บทที่ 10 การใช้พจนานุกรมและสารานุกรม

หนังสืออ้างอิงที่นักเรียนมักจะใช้บ่อยๆ น่าจะได้แก่ หนังสือพจนานุกรม, ปทานุกรมและสารานุกรม เป็นหนังสือที่มุ่งให้ความรู้ และข้อเท็จจริง สำหรับใช้ค้นคว้าอ้างอิงหนังสือพจนานุกรม และปทานุกรมเป็นเครื่องมือสำหรับค้นความหมายของคำ การเขียนคำและอ่านให้ถูกต้อง ส่วนสารานุกรมเป็นเครื่องมือสำหรับค้นคว้าความรู้พื้นฐานในสาขาวิชาต่าง ๆโดยสังเขป การฝึกหัดใช้หนังสือเหล่านี้ให้ชำนาญ จะช่วยให้การศึกษาค้นคว้าของนักเรียนเป็นไปอย่างรวดเร็ว เมื่อต้องการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงบางประการ ลองมาศึกษาวิธีใช้หนังสือเหล่านี้กันเถอะค่ะ

พจนานุกรมภาษาเดียว

พจนานุกรม 2 ภาษา

New Model Thai – English Dictionary
โดย So Sethaputra

New Model Thai – English Dictionary
โดย So Sethaputra

พจนานุกรมที่ควรรู้จัก
-
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 โดยราชบัณฑิตยสถาน
- พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 โดยราชบัณฑิตยสถาน

-พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 โดยราชบัณฑิตยสถาน
- New Model Thai – English Dictionary โดยSo Sethaputra
- New Model English – Thai Dictionary โดย So Sethaputra

วิธีใช้พจนานุกรมภาษาไทย

1. พิจารณาคำที่ต้องการค้นคว้าเป็นประเภทใดคือ เป็นคำทางภาษาหรือคำทางวิชาการ

2. เลือกประเภทของพจนานุกรมให้สอดคล้องกับประเภทของคำที่ค้น เช่น พจนานุกรมทางภาษา หรือพจนานุกรมทางวิชาการ

3. อ่านคำแนะนำวิธีใช้พจนานุกรมนั้น ซึ่งจะอยู่ในส่วนต้นของเล่ม

4. ใช้เครื่องมือช่วยค้นเพื่อหาคำที่ต้องการ เช่น ดรรชนีข้างเล่ม และคำกำกับหน้า

การเรียงลำดับตัวอักษรแบบพจนานุกรม

1. เริ่มที่ ตัวพยัญชนะลำดับไว้ตามตัวอักษร

2. พิจารณาสระเป็นลำดับที่ 2 โดยสระจะไม่ได้ลำดับไว้ตามเสียง แต่ลำดับไว้ตามรูป

3. การเรียงลำดับคำ พิจารณาจากพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ ตามลำดับ

การเรียงลำดับตัวอักษรแบบพจนานุกรม

1. ตัวพยัญชนะลำดับไว้ตามตัวอักษร คือ ก ข ฃ ค ฯลฯ จนถึง อ ฮ ไม่ได้ลำดับตามเสียง

เช่น จะค้นคำ ทราบ ต้องไปหาในหมวดตัว ท

จะค้นคำ เหมา ต้องไปหาในหมวดตัว ห ส่วน ฤ ฤๅ ลำดับไว้หลังตัว ร และ ฦ ฦๅ ลำดับไว้หลังตัว ล

2. สระไม่ได้ลำดับไว้ตามเสียง แต่ลำดับไว้ตามรูปดังนี้ ะ ั า ิ ี ึ ื ุ ู เ แ โ ใ ไ

รูปสระที่ประสมกันหลายรูปจะจัดเรียงตามลำดับรูปสระที่อยู่ก่อนและหลังตามลำดับข้างต้นดังได้ลำดับให้ดูต่อไปนี้

1. ะ

2. ั (อัว)

3. ั ะ (อัวะ)

4. า

5. ำ

6. ิ

7. ี

8. ึ

9. ื

10. ุ

11. ู

12. เ

13. เ ะ (เอะ)

14. เ า (อา)

15. เ าะ (เอาะ)

16. เ ิ(เอิน)

17. เ ี (เอีย)

18. เ ีะ (เอียะ)

19. เ ื (เอือ)

20. เ ื ะ (เอือะ)

21. แ

22. แ ะ (แอะ)

23. โ

24. โ ะ (โอะ)

25. ใ

26. ไ

สำหรับตัว ย ว อ นับลำดับอยู่ในพยัญชนะเสมอ

การเรียงลำดับคำ

  • คำที่อยู่ในหมวดอักษรเดียวกันจะเรียงลำดับตามรูปพยัญชนะตัวถัดไปของคำเช่น งม มาก่อน งวด เพราะ ม มาก่อน ว

  • คำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะและตามด้วยพยัญชนะมาก่อนคำที่ขึ้นต้นด้วย พยัญชนะและตามด้วยสระเช่น ลง มาก่อน โล่ง

  • พยัญชนะที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์มาก่อนคำที่มีรูปวรรณยุกต์ เช่น นา มาก่อน น้า ปา มาก่อน ป้า

  • คำที่มี ็ (ไม้ไต่คู้) จะลำดับอยู่ก่อนวรรณยุกต์ เช่น เก็ง เก่ง เก้ง เก๋ง

การใช้อักษรย่อ บัญชีอักษรย่อและคำย่อที่ใช้ในพจนานุกรมไทย

  • ·อักษรย่อในวงเล็บท้ายบทนิยาม (นิยามหมายถึงคำแปลหรือความหมายของคำศัพท์) บอกที่มาของคำ เช่น

ข. = เขมร ต. = ตะเลง ล. = ละติน

จ. = จีน บ. = เบงกาลี ส. = สันสกฤต

ป = บาลี อ. = อังกฤษ

ตัวอย่าง ไถง [ถะไหฺง] น. ตะวัน (ข.) (ข.) มีที่มาจากภาษาเขมร

  • อักษรย่อหน้าบทนิยาม บอกชนิดของคำตามหลักไวยากรณ์ เช่น

ก. = กริยา ว. = วิเศษณ์ (คุณศัพท์หรือกริยาวิเศษณ์)

น. = นาม ส. = สรรพนาม

นิ. = นิบาต สัน. = สันธาน

บ. = บุรพบท อ. = อุทาน

ตัวอย่าง กบี่ น. ลิง น. เป็นคำนาม

  • อักษรย่อชื่อวิทยาศาสตร์ของชื่อสกุล มีหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ :- ชื่อสกุลที่เขียนด้วยอักษรย่อ หมายถึง ชื่อสกุลเดียวกับชื่อสกุลที่เขียนเต็มซึ่งกล่าวไว้ข้างหน้าโดยไม่มีชื่อสกุลอื่นมาคั่น

เช่น Caranx sexfasciatus, C. melampygus, Carangoides gymnostethus, C. fulvoguttatus ในที่นี้ C. melampygus หมายถึง Caranx melampygus และ C. fulvoguttatus หมายถึง Carangoides fulvoguttatus

  • คำย่อในวงเล็บหน้าบทนิยาม บอกลักษณะของคำที่ใช้เฉพาะแห่ง เช่น

(กฎ) คือ คำที่ใช้ในกฎหมาย (การศึกษา) คือ คำที่ใช้ในวงการศึกษา

(เคมี) คือ คำที่ใช้ในเคมี (ถิ่น) คือ คำที่เป็นภาษาเฉพาะถิ่น

(โบ) คือ คำโบราณ (ดารา) คือ คำที่ใช้ในดาราศาสตร์

ปทานุกรม

ปทานุกรมเป็นหนังสือสำหรับค้นคว้าหาความหมายของคำที่เรียบเรียงตามลำดับบทเป็นเรื่องๆ ไป ให้ความรู้เกี่ยวกับคำ และถ้อยคำที่ใช้ในภาษาและคำที่ใช้กันมากในชีวิตประจำวัน อธิบายคำศัพท์ในวงแคบและมีจำนวนจำกัดมักจะเรียกว่า ปทานุกรม คำว่าปทานุกรมและพจนานุกรมอาจใช้สลับกันได้เช่น หนังสือปทานุกรมสำนวน สุภาษิต, ปทานุกรมศัพท์วิทยาศาสตร์ ฯลฯ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 dictionary.orst.go.th/

ปทานุกรมศัพท์เฉพาะ

ปทานุกรมอักษรย่อ

สารานุกรม Encyclopedia

สารานุกรม หรือ Encyclopedia คือหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวต่างๆ ทุกหัวข้อวิชาและทุกแขนงโดยให้ความรู้ที่เป็นพื้นฐานกว้าง ๆ เขียนโดยผู้ชำนาญในแต่ละสาขาวิชานั้น ๆ การเรียงลำดับเนื้อเรื่องอาจเรียงลำดับตามตัวอักษรหรือหมวดหมู่ มีดรรชนีค้นเรื่องอย่างละเอียด

ประโยชน์ของสารานุกรม สารานุกรมจะให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ในทุกแขนงวิชา ให้คำอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ไว้อย่างละเอียดทั้งในเชิงประวัติความเป็นมา วิวัฒนาการตลอดจนความรู้ทั่วไป โดยเป็นความรู้ที่ทันสมัยเพราะมีการปรับปรุงเนื้อหาทุกปี ซึ่งเขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้น ๆ เหมาะที่จะทำการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง

วิธีใช้สารานุกรม

1) พิจารณาดูว่าเรื่องที่ต้องการเป็นความรู้พื้นฐาน หรือความรู้เป็นเรื่องเฉพาะวิชา

2) เลือกใช้สารานุกรมให้ถูกกับเรื่องที่ต้องการ

3) เปิดดูดรรชนีเพื่อดูเรื่องที่ต้องการค้นหาว่าอยู่ในเล่มใด หน้าเท่าไร

4) ดูอักษรนำเล่ม หรือคำแนะที่สันหนังสือ เพื่อดูว่าเรื่องที่ต้องการอยู่เล่มใด

5) ก่อนใช้สารานุกรมแต่ละชุดควรอ่านวิธีใช้เป็นลำดับแรก แล้วจึงค้นหาเรื่องที่ต้องการ

Encyclopedia เป็นสารานุกรมของประเทศอังกฤษ

เว็บไซต์สารานุกรมประเทศอังกฤษ www.britannica.com/

ประเภทของสารานุกรม มีดังนี้

  1. สารานุกรมทั่วไป จัดทำขึ้นเพื่อให้ใช้ค้นคว้าอ้างอิงได้อย่างกว้างขวางทุกแขนงวิชา

เช่น สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน

  1. สารานุกรมเฉพาะวิชา จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องราวและรายละเอียดเกี่ยวกับแขนง

วิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น สารานุกรมวิทยาศาสตร์

สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน

http://www.thaiheritage.net/nation/dictionary/dict0.htm

สารานุกรมวิทยาศาสตร์

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลย เดชมหาราช บรมนาถบพิตร

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฉบับเสริมการเรียนรู้

( ปัจจุบันสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน มีถึงเล่มที่ 42 โดยมีเนื้อหาบางส่วนเผยแพร่ในระบบออนไลน์และใน E-Book ของโรงเรียน )
ที่มา
มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. (ม.ป.ป) ความเป็นมาโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน.
สืบค้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564, จาก https://www.saranukromthai.or.th/index2.php