ประวัติพิธีเข้ามูลกรรม

             ในช่วงระหว่างตั้งแต่เดือนธันวาคม - มกราคม และกุมภาพันธ์ หรือเดือน 3-4 และเดือน 5 เหนือ ของทุกปี ชาวพุทธเมืองเหนือล้านนาจะนิยมจัดกิจกรรม เข้ากรรม ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ และศรัทธาประชาชน จนถือเป็นประเพณีมาจนกระทั่งตราบถึงปัจจุบัน ประเพณีดังกล่าวนี้จะเลือกเอาสถานที่ตามวัดวาอาราม เรียกว่า “เข้ากรรมรุกขมูล” และใช้บริเวณสุสานป่าช้า เรียกว่า “ประเพณีเข้าโสสานกรรม” การเข้าโสสานกรรมหรืออยู่กรรมของพระสงฆ์ มีจุดมุ่งหมายต้องการที่จะให้พระสงฆ์ได้รู้จักความทุกข์ยากลำบาก ให้เป็นผู้รู้จักช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะได้เป็นผู้นำในด้านการพัฒนา ในสิ่งที่จะเป็นสาธารณประโยชน์ต่อท้องถิ่น อาทิ ถนนหนทาง ศาลาที่พัก สะพาน หรืออื่นๆเป็นต้น ตลอดจนถึงได้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนศรัทธาประชาชน เพื่อให้ได้มีการระลึกถึงมรณานุสติที่ทุกๆคนจะต้องได้พบหรือประสบ และจะได้เร่ง กระทำความดีในขณะที่ยังมีชีวิตหรือมีลมหายใจอยู่การเตรียมการเข้าโสสานกรรม พระสงฆ์และศรัทธาประชาชนจะมีการช่วย กันสร้างกระต๊อบที่อยู่ เป็นหลังๆ โดยอยู่ห่างกันประมาณ 5-10 วา โดยจะจัดสร้างหรือทำเท่ากับจำนวนของพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์มาอยู่ร่วมพิธีกรรม การนิมนต์พระสงฆ์ที่จะมาร่วมพิธีกรรม เจ้าอาวาสที่เป็นเจ้าของพื้นที่ตั้งป่าช้า จะเป็นผู้จัดนิมนต์พระสงฆ์ตามวัดวาอารามต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงให้มาเข้าร่วมพิธีกรรมด้วยกันส่วนระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรมนั้น ก็จะใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 5-7 วันสำหรับกิจกรรมประจำวันของพระสงฆ์ที่เข้าโสสานกรรมก็คือ จะมีการไหว้พระสวดมนต์, เทศนาอบรมสั่งสอนประชาชน, การนั่งภาวนาบนกองฟอน, บังสุกุลแผ่เมตตา เดินจงกรม, การรับทานขันข้าว และการเป็นผู้นำในการพัฒนาสิ่งที่จะเป็นสาธารณ-ประโยชน์การเข้าโสสานกรรมถือเป็นประเพณีที่พระสงฆ์ในพุทธศาสนาได้ถือเป็นวัตร- ปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งสมัยโบราณกาล โดยถือเป็นกิจกรรมงานทำบุญ ทำกุศล ที่พระสงฆ์และประชาชนร่วมกันทำ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง และสังคม จนทำให้กลายมาเป็นประเพณีที่ได้กระทำสืบต่อๆกันมาจนตราบถึงทุกวันนี้.

          สถานที่วัด 10 วัด ตำบลแม่แรง จำนวน  11 หมู่บ้าน

          ผู้ให้ข้อมูล  เจ้าอาวาส 10 วัด

          ผู้เรียบเรียง นายพีระพันธ์   สานตา