[2] จุดมุ่งหมายของการทำวิจัย
คลิกที่นี่เพื่ออ่านคำอธิบาย
หัวข้อจุดมุ่งหมายของการทำวิจัย
จุดมุ่งหมายของการทำวิจัย
การทำงานทุกอย่างเริ่มต้นที่จุดมุ่งหมาย ก่อนทำวิจัยจึงควรตอบคำถามให้ได้เสียก่อนว่าต้องการทำวิจัยเพื่อจุดมุ่งหมายใด เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาไปกับการค้นคว้าสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่จะมุ่งทำวิจัยในขั้นตอนต่าง ๆ ให้ผลการวิจัยบรรลุตามจุดมุ่งหมายที่ต้องการ โดยทั่วไปแล้วเราสามารถทำวิจัยเพื่อจุดมุ่งหมายใดจุดมุ่งหมายหนึ่งใน 5 ประการ ต่อไปนี้
1. เพื่อบรรยาย การวิจัยที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรยายเป็นการวิจัยที่มุ่งค้นคว้าหาข้อเท็จจริงเพื่อบอกเล่าลักษณะของตัวแปรที่ต้องการศึกษา เช่น ภาวะซึมเศร้าและพฤติกรรมการเล่นเกมออนไลน์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตกรุงเทพมหานคร (ธีระชัย สถาพรธนาสิน,2552.) หรือ การศึกษาความเครียดและวิธีเผชิญความเครียดของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย (สุภาภัทร ทนเถื่อน,2553.)
2. เพื่ออธิบาย การวิจัยที่มีจุดมุ่งหมายเพื่ออธิบายเป็นการวิจัยที่มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่ออธิบายว่าปรากฏการณ์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีอะไรเป็นเหตุมีอะไรเป็นผล เช่น การศึกษาสาเหตุในการออกกลางคันของนักศึกษาหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น ในวิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ (พูนศักดิ์ อติชาต,2537.) หรือ การศึกษาสาเหตุของการได้เกรด F ในกระบวนวิชาแคลคูลัสสำหรับวิศวกรรมศาสตร์ 1 (206161) ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ปัทมา จักษุรัตน์, มปป)
3. เพื่อทำนาย การวิจัยที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำนายเป็นการวิจัยที่มุ่งนำผลการวิจัยไปใช้ทำนายหรือคาดคะเนสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบันแต่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การศึกษาแนวโน้มของหลักสูตรคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา ในทศวรรษหน้า (กัลยา สุทธิศิริ , 2539) หรือการพยากรณ์จำนวนนิสิตที่จะเข้าศึกษาต่อสำหรับคณะวิศวกรรมศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒโดยการเรียนรู้เชิงลึก ( กฤษฎา มีเครือ และคณะ, 2562.)
4. เพื่อควบคุม การวิจัยที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมเป็นการวิจัยที่มุ่งนำผลวิจัยไปใช้เป็นแนวทางในการควบคุมปรากฏการณ์ต่าง ๆ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรง หรือ ให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เช่น การควบคุมพฤติกรรมการกระทำรุนแรงของนักเรียนโรงเรียนอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี (วรารัตน์ วิจารณ์ปรีชา , 2550.) หรือ การเสริมสร้างการควบคุมตนเองของเยาวชนที่กระทำผิดโดยการให้คำปรึกษากลุ่ม (สกล เจริญศรี และพงศกร เฮงวิวัฒนชัย , มปป.)
5. เพื่อพัฒนา การวิจัยที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาเป็นการวิจัยที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ สร้างวิธีการ หรือแนวคิดใหม่ เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหา พัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์รายวิชาทฤษฎีดนตรีสากล 2 สําหรับนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด (ชานนท์ ดําสนิท , 2565) หรือ การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องการสร้างเกมจากโปรแกรมไมโคตซอฟท์เอกซ์เซลชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (วรรณิภา ปัททุม , 2556.)
สรุปได้ว่า เราสามารถทำวิจัยเพื่อจุดมุ่งหมายใดจุดมุ่งหมายหนึ่งใน 5 ประการ ได้แก่ ทำวิจัยเพื่อบรรยายหรือบอกเล่าลักษณะของตัวแปรที่ต้องการศึกษา ทำวิจัยเพื่ออธิบายถึงเหตุหรือผลของการเกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทำวิจัยเพื่อทำนายหรือคาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำวิจัยเพื่อควบคุมปรากฏการณ์ต่าง ๆ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรง หรือ ให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และทำวิจัยเพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์ สร้างวิธีการ หรือแนวคิดใหม่ เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหา พัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ
อ้างอิงจาก บทความ สิ่งที่ควรรู้ก่อนเริ่มต้นทำวิจัย
เอกสารประกอบคำอธิบาย