บทที่ 9 หนังสืออ้างอิง

ลองนึกดูสิคะว่าหนังสืออ้างอิงประเภทใดที่นักเรียนคุ้นเคยและใช้บ่อยที่สุด หลายคนจะนึกถึงหนังสือพจนานุกรม เมื่อเวลาต้องการหาความหมายของคำ หรือ หนังสือสารานุกรม เมื่อต้องการความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ใช่ไหมคะ แต่ความจริงหนังสืออ้างอิงมีอีกหลายชนิด เช่นหนังสือรายปี,หนังสือนามานุกรม, หนังสือหายากที่มีคุณค่า เป็นต้น คราวนี้มาลองศึกษาดูสิคะแล้วนักเรียน จะรู้จักหนังสืออ้างอิงมากขึ้น

หนังสืออ้างอิง (Reference books) คือ หนังสือที่ใช้ค้นคว้า อ่านประกอบ หรือ อ้างอิงเรื่องราว เพียงตอนใดตอนหนึ่งในเล่มเท่านั้น ไม่ ใช่หนังสือที่ต้องอ่านทั้งเล่ม มีการเรียงลำดับเนื้อหาตามแบบพจนานุกรม ตามลักษณะ ภูมิศาสตร์ หรือ เรียงตามลำดับอักษรเฉพาะประเภท เช่น หนังสือพจนานุกรมไทย หรือหนังสือสารานุกรมไทยฯ ฉบับเยาวชน ซึ่งบางเล่ม จะมีดรรชนี ช่วยค้นอยู่ท้ายเล่มทำให้สะดวกในการค้นคว้า

การจัดเก็บหนังสืออ้างอิง

ห้องสมุดจะจัดแยกหนังสืออ้างอิงไว้ต่างหากจากหนังสือทั่วไป ไม่อนุญาตให้ยืมออกจากห้องสมุด นอกจากนั้น ที่สันของหนังสืออ้างอิง เลขเรียกหนังสือจะมีอักษร “ อ ” หรือ “ R ”อยู่ เหนือเลขหมู่

ตัวอย่าง หนังสืออ้างอิง ใช้สัญญลักษณ์ อ. แทน หนังสืออ้างอิงภาษาไทย

หรือ ใช้สัญญลักษณ์ R. แทน Referenceภาษาต่างประเทศ

ลขหมู่หนังสือ 423.1

ผู้แต่งคือ ชาญ ชินวรกิจกุล ใช้อักษรย่อ ช

หนังสือเรื่อง พจนานุกรมวลีและสำนวนอังกฤษ ใช้อักษรย่อ พ

423.1

ช-พ

ประโยชน์ของหนังสืออ้างอิง

1. ใช้ในการค้นคว้าหาคำตอบ

2. ช่วยการศึกษาค้นคว้าให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะมีการจัดเรียงเนื้อหาอย่างเป็นระบบ

3. ทำให้เห็นประโยชน์และคุณค่าของ การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง

4. ช่วยฝึกนิสัยและจูงใจให้ผู้เรียน รักการศึกษาค้นคว้า รู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนค้นพบ

5. ช่วยให้ผู้ใช้บริการห้องสมุดรู้ถึงคุณประโยชน์ และ ความสำคัญของการศึกษาค้นคว้า

ลักษณะของหนังสืออ้างอิง

1.มีวิธีการเรียบเรียงเนื้อหาที่เป็นระบบระเบียบ สะดวกในการค้นหาเรื่องที่ต้องการ

2.มีวิธีการเขียนที่กระชับ จบในตัวเองทุกเรื่อง ผู้ใช้สามารถเลือกอ่านเฉพาะเรื่องที่ต้องการ

3.เป็นหนังสือที่รวบรวมความรู้หลายประเภทไว้ด้วยกัน ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และข้อเท็จจริงแก่ผู้ใช้

4.เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ อย่างกว้าง ๆ นับเป็นแหล่งความรู้พื้นฐานหรือแหล่งเริ่มต้นของการศึกษาค้นคว้า

5.มักจะมีขนาดใหญ่ หรือหนากว่าหนังสือทั่วไป หรือเป็นชุดมีหลายเล่มจบ

6.เป็นหนังสือที่หายาก ราคาแพง หรือเป็นหนังสือภาพสำคัญ ๆ ที่หายาก หรือตีพิมพ์ ด้วยระบบการพิมพ์ที่มีคุณภาพสูงเป็นพิเศษ

7.ห้องสมุดจัดไว้เป็นหนังสือประเภทที่ไม่ให้ยืมออกจากห้องสมุด และมีสัญลักษณ์ คือ ตัว อ. หรือ R หรือ Ref. กำกับไว้เหนือเลขหมู่หนังสือ

ประเภทของหนังสืออ้างอิง

แบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1.หนังสืออ้างอิงประเภทที่ให้สารสนเทศที่ต้องการโดยตรง

2.หนังสืออ้างอิงประเภทที่บอกให้ทราบว่าจะหาสารสนเทศที่ต้องการได้จากแหล่งใด

3.หนังสือธรรมดาที่จัดเป็นหนังสืออ้างอิง (Borderline Book)

1. หนังสืออ้างอิงประเภทที่ให้สารสนเทศที่ต้องการโดยตรง

คือเมื่อผู้ใช้อ่านหนังสืออ้างอิงประเภทนี้ก็จะได้สารสนเทศที่ต้องการโดยตรงทันที

แบ่งออกเป็นประเภทย่อย ๆ ได้อีก ที่ควรรู้จักได้แก่

1.1. พจนานุกรม (Dictionaries)

1.2. สารานุกรม (Encyclopedias)

1.3. หนังสือรายปี (Yearbook)

1.4. อักขรานุกรมชีวประวัติ (Biographical Dictionaries)

1.5. นามานุกรม (Directory)

1.6. หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์ (Geographical Sources)

1.7. หนังสือคู่มือ (Handbook)

1.8. สิ่งพิมพ์รัฐบาล (Government Publication)


2. หนังสืออ้างอิงประเภทที่บอกให้ทราบว่าจะหาสารสนเทศที่ต้องการได้จากแหล่งใด

หนังสืออ้างอิงประเภทนี้จะไม่ให้สารสนเทศที่ผู้ใช้ต้องการโดยตรง แต่จะบอกแหล่งสารสนเทศที่ผู้ใช้ต้องการ เช่นบอกว่าอยู่ในหนังสือหรือวารสารอะไร ฉบับใด หนังสืออ้างอิงประเภทนี้ ได้แก่

2.1 หนังสือบรรณานุกรม เป็นหนังสือที่รวบรวมรายชื่อหนังสือที่มีเนื้อหาเดียวกันไว้แต่มีผู้แต่งหลายคนใช้ค้นหา รายชื่อหนังสือเกี่ยวกับหัวเรื่องใด หัวเรื่องหนึ่ง เช่น รายชื่อหนังสือที่ดี หรือรายชื่อหนังสือที่ผู้แต่ง คนใดคนหนึ่งแต่ง

2.2 หนังสือดรรชนีวารสาร เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความจากหนังสือวารสารต่างๆ อาจเป็นวารสารของไทยหรือต่างประเทศ ใช้ค้นหาเกี่ยวกับบทความที่ต้องการจากวารสาร

3. หนังสือธรรมดาที่จัดเป็นหนังสืออ้างอิง (Borderline Book)

คือ หนังสือวิชาการทั่วไปที่มีคุณค่าและเนื้อหาเหมาะที่จะทำเป็นหนังสืออ้างอิงของไทยมีอยู่ หลายเล่ม เช่น สาส์นสมเด็จ,ประชุมพงศาวดาร ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ,พระราชประวัติ และราชกิจจานุเบกษา เป็นต้น ราชกิจจานุเบกษา เป็นหนังสือรวบรวมคำประกาศของทางราชการเริ่มจัดพิมพ์ขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ปัจจุบันสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบจัดพิมพ์และเผยแพร่ ใช้ค้นหาเกี่ยวกับ พ.ร.บ. กฎกระทรวง กฎหมาย และประกาศต่างๆ

วิธีการทั่วไปในการใช้หนังสืออ้างอิง

1. พจนานุกรม (Dictionaries) ใช้ค้นหาเกี่ยวกับ ความหมายของคำ ชนิดของคำ การออกเสียง ตัวสะกด ประวัติคำ คำตรงข้าม และ วิธีใช้คำ

2. สารานุกรม(Encyclopedias) ใช้ค้นหาเกี่ยวกับ เรื่องราว บทความที่ให้ความรู้ทั่วไปอย่างกว้าง ๆ

3. หนังสือรายปี(Yearbook) ใช้ค้นหา เรื่องราวในรอบปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ปัจจุบันที่สำคัญ ๆ และสถิติต่างๆ

4. อักขรานุกรมชีวประวัติ(Biographical Dictionaries) ใช้ค้นหาเกี่ยวกับ ชีวประวัติของบุคคล สำคัญต่างๆ

5. นามานุกรม(Directory)ใช้ค้นหา ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ที่จะติดต่อกับบุคคลหรือหน่วยงานรวมทั้ง วัตถุประสงค์ และการดำเนิน งานของหน่วยงานนั้น ๆ

6. หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์ (Geographical Sources) (อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ หนังสือแผนที่หนังสือนำเที่ยว) ใช้ค้นหา รายละเอียด เช่น ลักษณะที่ตั้ง ขนาด ของชื่อทางภูมิศาสตร์ เช่น ภูเขา ทะเล เกาะ เมือง ฯลฯ

7. หนังสือคู่มือ (Handbook)ให้ความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้อย่างสั้น กะทัดรัด และสามารถใช้ตอบคำถามง่ายๆ ได้ โดย

จัดเรียงชื่อของเนื้อเรื่องภายในเล่มตามลำดับอักษร ใช้ค้นหาเกี่ยวกับ ข้อเท็จจริง ตัวเลข สถิติสูตร ฯลฯ เช่นหนังสือปฏิทิน 100 ปี, สิ่งแรกในประเทศไทย เป็นต้น

8. สิ่งพิมพ์รัฐบาล(Government Publication)สิ่งพิมพ์ที่หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจรับผิดชอบในการผลิต ผลิตขึ้นเพื่อเผยแพร่สารสนเทศ ผลงานของหน่วยงาน หรือความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ใช้ค้นหาเกี่ยวกับ เรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับหน่วยราชการหน่วยนั้น ๆ

กลับหน้าแรก