พริกเป็นพืชหลักทางเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง รองจากเย็บผ้า ลำไย ของชาวบ้าน บ้านดอนน้อย หมู่ที่ 9       ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ผลผลิตที่ได้รับเป็นพริกสด หรือเป็นพริกแห้ง ที่เสริมสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านดอนน้อย หลังฤดูการเก็บเกี่ยว โดยคิดเป็นมูลค่าแต่ละปีประมาณหลายบาท ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่จะผลิตพริกพันธุ์จินดา ยอดสน และพันธุ์พื้นเมืองบ้างเล็กน้อย แต่บางครั้งก็พบปัญหาเรื่องราคา เนื่องจากในฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงแปลงเพาะปลูกและรับซื้อในราคาถูกมาก ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เกษตรกรลงทุนไป หรือเรียกได้ว่าพ่อค้าเอารัดเอาเปรียบมาก เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ทุก ๆ ปี ชาวบ้านในชุมชนจึงหันหน้าเข้าหากันโดยปรึกษาหารือ โดย นางจินดา  คำเงิน เป็นแกนนำในการรวมกลุ่ม ได้ปรึกษาหาแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องราคาพริกที่ถูกพ่อค้าเอารัดเอาเปรียบ จึงเกิดการรวมกลุ่มขึ้นในชุมชน โดยเฉพาะบ้านดอนน้อย หมู่ที่ 9 ตำบลแม่แรง จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อรวบรวมผลผลิตพริกของสมาชิกภายในกลุ่มและในชุมชน เป็นจุดรวมสินค้าเพื่อต่อรองราคากับพ่อค้า และพัฒนาเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ดำเนินกิจกรรมแปรรูปผลผลิตพริก นางจินดา  คำเงิน ประธานกลุ่มแปรรูปน้ำพริกบ้านดอนน้อย เล่าว่า เดิมนั้นชาวบ้านหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวว่างเว้นก็จะหันมาปลูกพริกกันเป็นส่วนใหญ่ แต่มาระยะหนึ่งราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ พริกไม่ได้ราคา จึงได้ร่วมกันปรึกษาหารือกันว่าเราน่าจะมีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร คือ การแปรรูปน้ำพริกบ้านดอนน้อยเกิดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาราคาพริกตกต่ำ และเกิดความหลากหลายของผลผลิต เป็นการสร้างรายได้ ให้กับกลุ่มเพิ่มขึ้น จากนั้นได้มีหน่วยงานทางราชการ เช่น  กศน.ตำบลแม่แรง กศน.อำเภอป่าซาง สำนักงานเกษตรอำเภอป่าซาง สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอป่าซาง เข้ามาช่วยเหลือในด้านการแปรรูป การผลิต การตลาด จัดอบรมกิจกรรมทางเลือกให้กับกลุ่ม เป็นการสร้างมูลค่าให้กับทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน และใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐานในการพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านดอนน้อย

อัตลักษณ์(เอกลักษณ์)/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์

พริกที่กลุ่มแปรรูปน้ำพริกบ้านดอนน้อย หมู่บ้านใกล้เคียงนิยมปลูกและนำมาแปรรูปได้แก่ พันธุ์จินดา เนื่องจากมีกลิ่นหอม รสจัด อร่อย การแปรรูปพริก ส่วนใหญ่ส่งเสริมในกลุ่ม และเป็นพริกที่มีกระบวนการผลิตและการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพริก การใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ อร่อยด้วยคุณค่าสมุนไพรไม่ใช้สารกันบูด

มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ

ยังไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์

ความสัมพันธ์กับชุมชน

การแปรรูปน้ำพริกบ้านดอนน้อย เป็นความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาและเกิดผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้สามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน ซึ่งเป็นการถนอมอาหาร เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนบ้านดอนน้อย

เผยแพร่เพื่อการศึกษาเท่านั้น