สถานการณ์การได้รับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กในเด็กอายุ 6-12 ปี

และฟันผุแท้ในเด็กกลุ่มอายุ12ปี

รายงานสถานการณ์ได้รับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กในเด็กอายุ 6-12 ปี เขตสุขภาพที่ 10

ธาตุเหล็ก เป็นสารอาหารกลุ่มเกลือแร่ที่สำคัญมาก มีส่วนเสริมสร้างและพัฒนาสมองในช่วงแรกของชีวิต และมีผลสัมพันธ์โดยตรงต่อการพัฒนาระดับสติปัญญาของเด็ก สำหรับภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron Deficiency Anemia : IDA) หากเกิดในช่วงวัยทารกต่อเนื่องถึงวัยเด็กเล็ก อาจทำให้ไอคิวเมื่อเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยเรียนลดต่ำลง 5-10 จุด หากแก้ไขช้าเกินไปอาจทำให้สูญเสียศักยภาพด้านสติปัญญาไปอย่างถาวร ในเด็กวัยเรียน การพร่องหรือการขาดธาตุเหล็ก ส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก การป้องกันภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กในกลุ่มนี้ จึงมีความสําคัญยิ่งในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของเด็ก เพื่อให้มีศักยภาพในการเรียนรู้อย่างเต็มที่ต่อไป

แพทย์หญิงกิติมา ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก (PNMA) อ้างอิงผลสำรวจ South East Asian Nutrition Surveys : SEANUTS โดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ตีพิมพ์ในวารสาร BJN, 2013 ซึ่งระบุว่า “เด็กไทยเกือบ 40 % ขาดธาตุเหล็ก และมากกว่า 50% ได้รับสารอาหารต่ำในกลุ่มแคลเซียม เหล็ก สังกะสี วิตามินเอและวิตามินซี อันเนื่องมาจากคุณภาพของอาหารที่กิน”1

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยได้แนะนำให้จ่ายยาน้ำเสริมธาตุเหล็กแก่เด็กอายุ 6 เดือน-5 ปี และยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กแก่เด็กวัยเรียน อายุ 6-12 ปี และหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยกินยาเสริมธาตุเหล็กสัปดาห์ละ 1 ครั้งเพื่อป้องกันภาวะซีดในกลุ่มวัยดังกล่าว สำหรับสถานการณ์การได้รับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กในเด็กอายุ 6-12 ปี เขตสุขภาพที่ 10 ปีงบประมาณ 2564 เดือนตุลาคม 63 –มีนาคม 64 ร้อยละ 52.47 เดือนเมษายน-กันยายน 64 ร้อยละ 36.35 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด ร้อยละ 70 2

ข้อเสนอแนะ

1. โรงเรียนควรจ่ายยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก สำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี สัปดาห์ละครั้ง เพื่อป้องกันภาวะซีด โดยการกินยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กไม่ควรกินพร้อมนม หรืออาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง เพราะแคลเซียมจะขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก ควรให้กินผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง จะช่วยให้ร่ายกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น

2. โรงเรียนควรมีการดำเนินการจัดอาหารกลางวันที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก(เนื้อสัตว์ เลือด เครื่องใน ผักใบเขียวเข้ม ธัญพืช) ที่ช่วยให้ ร่างกายได้รับธาตุเหล็กที่เพียงพอ การปรับปรุงแบบแผนอาหารดังกล่าวต้องมีการปรับพฤติกรรมร่วมด้วย ดังนั้น การควบคุมและป้องกันโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กโดยการส่งเสริมเรื่องอาหารจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

อ้างอิง

1. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. โลหิตจางเพราะขาดธาตุเหล็ก ทำให้เด็กวัยเรียนไอคิวต่ำลง. 2562.

2. ฐานข้อมูล HDC Services กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้น ณ วันที่ 29 มีนาคม 2565