วัยทำงาน ฉลาด รอบรู้ สุขภาพแข็งแรง

บทนำ

วัยทำงานเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ โดยในประเทศไทยมีประชาชนวัยทำงาน อายุ 15-59 ปี ในสัดส่วนที่สูงกว่าวัยอื่น คือ ประมาณร้อยละ 64.12 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2563) ข้อมูลในเขตสุขภาพที่ 10 พบว่า ปีงบประมาณ 2564 พบว่า ประชากรวัยทำงาน อายุ 18 - 59 ปี น้ำหนักเกิน ร้อยละ 20.30 อ้วนระดับ 1 ร้อยละ 24.07 อ้วนระดับ 2 ร้อยละ 6.94 ในขณะที่ดัชนีมวลกายปกติ เพียงร้อยละ 44.98 และเส้นรอบเอวปกติ ร้อยละ 53.41 (HDC, 2565)

ในแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) มีกิจกรรมการพัฒนาอนามัยและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะให้ประชาชนกลุ่มวัยทำงานมีสุขภาวะที่ดี ได้รับบริการหรือสิทธิ์ประโยชน์ตามนโยบาย รวมถึงมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น (สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 2559) ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2565 จึงมีการกำหนดค่าเป้าหมาย/ตัวชี้วัด ดังนี้

1. จำนวนคนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (10,000,000 คน)

2. วัยทำงานอายุ 25-59 ปี มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ร้อยละ 45

3. วัยทำงานอายุ 18-59 ปี มีดัชนีมวลกายปกติ ร้อยละ 50

แนวทางการพัฒนา

- ขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพประชาชนวัยทำงานโดย 5 เสือ (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ประกันสังคมจังหวัด แรงงานจังหวัด)

- ส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ และการมีกิจกรรมทางกายสำหรับประชาชนผ่าน Application และแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น ก้าวท้าใจ BSE Food4Health แพลตฟอร์มไอโอดีน

- สร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนในการส่งเสริมสุขภาพประชาชนวัยทำงานในพื้นที่ตามหลัก 3อ. 2ส. 1ฟ. 2น.

แผนงาน/โครงการที่สำคัญ

โครงการพัฒนาการดำเนินงานสถานประกอบการหุ่นดีสุขภาพดี รอบรู้สู้ COVID-19 ขับเคลื่อนการดำเนินงานในสถานประกอบการภายใต้ความร่วมมือของภาคีเครือข่าย 5 เสือ รวมถึงพัฒนาศักยภาพ จป.ส่งเสริมสุขภาพ/Health Leader ในสถานประกอบการ

โครงการส่งเสริมสุขภาพประชาชนวัยทำงานกลุ่มเปราะบาง ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านม เฝ้าระวังภาวะขาดสารไอโอดีน ส่งเสริมสุขภาพประชาชนวัยทำงาน ตามหลัก 3อ. 2ส. 1ฟ. 2น. โดยแกนนำการส่งเสริมสุขภาพวัยทำงานในชุมชน

โครงการพัฒนาสุขภาพประชากรวัยทำงาน "คนวัยทำงานเขต 10 รู้สู่สุขภาพดี" พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมความรอบรู้และขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมสุขภาพประชาชนวัยทำงาน สำรวจพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ สนับสนุนให้มีอำเภอต้นแบบวัยทำงานสุขภาพดี สนับสนุนให้ร้านอาหาร/แผงลอย/อาหารริมบาทวิถี มีการรับรองเมนูชูสุขภาพ สนับสนุนให้โรงอาหารดำเนินการโรงอาหารปลอดภัยใส่ใจสุขภาพ

การเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อส่งเสริมให้วัยทำงาน ฉลาด รอบรู้ สุขภาพแข็งแรง ได้มีการกำหนดประเด็นเฝ้าระวังสุขภาพ พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูล 2 ประเด็น ดังนี้

  1. สถานการณ์ของวัยทำงานอายุ 15-59 ปี ที่มีการเตรียมการเพื่อยามสูงอายุด้านสุขภาพ โดยการมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ปีงบประมาณ 2565

  2. ข้อมูลการลงทะเบียนก้าวท้าใจ

รายงานสถานการณ์ วัยทำงานอายุ 15-59 ปี มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์

ปีงบประมาณ 2565 เขตสุขภาพที่ 10

การมีคุณภาพชีวิตที่ดีมาจากการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีก่อนอันดับแรก ประชากรกลุ่มวัยทำงานมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เป็นกำลังสำคัญในการหารายได้ เพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว เป็นกลุ่มคนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดการพัฒนาประเทศ ดังนั้นการมีสุขภาพที่ดีในวัยทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งปัญหาสุขภาพของวัยทำงาน พบว่า ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non communicable diseases) : NCD เช่นความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและ หลอดเลือดสมอง ซึ่งส่วนหนึ่งของโรคเหล่านี้มาจากพฤติกรรมสุขภาพของวัยทำงานเอง เช่นการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม มีไขมัน และให้พลังงานสูงเกินความต้องการของร่างกาย มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยหรือไม่ออกกำลังกาย

สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจในปี 2560 เปรียบเทียบกับปี 2556 พบว่า คนไทยกินอาหารรสชาติหวาน เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 11.2 เป็นร้อยละ 14.2 และรสเค็มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.0 เป็นร้อยละ 13.8 รวมทั้งนิยมบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงถึงร้อยละ 77.41 นอกจากนี้ข้อมูล จากการสำรวจ ในปี 2563 – 2564 ยังพบว่า แนวโน้มคนวัยทำงานอายุ 18-59 ปี มีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้น ปี 2563-64 พบภาวะอ้วน ร้อยละ 26.1 และ 26.5 ตามลำดับ สำหรับเขตสุขภาพที่ 10 ปีงบประมาณ 2565 พบว่า วัยทำงานอายุ 18-59 ปี มีภาวะอ้วน ร้อยละ 24.03 ผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ 15,777 คน และ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงรายใหม่ 36,385 คน2 จากการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ พบว่า วัยทำงานมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ร้อยละ 85.1 มีพฤติกรรมการออกกำลังการ โดยมีกิจกรรมทางกายมากกว่าหรือเท่ากับ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ร้อยละ 64.9 กินผัก ร้อยละ 77.5 สำหรับการนอนที่เพียงพอ พบ ร้อยละ 92.1 และร้อยละ 72.2 แปรงฟันก่อนนอนทุกวันนานอย่างน้อย 2 นาที 3 ดังนั้นการส่งเสริมให้วัยทำงานมีสุขภาพที่ดี มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดี ไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล

ข้อเสนอแนะ

1. การส่งเสริมภาวะสุขภาพของคนวัยทำงาน โดยใช้หลัก “3อ 2ส 1ฟ 1น”ดังนี้ 3อ เริ่มจาก อ ที่ 1 กินอาหารให้ตรงเวลามีความหลากหลายครบ 5 หมู่ ในสัดส่วน 2:1:1 คือ ผักหลากสี 2 ส่วน เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ 1 ส่วน ข้าว แป้ง 1 ส่วน อ ที่ 2 ออกกำลังกายวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน อ ที่ 3 หากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลายจากความเครียด 2ส คือ ส ที่ 1ไม่สูบบุหรี่ ส ที่ 2 ไม่ดื่มเหล้า 1ฟ คือ การดูแลรักษาฟันสูตร 222 แปรงฟันอย่างน้อย 2 ครั้ง นานครั้งละ 2 นาที ไม่กินหรือไม่ดื่มหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง และ 1น คือ นอนหลับ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน

2. สร้างแกนนำส่งเสริมสุขภาพวัยทำงานในชุมชน โดยพัฒนาศักยภาพ อสม. หรือคนในชุมชน ในการเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมสุขภาพ (Health Leader )

3. สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ และส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพผ่านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยใช้เครื่องมือ Application “ก้าวท้าใจ” เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันประชาชน ในการป้องกันโรค

อ้างอิง

1. ฐานข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ มิถุนายน พ.ศ. 2563.

2. ฐานข้อมูล HDC Services กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้น ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2565.

3. ฐานข้อมูล H4U กรมอนามัย. 27 เมษายน 2565.

4. กองกิจกรรมทางกาย กรมอนามัย. รอบรู้สุขภาพวัยทำงาน. บริษัท คิวคัมเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด. กรุงเทพฯ; 2562.