สภาวะทันตสุขภาพเด็กนักเรียน 12 ปี เขตสุขภาพที่ 10 ปีงบประมาณ 2562-2565

ข้อมูลทั้งหมด

  • สภาวะทันตสุขภาพเด็กนักเรียน 12 ปี เขตสุขภาพที่ 10 ปีงบประมาณ 2562-2565

รายงานสภาวะทันตสุขภาพเด็กนักเรียน 12 ปี เขตสุขภาพที่ 10

สุขภาพช่องปากจัดเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสุขภาพพึงประสงค์ ที่ส่งผลกระทบต่อการมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีเพราะปากคือประตูสู่สุขภาพ ปัญหาสุขภาพช่องปากจะส่งผลต่อระบบอื่นๆของร่างกาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีตั้งแต่แรกเริ่มและคงสภาพที่ดีไว้ สำหรับสุขภาพช่องปากของเด็ก หากเด็กมี ฟันผุไม่ว่าจะเป็นฟันหน้า หรือฟันกราม ล้วนมีผลเสียต่อพัฒนาการทั้งนั้น ทั้งพัฒนาการทางร่างกาย(ทานไม่ค่อยได้) จิตใจ(โดนล้อ ไม่มั่นใจ) และสติปัญญา(ปวดฟันเรียนไม่รู้เรื่อง) ยิ่งในช่วงวัยประถม เด็กจะมีฟันน้ำนมผสมกับฟันแท้ที่ทยอยขึ้นมา เด็กที่มีฟันน้ำนมผุอยู่ และไม่ได้รักษาจะมีเชื้อโรคฟันผุจำนวนมากในช่องปากทำให้ฟันซี่อื่นๆผุได้ง่าย รวมไปถึงฟันแท้ที่ขึ้นมาใหม่ก็จะผุได้ง่ายด้วย

จากผลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพและปัจจัยเสี่ยง กลุ่มวัยเรียน ปีงบประมาณ 2564 พบว่า เด็กอายุ 12 ปี ปราศจากโรคฟันผุ ร้อยละ 63.8 เด็กดีไม่มีฟันผุ (cavity free) ร้อยละ 73.1 เด็กมีสภาวะฟันตกกระ ร้อยละ 4.6 เด็กมีสภาวะเหงือกอักเสบ ร้อยละ 13.4 เด็กที่ดื่มน้ำหวาน 4-7 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 32.6 เด็กที่ดื่มน้ำอัดลม 4-7 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 33.0 เด็กกินขนม 1-2 ครั้ง/วัน ร้อยละ 51.25 เด็กแปรงฟัน 222 ร้อยละ 71.0 ในส่วนกิจกรรมการส่งเสริมทันตสุขภาพในโรงเรียน พบว่า โรงเรียนมีกิจกรรมแปรงฟันหลังอาหารกลางวัน ทุกระดับชั้น ร้อยละ 84.4 และโรงเรียนปลอดอาหารเสี่ยงต่อโรคฟันผุร้อยละ 41.21 สำหรับสถานการณ์สภาวะสุขภาพช่องปาก เด็กวัยเรียน เขตสุขภาพที่ 10 จากผลการดำเนินงานในปี 2564 พบว่า เด็กอายุ 12 ปี ปราศจากฟันผุ (Caries free) ร้อยละ 68.92 มีความครอบคลุมของการตรวจสุขภาพช่องปากและวางแผนการรักษา ร้อยละ 41.25 ในส่วนของร้อยละเด็กอายุ 12 ปี ฟันดีไม่มีผุ (Cavity free) พบ ร้อยละ 77.83 2

ข้อเสนอแนะ

1. การทำงานด้านทันตสาธารณสุขในกลุ่มวัยเรียน ควรต้องขยายการทำงาน ให้ครอบคลุมกลุ่มเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นเพิ่มมากขึ้น และเน้นการส่งเสริมการแปรงฟันคุณภาพ โดยเฉพาะเน้นประสิทธิภาพของกิจกรรมแปรงฟันหลังอาหารกลางวัน และส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อม ในการเอื้อให้เกิดพฤติกรรมดูแลสุขภาพช่องปากและพฤติกรรมบริโภคที่ดีทั้งในโรงเรียนและชุมชน

2. สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียน และเด็กวัยเรียนมีพฤติกรรมสุขภาพ ช่องปากที่พึงประสงค์ โดย ดื่มน้ำหวาน /น้ำอัดลม ไม่เกิน 2 ครั้ง/วัน ,กินขนมระหว่างมื้อ ไม่เกิน 2 ครั้ง/วัน ,กินลูกอม ไม่เกิน 2 ครั้ง/วัน ,แปรงฟัน 222 แปรงฟันหลังอาหารกลางวันที่โรงเรียนทุกวัน แปรงฟันก่อนนอนทุกวัน ,ตรวจฟันด้วยตนเอง และรับบริการสุขภาพช่องปาก

3. เด็กวัยเรียนได้รับบริการสุขภาพช่องปาก ดังนี้ ตรวจฟัน ,ทาฟลูออไรด์วาร์นิช ,เคลือบหลุมร่องฟัน และได้รับการรักษาตามความจำเป็น

อ้างอิง

1. รายงานเฝ้าระวังทันตสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงกลุ่มเด็กวัยเรียน (ท02) ปี 2564.

2. ฐานข้อมูล HDC กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นข้อมูล วันที่ 26 เมษายน 2565.

3. สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดำเนินงานทันตสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565.