บ้านหนองเงือก ตั้งอยู่ในตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีเชื้อสายยอง “ยอง” เป็นชื่อเรียกกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทและมีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ที่เมืองยอง ซึ่งอยู่ในประเทศเมียนม่าร์ในปัจจุบัน ในประวัติศาสตร์คนยองถูกกวาดต้อนเข้ามาในดินแดนไทยเมื่อสองร้อยกว่าปีล่วงมาแล้ว หนังสือคนยองย้ายแผ่นดิน ของแสวง มาละแซม ให้ข้อมูลว่า ชาวยองถูกกวาดต้อนลักษณะเทครัวในสมัยพระเจ้ากาวิละเพื่อการฟื้นฟูบ้านเมือง หลังจากที่อิทธิพลของพม่าเริ่มหมดไปจากที่ราบเชียงใหม่ ลำพูน  แบ่งได้ 3 ช่วงเวลา ช่วงแรกระหว่างปี พ.ศ. 2325-2339 ช่วงที่สองระหว่าง พ.ศ. 2339-2348 และช่วงที่สามระหว่าง พ.ศ. 2348-2356  โดยจากการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองและเมืองใกล้เคียง เข้ามาตั้งถิ่นในเมืองลำพูน  จากนั้นคนยองได้ขยายตัวออกไปตั้งชุมชนในที่ต่างๆ และได้กลายเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของเมืองลำพูน

                       ที่มา : ชิลไปไหน, 2562

พิพิธภัณฑ์ไทยองบ้านหนองเงือก 

  เป็นที่รวบรวมอนุรักษ์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี โบราณวัตถุ เครื่องมือเครื่องใช้ในการดําเนินชีวิตของบรรพบุรุษชาวยอง ในสมัยโบราณ แบ่งเป็นทั้งหมด 3 หมวด คือ หมวดศาสนา หมวดวิถีชีวิตและกระบวนการผลิตผ้าฝ้ายทอมือและหมวดโบราณวัตถุสิ่งของเครื่องใช้


          พิพิธภัณฑ์ไทยองบ้านหนองเงือกก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2552 ตามดำริของคณะกรรมการโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนบ้านหนองเงือก มีอาจารย์บุญสุ่ม อินกองงาม เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร อาจารย์สนั่น ศรีกอก รองประธาน และอาจารย์บังอร ลังการ์พินธุ์ เลขานุการ และมีท่านพระครูโพธิโสภณ เจ้าคณะอำเภอป่าซาง เจ้าอาวาสวัดหนองเงือก เป็นผู้สนับสนุน โดยอนุญาตให้ใช้พื้นที่ธรณีสงฆ์เป็นสถานที่ก่อสร้าง  ซึ่งอยู่ตรงข้ามวัด

    ที่มา : ชิลไปไหน, 2562

          ใต้ถุนอาคารพิพิธภัณฑ์ทำเป็นที่นั่งพักและเป็นสถานที่จุดแรกเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวหรือคณะที่มาดูงาน ก่อนที่พาไปชมสถานที่อื่นๆในชุมชน ใกล้กันจัดแสดงเกวียนของชาวบ้านที่นำมาบริจาค และ “กี่คู่รัก” เป็นกี่ทอผ้าที่สามารถทอผ้าได้สองคน ซึ่งมีที่เดียวที่หมู่บ้านหนองเงือกแห่งนี้

   ที่มา : ชิลไปไหน, 2562

          บริเวณชั้นบนแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ห้อง 

ห้องแรก “พระศาสนา” 

     วัตถุที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นของวัดหนองเงือก อาทิ ตู้พระธรรม  ปั๊บสา คัมภีร์ใบลาน ชั้นวางคัมภีร์ พระพุทธรูปดินเผา

ห้องที่สอง “โบราณวัตถุและสิ่งของเครื่องใช้” 

  จัดแสดงข้าวของในตู้ไม้โบราณของวัดและตู้ที่ชาวบ้านบริจาคที่มีเอกลักษณ์งดงามข้าวของที่จัดแสดงด้านในได้แก่ เครื่องเคลือบ เครื่องปั้นดินเผา ถ้วยตีนช้าง เครื่องเขิน ขันโอ หมอนหก เหรียญและธนบัตรเก่า

ห้องที่สาม “วิถีชีวิต กระบวนการผลิตผ้าฝ้ายทอมือ”

 จัดแสดงภาพถ่ายเก่าที่ได้รับบริจาคมาจากชาวบ้านในชุมชน มีทั้งภาพที่เป็นสถานที่สำคัญ วัด โรงเรียน พระสงฆ์ งานบุญประเพณี ของใช้ในครัวเรือนอาทิ กัวะข้าว วี ปิ่นโต เครื่องโม่แป้ง กระจาด กระป๋องน้ำสังกะสีเชิงเทียนทำจากไม้เครื่องใช้ทางการเกษตร เช่น คันไถ คราด อุปกรณ์ที่ใช้ทอผ้า เครื่องมือช่างจำพวกกบไสไม้  กระเป๋ายาของหมอคนสุดท้ายประจำหมู่บ้าน ป้านลมไม้แกะสลักประดับกระจกของวิหารหลังเก่า

คำขวัญบนป้ายผ้าในชุมชน ถือจัดว่าเป็นแนวทางหนึ่งสำหรับการพัฒนาและบอกเล่าวิถีตัวตนคนยองบ้านหนองเงือกให้คนนอกได้รับรู้ผ่านการท่องเที่ยว โดยหลังจากที่การท่องเที่ยวในหมู่บ้านหนองเงือกได้รับความสนใจจากทั้งกลุ่มคณะดูงานจากหน่วยงานต่างๆ และกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ  ล่าสุดอยู่ในโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ของกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ผู้ใหญ่บ้านจึงมีแนวคิดปรับพื้นที่ใต้ถุนพิพิธภัณฑ์ให้เป็นจุดแรกที่จะรับนักท่องเที่ยว มีการบรรยายสรุปและนำชมพิพิธภัณฑ์ จากนั้นจึงจะนำกลุ่มคณะดูงานและนักท่องเที่ยวไปตามเส้นทางท่องเที่ยวในหมู่บ้าน ชมสถานที่สำคัญต่างๆ ของหมู่บ้าน เช่น วัดหนองเงือก หนองออกรู้ เรือนยองโบราณ และชมการสาธิตงานหัตถกรรมชุมชน อาทิ การทอผ้าฝ้าย การทำกระเป๋านกฮูก การทำรองเท้าจากยางรถยนต์ การจักสานตาเหลว และยังมีโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยวประมาณ 7 หลัง มีการตรวจคุณภาพจากภาครัฐอย่างสม่ำเสมอ

พิพิธภัณฑ์ไทยองบ้านหนองเงือก เปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวสามารถได้เข้ามาศึกษาและเยี่ยมชมได้โดยเข้าชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.

ข้อมูลเนื้อหา โดย นายเจษฎา ธรรมากาศ

เรียบเรียงเนื้อหา โดย นายเจษฎา ธรรมากาศ

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย  ศาลากลางจังหวัดลำพูน, ชิลไปไหน

 

ข้อมูลอ้างอิง

        รัตนาพร  เศรษฐกุล, 2537. การคงอยู่และการปรับเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไท : กรณีศึกษาหมู่บ้านยอง ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. แสวง มาละแซม, 2540. คนยองย้ายแผ่นดิน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สัมภาษณ์ปิติพงษ์  ปันเจริญ วันที่ 13 สิงหาคม 2562. 

  ชิลไปไหน. 4 กันยายน 2562. ไปลองทอผ้าฝ้าย สัมผัสวิถีชาวยอง ที่ชุมชนบ้านหนองเงือก หมู่บ้านน่ารัก ณ ลำพูน. https://chillpainai.com/scoop/10109