จำนวนบ่อบำบัดสิ่งปฏิกูลในเขตสุขภาพที่ 10

รายงานสถานการณ์ จำนวนบ่อบำบัดสิ่งปฏิกูล ในเขตสุขภาพที่ 10

สิ่งปฏิกูล หมายถึง อุจจาระหรือปัสสาวะ รวมถึงสิ่งอื่นใดซึ่งเป็นสิ่งโสโครกที่มีกลิ่นเหม็น และสิ่งปฏิกูลยังมีความสัมพันธ์ต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยตรง การจัดการสิ่งปฏิกูลที่สูบมาจากครัวเรือนต้องได้รับการบำบัดหรือจัดการให้ปลอดภัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและหนอนพยาธิต่างๆเช่น โรคพยาธิใบไม้ตับ เป็นต้น วิธีการบำบัดสิ่งปฏิกูลมีหลายวิธีได้แก่ ระบบบัดสิ่งปฏิกูลแบบ บ่อหมักไร้อากาศ (Anaerobic Digestion ) ที่หมักไว้ 28 วัน ระบบบึงประดิษฐ์ (ConstructedWetland) ระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลแบบบ่อหมักไร้อากาศเพื่อเอาก๊าซชีวภาพมาทำปุ๋ย (Covered Anaerobic Digestion Lagoon) และแบบบ่อทรายกรอง (Sand Drying Bed) ซึ่งศูนย์อนามัยที่ 10 กรมอนามัย ร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค9 อุดรธานี เทศบาลตองโขบ อำเภอ โคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ได้ร่วมกันศึกษาประสิทธิภาพของระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลแบบบ่อทรายกรองในการกำจัดไข่พยาธิไส้เดือน ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่า การบำบัดสิ่งปฏิกูลในบ่อทรายกรองจน กากปฏิกูลแห้ง ค่าความชื้น ต่ำกว่าร้อยละ 5 สามารถกำจัดไข่พยาธิได้ หากสามารถตัดวงจรพยาธิด้วยการป้องกันไม่ให้สิ่งปฏิกูลลงแหล่งน้ำได้ การตายด้วยมะเร็งตับและท่อน้ำดีจะลดลง1

สถานการณ์ เขตสุขภาพที่ 10 พบอัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ปี 2559-2564 คิดเป็นร้อยละ 15.46, 8.57, 6.0, 4.90, 3.90 และ 3.19 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาการแบ่งพื้นที่เสี่ยง ข้อมูลปี 2559-2564 จากเกณฑ์ 3 ข้อ คือ 1) อัตราชุกพยาธิใบไม้ตับมากกว่า ร้อยละ 5 2)อุบัติการณ์มะเร็งท่อน้ำดีมากกว่าร้อยละ 30 ต่อแสนประชากร และ 3)ไม่มีบ่อบำบัด พบว่าจาก 70 อำเภอ มีพื้นที่เสี่ยงสูง 3 อำเภอ คือ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร, อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี และ อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ สำหรับข้อมูลบ่อบำบัดสิ่งปฏิกูล พบว่า อำเภอที่มีระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลที่ใช้งานได้ในพื้นที่ จำนวน 26 อำเภอ ร้อยละ 37.14 ประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี 7 อำเภอ ร้อยละ 28 ,จังหวัดศรีสะเกษ 7 อำเภอ ร้อยละ 38.82 , จังหวัดยโสธร 7 อำเภอ ร้อยละ 77.78 ,จังหวัดอำนาจเจริญ 3 อำเภอ ร้อยละ 42.86 และ จังหวัดมุกดาหาร 2 อำเภอ ร้อยละ 28.57 ในส่วนอำเภอที่ยังไม่มีระบบบำบัดสิ่งปฏิกูล ในปีงบประมาณ 2565 ทุกจังหวัดมีแผนในการก่อสร้างระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลเพิ่ม 39 อำเภอ ส่วนที่ยังไม่มีแผนในการก่อสร้าง 5 อำเภอ อยู่ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี 2

ข้อเสนอแนะ

1.สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ การป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี และประเมินความรอบรู้ด้านสุขภาพ ในประชาชน กลุ่มเสี่ยง เด็กและเยาวชน และนำข้อมูลไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง

2.ประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยกําหนดเป็นตัวชี้วัดในระดับจังหวัดในการจัดการสิ่งปฏิกูลให้ถูกหลักสุขาภิบาลและการพิจารณาอนุญาตในการใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ในการก่อสร้างระบบบําบัดสิ่งปฏิกูล

3. ผลักดันและสนับสนุนให้มีการก่อสร้างระบบบําบัดสิ่งปฏิกูลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาความเสี่ยงจากการตรวจพบพยาธิใบไม้ตับอย่างต่อเนื่อง

4. ส่งเสริมให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ประกอบการเอกชนเพื่อให้เกิดการจัดการสิ่งปฏิกูลที่มีประสิทธิภาพ

อ้างอิง

1. ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี กรมอนามัย. คู่มือการจัดการสิ่งปฏิกูลแบบบ่อทรายกรอง ศูนย์อนามัยที่ 10 กรมอนามัย ปี 2562.

2. เอกสารสรุปผลการตรวจราชการและนิเทศงาน กรณีปกติ รอบที่ 1 ปีงบประมาณ 2565 เขตสุขภาพที่ 10.