สถานการณ์เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัย

รายงานสถานการณ์เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัย เขตสุขภาพที่ 10

เด็กเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่งต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต การที่เด็กจะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มี คุณภาพนั้น เด็กจะต้องมีพัฒนาการที่สมบูรณ์พร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นช่วงโอกาสทองของชีวิตที่สมองพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว พัฒนาการเป็น พฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกให้สังเกตเห็นได้ ซึ่งสะท้อนถึงพัฒนาการของสมองและระบบประสาท ที่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่ในช่วงที่อยู่ในครรภ์มารดาและในสภาพแวดล้อมภายหลังเกิด ปัจจัยด้านสุขภาพเด็ก พบว่า เด็กที่มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ขาดสารอาหารและการขาดธาตุเหล็กส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก ภาวะซีดมากจากการขาดธาตุเหล็กถึงแม้ได้รับการรักษาแต่ก็ไม่สามารถช่วยให้ความสามารถทางสติปัญญากลับมาดีได้ดังเดิม และในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่ขาดสารไอโอดีนจะมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเด็กที่ไม่ขาด สารไอโอดีน 6.9 - 10.2 จุด1

จากสถานการณ์พัฒนาการ ในรายงานHDC ที่ผ่านมา 3ปี (2560-2564) พบว่า เด็กปฐมวัยในเขตสุขภาพที่ 10 มีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 89.59, 89.42 และ 85.77 ตามลำดับ สำหรับภาวะโภชนาการปี 2562-2564 สูงดีสมส่วน พบร้อยละ 70.87, 61.46, 64.81 เด็กมีภาวะเตี้ย ร้อยละ 13.42, 8.72 และ8.61 ตามลำดับ จังหวัดที่เด็กปฐมวัยมีภาวะเตี้ย เกินค่าเป้าหมายในปีงบประมาณ 2565 คือจังหวัดอุบลราชธนี และจังหวัดศรีสะเกษ เด็ก 6-12 เดือนที่ได้รับการคัดกรองและพบภาวะโลหิตจาง ปี 2563-2564 ร้อยละ 25.02 และ 17.61 ซึ่งจะเห็นว่าแนวโน้มภาวะซีดลดลง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการได้รับยาน้ำเสริมธาตุเหล็กที่มีความครอบคลุมเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2564 แต่ความครอบคุลมการได้รับยาน้ำเสริมธาตุเหล็กในปีงบประมาณ 2565 มีเพียงจังหวัดยโสธร ที่เด็กปฐมวัยได้รับยาน้ำเสริมธาตุ ร้อยละ 79.03 (เป้าหมาย ร้อยละ70)2

ข้อเสนอแนะ 1. ควรมีการดำเนินงานตามโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิตให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และมีการติดตาม ประเมินผลโครงการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

2. กำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมระดับสติปัญญา IQ > 100

- การบริหารจัดการ : สถานบริการสาธารณสุข จัดสรรยาน้ำเสริมธาตุเหล็กอย่างต่อเนื่อง และชุมชน มีการกำกับติดตามการกินยา โดย CFCT (Child & Family Community Team )

- คืนข้อมูลภาคีเครือข่าย /ท้องถิ่น / ผู้นำชุมชน

- การกำกับติดตาม : วิธีกินยา และการกินยาอย่างต่อเนื่อง /การคัดกรองภาวะซีดตามชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งต้องคัดกรอง 3 ช่วงอายุคือ 6-12 เดือน , 3-5 ปี และ 7 ปี

อ้างอิง 1. รายงานการศึกษา ปัจจัยที่มีผลต่อพัฒนาการ เด็กปฐมวัยไทย ครั้งที่ 6 พ.ศ.2560. กลุ่มสนับสนุนวิชาการและการวิจัย สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย พฤศจิกายน . 2561.

2. ฐานข้อมูล HDC Services กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้น ณ วันที่ 29 มีค. 65