บทที่ 1 แหล่งเรียนรู้

แหล่งการเรียนรู้ หมายถึงแหล่งที่ให้ข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ แหล่งวิทยาการที่สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้สามารถที่จะเรียนรู้ได้ตามอัธยาศัย ทั้งยังช่วยเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านและการศึกษาค้นคว้า ซึ่งแหล่งเรียนรู้อาจเป็นได้ทั้งสิ่งที่เป็นธรรมชาติหรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นได้ทั้งบุคคล สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต

ประเภทของแหล่งเรียนรู้

แบ่งตามลักษณะการให้บริการสารสนเทศได้ 4 ประเภท ดังนี้

1. แหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียน

2. แหล่งการเรียนรู้นอกโรงเรียน และในวิถีชีวิต

3. แหล่งการเรียนรู้ที่เป็นบุคคล

4. แหล่งการเรียนรู้ที่เป็นเหตุการณ์หรือกิจกรรม

1. แหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียน

เป็นแหล่งที่มีข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ซึ่งอยู่ภายในโรงเรียนอาจเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ หรืออาจเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มนุษย์สร้างขึ้นได้แก่ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดDigital ห้อง Resource Center ห้องปฏิบัติการ ห้องจริยธรรมศูนย์พัฒนาการสอนวิชาต่างๆ ศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง ฯลฯ

วิธีการใช้บริการแหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียน

  1. รู้จักใช้เครื่องช่วยค้นที่มีอยู่ในแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียน เช่นในห้องสมุดจะมีตู้บัตรรายการ หรือ โปรแกรมช่วยค้น เป็นต้น

  2. ปฏิบัติตามระเบียบและมารยาทการเข้าใช้บริการแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน เช่นก่อนเข้าใช้ห้องจริยธรรมจะต้องถอดรองเท้าวางให้เรียบร้อยก่อนเข้าใช้ห้อง เป็นต้น

  3. มีทักษะในการอ่าน การสังเกต การจดบันทึก

2. แหล่งการเรียนรู้นอกโรงเรียน และในวิถีชีวิต

อาจเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ได้แก่ แม่น้ำ ภูเขา ป่าไม้ ลำธาร กรวด หิน ทราย ชายทะเลหรืออาจเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มนุษย์สร้างขึ้นได้แก่ โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดประชาชน สถาบันการศึกษา สวนสาธารณะ ตลาด บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย สถานประกอบการ เป็นต้น

วิธีการใช้บริการแหล่งการเรียนรู้นอกโรงเรียน

  1. ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องก่อนเดินทางไปยังแหล่งเรียนรู้นั้นๆ

  2. ปฏิบัติตามระเบียบและมารยาทการเข้าใช้

  3. การอ่าน การสัมภาษณ์ การสังเกต การจดบันทึกและ การฟัง

3. แหล่งการเรียนรู้ที่เป็นบุคคล

ประกอบด้วยบุคคลทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขาวิชาชีพ มีทักษะความชำนาญ ในแต่ละสาขาวิชาชีพ บุคคลเหล่านี้สามารถในให้ความรู้แก่นักเรียนได้ เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน, ผู้นำทางศาสนาในท้องถิ่น,บุคลากรในสถานศึกษา,ผู้บริหาร ครู นักการภารโรง เป็นต้น

วิธีการใช้บริการแหล่งการเรียนรู้ที่เป็นบุคคล

  1. นัดหมายกำหนดวัน เวลา สถานที่

  2. การเตรียมคำสัมภาษณ์ ไว้ล่วงหน้า

  3. มีมารยาทในการพูดสนทนาและใช้คำถาม

  4. การฟัง การสังเกต การจดบันทึก

ที่มาของภาพ https://www.thansettakij.com/content/219171

4. แหล่งการเรียนรู้ที่เป็นเหตุการณ์หรือกิจกรรม

เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนได้แก่ งานสัปดาห์ห้องสมุด สัปดาห์วิทยาศาสตร์ กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา กิจกรรมวันสำคัญของทางราชการ กิจกรรมตามประเพณี ขนบธรรมเนียมประเพณีพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน วรรณกรรมท้องถิ่น ศิลปะ- ดนตรีพื้นบ้าน วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ฯลฯ

วิธีการใช้บริการแหล่งการเรียนรู้ที่เป็นเหตุการณ์หรือกิจกรรม

  1. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ เนื้อหา เพื่อไปร่วมปฏิบัติกิจกรรมได้ถูกต้อง ตรงตามวัน เวลา สถานที่และวิธีการ

  2. การสังเกต การฟัง การจดบันทึก

ที่มาของภาพ https://www.dplusguide.com/2018/interesting-exhibition-in-national-book-fair-2018/

แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนที่สำคัญที่สุด คือ ห้องสมุด ( Library )

ห้องสมุด หมายถึง แหล่งรวบรวมวัสดุสารสนเทศเพื่อการศึกษาและค้นคว้าโดยมีการคัดเลือกและจัดหามาไว้ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้โดยมีการวิเคราะห์หมวดหมู่ สร้างเครื่องช่วยค้นตามระบบสากล เมื่อต้องการสืบค้น ( Searching ) ก็สามารถทำได้โดยสะดวก มีการเผยแพร่แนะนำให้ผู้ใช้ได้ทราบเพื่อช่วยให้ได้เลือกใช้วัสดุแต่ละชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สารสนเทศ หรือ สารนิเทศ (Information) หมายถึง ข้อเท็จจริง ข้อมูล ข่าว เรื่องราวความรู้ทั่วไป ความรู้ทางวิชาการ ของนักวิชาการ ที่แสดงออกโดยการบันทึกไว้ทั้งในรูปวัสดุตีพิมพ์ และวัสดุไม่ตีพิมพ์ ประโยชน์ของสารสนเทศช่วยพัฒนาสติปัญญาบุคลิกภาพ การประกอบอาชีพ การตัดสินใจ พัฒนาการศึกษา พัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ

ความสำคัญของห้องสมุด

1. เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ข่าวสาร ที่สามารถค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมได้ตลอดเวลา

2. เป็นแหล่งหาความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ได้อย่างหลากหลาย ตามความสนใจ

3. ช่วยให้นักเรียนเป็นผู้ที่ทันสมัยทันต่อเหตุการณ์

4. ช่วยให้นักเรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เกิดนิสัยรักการอ่าน และการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง อันเป็นรากฐาน ในการค้นคว้าวิจัยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ

5. ช่วยปลูกฝังให้นักเรียนเป็นพลเมืองดี เป็นนักประชาธิปไตย มีจรรยาบรรณรู้จักปฏิบัติตนตามกฎเกณฑ์ของสังคม


องค์ประกอบของห้องสมุด

วัตถุประสงค์ทั่วไปของห้องสมุด

1. เพื่อการศึกษา (Education) เป็นการพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้ การศึกษาด้วยตนเองจากห้องสมุดทำให้มีความรอบรู้ สามารถตัดสินปัญหาต่าง ๆ ได้และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมต่อไป

2. เพื่อความรู้หรือสารนิเทศ (Information) ห้องสมุดเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ และจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานประกอบการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ

3. เพื่อการค้นคว้าวิจัย (Research) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความก้าวหน้าทางวิชาการ ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ ห้องสมุดเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่เป็นพื้นฐานในการค้นคว้าวิจัย

4. เพื่อความจรรโลงใจ (Inspiration) หรือความสุขทางใจ เป็นแรงบันดาลใจในทางสร้างสรรค์ ปรารถนาที่จะกระทำความดีที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

5. เพื่อนันทนาการ (Recreation) หรือพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ที่ต้องการพักผ่อนสมอง ผ่อนคลายความตึงเครียด เกิดความเพลิดเพลินใจ สบายใจ

ประเภทของห้องสมุด

ห้องสมุดแบ่งออกเป็น 5 ประเภทคือ

1. ห้องสมุดโรงเรียน (School Library)

เป็นห้องสมุดในสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาห้องสมุดโรงเรียนจะมีหนังสือ สิ่งพิมพ์อื่น ๆ ทุกสาขาวิชาเพื่อให้บริการแก่ครู นักเรียนค้นคว้าประกอบการเรียนการสอนวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรเป็นหลักสูตรที่เริ่มให้รักการอ่านหนังสือให้เกิดขึ้นแก่เด็ก เพื่อเป็นการปูพื้นฐานไปสู่การใช้ห้องสมุดอื่น ๆ

ภาพโดย นางโศรยา จิรสารสวัสดิ์

2. ห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย (College and University)

เป็นห้องสมุดในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาซึ่งรวบรวมเอกสาร สิ่งพิมพ์ต่าง ๆโสตทัศนวัสดุ ให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่เปิดสอน ในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยเพื่อให้นิสิต นักศึกษา อาจารย์และ เจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษานั้น ๆ ในการศึกษาตามวัตถุประสงค์ ของสถาบันนั้น ๆ

ที่มา : http://www.pen1.biz/newwww/index.php/th/news-2/179-ku/144-ku

3. ห้องสมุดประชาชน (Public Library)

เป็นห้องสมุดที่ตั้งอยู่ในชุมชนเป็นของประชาชนมีสิทธิเข้าไปใช้บริการ ได้อย่างอิสระโดยไม่จำกัดวัยหรือระดับการศึกษาเป็นห้องสมุดที่ต้องการให้ประชาชนยกระดับการดำรงชีวิตประจำวันให้ดีขึ้นและรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในอันที่จะส่งเสริมความผาสุกส่วนตัวและสังคม

ที่มา : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=sasiseesom&month=25-09-2010&group=17&gblog=34

4. ห้องสมุดเฉพาะ (Special Library)

เป็นห้องสมุดที่ตั้งอยู่ตามหน่วยราชการ โรงงานสมาคม บริษัท เป็นต้น ห้องสมุดประเภทนี้จะมีหนังสือเฉพาะวิชาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ของหน่วยงานนั้น ๆ และมักจะให้บริการแก่เจ้าพนักงาน หรือคนงาน ของหน่วยงาน เช่น ห้องสมุดธนาคาร ห้องสมุดโรงพยาบาล ฯลฯ

ที่มา : http://www.libraryhub.in.th/2009/06/05/suggest-for-training-in-special-library/

5. หอสมุดแห่งชาติ (National Library)

เป็นห้องสมุดที่มีขนาดใหญ่ รวบรวมสิ่งตีพิมพ์ต่าง ๆ ที่จัดพิมพ์ในประเทศต้นฉบับตัวเขียน ศิลาจารึกต่างๆ ตลอดจนวัสดุ และเป็นตัวแทนของประเทศ ในด้านรวบรวมรักษามรดกของชาติ ในด้านสิ่งพิมพ์เก็บไว้ในรูปของโสตทัศนวัสดุต่าง ๆ ด้วย เช่น ไมโครฟิล์มเพื่อการศึกษาค้นคว้า วิจัยหอสมุดแห่งชาติเปิดให้ประชาชน เข้าอ่านหนังสือและค้นคว้าวิชาการได้ภายในห้องสมุดประเภทต่างๆ แต่ไม่บริการให้ยืมหนังสือ เช่น หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ถนนสานเสน หอสมุดแห่งชาติ ยังมีสาขา อยู่ต่างจังหวัดอีกได้แก่ที่เชียงใหม่ ลำพูน