บทที่ 15 ส่วนประกอบของรายงาน

การเขียนรายงาน หลังจากได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักเรียน เพื่อแสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความรู้ความเข้าใจ เรื่องที่ได้ศึกษาค้นคว้ามาเป็นอย่างดี การเขียนรายงานเพื่อให้อ่านและเข้าใจง่ายนั้นจะต้องมีการนำเสนออย่างเป็นขั้นตอนและมีรูปแบบที่ถูกต้อง รายงานจึงหมายถึง เรื่องที่เขียนมาจากการศึกษาค้นคว้ามาเป็นอย่างดี และเรียบเรียงอย่างมีระเบียบแบบแผน ตามรูปแบบหรือตามหัวข้อที่กำหนดไว้ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องที่ได้ศึกษาดียิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์ของการเขียนรายงาน

การเขียนรายงานมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียน มีความรู้ ความสามารถ และทักษะด้านต่างๆ ดังนี้

  1. เพื่อให้รู้จักวิธีการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง

  2. เพื่อฝึกทักษะด้านการอ่านและสร้างนิสัยรักการอ่านและการค้นคว้า

  3. เพื่อส่งเสริมให้มีความคิดริเริ่ม และนำความคิด มาเรียบเรียงให้เป็นระเบียบได้

  4. เพื่อให้สามารถวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ และแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลโดยมีหลักฐานอ้างอิง

  5. เพื่อฝึกทักษะด้านการเขียน อย่างมีระเบียบด้วยสำนวนภาษาที่ถูกต้อง

  6. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลว่าผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในปัญหาที่ได้ศึกษามามากน้อยเพียงใด

ลักษณะของรายงานที่ดี

รายงานที่ดีต้องแสดงให้เห็นว่าผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง เนื้อเรื่องถูกต้อง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่อง
มีแนวทางที่ใช้ในการแก้ไขปัญหา จัดเรียงลำดับของเนื้อหาอย่างต่อเนื่องสัมพันธ์กันใช้ภาษาเขียนได้อย่างสร้างสรรค์ถูกต้องตามหลักสากล และมีหลักฐานอ้างอิง

ส่วนประกอบของรายงาน

รายงานแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนประกอบตอนต้น ส่วนเนื้อหา และส่วนประกอบตอนท้าย

1.ส่วนประกอบต้น

1.1 ปกนอก ควรมีรายละเอียดต่าง ๆ ครบถ้วน เป็นต้นว่า ชื่อเรื่อง ชื่อผู้เขียนรายงาน ชื่ออาจารย์ผู้สอน ชื่อวิชาชื่อสถาบัน ภาคการศึกษา และปีการศึกษา

1.2 ใบรองปก เป็นกระดาษเปล่า 1 แผ่นที่คั่นอยู่ระหว่างปกนอกและปกใน

1.3 ปกใน จะต้องมีรายละเอียดเหมือนกับปกนอกทุกประการ

1.4 คำนำ เป็นการกล่าวถึงเนื้อหาโดยสรุปของรายงาน การเขียนคำนำ เป็นการกล่าวถึงเนื้อหาโดยสรุปของรายงาน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจภาพรวมของรายงานในเบื้องต้น

คำนำที่ดีไม่ควรจะออกตัวหรือแก้ตัว เช่น “ผู้เขียนไม่สันทัดหัวข้อรายงานเรื่องนี้” “ผู้เขียนมีข้อจำกัดต่าง ๆ ในการทำรายงานเรื่องนี้” หรือ “ผิดพลาดประการใดขออภัยมา ณ ที่นี้” เป็นต้น

1.5 สารบัญ เป็นการเรียงลำดับหัวข้อที่ปรากฏในรายงาน และมีการบอกเลขหน้ากำกับ

2. ส่วนเนื้อหา

2.1 บทนำ เป็นส่วนที่กล่าวถึงหัวข้อของรายงาน เหตุผลและวัตถุประสงค์ในการทำรายงาน ตลอดจนการกำหนดขอบเขตของเรื่องที่เขียน และวิธีการศึกษาค้นคว้า

2.2 เนื้อหา เป็นส่วนสำคัญที่สุดของรายงาน เนื่องจากเป็นการให้รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับหัวข้อที่ศึกษา หากเป็นรายงานที่มีขนาดยาวควรแบ่งเนื้อหาออกเป็น

บทย่อย ๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย นอกจากเนื้อหาก็อาจมีเชิงอรรถเป็นส่วนประกอบด้วย

2.3 สรุป เป็นการสรุปผลการศึกษาค้นคว้า และอาจมีการอภิปรายหรือเพิ่มเติม ข้อเสนอแนะในการศึกษาเรื่องนั้น ๆ ต่อไป

3. ส่วนประกอบตอนท้าย

3.1 บรรณานุกรม หมายถึง รายการของทรัพยากรสารนิเทศทั้งหมดที่ใช้ประกอบการเขียนรายงาน และนำมาอ้างอิงไว้ท้ายเล่มรายงาน

3.2 ภาคผนวก หมายถึง เนื้อหาหรือข้อมูลที่ไม่ได้เป็นเนื้อหาของรายงานโดยตรงแต่เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อ เรื่องที่ศึกษา ซึ่งผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน

กลับหน้าแรก