เนื้อหาจิตวิทยาการแนะแนว

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญในจุดเน้นของการเรียนที่ก่อให้เกิดผลแห่งการเรียนรู้อย่างสูงสุด กล่าวคือ การที่ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มใจ จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงได้รับการฝึกฝนทักษะชีวิต การแสวงหาความรู้ การคิด การจัดการความรู้ การแสดงออกและการสร้างองค์ความรู้ใหม่ โดยมุ่งพัฒนาให้ผู้นักศึกษาเป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข มีศักยภาพในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขทั้งด้านการศึกษาต่อ การประกอบอาชีพ ตลอดจนการครองตนในสังคมได้อย่างเหมาะสม โดยความมุ่งหวังที่จะให้มวลประสบการณ์ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมแบบร่วมแรงร่วมใจ (Cooperative learning) โดยนักศึกษาทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกันได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อเรียนรู้ แบ่งปันความรู้ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดเป็นผลผลิต คือ เอกสารเล่มนี้ซึ่งเกิดจากกระบวนการจัดมวลประสบการณ์ผ่านการศึกษารายวิชา “จิตวิทยาการแนะแนว (Guidance Psychology)” โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษากำหนดเป้าหมายกลุ่ม ร่วมกันประมวลเนื้อหาจากเอกสาร ตำรา ตลอดจนแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยเนื้อหาสาระภายในเอกสารครอบคลุมเกี่ยวกับการแนะแนว อาทิ ความหมาย ความเป็นมา ปรัชญา หลักการและประเภท รวมถึงการบริหารและการจัดการบริการแนะแนวในสถานศึกษา เทคนิคและเครื่องมือเพื่อมุ่งพัฒนาความถนัด ความสามารถและศักยภาพของผู้เรียน รวมถึงคุณสมบัติและจรรยาบรรณของครูแนะแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นฐานทางด้านจิตวิทยา ที่เชื่อมโยงสู่กระบวนการแนะแนว อันประกอบด้วยพัฒนาการมนุษย์ บุคลิกภาพและทฤษฎีบุคลิกภาพ ปัญหาเฉพาะวัยและแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการทั้งด้านการศึกษา อาชีพ สังคม และส่วนตัวของผู้เรียน