เครื่องจักสาน งานลุงเสย

       เครื่องจักสาน เป็นงานศิลปหัตถกรรมอย่างหนึ่ง คิดค้นขึ้นโดยมนุษย์เพื่อใช้สร้างเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ผลิตขึ้นโดยการสอด ขัด และสานของวัสดุที่มีลักษณะเป็นเส้น เป็นริ้ว เพื่อให้ได้ลวดลายที่สวยงาม และเพื่อให้เกิดความคงทนของเครื่องจักสาน 

เครื่องจักสาน ภาพโดย : นายพีระพันธ์  สานตา

นายเสย  มูลชีพ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ลุงเสย” อาศัยอยู่บ้านหนองเงือก    เลขที่ 103/1  หมู่ 5 ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เบอร์โทร 084-7187485 การศึกษา ระดับประถมศึกษาปีที่ 6  ณ โรงเรียนบ้านหนองเงือก

ลุงเสยมีใจรักในการทำเครื่องจักสานและด้วยลุงเสยเป็นไวยาวัจกรประจำวัด หนองเงือก จึงมีโอกาสได้เห็นเครื่องจักสานและศึกษาลวดลายต่างๆ ของเครื่องจักสาน เครื่องจักสานที่ลุงเสยได้ศึกษาเรียนรู้ในทำ ยกตัวอย่าง เช่น

ภาพโดย : นายพีระพันธ์  สานตา

ตาแหลว เป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ทำจากตอก นำมาสานเป็นรูปร่างคล้ายดาว สามเหลี่ยม  ดาวห้าแฉก หรือดาวแปดแฉก คนล้านนาเชื่อว่าตาแหลวเปรียบได้กับดวงตาของเหยี่ยวหรือนกแหลว     ซึ่งสามารถมองเห็นในระยะไกล ทำให้มองเห็นอันตรายต่างๆ ได้ คนล้านนาจึงถือเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงเขตป้องกันสิ่งชั่วร้ายต่างๆ มักนำมาประกอบในพิธีมงคล เช่น การทำบุญบ้าน ทำบุญเมือง การสืบชะตา หรือพิธีบวงสรวงต่างๆ โดยผูกโยงไว้ที่หน้าบ้าน นิยมทำเป็นตาแหลว 7 ชั้น หรือซ้อนกัน 7 ชั้น ซึ่งราคาของตาแหลว จำหน่ายตัวละ 5 บาท

ตาแหลว ภาพโดย : นายพีระพันธ์  สานตา

โคมยี่เป็ง นิยมทำจากผ้า ไม่ใช่กระดาษ เนื่องจากมีความแข็งแรงทนทานมาก ในช่วงเดือนยี่เป็งจะใช้โคมกันเยอะ เพื่อใช้ตกแต่งประดับสถานที่ในเดือนยี่เป็ง โคมยี่เป็งเป็นงานฝีมือ ต้องใช้ความปราณีตในการ   ทำโคม

โคมยี่เป็ง ภาพโดย : นายพีระพันธ์  สานตา

นอกจากนี้ตำบลแม่แรง มีการทำตุงล้านนาจำหน่ายกันหลายครัวเรือน มีเพียงแต่บ้านของลุงเสย เพียงบ้านเดียวที่ทำหัวตุง ปัจจุบันที่ตำบลแม่แรงไม่มีผู้ใดทำหัวตุงจำหน่ายแล้ว เนื่องจากว่าราคาถูก และ  มีกำไรน้อย ส่วนลุงเสยยังคงทำหัวตุงอยู่ อดีตเคยมีผู้ที่ทำหัวตุงอยู่เพียงแค่ 2 คนเท่านั้น ปัจจุบันคนหนึ่ง  ได้เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนลุงเสยยังคงทำหัวตุงอยู่ เพราะมีใจรักในการทำเครื่องจักสานและต้องการรักษาวัฒนธรรมประเพณีของตำบลแม่แรงไว้

ไม้ที่ใช้ทำหัวตุง คือไม้ไผ่กับไม้สัก โดยลุงจะหาซื้อเศษไม้ที่เหลือจากการทำเฟอร์นิเจอร์ หรือจากเศษไม้ในหมู่บ้านจากการรื้อบ้าน ในตอนแรกที่เริ่มทำหัวตุง ลุงเสยได้ศึกษาดูตัวอย่างหรือลวดลายจากคนอื่น นำมาทำหัวตุง ใช้เวลาเพียงไม่นานก็เกิดความชำนาญ รู้เทคนิคในการทำหัวตุง ทั้งการจัด การตอก ต้องใช้ความประณีต และระมัดระวังในการประกอบหัวตุงเพื่อป้องกันไม่ให้หัวตุงแตก

หัวตุง ภาพโดย : นายพีระพันธ์  สานตา

ลุงเสยเล่าด้วยรอยยิ้ม ถึงคำถามที่ว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดนี้ สร้างรายได้มากน้อยเพียงใด ลุงเสยกล่าวว่าไม่มาก แต่ที่ยังทำอยู่เพราะทำแล้วมีความสุข ที่สำคัญลุงเสยยังนำความรู้ภูมิปัญญาการทำเครื่องจักสานนี้ไปสอนนักเรียน เช่น โรงเรียนบ้านหนองเงือก ตามโครงการอุ้ยสอนหลานของเทศบาลตำบลแม่แรง 

ข้อมูล เนื้อหา โดย : ลุงเสย  มูลชีพ

เรียบเรียงเนื้อหา โดย : นายพีระพันธ์  สานตา  ครู กศน.ตำบลแม่แรง

ภาพถ่าย โดย : นายพีระพันธ์  สานตา ครู กศน.ตำบลแม่แรง

อ้างอิง :

เครื่องจักสาน. (2020, April 27). วิกิพีเดีย. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99