ปรางค์สามยอด มีลักษณะเป็นปรางค์เรียงต่อกัน 3 องค์ มีฉนวนทางเดินเชื่อมติดต่อกัน พระปรางค์สามยอดเป็นศิลปะเขมรแบบบายน ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 สร้างด้วยศิลาแลงหินทรายและตกแต่งลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม ตรงซุ้มประตูเดิมคงมีทับหลัง แต่ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน คือ เสาประดับกรอบ ประตูแกะสลักเป็นรูปฤาษีนั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งเป็นแบบเฉพาะของเสาประดับกรอบประตู ศิลปะเขมรแบบบายน


ศาลพระกาฬ ตั้งอยู่ริมทางรถไฟด้านทิศตะวันออกพระปรางค์สามยอด ตำบลท่าหิน เป็นเทวสถานเก่าของขอม สร้างด้วยศิลาแลงเรียงซ้อนกันเป็นฐานสูง ที่ทับหลังสลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ทำด้วยศิลาทราย 1 แผ่น อายุราวพุทธศตวรรษที่15 วางอยู่ติดฝาผนังวิหารหลังเล็กชั้นบน พบหลักศิลาจารึกแปดเหลี่ยม จารึกอักษรมอญโบราณ ส่วนด้านหน้าเป็นศาลที่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2494

สระแก้ว

สระแก้ว ตั้งอยู่กลางวงเวียนศรีสุริโยทัย หรือวงเวียนสระแก้ว ถนนนารายณ์มหาราช เป็นสระน้ำขนาดใหญ่กลาง สระมีสถาปัตยกรรมรูปร่างคล้ายเทียน ขนาดยักษ์ ตั้งอยู่บนพานขนาดใหญ่รอบขอบพานประดับเครื่องหมายประจำ กระทรวงต่าง ๆ มีสะพานเชื่อม ถึงกันโดยรอบทั้ง 4 ทิศ ที่เชิงสะพานมีคชสีห์ในท่านั่งหมอบเป็นยามอยู่สะพานละ 2 ตัว

ระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตั้งอยู่กลางวงเวียนเทพสตรีใกล้ศาลากลางจังหวัดลพบุรี อนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นรูปปั้นในท่าประทับ ยืนผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ก้าวพระบาทซ้ายออกมาข้างหน้าเล็กน้อย

ประตูเพนียด งอยู่ในบริเวณค่ายพระนารายณ์มหาราช ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี สภาพเนินดินที่เป็นรูปสี่เหลี่ยม พะเนียดคล้องช้างตั้งอยู่ภายในค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตรงข้ามโรงเรียนอนุบาลลพบุรี จัดอยู่ในเขตการปกครองของตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี ตัวพะเนียดมีลักษณะเป็นเนินดินสูงรูปสี่เหลี่ยม ด้านทิศเหนือติดสนามฟุตบอลและอาคารของศูนย์สงครามพิเศษ ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทิศใต้ติดถนนนารายณ์มหาราช หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๑๑ ทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ของค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนทางทิศตะวันตกติดกับโบราณสถานประตูพะเนียดสำหรับโบราณสถานพะเนียดคล้องช้างนั้น ยังไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับช่วงศักราชเมื่อแรกสร้างอย่างชัดเจนนัก โดยพบว่ามีบันทึกการเดินทางของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังเมืองลพบุรี ได้การกล่าวถึงสถานที่แห่งนี้เป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตั้งแต่เมื่อราวปีพ.ศ.๒๒๑๖ ดังนั้นพะเนียดคล้องช้างจึงน่าจะถูกสร้างขึ้นก่อนช่วงเวลาดังกล่าวหรือก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ส่วนประตูพะเนียดซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญอีกแห่งที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพะเนียดคล้องช้างนั้น น่าจะถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีแห่งที่ ๒ ซึ่งก็คือเมื่อราวพ.ศ.๒๒๐๘ – ๒๒๐๙ หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ นั่นเอง พะเนียดคล้องช้างเป็นโบราณสถานที่ยังไม่ปรากฏประวัติการก่อสร้างที่ชัดเจนนัก โดยพบว่าโบราณสถานแห่งนี้มีลักษณะเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่นอกเมืองด้านทิศตะวันออกปัจจุบันอยู่ภายในเขตพื้นที่ของค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

วัดนครโกษา "วัดนครโกษา" เดิมคงเป็นเทวสถานของขอม มีพระปรางค์แบบลพบุรีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ อยู่ด้านหน้า แต่พระพุทธรูปปูนปั้นแบบอู่ทองบนปรางค์นั้นคงสร้างเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง ได้พบเทวรูปหินขนาดใหญ่แบบลพบุรี ซึ่งมีร่องรอยดัดแปลงเป็นพระพุทธรูป ๒ องค์ (ปัจจุบันนำไปไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์) ส่วนพระอุโบสถ วิหาร สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาในสมัยที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชสร้างเมืองลพบุรี และสันนิษฐานว่าเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นแม่งานดำเนินการในครั้งนั้นจึงได้ชื่อว่า "วัดนครโกษา" ในปี พ.ศ.๒๕๒๙-๒๕๓๐ กรมศิลปากรทำการขุดแต่งที่ฐานเจดีย์องค์ใหญ่ ได้พบประติมากรรมในสมัยทวารวดี เช่น พระพุทธรูป รูปบุคคล ยักษ์ ลวดลายประกอบสถาปัตยกรรม และพระพิมพ์ดินเผา และได้รวบรวมเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ วัดนครโกษาได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญสำหรับชาติเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๙


วังนารายณ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นพระราชวังโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีความสำคัญและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมแสดงถึงความรุ่งเรืองสูงสุดสมัยหนึ่งของเมืองลพบุรี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พื้นที่ภายในพระราชวังแบ่งออกเป็น ๓ เขต คือ เขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน

พระที่นั่งเย็น พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือ พระที่นั่งเย็น หรือ พระตำหนักทะเลชุบศร เป็นพระที่นั่งที่ประทับอีกแห่งหนึ่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ เมืองลพบุรี สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างเพื่อทรงสำราญพระราชอิริยาบถ โดยสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อน พ.ศ. 2228 นับเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ของประเทศไทย เนื่องจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชใช้เป็นสถานที่ศึกษาจันทรุปราคา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ร่วมกับบาทหลวงเยซูอิตและบุคคลในคณะทูตชุดแรกที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งมาเจริญสัมพันธไมตรี

วัดปืน (ร้าง) บนแผนที่เมืองลพบุรี เมื่อ พ.ศ. 2457 จัดพิมพ์โดยกรมแผนที่ทหารบก (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ผลิตโดยสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร

วัดปืน เป็นวัดโบราณวัดหนึ่งในจังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่ใจกลางเมืองซึ่งเป็นย่านการทูตและการต่างประเทศ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บนพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านตะวันตกของบ้านหลวงรับราชทูตและบ้านพระยาวิชาเยนทร์ ส่วนด้านใต้ติดกับบ้านหลวงรับราชทูตเปอร์เซียหรืออิหร่าน ที่เป็นตึกปิจู และตึกคชสาร (โคระซานหรือโกรซัน) ในบริเวณวัดเสาธงทองในปัจจุบัน

วัดปืนถูกขึ้นทะเบียนไว้เป็นวัดร้าง กับถูกชุมชนเมืองรุกที่โดยรอบด้วยร้านค้าและเพิงสังกะสีที่รกรุงรังมานาน ด้วยความสามารถของกรมศิลปากร ย้ายชุมชนและร้านค้าออกไป ทั้งหมดทําการขุดค้นปฏิสังขรณ์ในห้วงปี 2549 และปี 2552 จึงได้วัดปืนกลับคืนมา คือได้วิหารยาว 4 ห้อง มีกําแพงอิฐเหลืออยู่ทั้ง 4 ด้าน โดยไม่มีหลังคา ห้องหนึ่งตรงมุขด้านหน้า น่าจะต่อเติมขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ด้วยกําแพงภายในทําเป็นช่องกุฏิรูปกลีบบัวโค้งแหลมอันเป็นสถาปัตยกรรมยอดนิยมสมัยนั้น

ทําไมต้องชื่อวัดปืน ปืนคือคันศรพระนารายณ์หรือพระราม ได้แผลงศรพรหมาสตร์มาตกถึงเมืองลพบุรี ศรนั้นร้อนนักจนแผ่นดินสุกเป็นสีขาว คือเป็นดินสอพอง ศรเล่มหนึ่งมาตกอยู่ใกล้วัดปืน คือศาลลูกศรในปัจจุบัน เป็นหินแข็งที่ต้องใช้น้ำหล่อไว้ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นจะร้อนจัดมากจนเป็นไฟไหม้เมือง ศรพระรามคือปืนพระราม และเป็นชื่อวัดปืนในเวลาต่อมา กับสอดคล้องกับพระเครื่องเมืองลพบุรีพิมพ์ทรงดังมาก พิมพ์ทรงหนึ่งที่เซียนพระเครื่องรู้จักดีคือ นารายณ์ทรงปืน สร้างตามคติมหายาน เป็นพระพุทธองค์ประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ตรงกลาง เบื้องขวาเป็นพระนารายณ์ทรงยืนและทรงศร (ปืน) เบื้องซ้ายเป็นรูปเทวีนางปัญญาปรมิตตา ทรงยืนและทรงถือดอกบัว ประทับอยู่ภายใต้ซุ้มเรือนแก้วที่สวย สมดุล และสง่างาม แต่พระเครื่องพิมพ์ทรงนี้ พบที่กรุพระวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ไม่ใช่ที่กรุวัดปืน

เขาวงพระจันทร์ ตั้งอยู่ในตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ถือเป็นภูเขาที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี โดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 650 เมตร ส่วนระยะทางเดินตามแนวบันไดจะมีความยาวประมาณ 1,680 เมตร และบริเวณตีนเขาเป็นที่ตั้งของ “วัดเขาวงพระจันทร์” อันเป็นที่เคารพศรัทธาของชาว อ.โคกสำโรง และชาวลพบุรีเป็นอันมาก

ที่ได้ชื่อว่าเขาวงพระจันทร์ เนื่องจากในปี พ.ศ.2496 หลวงพ่อโอภาสี ได้ขึ้นมาบนเขาแห่งนี้ และเห็นว่าบริเวณเขาทั้ง 4 ด้านเป็นรูปเขาโค้งมองทางไหนเห็นเป็นวงโอบล้อมอยู่ จึงขนานนามว่า "เขาวงพระจันทร์" นับตั้งแต่นั้นมา

เขาวงพระจันทร์ ตำนานเขาวงพระจันทร์

ภูเขาลูกนี้เป็นที่มาแห่งตำนานเมืองลพบุรี เรื่องท้าวกกขนากจากรามเกียรติ์ ที่เล่าว่า ท้าวกกขนากซึ่งเป็นยักษ์ได้ไล่จับชาวเมืองกินเป็นอาหาร พระรามจึงปราบท้าวกกขนากด้วยการแผลงศรที่ทำจากต้นกก และปักตรึงร่างของท้าวกกขนากไว้ ณ ภูเขาลูกนี้

ท้าวกกขนากยังไม่สิ้นชีวิต แต่ไม่สามารถหลุดพ้นจากศรที่ปักอยู่ได้ แม่นางประจันต์ผู้เป็นลูกสาวจึงต้องมาคอยปรนนิบัติดูแล และหากได้นำน้ำส้มสายชูมารดที่โคนลูกศรแล้วศรจะเขยื้อนหลุดออกมาได้ แต่หากศรเขยื้อน ไก่แก้วก็จะขันเรียกหนุมานเอาค้อนมาตอกศรให้แน่นขึ้น ตำนานนี้เป็นผลให้ลพบุรีไม่มีน้ำส้มสายชูขายเป็นเวลานาน

ส่วนเขาลูกนี้ก็ได้ชื่อว่าเขานางประจันต์ หรือนางพระจันทร์ตามชื่อลูกสาวท้าวกกขนาก และเพี้ยนเป็นเขาวงพระจันทร์ในที่สุด เป็นอีกหนึ่งที่มาของชื่อเขาที่เล่าสืบต่อกันมา

ท้าทายกับบันไดพิสูจน์รัก พิสูจน์ความอึด 3,790 ขั้น

นอกจากเรื่องเล่าที่เกี่ยวโยงกับตำนานเมืองลพบุรีแล้ว “เขาวงพระจันทร์” ยังขึ้นชื่อในเรื่องของความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ท้าทายให้คนมาวัดใจกับบันได 3,790 ขั้น ที่ทอดยาวจากวัดเขาวงพระจันทร์บริเวณตีนเขาไปสู่ยอดเขา อันเป็นที่ตั้งของรอยพระพุทธบาทด้านบน จนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงาน ลพบุรี ชูเขาวงพระจันทร์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในโครงการ “เขาเล่าว่า...” ที่มีเรื่องราวตำนานเล่าขาน ผนวกกับบันไดที่ทอดยาวเกือบสี่พันขั้น จนกลายเป็นเรื่องเล่าว่า...

...ระยะทางกับความยากลำบาก พิสูจน์มิตรภาพและรักแท้ เสริมพลังรัก กับลพบุรีเมืองลิง หากได้พาคนที่เรารักไปร่วมพิสูจน์รักแท้ โดยการพิชิตยอดเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองหนุมาน ด้วยการเดินขึ้นบันได 3,790 ขั้นไปด้วยกัน พร้อมสักการะรอยพระพุทธบาทและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขาแห่งนี้ เราจะรู้เลยว่าเขาคือ “รักแท้” ของเราอย่างแน่นอน...

ประเพณีชักพระศรีอาริย์ วัดไลย์

ประเพณีชักพระศรีอาริย์ หรือแห่พระศรีอาริย์ วัดไลย์ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาช้านาน ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าพระศรีอาริย์หรือพระศรีอริยเมตไตรย จะมาตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุธเจ้า ในโลกมนุษย์หลังจากสิ้นสุดศาสนาของพระมหาสมณโคดมแล้วห้าพันปี เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา เรียกว่า ศาสนาพระศรีอาริย์ จึงได้มีการสร้างรูปพระศรีอาริย์ขึ้น เพื่อเป็นการเคารพสักการะโดยเชื่อกันว่าจะได้ไปเกิดในยุคศาสนาของพระศรีอาริย์ จะทำให้มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข ประเพณีชักพระศรีอาริย์ วัดไลย์นี้ แต่เดิมจะจัดในช่วงหน้าน้ำ ซึ่งตรงกับวันแรม 5 ค่ำ เดือน 11 โดยแห่พระทางชลมารค เพราะน้ำจะท่วมท้องทุ่ง การสัญจรไปมาทางเรือสะดวก การแห่พระทางชลมารคจะอัญเชิญรูปพระศรีอาริย์ลงเรือปิกนิก หรือเรียกกันว่าเรือทรง มีเรือพายของคณะกรรมการวัดใช้เชือกลากจูงนำหน้าและมีเรือพายของชาวบ้านจำนวนร้อย ๆ ลำเข้าร่วมขบวนแห่ แต่มีบางพวกจะแข่งเรือยาวบางพวกเล่นเพลงฉ่อยและเพลงเรือ ท้ายขบวนมีเรือเอี้ยมจุ๊นของทางวัดบรรทุกพวกมโหรี ปี่พาทย์ แตรวง บรรเลงให้ความครึกครื้นไปตลอดทาง โดยเรือทุกลำจะตกแต่งอย่างสวยงาม เพื่อโยงเรือทรงผลัดเปลี่ยนกันไปตามลำน้ำบางขามจนถึงวัดมหาสอน ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ รวมระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ตลอดทางจะมีการตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มแก่ผู้ร่วมขบวนเป็นระยะ ๆ เมื่อขบวนแห่พระกลับถึงวัด ก็จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้นมัสการ สรงน้ำ ปิดทองพระ ส่วนตอนกลางคืนประชาชนจะนำเรือมาลอยอยู่หน้าวัดเพื่อฟังการเล่นเพลงพื้นเมือง ซึ่งตอบโต้กันสนุกสนาน และในเรือทุกลำจะมีการจุดตะเกียงจนสว่างไสวไปทั่ว สำหรับบนศาลาวัดไลยนั้น จะมีการเทศนาเรื่องตำนานพระศรีอาริย์ ให้ประชาชนฟังไปพร้อม ๆ กัน ปัจจุบันนี้ประเพณีชักพระศรีอาริย์ทางชลมารคได้ล้มเลิกไปแล้ว เนื่องจากได้มีการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาทเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร จึงทำให้นำที่เคยไหลท่วมทุ่งแห้งแล้งลง ประเพณีชักพระศรีอาริย์จึงได้เปลี่ยนมาจัดงานในฤดูแล้ง คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเป็นประเพณีแห่พระทางสถลมารค แต่พิธีต่าง ๆ ยังคงอนุรักษ์แบบแผนเดิมไว้

โดยจัดเป็นขบวนแห่อัญเชิญรูปหล่อพระศรีอาริย์ขึ้นประดิษฐานบนตะเฆ่ชนิดไม่มีล้อ ทำเป็นบุษบกมีหลังคาหรือทำเป็นฉัตรกั้นแล้วใช้เชือกขนาดใหญ่สองเส้นผูกเป็นสองแถว และให้ประชาชนทั้งหลายที่มาร่วมขบวนช่วยกันลากไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ เมื่อถึงเวลาเริ่มพิธีจะจุดพลุ พร้อมตีกลองและระฆังเป็นสัญญาณเริ่มการฉุดลากตะเฆ่ เพื่ออัญเชิญรูปหล่อพระศรีอาริย์แห่ผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งตลอดระยะทางจะมีผู้มาตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารหลากหลายชนิด มีทั้งข้าวต้ม ข้าวแกง ขนมจีนน้ำยา อาหารคาวหวาน นอกจากนี้ยังมีดนตรีหรือการละเล่นต่าง ๆ เมื่อไปถึงสถานที่ซึ่งสุดเส้นทางที่กำหนดไว้แล้วจะให้ประชาชนได้สรงน้ำพระศรีอาริย์ และนมัสการปิดทอง ครั้นได้เวลาอันสมควรแล้วก็จะนำขบวนแห่กลับวัด พอถึงวัดจะอัญเชิญรูปหล่อพระศรีอาริย์ขึ้นประดิษฐานยังวิหารตามเดิม และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้นมัสการปิดทอง ตอนกลางคืนจะมีมหรสพต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ ลิเก ฯลฯ

ประเพณีขัดพระศรีอาริย์เป็นประเพณีโบราณเก่าแก่ ที่กระทำสืบต่อกันมา ผู้ที่ได้มาร่วมงานจะได้ทั้งกุศล ความสนุกสนานรื่นเริง อีกทั้งยังได้ดูประเพณีที่พยายามรักษากันไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้พบเห็นและชื่นชมกันต่อไปในวันข้างหน้า