ภาวะโภชนาการและการเจริญเติบโตของเด็กวัยเรียน 6-14 ปี สูงดีสมส่วน

ในเขตสุขภาพที่ 10

รายงานภาวะโภชนาการและการเจริญเติบโตของเด็กวัยเรียน 6-14 ปี สูงดีสมส่วน ในเขตสุขภาพที่ 10

เด็กวัยเรียน หมายถึงเด็กที่มีอายุ 6-14 ปี เด็กวัยนี้จะเจริญเติบโต มีพัฒนาการทางด้านร่างกาย และจิตใจ รวมทั้งการเรียนรู้อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่ จะนำไปสู่ชีวิตที่มีคุณภาพในอนาคต ดังนั้นอาหาร และการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าเด็กวัยนี้ได้รับอาหารไม่เพียงพอ มากเกินไป หรือไม่เหมาะสม จะส่งผลให้เด็กมีปัญหาโภชนาการ เตี้ย อ้วน ผอม ร่างกายเคราะแกรน สติปัญญาทึบ ไม่มีความพร้อมในการเรียน ประสิทธิภาพการเรียนรู้และการทำงานต่ำ ซึ่งการส่งเสริมให้เด็กได้รับอาหารและ 'โภชนาการ' ที่เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและพัฒนาสติปัญญาได้เต็มศักยภาพ1

สถานการณ์ภาวะโภชนาการ ของเด็กไทยอายุ 6 -14 ปี ปีงบประมาณ 2564 พบว่า เด็กสูงดีสมส่วน และภาวะผอมมีแนวโน้มที่ดีขึ้น กล่าวคือ สูงดีสมส่วน ร้อยละ 65.5 มีภาวะผอม ร้อยละ 3.6 แต่พบว่ามี ภาวะ เริ่มอ้วน และ อ้วนเตี้ย เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 12.4 สำหรับภาวะโภชนาการและการเจริญเติบโตของเด็กวัยเรียน อายุ 6 - 14 ปีภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ภาพรวมเขตสุขภาพที่ 10 ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าเด็กวัยเรียนยังมีภาวะทุพโภชนาการ โดยพบว่า เด็กวัยเรียน อายุ 6 - 14 ปี สูงดีสมส่วน เพียงร้อยละ 60.10 (เป้าหมายร้อยละ 66) มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 10.66 (เป้าหมายไม่เกินร้อยละ 10) มีภาวะเตี้ย ร้อยละ 9.61(เป้าหมายไม่เกินร้อยละ 5) เมื่อพิจารณาในรายจังหวัด พบสถานการณ์ปัญหาภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน และภาวะเตี้ย ในทุกจังหวัด โดยจังหวัดที่มีปัญหาภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน มากที่สุด คือ จังหวัดยโสธร ร้อยละ 12.52รองลงมาคือ จังหวัดอํานาจเจริญ ร้อยละ 12.14 ส่วนจังหวัดที่มีปัญหาเรื่องภาวะเตี้ย มากที่สุด คือ จังหวัดอํานาจเจริญ ร้อยละ 12.25 รองลงมาคือ จังหวัดยโสธร ร้อยละ 11.89 2

สำหรับการส่งเสริมให้เด็กไทย สูง สมส่วน แข็งแรง IQ ดี กรมอนามัยได้ดำเนินงานส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ที่เพียงพอและเหมาะสม เพื่อสุขภาวะเด็กวัยเรียนภายใต้โครงการ ChOPA & ChiPA Game มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาโรคอ้วนในวัยเด็ก ปัญหาพฤติกรรมเนือยนิ่ง สำหรับโภชนการในเด็กวัยเรียนควรจัดอาหารหลักให้เด็กบริโภคให้ครบทั้ง 3 มื้อ ไม่ควรเว้นมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเฉพาะมื้อเช้า จัดอาหารให้ครบถ้วนได้สัดส่วนและเพียงพอกับความต้องการของร่างกายเด็ก และบริโภคอาหารตรงเวลา ไม่ควรให้เด็กรับประทานขนมจุบจิบ ในแต่ละมื้อไม่ควรจัดให้มีอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลอย่างเดียวเท่านั้น ควรพยามจัดอาหารให้ครบหมู่3

ข้อเสนอแนะ

1. ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ChOPA & ChiPA Game เข้าสู่ Digital Platform ผ่านกิจกรรมก้าวท้าใจ

2. ส่งเสริมให้เด็กได้รับอาหารและ 'โภชนาการ' ที่เหมาะสม โดยจัดอาหารหมุนเวียนเป็นรายเดือนหรือรายสัปดาห์ เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารที่หลากหลายในสัดส่วน ที่เหมาะสม ปรุงประกอบอาหารเพื่อลดหวาน มัน เค็ม ไม่ใช้ผงชูรสในการประกอบอาหาร

3. รณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายภาคการศึกษา เพื่อสนับสนุนการคัดกรองและส่งเสริมสุขภาพเด็กนักเรียนวิถีใหม่ ด้วยชุดความรู้ NuPETHS

อ้างอิง

1. คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล. บทความสุขภาพ ภาวะโภชนาการในเด็กวัยเรียน. 2561.

2. ฐานข้อมูล HDC Services กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้น ณ วันที่ 29 มีนาคม 2565

3. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. การจัดการโรคอ้วนในเด็กไทย ชีวิตใหม่ อย่างยั่งยืน. 2564.