[17] วิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลการเรียนรู้
วิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลการเรียนรู้
ตามที่ได้เคยกล่าวถึงความหมายของคำว่าการวัดผล (Measurement) ไว้ในหัวข้อที่ 2 ว่า การวัดผล หมายถึง กระบวนการในการกำหนดตัวเลขเพื่อบอกขนาดหรือปริมาณของสิ่งต่าง ๆ โดยใช้วิธีการวัดและเครื่องมือวัดที่สอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการวัด ในหัวข้อที่ 17 นี้ จะได้กล่าวถึงวิธีการวัดผลการเรียนรู้และเครื่องมือวัดผลการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมทางการศึกษาทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านพุทธิพิสัย ด้านทักษะพิสัย และด้านจิตพิสัย เพื่อให้คุณครูสามารถเลือกวิธีการวัดและเครื่องมือวัดผลการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับพฤติกรรมทางการศึกษาทั้ง 3 ด้าน
วิธีการที่ใช้ในการวัดผลการเรียนรู้
วิธีการที่ใช้ในการวัดผลการเรียนรู้ในชั้นเรียนมีหลายวิธี เช่น วิธีการทดสอบ วิธีการสังเกต วิธีการสอบถาม วิธีการสัมภาษณ์ การเลือกใช้วิธีการวัดต้องคำนึงถึงความสอคล้องเหมาะสมกับพฤติกรรมทางการศึกษาที่ต้องการวัด
1. วิธีการวัดผลการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย
พฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) เป็นพฤติกรรมด้านความรู้ (Knowledge) ที่แสดงออกโดยใช้สติปัญญาหรือสมอง แนวคิดทฤษฎีดั้งเดิมของเบนจามิน บลูม และคณะ(Benjamin S. Bloom and other) จำแนกองค์ประกอบของพฤติกรรมพุทธิพิสัยออกเป็น 6 ระดับ เริ่มจากระดับที่ใช้ความคิดขั้นต่ำไปสู่ระดับที่ใช้ความคิดขั้นสูง ได้แก่ ความรู้ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และ การประเมินค่า
วิธีการที่ครูใช้ในการวัดผลการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยอย่างไม่เป็นทางการอาจทำได้โดยการซักถามแบบปากเปล่า การตรวจคำตอบจากแบบฝึกหัด หรือการตรวจผลการทำใบงาน ที่มอบหมายให้นักเรียนทำในระหว่างจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ส่วนวิธีการวัดผลการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยอย่างเป็นทางการใช้วิธีการทดสอบหลังจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยการนำชุดของคำถามไปกระตุ้นหรือเร้าให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมที่ต้องการตรวจสอบออกมาเพื่อให้ครูสามารถสังเกตและให้คะแนนความรู้ของนักเรียนได้ ชุดของคำถามที่กล่าวถึงในความหมายของการทดสอบข้างต้น คือ ข้อสอบ (Item Test) นั่นเอง ลักษณะสำคัญของข้อสอบที่จะนำมาใช้วัดความรู้ ต้องมีประเด็นคำถามสอดคล้องกับเนื้อหาและสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ ถ้านำข้อสอบหลาย ๆ ข้อ มารวมกันให้ครอบคลุมเนื้อหาและจุดประสงค์การเรียนรู้แล้วจัดเป็นฉบับจะเรียกว่า แบบทดสอบ (Test) ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดที่สำคัญสำหรับใช้ในกระบวนการทดสอบ
2. วิธีการวัดผลการเรียนรู้ด้านทักษะพิสัย
พฤติกรรมด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) เป็นความสามารถที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างกลไกของสมองกับกลไกของกล้ามเนื้อทำงานประสานกันจนทำให้สามารถปฏิบัติสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง คล่องแคล่วว่องไว เป็นอัตโนมัติ เช่น ความสามารถในการฟ้อนรำ ความสามารถในการว่ายน้ำ ความสามารถในการปั้นดินน้ำมัน หรือความสามารถในการแกะสลัก ซิมพ์สัน (Simpson) จำแนกพฤติกรรมด้านทักษะพิสัย ออกเป็น 7 ระดับ ได้แก่ การรับรู้ การเตรียมพร้อมปฏิบัติ การตอบสนองที่มีคนนำ การปฏิบัติจนเป็นทักษะ การตอบสนองที่ซับซ้อน การดัดแปลงให้เหมาะสม และการริเริ่ม
วิธีการวัดผลการเรียนรู้ทักษะพิสัยทำได้โดยกำหนดสถานการณ์ให้นักเรียนลงมือปฏิบัติแล้วทำการสังกตให้ครอบคลุมทั้งกระบวนการ (Process) ในระหว่างปฏิบัติงาน และผลงาน (Product) ที่เกิดขึ้นจากการลงมือปฎิบัติ จากนั้นบันทึกพฤติกรรมลงในเครื่องมือวัดที่เรียกว่าแบบสังเกตที่มีเกณฑ์การให้คะแนนอย่างชัดเจน
3. วิธีการวัดผลการเรียนรู้ด้านจิตพิสัย
พฤติกรรมด้านจิตพิสัย (Affective Domain) เป็นพฤติกรรมด้านจิตใจที่อาจแสดงออกโดยใช้อารมณ์ความรู้สึก อาจแสดงออกในลักษณะของพฤติกรรมเชิงคุณธรรมจริยธรรม หรืออาจแสดงออกในลักษณะของบุคลิภาพ แครธโวล และคณะ (Krathwohl and other) จำแนกพฤติกรรมด้านจิตพิสัยออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ การรับรู้ การตอบสนอง การสร้างคุณค่า การจัดระบบคุณค่า การสร้างลักษณะนิสัย
วิธีการวัดผลการเรียนรู้ด้านจิตพิสัยต้องพิจารณาให้ดีเสียก่อนว่าพฤติกรรมที่ต้องการวัดเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกโดยใช้อารมณ์ความรู้สึก แสดงออกในลักษณะของพฤติกรรมเชิงคุณธรรมจริยธรรม หรือ แสดงออกในลักษณะของบุคลิภาพ
หากต้องการวัดผลการเรียนรู้ด้านจิตพิสัยที่แสดงออกโดยใช้อารมณ์ความรู้สึก ได้แก่ เจตคติ ความพึงพอใจ ค่านิยม ความสนใจ การเห็นคุณค่า ความตระหนักในคุณค่า ฯลฯ สามารถวัดผลได้ด้วยวิธีการสอบถามโดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือวัด หรือ อาจวัดด้วยวิธีการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือวัดตามความเหมาะสม เช่น ถ้าครูต้องการวัดเจตคติต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ห้องเรียนที่ 1 ถึงห้องเรียนที่ 5 ควรใช้วิธีการสอบถามโดยแจกแบบสอบถามเพราะนักเรียนมีจำนวนมากและมีความสามารถในการอ่านออกเขียนได้สามารถเขียนแสดงความรู้สึกลงในแบบสอบถามได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าครูต้องการวัดความรู้สึกของนักเรียนเด็กเล็กที่ยังมีความสามารถในการอ่านเขียนไม่ดีนักควรใช้วิธีการสัมภาษณ์ด้วยแบบสัมภาษณ์เพื่อให้เก็บข้อมูลได้อย่างครบถ้วน
หากครูต้องการวัดผลการเรียนรู้ด้านจิตพิสัยที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมจริธรรมซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการทำความดีละเว้นความชั่ว เช่น ความซื่อสัตย์ ความมีน้ำใจ ความเพียรพยายาม ความตรงต่อเวลา ความสามัคคี ความมีระเบียบวินัย ความเมตตากรุณา ฯลฯ พฤติกรรมคุณธรรมจริยธรรมเหล่านี้ควรวัดโดยใช้วิธีการสังเกตให้เห็นพฤติกรรมที่นักเรียนแสดงออกถึงการทำสิ่งที่ควรหรือไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควร ขณะที่นักเรียนปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ แล้วบันทึกพฤติกรรมลงในเครื่องมือวัดที่เรียกว่าแบบสังเกตโดยไม่ให้นักเรียนรู้สึกตัวว่ากำลังถูกสังเกตพฤติกรรมคุณธรรมจริยธรรมเหล่านั้นอยู่
หากครูต้องการวัดผลการเรียนรู้ด้านจิตพิสัยที่เกี่ยวข้องกับบุคลิภาพที่แสดงออกถึงพฤติกรรมการกระทำที่สะท้อนภาพลักษณ์ของบุคคลอันมีผลต่อความประทับใจหรือไม่ประทับใจจากผู้พบเห็น เช่น ความกล้าแสดงออก ความเชื่อมั่นในตนเอง ความเป็นผู้นำ การปรับตัวเข้ากับผู้อื่น ความมีมนุษยสัมพันธ์ การควบคุมอารมณ์ พฤติกรรมเหล่านี้สามารถวัดผลได้โดยใช้วิธีการสังเกตพฤติกรรมแล้วบันทึกพฤติกรรมลงในเครื่องมือวัดที่เรียกว่าแบบสังเกตเช่นเดียวกันกับการวัดพฤติกรรมด้านจิตพิสัยที่เป็นคุณธรรมจริธรรม
เครื่องมือวัดผลการเรียนรู้
การวัดผลการเรียนรู้ในชั้นเรียนนอกจากจะต้องเลือกใช้วิธีการวัดให้สอดคล้องกับพฤติกรรมทางการศึกษาตามที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อก่อนหน้านี้แล้ว ยังต้องพิจารณาเลือกเครื่องมือสำหรับใช้เก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเหมาะสมอีกด้วย เครื่องมือวัดผลการเรียนรู้ที่ครูใช้วัดพฤติกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนมี ดังนี้
1. แบบทดสอบ (Test)
แบบทดสอบเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับใช้ประกอบวิธีการทดสอบเพื่อวัดความรู้ (Knowledge) ซึ่งเป็นพฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) แบ่งตามวิธีการเขียนตอบได้ 2 ประเภท คือ แบบทดสอบชนิดปรนัย กับ แบบทดสอบชนิดอัตนัย
1) แบบทดสอบชนิดปรนัย (Objective Test) เป็นแบบทดสอบที่ประกอบไปด้วยข้อสอบที่ให้ผู้สอบเขียนคำตอบสั้น ๆ อาจตอบโดยใช้คำสั้น ๆ ข้อความสั้น ๆ เครื่องหมาย หรือสัญญลักษณ์ก็ได้ มีหลายแบบ เช่น ข้อสอบถูกผิด ข้อสอบจับคู่ ข้อสอบเติมคำตอบสั้น ๆ ข้อสอบเลือกตอบ
2) แบบทดสอบชนิดอัตนัย (Subjective Test) เป็นแบบทดสอบที่ประกอบไปด้วยข้อสอบที่ให้ผู้สอบเขียนเรียบเรียงคำตอบด้วยข้อความยาว ๆ ด้วยตนเองบางครั้งอาจเรียกข้อสอบชนิดเขียนตอบยาว ๆ หรือ ข้อสอบชนิดความเรียง (Essay Test)
2. แบบสังเกต (Observation form)
เป็นเครื่องมือสำหรับใช้ประกอบวิธีการสังเกตเพื่อวัดผลการเรียนรู้ด้านทักษะพิสัย และใช้ประกอบการสังเกตเพื่อวัดผลการเรียนรู้ด้านจิตพิสัยที่แสดงออกในลักษณะคุณธรรมจริธรรม รวมถึงผลการเรียนรู้ด้านจิตพิสัยที่แสดงออกในลักษณะบุคลิกภาพอีกด้วย แบ่งตามลักษณะการบันทึกผลการสังเกตได้ 3 ประเภท ได้แก่ แบบสำรวจรายการ มาตารประมาณค่า และ แบบบันทึก
1) แบบสังเกตชนิดแบบสำรวจรายการ (Checklist) เป็นแบบสังเกตที่ประกอบไปด้วยชุดของรายการพฤติกรรมที่ต้องการสังเกต ในแต่ละรายการพฤติกรรมมีการให้คะแนนเพียงแค่ 2 ระดับ คือ 0 กับ 1 เท่านั้น เช่น ให้ 0 คะแนน เมื่อ นักเรียนไม่ส่งการบ้าน ให้ 1 คะแนน เมื่อ นักเรียนส่งการบ้าน
2) แบบสังเกตชนิดมาตรประมาณค่า (Rating Scale) เป็นแบบสังเกตที่ประกอบไปด้วยชุดของรายการพฤติกรรมที่ต้องการสังเกตเช่นเดียวกับแบบสำรวจรายการแตกต่างกันตรงที่ในแต่ละรายการมีการให้คะแนนมากกว่า 2 ระดับ เพื่อบอกระดับคุณภาพหรือระดับปริมาณว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น ให้ 0 คะแนน เมื่อ ออกเสียงคำควบกล้ำผิดมากกว่า 2 คำ ให้ 1 คะแนน เมื่อ ออกเสียงคำควบกล้ำผิดไม่เกิน 2 คำ ให้ 2 คะแนน เมื่อ ออกเสียงคำควบกล้ำถูกต้องทุกคำ
3) แบบบันทึกพฤติกรรม (Records form) เป็นแบบสังเกตที่ใช้สำหรับจดบันทึกพฤติกรรมที่สังเกตได้โดยผู้สังเกตจะเขียนข้อความบรรยายพฤติกรรมของนักเรียนที่สังเกตเห็นลงในกระดาษจดบันทึกด้วยตนเองอย่างเป็นระบบตามความเป็นจริง โดยแบ่งส่วนจดบันทึกออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 สำหรับข้อมูลทั่วไป ของนักเรียนที่ถูกสังเกต เช่น ชื่อนามสกุลผู้ถูกสังเกต ชั้นเรียน อายุ สถานที่สังเกต วันเวลาที่สังเกต ส่วนที่ 2 สำหรับจดบันทึกพฤติกรรมที่สังเกตได้ตามความเป็นจริงโดยไม่มีการแปลความหมายหรือไม่สอดแทรกความคิดเห็น ส่วนที 3 สำหรับบันทึกความคิดเห็นหรือข้อมูลอื่น ๆ ที่จะใช้ประกอบการแปลความหมายพฤติกรรม
3. แบบสอบถาม (Questionnaire)
แบบสอบถามเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ประกอบวิธีการสอบถามเพื่อวัดผลการเรียนรู้ด้านจิตพิสัยที่แสดงออกโดยใช้อารมณ์ความรู้สึก เช่น แบบสอบถามวัดเจตคติต่อวิชาคณิตศาสตร์ แบบสอบถามวัดความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรม แบบสอบถามค่านิยมต่อการเรียนกวดวิชา แบ่งตามลักษณะการถามตอบได้ 3 แบบ คือ แบบสอบถามชนิดปลายปิด แบบสอบถามชนิดปลายเปิด แบบสอบถามชนิดผสม
1) แบบสอบถามชนิดปลายปิด (Close ended form) เป็นแบบสอบถามที่มีลักษณะคำถามให้ผู้ตอบแสดงความรู้สึกหรือแสดงความคิดเห็นโดยการเลือกคำตอบจากตัวเลือกที่กำหนดไว้ให้เลือกตอบ
2) แบบสอบถามชนิดปลายเปิด (Open ended form) เป็นแบบสอบถามที่มีลักษณะคำถามให้ผู้ตอบแสดงความรู้สึกหรือแสดงความคิดเห็นด้วยการเขียนข้อความบรรยายด้วยตนเองโดยไม่ได้กำหนดตัวเลือกไว้ให้เลือกตอบ
3) แบบสอบถามชนิดผสม (Mixed form) เป็นแบบสอบถามที่มีลักษณะคำถามผสมกันทั้งแบบชนิดปลายปิด และปลายเปิด คือ มีทั้งส่วนที่ให้ระบุคำตอบโดยเลือกจากตัวเลือกที่กำหนดไว้ให้เลือกตอบและส่วนที่ให้ตอบโดยการเขียนข้อความบรรยายด้วยตนเอง
4. แบบสัมภาษณ์ (Interview form)
แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือสำหรับใช้ประกอบวิธีการสัมภาษณ์เพื่อวัดผลการเรียนรู้ด้านจิตพิสัยที่แสดงออกโดยใช้อารมณ์ความรู้สึกเช่นเดียวกับแบบสอบถาม แต่มักใช้เก็บข้อมูลในกรณีต้องการข้อมูลเชิงลึกหรือกรณีที่ผู้ตอบไม่สามารถอ่านข้อคำถามและเขียนความรู้สึกด้วยตนเอง แบ่งตามลักษณะการถามตอบได้ 2 แบบ คือ แบบสัมภาษณ์ชนิดมีโครงสร้าง กับ แบบสัมภาษณ์ชนิดไม่มีโครงสร้าง
1) แบบสัมภาษณ์ชนิดมีโครงสร้าง (Structured Interview form) เป็นแบบสัมภาษณ์ที่มีการกำหนดคำถามเป็นข้อ ๆ ไว้อย่างชัดเจนก่อนสัมภาษณ์ ผู้ถูกสัมภาษณ์ทุกคนจะถูกถามคำถามเดียวกันตามลำดับข้อคำถามที่ระบุไว้ในแบบสัมภาษณ์
2) แบบสัมภาษณ์ชนิดไม่มีโครงสร้าง (Nonstructured Interview form) เป็นแบบสัมภาษณ์ไม่ได้กำหนดคำถามเป็นข้อ ๆ ไว้อย่างชัดเจน เพียงแค่กำหนดประเด็นคำถามตามวัตถุประสงค์ของการสัมภาษณ์ไว้เป็นแนวทางในการสัมภาษณ์เท่านั้น ผู้สัมภาษณ์ต้องใช้ดุลยพินิจในการถามให้เหมาะสมกับผู้ถูกสัมภาษณ์แต่ละคน
ตัวอย่างการเลือกวิธีการวัดและเครื่องมือวัดผลการเรียนรู้
สรุปได้ว่า
การเลือกวิธีการและเครื่องมือวัดผลการเรียนรู้ต้องเลือกให้สอดคล้องกับพฤติกรรมทางการศึกษาที่ระบุไว้ในจุดประสงค์การเรียนรู้ ถ้าต้องการวัดผลจุดประสงค์การเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยหรือด้านความรู้สามารถวัดได้ด้วยวิธีการทดสอบโดยมีแบบทดสอบเป็นเครื่องมือวัด ถ้าต้องการวัดผลจุดประสงค์การเรียนรู้ด้านทักษะพิสัยซึ่งเป็นพฤติกรรมด้านการปฏิบัติโดยอาศัยการทำงานประสานกันระหว่างกลไกของสมองกับกลไกของกล้ามเนื้อ สามารถวัดได้ด้วยวิธีการสังเกตโดยมีแบบสังเกตเป็นเครื่องมือวัด ถ้าต้องการวัดผลจุดประสงค์การเรียนรู้ด้านจิตพิสัยที่แสดงออกในลักษณะอารมณ์ความรู้สึกสามารถวัดผลได้ด้วยวิธีการสอบถามโดยมีแบบสอบถามเป็นเครื่องมือวัด หรือ อาจวัดด้วยวิธีการสัมภาษณ์โดยมีแบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือวัดตามความเหมาะสม และถ้าต้องการวัดผลจุดประสงค์การเรียนรู้ด้านจิตพิสัยที่แสดงออกในเชิงคุณธรรมจริยธรรม หรือแสดงออกในลักษณะของบุคลิภาพ สามารถวัดได้ด้วยวิธีการสังเกตโดยมีแบบสังเกตเป็นเครื่องมือวัด
หนังสืออ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ.(2551). แนวทางการพัฒนาการวัดและประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ : สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.
เพชราวดี จงประดับเกียรติ.(2560). การพัฒนาเครื่องมือด้านพุทธิพิสัย. กรุงเทพฯ: คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.
_______. (2561). การพัฒนาเครื่องมือวัดทักษะพิสัย. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมิก จำกัด.
วิดิโอประกอบคำอธิบาย
เอกสารประกอบคำอธิบาย