7. การจัดการความเครียดโดยโปรแกรมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มด้วยแนวคิดการพิจารณาเหตุผล

อารมณ์และพฤติกรรม

B นางสาวจินตมัย หอมอาจ

B นางสาวบูรยา แก่นแก้ว

ภาพประกอบกิจกรรมโปรแกรมการให้คำปรึกษา

หลักการและเหตุผล

จากสภาพสังคมในปัจจุบันจะเห็นได้ชัดว่ามีการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ไปอย่างมากมายที่ส่งผล กระทบต่อวัยรุ่นที่กำลังจะเข้ารับการศึกษาต่อในระดับชั้นอุดมศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการสอบแข่งขันเข้าไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เพราะนักเรียนทุกคนก็หวังที่จะศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยหรือคณะที่ตนต้องการเพราะการเลือกมหาวิทยาลัยหรือคณะจะมีความเกี่ยวข้องกับอาชีพในอนาคตซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต อาชีพไหนที่มีแนวโน้มว่าสร้างรายได้ดี มีความมั่นคง และเป็นที่นิยมในยุคสมัยนั้นก็จะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ แต่ด้วยจำนวนคนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีจำนวนมาก ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงต้องมีการจัดสอบแข่งขันเพื่อคัดนักเรียนที่มีความพร้อมที่สุดเท่านั้น ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายส่วนใหญ่เกิดความเครียด ซึ่งมักจะพบเห็นตามข่าวในโทรทัศน์ หรือสังคมออนไลน์เกี่ยวกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เกิดภาวะความเครียดและได้เลือกใช้วิธีการจัดการความเครียดโดยไม่ถูกต้อง เช่น การโพสต์ข้อความประชดประชัน การทำร้ายร่างกายตัวเอง รวมไปถึงการฆ่าตัวตาย เป็นต้น ยกตัวอย่างกรณีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีความเครียดจากปัญหาด้านการเรียน ผู้ปกครองได้ให้การกับตำรวจว่าบุตรหลานได้สอบเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งแต่สอบไม่ติด จึงทำให้รู้สึกเสียใจเลยจบชีวิตโดยการกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย (ลำปางนิวส์, 2561) หรือกรณีนักเรียนหญิง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โพสต์ข้อความประชดตัดพ้อบนเฟซบุ๊คก่อนจะจบชีวิตด้วยการแขวนคอตายในห้องนอน สอบถามจากผู้ปกครองพบว่าน้องมีความเครียดเพราะกลัวสอบมหาวิทยาลัยไม่ติด และกลัวทำให้พ่อแม่ผิดหวังเลยเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น (ประชาชาติธุระกิจ, 2560) และแด็กหญิงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายไม่ยอมไปเรียนหนังสือเนื่องจากเรียนตามเพื่อนไม่ทัน พ่อแม่จึงได้เรียกมาว่ากล่าวตักเตือนทำให้เด็กเกิดความน้อยใจจึงแขวนคอตายเพื่อประชดพ่อและแม่ (ไทยรัฐ, 2561) เป็นต้น จากสภาพปัญหาดังกล่าวจะเห็นได้ชัดว่านักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมีความเครียดเป็นอย่างมาเพราะยังอยู่ในช่วงของวัยรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ช่วงวัยรุ่นจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เนื่องจากเป็นวัยที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านร่างกาย เพศหญิงจะเข้าสู่วัยรุ่นก่อนเพศชาย เริ่มมีรอบเดือน มีหน้าอก สะโพกขยาย และคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายของตนเอง ส่วนเพศชายอัณฑะ จะเจริญเต็มที่เริ่มผลิตอสุจิ (Sperm) กล้ามเนื้อบริเวณไหล่และแขนจะเพิ่มขึ้น เสียงจะแตกห้าวและเกิดฝันเปียก เป็นต้น ด้านสติปัญญาพัฒนาการทางด้านสติปัญญาของวัยรุ่นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความก้าวหน้าใกล้เคียงกับวัยผู้ใหญ่ แต่ต่างกันที่ความสุขุมรอบคอบและประสบการณ์ เข้าในสิ่งที่เป็นนามธรรม สามารถคิดแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ แสวงหาเทคนิคในการจำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง รู้จักการใช้เหตุผลในการตั้งสมมุติฐานแบบวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาที่ประสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ด้านอารมณ์ในวัยรุ่นส่วนใหญ่มักจะแสดงอารมณ์อย่างเปิดเผยและ มีความรู้สึกค่อนข้างรุนแรง มีอารมณ์ที่ไม่แน่นอน มีความคิดที่เป็นของตัวเอง มีทั้งต่อต้านและเลียนแบบผู้ใหญ่ มีความวิตกกังวลสูงในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะด้านรูปร่างหน้าและปัญหาทางด้านการเรียน เป็นต้น และด้านสังคมวัยรุ่นจะเริ่มห่างจากพ่อแม่แต่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน เข้ามาแทนที่ ชอบทำตามเพื่อนแต่ไม่ชอบการบังคับ ต้องการความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มมาก สนใจเพศตรงข้าม มีเหตุผลมากขึ้น มีความจำที่ดี สนใจสิ่งที่ต้องใช้การทดลองหรือการพิสูจน์ สนใจในการเลือกอาชีพในอนาคตของตัวเองและเตรียมตัวประกอบอาชีพ เป็นต้น

จากข่าวตามโทรทัศน์และตามสังคมออนไลน์จะพบว่าปัญหาของวัยรุ่นในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมีความเครียดเรื่องการเรียนเป็นส่วนใหญ่และตามมาด้วยความเครียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและพฤติกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของของเด็กวัยรุ่นในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นอย่างมาก การเข้าใจและการรับฟังที่ดีจะช่วยเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ การนำโปรแกรมการให้การปรึกษาแบบกลุ่มด้วยแนวคิดพิจารณาเหตุผลอารมณ์และพฤติกรรม เข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการจัดการความเครียดของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายให้ไปในทิศทางที่เหมาะสม การให้การปรึกษาแบบกลุ่มครั้งนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการจัดการความเครียดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักวิธีคิดและแก้ไขปัญหาให้ไปในทางที่ถูกต้อง ดังนั้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับวัยรุ่น โดยพิจารณาแล้วเห็นว่ากระบวนที่จะสามารถทำให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าใจถึงปัญหาของความเครียดและได้เรียนรู้วิธีการจัดการความเครียดจึงได้นำเอาวิธีการให้การปรึกษาแบบกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาเหตุผลอารมณ์และพฤติกรรมมาใช้ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้