สถานการณ์มารดาเสียชีวิตเขตสุขภาพที่ 10

ปีงบประมาณ 2560-2564

รายงานสถานการณ์มารดาเสียชีวิต เขตสุขภาพที่ 10

การตายของมารดาสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพบริการด้านสุขภาพแม่และเด็ก สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงระบบสาธารณสุขของประเทศ เป็นตัวชี้วัดสุขภาพของมารดา จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDG) ที่ประชาคมโลกตกลงร่วมกันที่จะใช้กรอบในการดำเนินงานด้านการพัฒนา เป้าหมายที่ 3:1 ระบุว่า ให้ลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลกให้ต่ำกว่า 70 ต่อการเกิดมีชีพแสนคนภายในปี พ.ศ. 2573 สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งค่าเป้าหมายลดอัตราตายของมารดาไม่เกิน 17 ต่อการเกิดมีชีพแสนคน

จากการรายงานของกรมอนามัย สถานการณ์การตายของมารดาไทย ในปีงบประมาณ 2564 พบอัตราส่วนการตายของมารดาไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งในปี 2564 สาเหตุหลักของการตายมารดามาจากการติดเชื้อโควิด 19 ถึงร้อยละ 38.6 หากไม่นับรวมมารดาตายจากการติดเชื้อโควิด 19 จะพบมารดาตายจากสาเหตุตกเลือดถึงร้อยละ 21.5 ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา และเมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการตายมารดา เปรียบเทียบปี 2558-2563 สาเหตุหลักของการตายของมารดามาจากสาเหตุทางตรงแต่ในปี 2564 การตายจากสาเหตุทางอ้อมกลับมีสัดส่วนมากกว่า1

สำหรับเขตสุขภาพที่ 10 ปีงบประมาณ 2560-2563 พบอัตราส่วนมารดาตาย 10.10, 13.20, 5.41 และ 20.09 ต่อแสนการเกิดมีชีพ ตามลำดับ (เป้าหมายไม่เกิน 17 ต่อแสนการเกิดมีชีพ) ปี 2564 พบมารดาตาย จำนวน 12 ราย คิดเป็น 36.47 ต่อแสนการเกิดมีชีพ ไม่รวมมารดาตายจากการติดเชื้อโควิด 19 จำนวน 8 ราย คิดเป็น 24.31 ต่อแสนการเกิดมีชีพ เมื่อวิเคราะห์สาเหตุการตาย ปี 2564 จำนวน 12 ราย พบว่ามีสาเหตุทางตรง (Direct Cause) 2 รายคิดเป็นร้อยละ 16.67 ซึ่งสามารถป้องกันได้หากได้รับการดูแลตามมาตรฐานอย่างจริงจัง ได้แก่ การตกเลือดหลังคลอด และความดันโลหิตสูง สำหรับในส่วนของสาเหตุทางอ้อม (Indirect Cause) มี 10 ราย ร้อยละ 83.33 ได้แก่ ภาวะเกี่ยวกับโรคหัวใจ จำนวน 5 ราย โรคโควิด-19 จำนวน 4 ราย และ Fetal Distress+HIV จำนวน 1 ราย พบ High risk pregnancy ร้อยละ 51.25 ความเสี่ยง 5 อันดับแรกคือ Elderly , previous c/s , Teenage , anemia และโรคทางอายุรกรรม ตามลำดับ และจากการวิเคราะห์ 3 Delays พบว่า Delays ด้านคุณภาพบริการ (Delay in receiving adequate health) ร้อยละ 66.7 ด้านการตัดสินใจเข้าถึงบริการ (Delay in decision to seek care) ร้อยละ 33.3 ไม่พบปัญหาจากระบบส่งต่อ และการสื่อสาร(Delay in reaching care)2

มาตรการการป้องกันมารดาเสียชีวิต

1. ดำเนินงานตามแนวทางการดูแลสตรีตั้งครรภ์ฝากครรภ์และในห้องคลอดภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

2. มาตรการการคลอดและ Previous C/S

3. มาตรการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะ Sepsis และSeptic shock

4. มาตรการการดูแลหญิงตั้งครรภ์เสี่ยงที่มีภาวะโรคหัวใจ

อ้างอิง 1. รายงานระบบเฝ้าระวังการตายมารดา ประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ 2564. สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย . 2564.

2. รายงานสอบสวนมารดาเสียชีวิต (CE1) ในเขตสุขภาพที่ 10 ปีงบประมาณ 2560-2564