[5] ธรรมชาติของการวัดผลการศึกษา
คลิกที่นี่เพื่ออ่านคำอธิบาย
หัวข้อธรรมชาติของการวัดผลการศึกษา
ธรรมชาติของการวัดผลการศึกษา
ประเภทของการวัดผลโดยทั่วไป แบ่งได้ 2 แบบ คือ การวัดผลทางกายภาพ เช่น การวัดน้ำหนัก ส่วนสูง กับการวัดผลพฤติกรรม เช่น วัดสติปัญญา วัดการปฏิบัติ วัดลักษณะนิสัย จากที่กล่าวข้างต้นเห็นได้ว่าการวัดผลทางการศึกษาเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่ไม่มีรูปร่างให้หยิบจับมาทำการวัดได้ทันที นอกจากนั้นยังไม่มีเครื่องมือสำเร็จรูปที่จะหาซื้อหรือหยิบยืมมาวัดได้เหมือนกับการวัดทางกายภาพ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การวัดผลทางการศึกษามีความยุ่งยากและคลาดเคลื่อนง่ายมาก ผู้ที่จะทำหน้าที่วัดผลประเมินผลจึงควรทำความเข้าใจธรรมชาติของการวัดผลการศึกษาให้ดีเสียก่อน
การวัดผลการศึกษาเป็นการวัดในสิ่งที่เป็นนามธรรม เพราะสิ่งที่การศึกษาต้องทำการวัด คือ พฤติกรรมของนักเรียนที่มองไม่เห็นจับต้องไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมด้านสติปัญญา เช่น ความรู้ความเข้าใจ การคิดวิเคราะห์ การคิดแก้ปัญหา หรือพฤติกรรมด้านการปฏิบัติ เช่น ทักษะการพูด การวาดภาพ หรือการเล่นกีฬา แม้กระทั่งพฤติกรรมด้านจิตใจอารมณ์ เช่น ความรับผิดชอบ ความมีมารยาท ความกล้าแสดงออก
การรู้ธรรมชาติข้อนี้ช่วยให้ครูที่จะทำหน้าที่วัดผลเข้าใจว่าเราไม่สามารถวัดพฤติกรรมของนักเรียนได้โดยตรงเหมือนกับการนำเครื่องชั่งมาวัดน้ำหนักสิ่งของแล้วอ่านค่าน้ำหนักได้ทันที จำเป็นต้องมีสิ่งเร้า เช่น คำถาม คำสั่งหรือสถานการณ์มากระตุ้นให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมที่มองไม่เห็นออกมาให้สังเกตได้เสียก่อนแล้วจึงนำพฤติกรรมที่สังเกตได้มาทำการวัดหรือให้คะแนน
หน่วยวัดของเครื่องมือวัดผลการศึกษาไม่คงที่ คะแนน คือ หน่วยการวัดทางการศึกษา 1 คะแนน ที่ได้จากแบบทดสอบต่างฉบับกันมีขนาดไม่เท่ากันหรือแม้แต่ 1 คะแนน จากข้อสอบฉบับเดียวกันแต่คนละข้อก็มีขนาดไม่เท่ากัน ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าหน่วยวัดไม่คงที่ ต่างจากการวัดด้านกายภาพที่มีหน่วยวัดระบบเมตริกเป็นมาตรฐานสากล ทำให้ 1 เซนติเมตรของไม้บรรทัดทุกอันมีขนาดเท่ากัน 1 กิโลกรัมของเครื่องชั้่งทุกเครื่องก็มีขนาดเท่ากัน การที่เครื่องมือวัดด้านกายภาพมีหน่วยวัดคงที่เช่นนี้เราจึงนำผลการวัดจากหลาย ๆ เครื่องมือมาเปรียบเทียบกันได้ แต่การวัดผลทางการศึกษาไม่สามารถทำเช่นนี้ได้เนื่องจากคะแนนมีหน่วยวัดไม่คงที่
การรู้ธรรมชาติข้อนี้จะช่วยให้ครูไม่นำคะแนนจากแบบทดสอบต่างฉบับมาเปรียบเทียบกัน หากจำเป็นต้องเปรียบเทียบ เช่น อยากทราบว่านักเรียนเก่งหรืออ่อนวิชาไหนต้องใช้วิธีทางสถิติปรับหน่วยคะแนนแต่ละวิชาให้คงที่หรือมีขนาดเท่ากันก่อน ทำได้โดยนำคะแนนดิบของแบบทดสอบแต่ละวิชามาแปลงรูปให้เป็นคะแนนมาตรฐาน Z-Score T-Score หรือ Nomalize T-Score เสียก่อนแล้วจึงนำคะแนนมาตรฐานมาเปรียบเทียบกัน
ผลการวัดทางการศึกษามีความคลาดเคลื่อนปนอยู่เสมอ เพราะมีความคลาดเคลื่อนบางอย่างที่ไม่สามารถทำให้หมดไปได้ เช่น ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการเดาคำตอบของผู้สอบ ความวิตกกังวลหรือความเครียดของผู้สอบ ปัญหาสุขภาพของผู้สอบ เสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อม สภาพอากาศแปรปรวน หรือมลภาวะต่างๆที่อาจเกิดขึ้นขณะสอบ ฯลฯ
การรู้ธรรมชาติข้อนี้ช่วยให้ครูพึงระมัดระวังความคลาดเคลื่อนอื่น ๆ ที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นเพื่อให้ผลการวัดมีความคลาดเคลื่อนปนอยู่น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ระมัดระวังไม่ให้พิมพ์ข้อสอบผิด ไม่เฉลยผิด ไม่ตรวจให้คะแนนผิด ปรับปรุงคำถามไม่ให้ยากหรือง่ายจนเกินไป ตรวจสอบความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่นก่อนนำแบบทดสอบไปใช้ และต้องพยายามลดความคลาดเคลื่อนที่แม้ว่าจะไม่สามารถทำให้หมดได้ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย เช่น พยายามใช้เทคนิคเขียนข้อสอบลดการเดา หรือไม่กระทำการใด ๆ ที่จะเพิ่มความวิตกกังวลให้กับนักเรียน กำกับให้นักเรียนดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงพักผ่อนให้เพียงพอก่อนสอบ
ผลการวัดทางการศึกษาไม่สามารถอธิบายสิ่งที่ต้องการวัดได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งหมด เพราะมนุษย์มีข้อจำกัดบางประการในการแสดงพฤติกรรมทำให้ไม่สามารถแสดงพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มีจำนวนมากได้ ตัวอย่างการวัดความรู้เกี่ยวกับการคูณเลขหลักเดียวของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ถ้าครูต้องการวัดให้ครบถ้วนสมบูรณ์ 100 % ต้องออกข้อสอบให้นักเรียนนำเลขหลักเดียวมาคูณกัน ตั้งแต่ 0 x 0 , 0 x 1 , … , 9 x 8 ไปจนถึง 9 x 9 รวมทั้งหมด 100 ข้อ แต่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ไม่สามารถตอบคำถามจำนวนมากถึง 100 ข้อได้ จึงทำได้เพียงสุ่มคำถามบางข้อมาวัดเท่านั้น
การรู้ธรรมชาติข้อนี้ช่วยให้ครูแปลความหมายคะแนนอย่างสมเหตุสมเผล เช่น หากมีนักเรียนคนใดคนหนึ่งตอบข้อสอบถูกทุกข้อจนกระทั่งได้คะแนนเต็ม ครูจะเข้าใจว่ามันไม่ได้หมายความว่านักเรียนมีความรู้ 100 % ของเนื้อหาทั้งหมด หรือหากมีนักเรียนคนใดคนหนึ่งตอบผิดทุกข้อจนกระทั่งได้ 0 คะแนน ก็ไม่ได้หมายความว่านักเรียนมีความรู้ 0 % หรือไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านั้นเลย เพราะแบบทดสอบที่ครูนำมาวัดความรู้นักเรียนไม่สามารถถามครบ 100 % ของเนื้อหาทั้งหมดได้นั่นเอง
ผลการวัดทางการศึกษาไม่สามารถแปลความหมายได้ทันที ต้องนำไปเกี่ยวข้องหรือเปรียบเทียบกับบางสิ่งเสียก่อนจึงจะแปลความหมายได้ เช่น ด.ช.อ้น สอบได้ 20 คะแนน ยังบอกไม่ได้ว่าด.ช.อ้นมีความสามารถอย่างไร ต้องนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น นำคะแนนของ ด.ช.อ้นไปเปรียบเทียบกับคะแนนเฉลี่ย x̅ = 15 คะแนน จึงแปลความหมายได้ว้า ด.ช.อ้นมีความสามารถสูงกว่าคนที่มีความสามารถกลาง ๆ ของกลุ่ม หรือหากนำไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ว่านักเรียนผ่านเกณฑ์เมื่อได้คะแนนร้อยละ 50 ขึ้นไป ถ้าแบบทดสอบมีคะแนนเต็ม 40 คะแนนจึงแปลความหมายได้ว่า ด.ช.อ้นสอบผ่านเกณฑ์
การรู้ธรรมชาติข้อนี้ช่วยให้ครูเข้าใจว่าถ้าต้องการแปลความหมายผลการวัดต้องกำหนดเกณฑ์การแปลความหมายคะแนนอย่างเหมาะสม ซึ่งทำได้ 2 แบบแล้วแต่วัตถุประสงค์ของการประเมิน แบบแรกกำหนดแบบอิงกลุ่มทำเมื่อต้องการทราบว่านักเรียนมีความสามารถระดับใดถ้านำไปเทียบกับคนอื่น ๆ ที่สอบด้วยแบบทดสอบฉบับเดียวกันมักใช้ในการสอบคัดเลือก แบบที่สองกำหนดแบบอิงเกณฑ์ทำเมื่อต้องการทราบว่านักเรียนมีความสมารถระดับใดถ้านำไปเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้มักใช้ในการพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน
สรุปได้ว่า ผู้วัดผลควรศึกษาธรรมชาติของการวัดผลทางการศึกษาให้เข้าใจก่อนทำการวัดว่าการวัดผลทางการศึกษาเป็นการวัดพฤติกรรมที่มีลักษณะเป็นนามธรรมไม่สามารถนำเครื่องมือมาวัดได้โดยตรงต้องมีสิ่งเร้า เช่น ใช้คำถาม คำสั่งหรือสถานการณ์มากระตุ้นให้แสดงพฤติกรรมออกมาก่อนแล้วจึงวัดผลออกมาเป็นคะแนนได้ หน่วยการวัดของเครื่องมือวัดผลทางการศึกษาไม่คงที่ถ้าต้องการเปรียบเทียบคะแนนต้องปรับหน่วยของคะแนนให้คงที่เสียก่อน ผลการวัดทางการศึกษามีความคลาดเคลื่อนบางอย่างที่ไม่สามารถทำให้หมดไปได้จึงต้องพยายามไม่ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในส่วนที่สามารถป้องกันได้เพื่อให้ผลการวัดตรงกับลักษณะแท้จริงมากที่สุด และผลการวัดทางการศึกษาไม่สามารถอธิบายสิ่งที่ต้องการวัดได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งหมดจึงต้องแปลความหมายคะแนนอย่างระมัดระวัง และผลการวัดทางการศึกษาไม่มีความหมายในตัวเองไม่สามารถแปลความหมายได้ทันทีต้องนำไปเกี่ยวข้องหรือเปรียบเทียบกับบางสิ่งเสียก่อนจึงจะแปลความหมายได้
วิดิโอประกอบคำอธิบาย
เอกสารประกอบคำอธิบาย