แม้ที่ตำบลแม่แรงจะมีการผลิตตุงล้านนาจำหน่ายกันหลายหลังคาเรือน แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีเพียงบ้านของ ลุงเสย    มูลชีพ เพียงบ้านเดียวที่ผลิตหัวตุงขาย“ที่นี่ไม่มีใครทำแล้ว เพราะว่าทำแล้วไม่คุ้ม คือขายได้ แต่ว่าราคาถูกมาก หัวละ 5 บาทเอง ต้องใจรักจริงๆ เท่านั้น เพราะตั้งแต่จำความได้ มีคนทำแค่ 2 คนเท่านั้น คนหนึ่งตายไปแล้ว ลุงทำเพราะต้องการรักษาวัฒนธรรมประเพณีของตำบลแม่แรงเอาไว้” ลุงเสยเล่า ลุงเสยย้อนความให้ฟังว่า สมัยเมื่อสิบกว่าปีก่อน ลุงเสยพยายามรวมกลุ่มผู้สูงอายุในตำบลแม่แรงประมาณ 20 คน เพื่อทำจักสาน ซึ่งหัวตุงก็ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมนั้น แต่พอนานวัน สมาชิกที่มาร่วมก็น้อยลงด้วยสาเหตุสารพัด ลุงเสยเลยตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมาอยู่ที่บ้านของตน ส่วนความรู้นั้นอาศัยการจดจำ ด้วยลุงเสยเป็นไวยาวัจกรประจำวัดหนองเงือก จึงมีโอกาสได้พบลวดลายสวยๆ เป็นจำนวนมาก“ไม้ที่ใช้ทำหัวตุง คือไม้ไผ่กับไม้สัก โดยลุงจะไปซื้อเศษไม้ที่เหลือจากคนทำเฟอร์นิเจอร์ หรือบางครั้งมีคนรื้อบ้าน ก็ขอซื้อเขา ถูกบ้างแพงบ้าง แรกๆ ที่เริ่มทำ ก็อาศัยดูแบบเขา ทำไม่ค่อยสวยหรอก แต่พอทำไปนานๆ ก็เริ่มชำนาญ รู้เทคนิค ทั้งการจัด การตอก ต้องใช้ความประณีต อย่างเวลาตอกตะปูเพื่อประกอบ ก็ต้องใช้สว่านนำ ไม่เช่นนั้นไม้จะแตก”นอกจากหัวตุงแล้ว ลุงเสยยังทำตาแหลว เป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ทำจากตอก นำมาสานเป็นรูปร่างคล้ายดาว สามเหลี่ยมบ้าง ดาวห้าแฉก หรือดาวแปดแฉกก็มี คนล้านนาเชื่อว่าตาแหลวเปรียบได้กับดวงตาของเหยี่ยวหรือนกแหลว ซึ่งสามารถมองเห็นในระยะไกล ทำให้เล็งเห็นอันตรายต่างๆ ได้ก่อน คนล้านนาจึงถือเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งเขตป้องกันสิ่งชั่วร้ายต่างๆ มักนำมาประกอบในพิธีมงคล เช่น การทำบุญบ้าน ทำบุญเมือง การสืบชะตา หรือพิธีบวงสรวงต่างๆ โดยผูกโยงไว้ที่หน้าบ้าน นิยมทำเป็นตาแหลวเจ็ดชั้น หรือซ้อนกัน 7 ชั้น ปัจจุบันลุงเสยขายตัวละ 5 บาท

“ชาวบ้านมาซื้อทีหนึ่ง มักขอซื้อกันเป็นร้อยตัว ปัจจุบันส่งไปขายไกลถึงแม่สอด ส่วนใหญ่คนที่มาซื้อ จะได้ยินปากต่อปาก อีกอย่างหนึ่งคือผมเป็นไวยาวัจกรวัดหนองเงือก แล้วอดีตเจ้าอาวาสก็เป็นเจ้าคณะอำเภอ มีโอกาสพบปะรู้จักคน ก็มักมีมาสั่งมาซื้อกันไป”นอกจากนั้น ลุงเสยยังทำโคมยี่เป็ง โดยลุงเสยบอกว่าทำจากผ้า ไม่ใช่กระดาษ ทำให้มีความแข็งแรงทนทานมาก“ช่วงเดือนยี่เป็งหรือวันพ่อเขาจะใช้โคมกันเยอะเลย ใช้ประดับประดา ลุงขายได้ตลอด แต่ว่าเป็นงานฝีมือ ทำได้ไม่ไว ก็เลยต้องค่อยๆ ทำ เก็บไปเรื่อยๆ เพราะว่าเขาสั่งทีเป็นร้อยๆ ลูก ถ้าไปรอทำช่วงเทศกาลก็ไม่ทัน” ลุงเสยเล่าด้วยรอยยิ้มพอถามว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดนี้ สร้างรายได้มากน้อยเพียงใด ลุงเสยกล่าวว่าไม่มาก แต่ที่ยังทำอยู่ เพราะทำแล้วมีความสุข ที่สำคัญลุงเสยยังนำความรู้นี้ไปสอนนักเรียน เช่น โรงเรียนบ้านหนองเงือก ตามโครงการอุ้ยสอนหลานของเทศบาลที่นำผู้เฒ่าผู้แก่ไปบรรยายภูมิปัญญาแก่เยาวชน แม้จะไม่สำเร็จถึงขนาดมีผู้สืบทอด แต่ก็ยังดีที่ได้บอกเล่าสิ่งเหล่านี้ให้คนรุ่นหลานฟังกัน

สถานที่ตั้ง(พิกัด)แหล่งภูมิปัญญา

               นายเสย   มูลชีพ  บ้านเลขที่ 103/1 หมู่ที่ 5 บ้านหนองเงือก ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน 51120

                เบอร์โทร 084-7187485  พิกัด 18.501191,98.910477