การส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ เด็กปฐมวัยพัฒนาการสมวัย มี IQ เกิน 100

บทนำ

ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี เป็นหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค ในสังกัดกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีภารกิจในการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี โดยการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนาและถ่ายทอด องค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการส่งเสริมสุขภาพ และการจัดการปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ มุ่งเน้นให้ ประชาชน ทุกกลุ่มวัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้การจัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี โดยมีความรอบรู้ทางสุขภาพสามารถจัดการตนเองครอบครัวและชุมชนได้

การส่งเสริมสุขภาพกลุ่มสตรีและเด็กปฐมวัย เป็นเป้าหมายตามแผนปฏิบัติราชการระยะ 3 ปี (พ.ศ.2563 – 2565) กรมอนามัย มีบทบาทในการส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ (การตั้งครรภ์คุณภาพลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย) และเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัย โดยปีงบประมาณ 2565 มีการกำหนดค่าเป้าหมาย/ตัวชี้วัด ดังนี้

1. อัตราส่วนการตายมารดาไทย 17 ต่อแสนการเกิดมีชีพ

2. ร้อยละ 85 ของเด็กปฐมวัย (เด็ก0-5 ปี) มีพัฒนาการสมวัย

3. ร้อยละ 64 ของเด็กอายุ 0 - 5 ปี สูงดีสมส่วน

4. เด็กอายุ 5 ปี มีส่วนสูงเฉลี่ยแยกตามเพศ ชาย 113 ซม. / หญิง 112 ซม.

5. ร้อยละ 75 ของเด็กอายุ 3 ปี ปราศจากฟันผุ


แนวทางการพัฒนา

- ส่งเสริมสุขภาพมารดาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอดอย่างมีคุณภาพ รวมถึง การสร้าง การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย

- ผลักดันการส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาการเด็กอายุ 0-5 ปี ส่งเสริมบทบาทพ่อแม่หรือผู้ปกครองในการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยอย่างมีคุณภาพ พัฒนาและขับเคลื่อนกลไกการส่งเสริมเด็กอายุ 0-5 ปี สูงดีสมส่วน ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ตลอดจนส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็กปฐมวัย


แผนงาน/โครงการที่สำคัญ

การดําเนินงานตามโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิตเน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ คือ เด็กอายุ 0-2 ปี สูงดีสมส่วน ฟันไม่ผุ พัฒนาการสมวัย ซึ่ง 1,000 วันแรกของชีวิต หมายถึง ทารกในครรภ์มารดา ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนถึงอายุ 2 ปี รายละเอียดดังนี้

หญิงตั้งครรภ์ (270 วัน) เพิ่มคุณภาพ ANC 1) หญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ 2) ฝากครรภ์ครบ 5 ครั้งคุณภาพ 3) เฝ้าระวังและติดตามน้ำหนักหญิงตั้งครรภ์ทุกคนและทุกครั้งที่มารับบริการ ANC 4) จ่ายยาเม็ดไอโอดีน เหล็ก โฟลิก แก่หญิงตั้งครรภ์ทุกคนตลอดการตั้งครรภ์ 5) ตรวจสุขภาพช่องปากหญิงตั้งครรภ์ทุกราย 6) ประเมินพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และให้คำแนะนำเรื่องอาหารสำหรับหญิงตั้งครรภ์ กิจกรรมทางกาย การนอน เฝ้าดูฟัน ป้องกันอุบัติเหตุ

เด็ก 0-6 เดือน ( 180 วัน) 1) ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 2) เฝ้าระวังและติดตามน้ำหนัก ส่วนสูงเด็กทุกคน 3) จ่ายยาเม็ดไอโอดีน เหล็ก โฟลิก แก่หญิงหลังคลอดทุกคนตลอดการให้นมลูก 6 เดือน 4) แนะนําคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) 5) คําแนะนำเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารสำหรับหญิงให้นมบุตร กอดเล่น เล่า นอน เฝ้าดูฟัน เสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันอุบัติเหตุ

เด็ก 6 เดือน -2 ปี (550 วัน) 1) คัดกรอง ส่งเสริม ติดตาม/กระตุ้นพัฒนาการเด็กโดยใช้ DSPM/TIDA4I 2) เฝ้าระวังและติดตามส่วนสูง น้ำหนักเด็กทุกคน 3) ประเมินพฤติกรรมการบริโภคอาหารทุกคน 4) คัดกรองภาวะซีดในเด็ก 6-12 เดือน 5) จ่ายยาน้ำเสริมธาตุเหล็กให้เด็ก0-5 ปี ทุกคน 6) ตรวจสุขภาพช่องปาก 7) ทาฟลูออไรด์วาร์นิช เพื่อป้องกันฟันผุ 8) เด็กที่มีปัญหาฟันผุได้รับการส่งต่อ

โครงการส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็กปฐมวัยอย่างมีคุณภาพ

กิจกรรมที่สำคัญ ดังนี้

- ส่งเสริมคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยด้านสุขภาพเด็ก (4D) ประกอบด้วย Diet, Development, Dental และ Diseases

- “เด็กไทย เล่นเปลี่ยนโลก” ส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ ภาษา สังคม และวินัยผ่านกระบวนการเล่นเพื่อพัฒนาสมอง

- คัดกรองพัฒนาการ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เด็ก 5 ช่วงอายุ 9,18,30,42 และ 60 เดือน การประเมินพัฒนาการซ้ำใน 1 เดือนในรายที่มีพัฒนาการสงสัยล่าช้า และส่งต่อเพื่อกระตุ้นพัฒนาการเมื่อพบเด็กมีพัฒนาการล่าช้า

การเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ ในกลุ่มสตรีและเด็กปฐมวัย เพื่อส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ เด็กปฐมวัยพัฒนาการสมวัย และมี IQ เกิน 100 นั้น ได้มีการกำหนดประเด็นเฝ้าระวังสุขภาพ พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลวิเคราะห์ 5 มิติ และมีการนำเสนอข้อมูลใน 3 ประเด็น ดังนี้

1. สถานการณ์มารดาเสียชีวิต เขตสุขภาพที่ 10 ปีงบประมาณ 2560-2564

2. สถานการณ์เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัย เขตสุขภาพที่ 10

3. สถานการณ์ Preterm และ LBW เขตสุขภาพที่ 10


รายงานสถานการณ์มารดาเสียชีวิต เขตสุขภาพที่ 10

การตายของมารดาสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพบริการด้านสุขภาพแม่และเด็ก สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงระบบสาธารณสุขของประเทศ เป็นตัวชี้วัดสุขภาพของมารดา จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDG) ที่ประชาคมโลกตกลงร่วมกันที่จะใช้กรอบในการดำเนินงานด้านการพัฒนา เป้าหมายที่ 3:1 ระบุว่า ให้ลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลกให้ต่ำกว่า 70 ต่อการเกิดมีชีพแสนคนภายในปี พ.ศ. 2573 สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งค่าเป้าหมายลดอัตราตายของมารดาไม่เกิน 17 ต่อการเกิดมีชีพแสนคน

จากการรายงานของกรมอนามัย สถานการณ์การตายของมารดาไทย ในปีงบประมาณ 2564 พบอัตราส่วนการตายของมารดาไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งในปี 2564 สาเหตุหลักของการตายมารดามาจากการติดเชื้อโควิด 19 ถึงร้อยละ 38.6 หากไม่นับรวมมารดาตายจากการติดเชื้อโควิด 19 จะพบมารดาตายจากสาเหตุตกเลือดถึงร้อยละ 21.5 ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา และเมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการตายมารดา เปรียบเทียบปี 2558-2563 สาเหตุหลักของการตายของมารดามาจากสาเหตุทางตรงแต่ในปี 2564 การตายจากสาเหตุทางอ้อมกลับมีสัดส่วนมากกว่า1

สำหรับเขตสุขภาพที่ 10 ปีงบประมาณ 2560-2564 พบว่าอัตราส่วนการตายเป็น 13.00, 17.40, 5.40, 20.09 และ 25.48 ต่อการเกิดมีชีพแสนคน ในปีงบประมาณ 2564 มีมารดาเสียชีวิตจำนวน 10 ราย เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 ร้อยละ 40 เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการตายมารดา พบว่าร้อยละ 83.33 มาจากสาเหตุทางอ้อม ซึ่งความเสี่ยง 5 อันดับแรกคือ Elderly , previous c/s , Teenage , anemia และโรคทางอายุรกรรม ตามลำดับ และจากการวิเคราะห์ 3 Delays พบว่า Delays ด้านคุณภาพบริการ (Delay in receiving adequate health) ร้อยละ 66.7 ด้านการตัดสินใจเข้าถึงบริการ (Delay in decision to seek care) ร้อยละ 33.3 ไม่พบปัญหาจากระบบส่งต่อ และการสื่อสาร(Delay in reaching care)2

มาตรการการป้องกันมารดาเสียชีวิต

1. ดำเนินงานตามแนวทางการดูแลสตรีตั้งครรภ์ฝากครรภ์และในห้องคลอดภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

2. มาตรการการคลอดและ Previous C/S

3. มาตรการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะ Sepsis และSeptic shock

4. มาตรการการดูแลหญิงตั้งครรภ์เสี่ยงที่มีภาวะโรคหัวใจ

อ้างอิง 1. รายงานระบบเฝ้าระวังการตายมารดา ประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ 2564. สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย . 2564.

2. รายงานสอบสวนมารดาเสียชีวิต (CE1) ในเขตสุขภาพที่ 10 ปีงบประมาณ 2560-2564