คิดเป็น


การคิดเป็น คือ การใช้ข้อมูลอย่างน้อย 3 ประการมาประกอบการตัดสินใจ แก่ ข้อมูลด้านวิชาการ ข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

การที่เป็นผู้รู้จักปัญหา เรื่องทุกข์ รู้จักสาเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งมีอยู่ในตนเองและสภาพแวดล้อม รู้จักคิดวิเคราะห์หาวิธีบำบัดทุกข์ และใช้วิธีที่เหมาะสมในการดับทุกข์จึงจะเกิดความสุข

พฤติกรรมสำคัญของการคิดเป็นอย่างหนึ่งคือ การใช้ข้อมูล โดยเฉพาะ ข้อมูลที่เกี่ยวกับตนเอง สังคมสิ่งแวดล้อม

ความเชื่อพื้นฐานทางการศึกษาผู้ใหญ่ มีอยู่ 5 ประการด้วยกัน ได้แก่

1. ในความเป็นจริง ในสังคมผู้คนมีความแตกต่างกันทั้งด้านอาชีพ ฐานะความเป็นอยู่ สภาพสังคม สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม แต่ทุกคนก็ปรารถนาความสุข ความสุขของแต่ละคนจึงแตกต่างกัน

2. ความสุขของคนจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการปรับตัวเอง และสิ่งแวดล้อมให้เข้าหากันอย่างผสมกลมกลืน จนเกิดความพอดี

3. สภาวะแวดล้อมในสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงทำให้เกิดปัญหา เกิดความทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลา

4. เมื่อเกิดปัญหาหรือเกิดทุกข์ ก็ต้องหาวิธีแก้ปัญหา ซึ่งการแก้ปัญหาที่เหมาะสมต้องมีข้อมูลที่หลากหลายประกอบการตัดสินใจ

5. เมื่อได้ใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลและไตร่ตรองข้อมูลอย่างรอบคอบ โดยใช้ข้อมูลทั้ง 3 ประการ คือ ข้อมูลด้านตนเอง วิชาการ และด้านสังคมสิ่งแวดล้อม จนมีความพอใจแล้ว ก็พร้อมที่จะรับผิดชอบการตัดสินใจที่เกิดความพอดี ความสมดุลระหว่างชีวิตกับธรรมชาติอย่างสันติสุข

ข้อมูล หมายถึง ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง หรือเหตุการณ์ต่าง ๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันที่เก็บรวบรวมจากแหล่งต่าง ๆ อาจเป็นตัวเลข ตัวอักษร สัญลักษณ์ รูปภาพ เสียง ข้อมูลที่ดีจะต้องมีความแม่นยำและเป็นปัจจุบัน

สารสนเทศ คือ ข้อมูลที่นำมาผ่านกระบวนการประมวลผล วิเคราะห์จนสามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจต่อไปได้ทีนที

ลักษณะของข้อมูล

- ข้อมูลเชิงคุณภาพ คือ ข้อมูลที่ไม่สามารถบอกได้ว่า มีค่ามากหรือน้อย แต่จะสามารถบอกได้ว่าดีหรือไม่ดี

- ข้อมูลเชิงปริมาณ คือ ข้อมูลที่สามารถวัดค่าได้ว่ามีมากหรือน้อย และวัดออกมาเป็นตัวเลขได้

ประเภทของข้อมูล

- ข้อมูลปฐมภูมิ คือ ข้อมูลที่ผู้ใช้เป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลขึ้นเอง

- ข้อมูลทุติยภูมิ คือ ข้อมูลที่ผู้ใช้นำมาจากหน่วยงานอื่น หรือผู้อื่นที่ได้ทำการเก็บรวบรวมมาแล้วในอดีต

คุณสมบัติของข้อมูล

- ถูกต้อง / รวดเร็ว เป็นปัจจุบัน / ความสมบูรณ์ / ชัดเจนและกะทัดรัด / ความสอดคล้อง



กระบวนการ คิดเป็น

คิดเป็น

แนวความคิดเรื่องคิดเป็นมีองค์ประกอบที่สำคัญในเชิงปรัชญา 3 ส่วน กล่าวคือ เป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ คือ ความสุข มนุษย์จึงแสวงหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อที่จะมุ่งไปสู่ความสุขนั้น แต่เนื่องจากมนุษย์มีความแตกต่างกันโดยพื้นฐานทั้งทางกายภาพ อารมณ์ สังคม จิตใจและสภาวะแวดล้อม ทำให้ความต้องการของคนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การให้คุณค่าและความหมายของความสุขของมนุษย์จึงแตกต่างกัน การแสวงหาความสุขที่แตกต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนแต่ละคน การตัดสินใจนั้น จำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ซึ่งโดยหลักการของการคิดเป็น มนุษย์ควรจะใช้ข้อมูลอย่างน้อย 3 ด้าน คือ ข้อมูลตนเอง ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง ทั้งทางด้านกายภาพ สุขภาพอนามัยความพร้อมต่าง ๆ ข้อมูลสังคม ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ครอบครัว สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี ค่านิยมตลอดจนกรอบคุณธรรม จริยธรรม และข้อมูลทางวิชาการ คือความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องคิด ตัดสินใจนั้น ๆ ว่ามีหรือไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้หรือไม่ การใช้ข้อมูลอย่างรอบด้านนี้จะช่วยให้การคิดตัดสินใจเพื่อแสวงหาความสุขของมนุษย์เป็นไปอย่างรอบคอบ เรียกวิธีการคิดตัดสินใจนี้ว่า “คิดเป็น” และเป็นความคิดที่มีพลวัต คือ ปรับเปลี่ยนได้เสมอ เมื่อข้อมูลเปลี่ยนแปลงไป เป้าหมายชีวิตเปลี่ยนไป

กระบวนการคิดเป็น

กระบวนการคิดเป็นอาจจำแนกให้เห็นขั้นตอนต่าง ๆ ที่ประกอบกันเข้าเป็นกระบวนการคิดได้ ดังนี้ (สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน.2547:31-32)

ขั้นที่ 1 การระบุปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่

ขั้นที่ 2 การศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาเพื่อทำความเข้าใจปัญหาและสถานการณ์นั้น ๆ โดยจำแนกข้อมูลออกเป็น 3 ประเภท คือ

ข้อมูลสังคม : ได้แก่ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัวปัญหา สภาพสังคมของแต่ละบุคคล ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชนและสังคมทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม เป็นต้น

ข้อมูลตนเอง : ได้แก่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวบุคคล ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจ เป็นข้อมูลทั้งทางด้านกายภาพ ความพร้อมทั้งทางอารมณ์ จิตใจ เป็นต้น

ข้อมูลทางวิชาการ : ได้แก่ข้อมูลด้านความรู้ในเชิงวิชาการที่จะช่วยสนับสนุนในการคิดการดำเนินงาน

ขั้นที่ 3 การสังเคราะห์ข้อมูลทั้ง 3 ด้าน เข้ามาช่วยในการคิดหาทางแก้ปัญหาภายในกรอบแห่งคุณธรรม ประเด็นเด่นของขั้นตอนนี้คือระดับของการตัดสินใจที่จะแตกต่างกันไปแต่ละคนอันเป็นผลเนื่องมาจากข้อมูลในขั้นที่ 2 ความแตกต่างของการตัดสินใจดังกล่าว มุ่งไปเพื่อความสุขของแต่ละคน

ขั้นที่ 4 การตัดสินใจ เป็นขั้นตอนสำคัญของแต่ละคนในการเลือกวิธีการหรือทางเลือกในการแก้ปัญหา ขึ้นอยู่กับว่าผลของการตัดสินใจนั้นพอใจหรือไม่ หากไม่พอใจก็ต้องทบทวนใหม่

ขั้นที่ 5 เป็นการปฏิบัติตามสิ่งที่ได้คิดและตัดสินใจแล้ว