[16] องค์ประกอบของพฤติกรรมพุทธิพิสัย
คลิกที่นี่เพื่ออ่านคำอธิบาย
หัวข้อองค์ประกอบของพฤติกรรมพุทธิพิสัย
หัวข้อองค์ประกอบของพฤติกรรมพุทธิพิสัย
องค์ประกอบของพฤติกรรมพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)
เบนจามิน บลูม และคณะ (Benjamin S. Bloom and other) ได้วิเคราะห์องค์ประกอบของพฤติกรรมพุทธิพิสัย โดยแบ่งออกเป็น 6 ลำดับขั้น ดังนี้
1 ความรู้ความจำ เป็นความสามารถของสมองในการระลึกได้ถึงเรื่องราวที่ผ่านมา แล้วถ่ายทอดออกมาได้ถูกต้องเหมือนต้นฉบับเดิม แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ความรู้ความจำเฉพาะเรื่อง ความรู้ความจำวิธีดำเนินการ และ ความรู้ความจำรวบยอด
ตัวอย่างจุดประสงค์การเรียนรู้ขั้นความจำ
บอกความหมายคำศัพท์ที่กำหนดให้ได้
บอกสูตรการหาพื้นที่สี่เหลี่ยมชนิดต่าง ๆ ได้
บอกหน้าที่ของอวัยวะภายในของร่างกายได้
ระบุลักษณะของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำได้
2 ความเข้าใจ เป็นความสามารถของสมองในการนำสิ่งที่ได้จากความรู้ความจำมาผสมผสานแล้วถ่ายทอดออกมาในอีกลักษณะหนึ่งที่ไม่เหมือนกับต้นฉบับเดิมแต่ความหมายเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ความเข้าใจแปลความ ความเข้าใจตีความ และความเข้าใจขยายความ
ตัวอย่างจุดประสงค์การเรียนรู้ขั้นความเข้าใจ
แปลความหมายบทร้อยกรองได้
สรุปใจความจากเรื่องที่อ่านได้
อธิบายหน้าที่ของอวัยวะภายในร่างกายได้
ยกตัวอย่างสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำได้
3 การนำไปใช้ เป็นความสามารถของสมองในการนำความรู้ความจำและความเข้าใจเกี่ยวกับหลักวิชาไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่ซ้ำกับสถานการณ์เดิมที่เคยมีประสบการณ์ผ่านมาแล้ว ความสามรถด้านการนำไปใช้นี้ไม่ได้แบ่งเป็นประเภทย่อย
ตัวอย่างจุดประสงค์การเรียนรู้การนำไปใช้
เลือกวิธีปฐมพยาบาลเหมาะสมกับบาดแผลได้
นำหลักธรรมทางศาสนาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
แนะนำวิธีออกกำลังกายได้เหมาะสมกับวัย
แก้ปัญหาโจทย์โดยใช้หลักการแก้สมการได้
4. การวิเคราะห์ เป็นความสามารถของสมองในการแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นส่วนย่อย ๆ เพื่อค้นหาบางสิ่งบางอย่างที่แฝงเร้นอยู่ในสิ่งนั้น แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การวิเคราะห์ความสำคัญ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ และการวิเคราะห์หลักการ
ตัวอย่างจุดประสงค์การเรียนรู้การวิเคราะห์
แยกข้อเท็จจริงกับความคิดเห็นจากเรื่องที่อ่านได้
บอกเจตนาของผู้พูดหรือผู้เขียนได้
ระบุชนิดของคำประพันธ์จากบทประพันธ์ที่กำหนดให้ได้
บอกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการสร้างสรรค์งานดนตรีได้
5. การสังเคราะห์ เป็นความสามารถของสมองในการรวบรวมหลาย ๆ สิ่งเข้าด้วยกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การสังเคราะห์ข้อความ การสังเคราะห์แผนงาน การสังเคราะห์ความสัมพันธ์
ตัวอย่างจุดประสงค์การเรียนรู้การสังเคราะห์
เขียนเรียงความตามหัวเรื่องที่กำหนดได้
แต่งโคลงสี่สุภาพได้
ออกแบบการทดลองได้
วางแผนจัดแสดงนิทรรศการได้
6. การประเมินค่า เป็นความสามารถของสมองในการตัดสินคุณค่าสิ่งต่าง ๆ ภายใต้กฏเกณฑ์ที่ผ่านการยอมรับ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การประเมินค่าโดยใช้เกณฑ์ภายใน และการประเมินค่าโดยใช้เกณฑ์ภายนอก
ตัวอย่างจุดประสงค์การเรียนรู้การประเมินค่า
ตัดสินการกระทำตามมาตรฐานวิชาชีำได้
วิจารณ์ลักษณะตัวละครตามเนื้อหาในวรรณคดีได้
ตัดสินคุณภาพอาหารจากมื้ออาหารที่ตนเองรับประทานได้
ประเมินผลการทดสอบสมรรถภาพทางกายได้
สรุปได้ว่า
พฤติกรรมพุทธิพิสัย เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกโดยใช้สมองหรือสติปัญญา แบ่งออกเป็น 6 ลำดับขั้น เริ่มจากขั้นที่ใช้ความคิดขั้นต่ำไปสู่ความคิดขั้นสูง ได้แก่ ความรู้ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และ การประเมินค่า
วิดิโอประกอบคำอธิบาย
เอกสารประกอบคำอธิบาย