วัยเรียน “เติบโตดี สมองดี มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ”

บทนำ

ยุทธศาสตร์ชาติประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายขับเคลื่อนการพัฒนาให้ประเทศเจริญก้าวหน้าไปในอนาคต มีแผนแม่บทขับเคลื่อนครอบคลุมทุกกลุ่มวัย เป็นการวางรากฐานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศอย่างเป็นระบบ สำหรับวัยเรียน (ประถมถึงมัธยมต้น) เป็นช่วงการศึกษาภาคบังคับเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 นักเรียนจะต้องได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ สุขภาพเป็นพื้นฐานความสำเร็จของเด็กวัยเรียน จึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคกลุ่มเด็กวัยเรียนให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาสมองสำหรับการเรียนรู้ พร้อมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพทักษะความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ เพื่อให้เด็กวัยเรียนได้รับการปูพื้นฐานความพร้อมทั้งกาย ใจ และปัญญา เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดี เก่ง และมีคุณภาพ พร้อมรองรับการพัฒนาในช่วงวัยต่อไป

กรมอนามัย ได้กำหนดเป้าประสงค์ยุทธศาสตร์การส่งเสริมสุขภาพกลุ่มวัยเรียนและวัยรุ่น คือ เด็กวัยเรียนวัยรุ่น เข้มแข็ง แข็งแรง และฉลาด ตามแนววิถีชีวิตใหม่ในยุคดิจิทัล สำหรับกลุ่มเด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี มีเป้าหมายพัฒนาให้ “เติบโตดี สมองดี มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ” โดยในเขตสุขภาพที่ 10 ได้กำหนดประเด็นเฝ้าระวังและกำกับติดตามตัวชี้วัดกลุ่มวัยเรียนเพื่อบรรลุเป้าหมาย 3 ประเด็น ดังนี้

1. ประเด็นเติบโตดี (สูงดีสมส่วน) เด็กอายุ 6 – 14 ปี สูงดีสมส่วน ร้อยละ 66 : เตี้ย ร้อยละ 5 ผอม ร้อยละ 5 เริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 10 เด็กวัยเรียนและวัยรุ่นมีส่วนสูงเฉลี่ยตามเกณฑ์ : อายุ 12 ปี ชายสูง 152 ซม. หญิงสูง 153 ซม. อายุ 19 ปี ชายสูง 175 ซม. หญิงสูง 165 ซม. และ เด็กอายุ 12 ปี ปราศจากฟันผุ ในฟันแท้ (Caries Free) ร้อยละ 71

2. ประเด็นสมองดี เด็กอายุ 6 – 12 ปี ได้รับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก ร้อยละ 70 และ นักเรียนชั้น ป.1 ได้รับการเฝ้าระวัง(คัดกรอง)ภาวะโลหิตจาง ร้อยละ 80

3. ประเด็นรอบรู้ด้านสุขภาพ นักเรียนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ร้อยละ 50


กลยุทธ์/มาตรการ

กลยุทธ์/มาตรการการดำเนินงานในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย

1) ยกระดับคุณภาพการพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ Health Promotion School : HPS (อนามัยโรงเรียนและอนามัยสิ่งแวดล้อม) ตามแนววิถีชีวิตใหม่ในยุคดิจิทัล

2) พัฒนาระบบดูแลสุขภาพตามสิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกลุ่มเด็กวัยเรียน รองรับสถานการณ์ภัยคุกคามทางสุขภาพ

3) การสร้างเสริมทักษะความรอบรู้ด้านสุขภาพในสถานศึกษา (Plus Health Literacy : Plus HL) สื่อสารความรอบรู้เชิงสาธารณะหลากหลายรูปแบบ ทั้ง Off–line , On-line และ Social Media

4) บูรณาการความร่วมมือภาคีเครือข่าย 12 กระทรวง เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพเด็กวัยเรียนและการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา ในระดับพื้นที่

5) ผลักดันการส่งเสริมสุขภาพเด็กวัยเรียนและการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา ด้วยข้อมูล (Data Driven) ที่มีประสิทธิภาพ

6) พัฒนาสมรรถนะบุคลากรงานอนามัยโรงเรียน ครูอนามัยโรงเรียนวิถีใหม่ และ แกนนำผู้พิทักษ์อนามัยโรงเรียน


แผนงาน/โครงการที่สำคัญ สำหรับพื้นที่

1. โครงการพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ Plus HL ตามแนววิถีชีวิตใหม่ในยุคดิจิทัล

กิจกรรมสำคัญ

1. สนับสนุนให้สถานศึกษาเข้าร่วมการพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ Plus HL มีการประเมินตนเองตามกระบวนการ และผ่านการประเมินรับรองการเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ Plus HL

2. สนับสนุนให้สถานศึกษาใช้แนวทางการพัฒนาโรงเรียนรอบรู้ด้านสุขภาพ ในการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพในสถานศึกษา และใช้คู่มือหน่วยการเรียนรู้โรงเรียนรอบรู้ด้านสุขภาพและป้องกันโควิด-19 สำหรับครูผู้สอน เพื่อสร้างเสริมให้นักเรียนมีทักษะความรอบรู้ด้านสุขภาพ

3. พัฒนาโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพที่มีคุณภาพ รวมทั้ง การจัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ทั้งสุขาภิบาลอาหาร-น้ำ โรงอาหาร สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน และการเฝ้าระวังติดตามตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานศึกษา Sandbox Safety Zone in School โดยสถานศึกษาเชื่อมประสานการดำเนินงานร่วมกันกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่

4. สนับสนุนให้สถานศึกษาพัฒนาระบบส่งเสริมโภชนาการในโรงเรียนอย่างมีคุณภาพ เฝ้าระวังติดตามการเจริญเติบโตและโภชนาการ การชั่งน้ำหนัก & วัดส่วนสูง การใช้ระบบเฝ้าระวังติดตามสุขภาพ โภชนาการและพัฒนาการ (Thai School Lunch & KidDiary) รวมทั้ง การเข้าร่วมดำเนินงานเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านโภชนาการ สถานศึกษานำร่องตามมาตรฐานระบบจัดการอาหารและโภชนาการ

5. ส่งเสริมการมีสุขภาพช่องปากที่ดีในวัยเรียน เพิ่มความครอบคลุมให้ได้รับบริการคัดกรองสุขภาพช่องปากและได้รับการวางแผนดูแลรักษา รวมทั้ง สนับสนุนให้สถานศึกษาเข้าร่วมเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน/เครือข่ายเด็กไทยฟันดี

6. ส่งเสริมผลักดันให้หน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษาได้สนับสนุนให้สถานศึกษามีการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพนักเรียนอย่างต่อเนื่องด้วยรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ส่งเสริมการออกกำลังกายด้วยก้าวท้าใจ การออกกำลังกายด้วยรูปแบบของ ChOPA & ChiPA FUN for FIT ยืดความสูง เป็นต้น

2. โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพเด็กวัยเรียน บูรณาการการมีส่วนร่วมของชุมชน รองรับสถานการณ์ภัยคุกคามทางสุขภาพ

กิจกรรมสำคัญ

1. พัฒนาระบบดูแลสุขภาพเด็กวัยเรียนเชิงรุกในสถานศึกษา (Mobile Child Strong Together) โดยบริหารจัดการเชิงระบบในระดับอำเภอ เชื่อมการประสานงาน/ช่วยเหลือ ด้านทรัพยากรสาธารณสุขในระบบบริการปฐมภูมิร่วมกัน เพื่อให้มีการจัดบริการดูแลสุขภาพตามสิทธิประโยชน์การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค (PP) กลุ่มเด็กวัยเรียน อย่างครอบคลุม

2. เพิ่มการให้บริการคัดกรองสุขภาพเด็กวัยเรียนให้ครอบคลุมตามสิทธิประโยชน์ PP ได้แก่ การตรวจสุขภาพร่างกาย ตรวจคัดกรองสายตา ตรวจคัดกรองการได้ยิน ตรวจสุขภาพช่องปาก ตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจาง รวมทั้ง มีระบบส่งต่อให้ได้รับการดูแลรักษา ตามระบบ Service plan

3. สร้างการมีส่วนร่วมของ อปท. สถานศึกษา และสถานบริการสาธารณสุข ในชุมชน เพื่อสนับสนุนการจัดบริการส่งเสริมป้องกันอย่างครอบคลุม ได้แก่ การจ่ายยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในรายที่มีภาวะซีดได้รับการส่งต่อดูแลตามแผนการรักษารายบุคคล ส่งเสริมด้านโภชนาการและการจัดอาหารเสริมโภชนาการสำหรับเด็กในชุมชน ส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม รวมไปถึงการจัดสภาพแวดล้อมในชุมชนที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี

4. พัฒนางานอนามัยโรงเรียนที่มีคุณภาพ ครอบคลุมบริการคัดกรองสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การดูแลรักษา ส่งต่อและฟื้นฟูสุขภาพ พัฒนาห้องพยาบาลของโรงเรียนให้มีคุณภาพ เชื่อมระบบอนามัยโรงเรียนระหว่างสถานศึกษาและสถานบริการสาธารณสุขที่ดูแลโรงเรียนอย่างมี ประสิทธิภาพ

5. บูรณาการสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่าย 12 กระทรวงในระดับพื้นที่ เป็นกลไกหลักเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพเด็กวัยเรียนและการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม ในสถานศึกษา (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงศึกษาธิการ)

6. พัฒนาระบบฐานข้อมูลและการใช้ข้อมูลด้านสุขภาพเด็กวัยเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ข้อมูลในการประเมินสถานการณ์ภาวะสุขภาพ วางแผนการจัดบริการดูแลสุขภาพเด็กวัยเรียนอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยและเอื้อต่อการมีสุขภาพดี

Best Practice

· รูปแบบการขับเคลื่อนการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเด็กวัยเรียน ในเขตสุขภาพที่ 10 “วัยเรียนวิถีใหม่ เติบโตดี สมองดี มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ” ด้วยกระบวนการสร้างคุณค่า 6 ขั้น (Six B Value)

· นวัตกรรม “คู่มือหน่วยการเรียนรู้ สร้างเด็กวัยเรียนเติบโตดี สมองดี มีความรอบรู้สุขภาพ”

รายงานภาวะโภชนาการและการเจริญเติบโตของเด็กวัยเรียน 6-14 ปี สูงดีสมส่วน ในเขตสุขภาพที่ 10

เด็กวัยเรียน หมายถึงเด็กที่มีอายุ 6-14 ปี เด็กวัยนี้จะเจริญเติบโต มีพัฒนาการทางด้านร่างกาย และจิตใจ รวมทั้งการเรียนรู้อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่ จะนำไปสู่ชีวิตที่มีคุณภาพในอนาคต ดังนั้นอาหาร และการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าเด็กวัยนี้ได้รับอาหารไม่เพียงพอ มากเกินไป หรือไม่เหมาะสม จะส่งผลให้เด็กมีปัญหาโภชนาการ เตี้ย อ้วน ผอม ร่างกายเคราะแกรน สติปัญญาทึบ ไม่มีความพร้อมในการเรียน ประสิทธิภาพการเรียนรู้และการทำงานต่ำ ซึ่งการส่งเสริมให้เด็กได้รับอาหารและ 'โภชนาการ' ที่เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและพัฒนาสติปัญญาได้เต็มศักยภาพ1

สถานการณ์ภาวะโภชนาการ ของเด็กไทยอายุ 6 -14 ปี ปีงบประมาณ 2564 พบว่า เด็กสูงดีสมส่วน และภาวะผอมมีแนวโน้มที่ดีขึ้น กล่าวคือ สูงดีสมส่วน ร้อยละ 65.5 มีภาวะผอม ร้อยละ 3.6 แต่พบว่ามี ภาวะ เริ่มอ้วน และ อ้วนเตี้ย เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 12.4 สำหรับภาวะโภชนาการและการเจริญเติบโตของเด็กวัยเรียน อายุ 6 - 14 ปีภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ภาพรวมเขตสุขภาพที่ 10 ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าเด็กวัยเรียนยังมีภาวะทุพโภชนาการ โดยพบว่า เด็กวัยเรียน อายุ 6 - 14 ปี สูงดีสมส่วน เพียงร้อยละ 60.10 (เป้าหมายร้อยละ 66) มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 10.66 (เป้าหมายไม่เกินร้อยละ 10) มีภาวะเตี้ย ร้อยละ 9.61(เป้าหมายไม่เกินร้อยละ 5) เมื่อพิจารณาในรายจังหวัด พบสถานการณ์ปัญหาภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน และภาวะเตี้ย ในทุกจังหวัด โดยจังหวัดที่มีปัญหาภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน มากที่สุด คือ จังหวัดยโสธร ร้อยละ 12.52รองลงมาคือ จังหวัดอํานาจเจริญ ร้อยละ 12.14 ส่วนจังหวัดที่มีปัญหาเรื่องภาวะเตี้ย มากที่สุด คือ จังหวัดอํานาจเจริญ ร้อยละ 12.25 รองลงมาคือ จังหวัดยโสธร ร้อยละ 11.89 2

สำหรับการส่งเสริมให้เด็กไทย สูง สมส่วน แข็งแรง IQ ดี กรมอนามัยได้ดำเนินงานส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ที่เพียงพอและเหมาะสม เพื่อสุขภาวะเด็กวัยเรียนภายใต้โครงการ ChOPA & ChiPA Game มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาโรคอ้วนในวัยเด็ก ปัญหาพฤติกรรมเนือยนิ่ง สำหรับโภชนการในเด็กวัยเรียนควรจัดอาหารหลักให้เด็กบริโภคให้ครบทั้ง 3 มื้อ ไม่ควรเว้นมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเฉพาะมื้อเช้า จัดอาหารให้ครบถ้วนได้สัดส่วนและเพียงพอกับความต้องการของร่างกายเด็ก และบริโภคอาหารตรงเวลา ไม่ควรให้เด็กรับประทานขนมจุบจิบ ในแต่ละมื้อไม่ควรจัดให้มีอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลอย่างเดียวเท่านั้น ควรพยามจัดอาหารให้ครบหมู่3

ข้อเสนอแนะ

1. ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ChOPA & ChiPA Game เข้าสู่ Digital Platform ผ่านกิจกรรมก้าวท้าใจ

2. ส่งเสริมให้เด็กได้รับอาหารและ 'โภชนาการ' ที่เหมาะสม โดยจัดอาหารหมุนเวียนเป็นรายเดือนหรือรายสัปดาห์ เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารที่หลากหลายในสัดส่วน ที่เหมาะสม ปรุงประกอบอาหารเพื่อลดหวาน มัน เค็ม ไม่ใช้ผงชูรสในการประกอบอาหาร

3. รณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายภาคการศึกษา เพื่อสนับสนุนการคัดกรองและส่งเสริมสุขภาพเด็กนักเรียนวิถีใหม่ ด้วยชุดความรู้ NuPETHS

อ้างอิง

1. คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล. บทความสุขภาพ ภาวะโภชนาการในเด็กวัยเรียน. 2561.

2. ฐานข้อมูล HDC Services กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้น ณ วันที่ 29 มีนาคม 2565

3. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. การจัดการโรคอ้วนในเด็กไทย ชีวิตใหม่ อย่างยั่งยืน. 2564.