การเสริมสุขภาพ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

บทนำ

ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี เป็นส่วนราชการในสังกัดกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่มีภารกิจในการส่งเสริมให้ ประชาชนมีสุขภาพดี โดยการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยี ด้านการส่งเสริมสุขภาพ และการจัดการปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ มุ่งเน้นให้ ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้การจัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีโดยมี ความรอบรู้ทางสุขภาพ สามารถจัดการตนเอง ครอบครัวและชุมชนได้

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แบบบูรณาการในระดับชาติย่อมเป็นกลไกสำคัญผลักดันให้เกิดแผนยุทธศาสตร์แบบบูรณาการในระดับจังหวัด กระตุ้นให้ผู้บริหารในพื้นที่เห็นความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กลุ่มอนามัยวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ได้มีการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่น ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ภายใต้ พรบ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 และการขับเคลื่อนอำเภออนามัยการเจริญพันธุ์ การจัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน (YFSH) และเครือข่าย RSA ในการรับการส่งต่อ เพื่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย โดยข้อมูลสถานการณ์สุขภาพวัยรุ่นพบว่า


สูงดีสมส่วน (HDC วันที่ 17 มีนาคม 2565)

- สูงดีสมส่วน ร้อยละ 65.74 (เกณฑ์ มากกว่าร้อยละ 65 )

- อ้วน ร้อยละ 11.54 (เกณฑ์ น้อยกว่าร้อยละ10)

- เตี้ย ร้อยละ 6.06 (เกณฑ์ น้อยกว่าร้อยละ5 )

- ผอม ร้อยละ 2.07 (เกณฑ์ น้อยกว่าร้อยละ5 )

ตั้งครรภ์วัยรุ่น (HDC วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565)

- อัตราคลอดมีชีพในหญิงอายุ 10-14 ปี คือ 1.14 ต่อพันประชากร. (เกณฑ์ ไม่เกิน 0.9 ต่อพันประชากร)

- อัตราการคลอดมีชีพในหญิงอายุ 15-19 ปี คือ 23.13 ต่อพันประชากร (เกณฑ์ ไม่เกิน 25 ต่อพันประชากร)

- การตั้งครรภ์ซ้ำในหญิงอายุ <20 ปี คือร้อยละ 13.25 (เกณฑ์ ไม่เกินร้อยละ 13.0)

วัตถุประสงค์การดำเนินงาน

1.พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์

2.เพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสถานบริการสาธารณสุข และระบบส่งต่อ ในการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ ในเขตสุขภาพที่ 10

3.เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกภาคีเครือข่าย และแกนนำเยาวชนในพื้นที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เขตสุขภาพที่ 10

4.เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ ในเขตสุขภาพที่10

ReprodcutiveHealth –อนามัยการเจริญพันธุ์

1. การวางแผนครอบครัว

2. อนามัยแม่และเด็ก

3. โรคเอดส์

4. โรคติดเชื้อในระบบอนามัยเจริญพันธุ์

5. ความผิดปกติของระบบอนามัยเจริญพันธุ์

6. เพศศึกษา

7. การทำแท้งและอาการแทรกซ้อน

8. ภาวะการมีบุตรยาก

9. อนามัยเจริญพันธุ์ในกลุ่มวัยรุ่น

10. ภาวะหมดระดู และการดูแลสุขภาพในผู้สูงอายุ


แผนงาน/โครงการที่สำคัญ

โครงการ พัฒนาระบบบริการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่นและอนามัยการเจริญพันธุ์แบบบูรณาการ

กิจกรรมการขับเคลื่อนงาน

1) ขับเคลื่อนงานอนามัยเจริญพันธุ์ เพื่อยกระดับการบริการส่งเสริม ป้องกัน และลดความเสี่ยงด้านสุขอนามัยวัยเจริญพันธุ์

2) ประชุมอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ระดับจังหวัด (พรบ.)

3) บูรณาการเครือข่ายแกนนำเยาวชน และพัฒนาศักยภาพเครือข่ายแกนนำเยาวชน ในการสร้างความรอบรู้การดูแลสุขภาพวัยรุ่นยุคดิจิตัล

4) เสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

5) การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพที่ปลอดภัยในวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์

6) พัฒนาคลินิกบริการเชิงสาธิตการส่งเสริมสุขภาพอนามัยวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ (Sexuality and Health Education Center)

7) พัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขด้านการให้บริการฝังยาคุมกำเนิด

8) พัฒนาระบบฐานข้อมูล และ M&E

รายงานสถานการณ์การเจริญเติบโตเด็กวัยรุ่น 15-18 ปี ในเขตสุขภาพที่ 10

เด็กในวันนี้คือกำลังสำคัญของชาติในอนาคต แต่เด็กวัยเรียนวัยรุ่นที่เตี้ย ผอม และขาดสารอาหาร จะมีการเจริญเติบโตที่บกพร่อง ภูมิต้านทานโรคต่ำ จึงติดเชื้อได้ง่ายและเจ็บป่วยบ่อย ส่งผลต่อระดับสติปัญญาตามมา ในทางตรงกันข้าม เด็กที่มีภาวะอ้วน จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น ภาวะทุพโภชนาการของเด็กวัยเรียนวัยรุ่นจึงเป็นวาระสำคัญที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ไขโดยผ่านทางนโยบายระดับชาติที่ชัดเจนในระยะยาว

สถานการณ์การเจริญเติบโตวัยรุ่นอายุ 15-18 ปี ปีงบประมาณ 2564 เทอมที่ 2 ในเขตสุขภาพที่ 10 พบว่า เด็กวัยรุ่นอายุ 15-18 ปี สูงดีสมส่วน ร้อยละ 68.20 ผอม ร้อยละ 1.38 เริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.04 เตี้ย ร้อยละ 7.09 ส่วนสูงเฉลี่ยของเด็กอายุ 18 ปี เพศชายส่วนสูงเฉลี่ย 171.19 เซนติเมตร เพศหญิงส่วนสูงเฉลี่ย 165.52 เซนติเมตร 1

สำหรับการแก้ปัญหาโภชนาการเด็กควรทำควบคู่กันทั้งที่บ้านและโรงเรียน ด้วยการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการที่ถูกต้องให้กับครูและผู้ปกครอง การสนับสนุนอาหารกลางวันที่มีคุณภาพในโรงเรียน และการปลูกฝังพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสมให้กับเด็กทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน กรมอนามัยส่งเสริมให้เด็กวัยรุ่น “สูงสมส่วน Strong Smart Smile” ด้วยชุดความรู้ NEST 1) N= Nutrition เสริมนมเป็นอาหารว่าง 1 กล่อง กินไข่วันละ 1 ฟอง 2) E=Exercise ออกกำลังกายสะสมไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน 3) S=Sleep นอนหลับสนิทอย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง Safe Sex/Sex Education มีความรู้ในการปฏิบัติตัวในเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย 4) T=Teeth แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง อย่างน้อย 2 นาที และไม่กินอาหารหรือเครื่องดื่มหลังแปรงฟันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง 2

อ้างอิง

1. ฐานข้อมูล HDC Services กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้น ณ วันที่ 8 เมษายน 2565

2. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางส่งเสริมวัยรุ่นสูงดีสมส่วน ชุดความรู้ NEST .2560.