บทนำ

ผู้สูงอายุ เขตสุขภาพที่ 10 ปี พ.ศ 2565 มีประชากรผู้สูงอายุ 668,857 คน คิดเป็นร้อยละ 16.29 คัดกรองความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน (ADL) และแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มติดสังคม ร้อยละ 93.21 กลุ่มติดบ้าน ร้อยละ 5.99 และกลุ่มติดเตียง ร้อยละ 0.79

จากสถานการณ์ดังกล่าวและกอปรกับข้อมูลย้อนหลังที่ผ่านมา พบว่ามีกลุ่มผู้สูงอายุติดสังคมซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีลดลง และกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน,ติดเตียงหรือผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานะทางสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ รายได้ และคุณภาพชีวิตโดยรวม รวมทั้งส่งผลให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มวัยทำงาน จะต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบและครบวงจร จึงมีการกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายในการดำเนินงานดังนี้

ตัวชี้วัด/ค่าเป้าหมาย

ผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม

1. ร้อยละของประชากรสูงอายุที่มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ เป้าหมายปี 65 รวม ร้อยละ 50

2. มีการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเมือง/ชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ เป้าหมาย (เขตสุขภาพละ 2 เมือง/ชุมชน) แสนสุข/

3. จำนวนชมรมผู้สูงอายุคุณภาพด้านสุขภาพ เป้าหมาย จังหวัดละ 2 ชมรม จำนวน 10 ชมรม

4. การส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุรายบุคคลในชุมชน (Wellness Plan) 3,065 คน (ฉบับ)

ผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน , ติดเตียง

1. ผู้สูงอายุได้รับการประเมินและคัดกรอง ADL

2. ร้อยละของตำบลที่มีระบบการส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ในชุมชน เป้าหมายร้อยละ 98

3. ร้อยละของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลตาม Care Plan เป้าหมายร้อยละ 90

4. มีการดำเนินงานพื้นที่ต้นแบบการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพแบบผสมผสาน Long Term Care และ Intermediate Care ระดับชุมชน จังหวัดละ 1 แห่ง เป้าหมาย 5 แห่ง

แนวทางการพัฒนา

1.ส่งเสริม เร่งรัดการสมัครเข้าใช้งานระบบ Blue Book Application และดำเนินการประเมินพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย

2.ส่งเสริม สนับสนุน การจัดทำแผนสุขภาพดีรายบุคคล Wellness Plan เพื่อแก้ไขปัญหาในด้านพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ และคงสภาพการมีสุขภาพดีชะลอการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิง

3.ส่งเสริม เร่งรัดการคัดกรอง ADL เพื่อจำแนกผู้สูงอายุตามกลุ่มศักยภาพและนำเข้าสู่ระบบการดูแล

4.ส่งเสริม สนับสนุน การจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง Care Plan เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลบำบัด ฟื้นฟูสุขภาพ ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือสามารถเปลี่ยน ADL จากกลุ่มผู้สูงอายุพึ่งพิงเป็นกลุ่มติดสังคมเพิ่มขึ้น

แผนงาน/โครงการสำคัญ

เขตสุขภาพที่ ๑๐ โดย ศูนย์อนามัยที่ ๑๐ อุบลราชธานี กรมอนามัย และภาคีเครือข่ายสาธารณสุข และ Non – Health Sectors ได้มีการบูรณาการขับเคลื่อนแผนงาน โครงการ กิจกรรมสำคัญ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

๑. โครงการขับเคลื่อนระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเชิงป้องกัน Preventive Long Term Care (สำหรับผู้สูงอายุติดสังคม)

๒. โครงการการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมสุขภาพ ดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาวแบบบูรณาการ Long Term Care ในชุมชน (สำหรับผู้สูงอายุที่ที่มีภาวะพึ่งพิง ติดบ้าน,ติดเตียง)

โดยเน้นให้เกิดเชื่อมโยงการดูแบบไร้รอยต่อ รวมทั้งการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันภาวะพลัดตก หกล้ม ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ส่งผลให้เกิดภาวะพึ่งพิง พร้อมทั้งต่อยอดขยายผลการพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ ให้เกิดความยั่งยืน ในเขตสุขภาพที่ ๑๐ ตามข้อตกลงความร่วมมือ MOU ๗ กระทรวง

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ได้รับการดูแลตาม Care Plan

และผู้สูงอายุมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ เขตสุขภาพที่ 10

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ (aged society) และกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่าง สมบูรณ์ (complete aged society) ภายในปี 2566 ปัจจุบันมีประชากรผู้สูงอายุรวมประมาณ 12 ล้านคน โดยพบว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีภาวะพึ่งพิง (ยัง active อยู่) ร้อยละ 96.7 และ เป็นผู้มีภาวะพึ่งพิง (ติดบ้าน ติดเตียง) ร้อยละ 3.3 คือประมาณ 4 แสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร้อยละของประชากรสูงอายุที่มีสุขภาพที่พึงประสงค์ ปีงบประมาณ 2564 คิดเป็นร้อยละ 30.8 ซึ่งต่ำกว่าเณฑ์เป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ ร้อยละ 50 ในส่วนการป้องกันภาวะติดบ้านติดเตียง ยังมีระบบที่ไม่ชัดเจน และประสิทธิภาพ ยังไม่ดี มีระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้ป่วย ติดบ้านติดเตียงที่ครอบคลุม แต่ยังต้องมีการปรับปรุงคุณภาพ1

สำหรับเขตสุขภาพที่ 10 ปีงบประมาณ 2564 มีผู้สูงอายุ ร้อยละ19.21 ได้รับการคัดกรอง ADL ร้อยละ 81.49 จำแนกเป็นกลุ่มติดสังคม กลุ่มติดบ้าน และกลุ่มติดเตียง ร้อยละ 93.76, 5.63 และ 0.61 ตามลำดับ ผู้สูงอายุได้รับการคัดกรองความเสี่ยงภาวะพลัดตกหกล้ม ร้อยละ 76.23 จังหวัดที่มีการดำเนินการ คัดกรองสูงที่สุดคือ จังหวัดอำนาจเจริญ รองลงมาคือ จังหวัดมุกดาหาร ร้อยละ 85.56 และ 84.79 ตามลำดับ มีผู้สูงอายุที่มีภาวะเสี่ยงพลัดตกหกล้ม ร้อยละ4.48 จังหวัดที่มีผู้สูงอายุที่มีภาวะเสี่ยงพลัดตกหกล้มมากที่สุดคือ จังหวัดยโสธร รองลงมาคือจังหวัดศรีสะเกษ ร้อยละ 6.06 และ 5.05 ตามลำดับ และผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงร้อยละ 6.24 ได้รับการดูแลตาม Care Plan ร้อยละ 94.90 โดยจังหวัดที่มีการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงตาม Care Plan มากที่สุดคือ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดยโสธร ร้อยละ 96.72 และ 96.09 ตามลำดับ โดยจังหวัดอำนาจเจริญมีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลตาม Care Plan น้อยที่สุด ร้อยละ 83.00 และจะพบว่าช่วงอายุที่ผู้สูงอายุมีภาวะพึ่งพิงมากที่สุด คือ ผู้สูงอายุวัยปลาย ( อายุ 80ปีขึ้นไป) โรคประจำตัวที่พบ 3 อันดับแรกคือ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน เมื่อมีสำรวจพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ของผู้สูงอายุ ผ่าน Application H4U พบผู้สูงอายุมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ (ครบทั้ง 8 ข้อ) ร้อยละ19.23 จังหวัดที่มีผู้สูงอายุมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ (ครบทั้ง 8 ข้อ) สูงที่สุดคือ จังหวัดยโสธร และจังหวัดศรีสะเกษ ร้อยละ 25.68 และ 18.83 ตามลำดับ สำหรับพฤติกรรมพึงประสงค์ที่ผู้สูงอายุปฏิบัติได้น้อยคือ กิจกรรมทางกายระดับปานกลางสะสม 150 นาที/สัปดาห์ และการกินผักและผลไม้ได้วันละ 400 กรัมหรือ 5 กำมือ2

ข้อเสนอแนะ ในการดำเนินงานคือ

1.การส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง (เดิน /ปั่น จักรยาน/ทำงานบ้าน/ ทำไร่/ทำสวน/ ทำนา/ออกกำลังกาย) สะสม 150 นาที/สัปดาห์

2.การกำหนดบทบาทหน้าที่ในแต่ละระดับใน รพ.สต. และ รพช. ให้มีการเชื่อมโยงกัน 3.มีการบูรณาการข้อมูล Digital Health เพื่อ ลดภาระงานในพื้นที่

อ้างอิง

1.สำนักตรวจและประเมินผล กระทรวงสาธารณสุข.สรุปผลการตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รอบที่ 2 ; 2564.

2.กลุ่มอนามัยสูงอายุ ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี. รายงานสรุปผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2564 ; 2564