ภูมิปัญญา ผ้าทอยกดอก

ประวัติ

-          นางสุกันทา   ด้วงอ้าย     อายุ   54    ปี

-          วุฒิการศึกษา  มัธยมศึกตอนปลาย

-          อาชีพ  การทอผ้า

-          ที่อยู่  95/1   หมู่ที่   3     ตำบลดงดำ   อำเภอลี้    จังหวัดลำพูน    51110    โทร 087029-9352

-          ประสบการณ์ในการทอผ้า    20    ปี

-          รางวัลเกียรติบัตรที่ได้รับจากหน่วยงาน  

1.  ประกาศนียบัตรตามโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล  หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย  ปี  พ.ศ.  2547  กลุ่มทอผ้าฝ้ายยกดอก  (ผ้าซิ่นยกดอกลายเงี้ยว)  ได้รับคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์  ระดับสองดาว

2.  วุฒิบัตรกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน  กระทรวงแรงงาน   ได้ร่วมในการฝึกหลักสูตรการฝึกยกระดับฝีมือ  สาขา  การจัดการธุรกิจชุมชน  ระหว่างวันที่  29  มิถุนายน  2548 -  13  กรกฎาคม  2548

3.  วุฒิบัตร  กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ  ได้ผ่านการอบรมและปฏิบัติหน้าที่เป็นอาสาสมัครยุติธรรมด้วยความเสียสละ  อดทน  และมีจิตสำนึกมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิทธิและเสรีภาพ  

4.  ใบประกาศเกียรติคุณ   อำเภอลี้    เป็นคณะบุคคลที่ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกิจกรรมชมรมสตรีอำเภอลี้  

5.  ประกาศเกียรติคุณ  อำเภอลี้  เป็นแม่ดีเด่นที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละอดทนจนเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชมรมสตรีอำเภอลี้

 

        นางสุกันทา   ด้วงอ้าย  เป็นผู้ที่หมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ  เพื่อพัฒนาฝีมือการทอผ้าของตนเอง  และพัฒนากลุ่มหัตถกรรมผ้าฝ้ายทอมือให้เข้มแข็ง  ซึ่งผลจากการทำงานทำให้กลุ่มหัตถกรรมผ้าฝ้ายทอมือเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของตำบลดงดำ   นอกจากนี้นางสุกันทา   ด้วงอ้ายในฐานะประธานการก่อตั้งกลุ่มหัตถกรรมผ้าฝ้ายทอมือ  ยังทำให้กลุ่มได้รับประกาศนียบัตรตามโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย  พ.ศ.  2547  ได้รับรางวัล  ระดับสองดาว  ซึ่งสมาชิกในกลุ่มมีความภาคภูมิใจมากกับรางวัลนี้  จึงทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นเพราะมีกาจัดการภายในกลุ่มที่ดี

       ผลงานเป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคมความรู้ความสามารถของนางสุกันทา   ด้วงอ้ายในเรื่องของการทอผ้า  เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน  และสังคม  รวมไปถึงคนนอกชุมชนอีกด้วย เพราะเป็นคนที่อัธยาศัยดี  มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  มีความจริงใจ  ทำให้การประสานงานระหว่างบุคคลหรือเครือข่าย  ประสบผลสำเร็จ  และได้รับงบประมาณในการมาพัฒนากลุ่ม  นอกจากนี้  ยังเป็นวิทยากรในการให้ความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าให้หน่วยงานราชการ  ไม่ว่าจะเป็น  กรมพัฒนาฝีมือแรงงานและสวัสดิการสังคม  เทศบาลตำบลดงดำ  เทศบาลตำบลตำบลลี้  องค์การบริหารส่วนตำบลนาทราย  ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาอำเภอลี้  เป็นต้น


    หัตถกรรมทอผ้าพื้นบ้านเป็นงานฝีมือที่เชื่อมโยงถึงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีการดำรง ชีวิตของคนพื้นบ้านในแต่ละยุคสมัย ตามกาลเวลาและการหล่อหลอมให้เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม จนเป็นเอกลักษณ์ตามลักษณะของพื้นบ้านตน ภูมิปัญญาเหล่านี้สร้างขึ้นด้วยฝีมือเชิงศิลปะเพื่อถ่ายทอดและสะท้อนคุณค่าของชุมชนที่เป็นอยู่ลงในเนื้องานทั้งการบ่งบอกลักษณะที่ตั้งของชุมชนรวมถึงวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ที่แสดงออกมาอย่างประณีต สวยงาม และทักษะในงานฝีมือนี้จะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จึงทำให้งานศิลปหัตถกรรมการทอผ้าพื้นบ้านเป็นสิ่งบอกเล่าความเป็นของเชื้อชาติ ชุมชนนั้นได้เป็นอย่างดี 

      นอกจากนี้ผ้าทอยังสะท้อนถึงตำแหน่งและฐานะของคนในสังคม ดังคำกล่าวว่า “ฝ้ายสำหรับชาวบ้านและไหมสำหรับเจ้านาย”ในชีวิตประจำวันผ้าฝ้ายเป็นผ้าที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง ส่วนผ้าไหมนั้นจะใช้กันเฉพาะคนชั้นสูงและเป็นผ้าทอที่ทอโดยผู้หญิงในราชสำนักหรือคุ้มเจ้านาย มีลวดลาย วิจิตร งดงามเช่น ลายดอกไม้ และมักทอแทรกด้วยดิ้นเงิน ดิ้นทอง (โบวี,2536)และในอดีต ผ้าบางประเภทห้ามมิให้สามัญชนสวมใส่เช่น ผ้ายก ซึ่งเป็นผ้าที่ใช้ในราชสำนัก เป็นผ้าที่มีค่าหายาก ราคาแพง เพราะเป็นผ้าที่มาจากต่างประเทศ ถ้าทอด้วยเส้นลวดทองเรียกว่า “ผ้าทอง” ถ้าทอเป็นดอกเรียกว่า “ผ้ายกทอง” (วรรณาวุฒฑะกุลและยุรารัตน์ พันธุ์ยุรา, 2537)

        สำหรับจังหวัดลำพูน คนลำพูนทอผ้าใช้เองมาแต่อดีตอันยาวนาน การทอผ้าก็มีใช้กันอยู่แต่เดิม แต่เป็นการทอในผ้าฝ้ายเป็นลวดลายไม่วิจิตรนัก กระทั่งพระราชชายาเจ้าดารารัศมีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้นำความรู้ที่เรียนรู้มาจากราชสำนักส่วนกลางขณะประทับ ณวังหลวงในกรุงเทพฯ มาประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์ลวดลายและได้ฝึกหัดคนในคุ้มเชียงใหม่ให้ทอผ้ายกโดยเพิ่มลวดลายลงในผืนผ้าไหมให้พิเศษขึ้นคือเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเป็น ดิ้นเงิน ดิ้นทองการเก็บลายจึงต้องใช้ตะกอเพื่อให้สามารถทอลวดลายที่สลับซับซ้อนประณีต งดงามได้ เทคนิคการทอนี้ว่า“ยกดอก”เพื่อนำไปถวายเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในภาคกลางและทรงใช้ส่วนพระองค์ เนื่องด้วยทรงเป็นพระญาติกับเจ้าเมืองลำพูน จึงทรงถ่ายทอดความรู้เรื่องการทอ ผ้ายกที่มีลวดลายสวยงามแปลกตาและวิจิตรบรรจงให้แก่เจ้าหญิงส่วนบุญพระราชชายาของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์(เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย)และเจ้าหญิงลำเจียก(พระธิดาเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์)ทั้งสองพระองค์จึงได้นำความรู้การทอผ้ายกมาฝึกคนในคุ้มหลวงลำพูนและชาวบ้านได้เรียนรู้การทอผ้ายกจากคนในคุ้ม จนมีความชำนาญและมีการเผยแพร่ทั่วไปในชุมชนต่างๆ

          จากการศึกษาเอกสารเกี่ยวกับผ้ายกลำพูน พบว่าผ้ายกลำพูนมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปเช่น ผ้ายก ผ้ายกลำพูน ผ้ายกดอก ผ้าไหมยกดอก และผ้าไหมยกดอกลำพูน ทั้งนี้ปรีชาเกียรติ  บุณยเกียรติ (การสื่อสารส่วนบุคคล, 6 มกราคม 2553) อธิบายว่า ผ้าทอในประเทศไทยนั้นมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาคอีสานเรียกผ้าที่ทอด้วยเทคนิคการ “ยกดอก” ว่า การ “ขิด” นอกจากนี้ยังมีการเรียกผ้ายกตามชื่อท้องถิ่นที่ทอผ้า เช่น ผ้ายกลำพูน ผ้ายกพุมเรียง ผ้ายกเมืองนคร ซึ่งทั้งหมดก็คือผ้ายกทั้งสิ้น ส่วนจังหวัดลำพูนในปัจจุบันการทอผ้ายกมีทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม แต่ผ้ายกที่มีชื่อเสียงของลำพูนคือผ้ายกที่ใช้เส้นไหม จนได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indicator-GI) ดังนั้นการเรียกชื่อ “ผ้าไหมยกดอก” นั้นเพราะทอจากเส้นไหม เช่นเดียวกับคำว่า “ผ้าไหมยกดอกลำพูน” เพื่อบ่งบอกถึงจังหวัดที่ผลิต ส่วนคำว่า “ผ้ายกดอก”มาจากการใช้เทคนิคการทอที่เรียกว่า “การยกดอก” เพื่อให้เกิดลวดลายในการทอซึ่งใช้ได้ทั้งการทอ ยกดอกในฝ้ายและการทอยกดอกในไหม นอกจากนี้การเรียก“ผ้ายกดอก”นั้นสืบเนื่องจากลวดลายที่ใช้ในการทอผ้ายกลำพูนส่วนมากเป็นการทอลวดลายดอกไม้ ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของผ้ายกลำพูน เช่น ลายดอกพิกุล   เป็นต้น 

        คนลำพูนรู้จักการทอผ้าโดยใช้เทคนิคการยกดอกมาแต่ในอดีต แต่เป็นการทอยกดอกแบบง่ายๆ ในผ้าฝ้าย และนิยมนำเทคนิคการทอยกดอกมาใช้ทอผ้าห่ม เพราะจะทำให้ผ้าห่มหนาขึ้นซึ่งคนลำพูนนั้นมีพื้นฐานทักษะการทอผ้าที่ประณีต โดยเฉพาะคนลำพูนเชื้อสายไทลื้อ เมืองยองที่อพยพมาจากประเทศพม่า ในสมัยที่พระเจ้ากาวิละมีนโยบายกวาดต้อนผู้คนในเขตทางตอนบนดังคำกล่าวของ สรัสวดี อ๋องสกุล (2542)ว่า “ลักษณะเด่นของคนไทลื้อ เมืองยอง คือ การทอผ้า ซึ่งมีผ้าทอทั้งผ้าขาวและตีนซิ่นโดยที่ใต้ถุนบ้านในยามค่ำคืนจะพบผู้หญิงไทลื้อนั่งปั่นด้าย” หลังจากที่ชาวยองส่วนหนึ่งอพยพมาที่ลำพูน จึงตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ตามพื้นที่สำคัญต่างๆ ในจังหวัดลำพูนเช่น หมู่บ้านเวียงยอง ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดพระธาตุหริภุญชัย สำหรับเทคนิคการทอผ้าของชาวไทลื้อนั้น บ้างเรียกชื่อต่างจากส่วนกลาง เช่น เทคนิค“มุก”ชาวไทลื้อเรียกว่า “เก็บมุก”หรือ“เก็บดอก”ซึ่งตรงกับเทคนิคการทอ “ขิด”และ “จก”ของท้องถิ่นอื่น (ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล, 2551) ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการใช้คำเรียกวิธีการทอผ้าแต่ละท้องถิ่นอาจแตกต่างกันออกไป จึงทำให้มีการใช้คำเรียกที่หลากหลายแม้ว่าจะเป็นการทอผ้าแบบเดียวกันก็ตาม 

         ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ้ายกเป็นที่นิยมในราชสำนักและแวดวงสังคมชั้นสูง เนื่องจากการคมนาคมสะดวกทั้งทางรถไฟและทางรถยนต์จากรุงเทพฯ สู่เชียงใหม่และลำพูน ภาคเหนือจึงกลายเป็นแหล่งผ้าไหมที่ลือชื่อ และตั้งแต่ พ.ศ.2475ผ้ายกที่ทอด้วยฝีมือประณีตจากลำพูนเป็นที่ต้องการทั่วไป ไม่เฉพาะแต่ในราชสำนัก คนลำพูนที่มองการณ์ไกล ได้เริ่มสร้างโรงทอผ้ายกด้วยกี่พื้นบ้านและผลิตผ้ายกออกจำหน่าย เนื่องจากเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากจนเป็นหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อซึ่งล้วนเป็นการถ่ายทอดลวดลายและวิธีการทอมาแต่รุ่นบรรพบุรุษ

        ด้านการประดิษฐ์ลวดลายนั้น ผ้ายกลำพูนนับว่าเป็นศิลปะการทอผ้าที่มีลวดลายงดงามมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง มีรูปแบบลวดลายที่อ่อนช้อย เป็นเรื่องราวของดอกไม้ ใบไม้ เช่น ลายดอกพิกุล ลายกลีบลำดวน ลายใบเทศ ลายเม็ดมะยม และลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นต้น สำหรับลวดลายที่เป็นลายโบราณดั้งเดิมและยังได้รับความนิยมในปัจจุบันคือ ลายดอกพิกุลหรือดอกแก้ว ซึ่งเริ่มแรกในสมัยโบราณไม่มีการบันทึกลวดลายเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องจดจำลวดลายไว้ในหัวสมอง ถ้าความจำลบเลือนหรือเสียชีวิตไป ลวดลายที่จดจำไว้นั้นก็สูญหายไปด้วย ทำให้ลายผ้าโบราณหายไปมากเพราะไม่ได้ลอกลายไว้ ต่อมา เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน  (สมรสกับโอรสเจ้าผู้ครองนครลำพูน) ได้รับการถ่ายทอดวิชาทอผ้าด้วยกี่พื้นบ้าน และมีความสามารถในการเรียนรู้ลายผ้ายกโบราณที่สวยงามของคุ้มลำพูน จึงได้เริ่มเก็บลวดลายไว้โดยบันทึกไว้ในกระดาษกราฟ เพื่อเป็นต้นแบบและป้องกันการสูญหาย นอกจากความโดดเด่นด้านลวดลายแล้ว ผ้ายกลำพูนยังได้รับความนิยมอันมากจากมาตรฐานการคัดเลือกไหมในการทอผ้ายก ซึ่งลักษณะของเส้นไหมมีความสวยงามแวววาว เหนียว คงทน จึงต้านแรงดึงดูดได้สูง เนื้อผ้ามีความหนาแน่น ไม่นำความร้อน จึงทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบาย และทุกขั้นตอนของการทอนั้นมีความพิถีพิถันสูง โดยการทอผ้ายกลำพูนนั้นจะใช้กี่พื้นบ้าน(กี่กระทบ)ทอเท่านั้น เพราะจะทำให้เนื้อผ้าแน่นสม่ำเสมอกัน และผู้ทอต้องมีเทคนิคเฉพาะในการกระแทกฟืมจึงจะได้ผ้ายกที่งดงาม (ผ้าทอลายวิจิตรบรรจงของเจ้าพงศ์แก้ว   ณ ลำพูน, 2535)