รายงานเฝ้าระวังอัตราป่วยที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ ในจังหวัดมุกดาหาร

ปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากการสะสมของควันและฝุ่นในอากาศ โดยเกิดขึ้นจาก การลุกติดไฟหรือเผาไหม้ของวัสดุต่างๆ เช่น การเกิดไฟป่า การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ฯลฯ รวมถึงการใช้เชื้อเพลิงจากภาคคมนาคมและอุตสาหกรรม ซึ่งมีการปลดปล่อยสารมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซค์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โอโซน ฯลฯ ออกมาสะสมอยู่ในบรรยากาศภายนอก โดยสัดส่วนขององค์ประกอบของสารแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของเชื้อเพลิง ระดับความชื้นในอากาศ อุณหภูมิของไฟ ความเร็วและทิศทางลม เป็นต้น ซึ่งสามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อ ประชาชนทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ คมนาคม วิถีชีวิต ฯลฯ มลพิษหลักในการเฝ้าระวังในที่นี้คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5 ) ผลกระทบมลพิษทางอากาศ 1) ระยะสั้น ระคายเคืองตา โรคหอบหืดเฉียบพลัน ไอ หายใจมีเสียงหวีด หายใจถี่ ฯลฯ 2) ระยะยาว เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ และ โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ 3) การเสียชีวิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ทุกระดับค่า PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น 10 µg/m3 โดยเสียชีวิตจากมะเร็งปอดร้อยละ 15-21 และโรคหัวใจร้อยละ 12-141

สถานการณ์ฝุ่นในปี 2564 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าเฉลี่ยรายปีทั่วประเทศ 21 มคก./ลบ.ม. (ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 9) จังหวัดที่มีปัญหาคุณภาพอากาศมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ลำปาง เชียงราย สระบุรี ตาก และพิษณุโลก ตามลำดับ โดยมีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 70, 68, 66, 60 และ 57 วัน ตามลำดับ2 สำหรับจังหวัดมุกดาหาร พบว่า ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ยรายปี 16.7 สำหรับค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกินค่ามาตรฐาน ในส่วนการป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ พบ โรค COPD จำนวน 1,105 คน และ Asthma จำนวน 122 คน3 สาเหตุการเกิดฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดมุกดาหาร เกิดจาก การเผาอ้อย เผาขยะ และวัสดุทางการเกษตรในที่โล่ง การคมนาคมขนส่ง การก่อสร้าง และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ข้อเสนอแนะ

1. ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ร่วมกันวิเคราะห์สาเหตุ /กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างยั่งยืน และบูรณาการทุกภาคส่วน

2. โรงงานน้ำตาลกำหนดเงือนไขซื้อ อ้อยสด : อ้อยไฟไหม้ 70 : 30 ลานรับซื้ออ้อยสด 6 : อ้อยเผา 2 โรงงานแป้งมัน/โรงงานยางพารา มีการควบคุมและลดมลพิษ

3. โรงงานน้ำตาล ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่รอบบริเวณโรงงาน โดยสนับสนุนบริการตรวจสุขภาพ x-ray ปอด และตรวจสมรรถภาพของปอด

4. อปท.สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่นหน้ากากอนามัย สำหรับประชาชนในพื้นที่

5. สร้างการรับรู้สู่ประชาชนขอความร่วมมือ งดการเผาอ้อย เผาขยะ และวัสดุทางการเกษตรในที่โล่งอย่างเด็ดขาด และการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 เบื้องต้นได้โดยการใส่หน้ากากอนามัย

6.แนะนำให้ประชาชนเลี่ยงทำกิจกรรมหรืองดออกกำลังกายกลางแจ้ง ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงเกินมาตรฐาน และหากพบเด็กหรือบุคคลในครอบครัวมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบพาไปพบแพทย์

อ้างอิง 1.นายแพทย์ณรงค์กร ซ้ายโพธิ์กลาง. ฝุ่น PM2.5 กับสุขภาพ. ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2564.

2.กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม. สถานการณ์คุณภาพอากาศ; 2564

3.ฐานข้อมูล HDC กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นข้อมูล วันที่ 19 พฤษภาคม 2565.