• สถานการณ์การเจริญเติบโตของเด็กวัยรุ่น 15-18ปี ในเขตสุขภาพที่ 10

รายงานสถานการณ์การเจริญเติบโตเด็กวัยรุ่น 15-18 ปี ในเขตสุขภาพที่ 10

เด็กในวันนี้คือกำลังสำคัญของชาติในอนาคต แต่เด็กวัยเรียนวัยรุ่นที่เตี้ย ผอม และขาดสารอาหาร จะมีการเจริญเติบโตที่บกพร่อง ภูมิต้านทานโรคต่ำ จึงติดเชื้อได้ง่ายและเจ็บป่วยบ่อย ส่งผลต่อระดับสติปัญญาตามมา ในทางตรงกันข้าม เด็กที่มีภาวะอ้วน จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น ภาวะทุพโภชนาการของเด็กวัยเรียนวัยรุ่นจึงเป็นวาระสำคัญที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ไขโดยผ่านทางนโยบายระดับชาติที่ชัดเจนในระยะยาว

สถานการณ์การเจริญเติบโตวัยรุ่นอายุ 15-18 ปี ปีงบประมาณ 2564 เทอมที่ 2 ในเขตสุขภาพที่ 10 พบว่า เด็กวัยรุ่นอายุ 15-18 ปี สูงดีสมส่วน ร้อยละ 68.20 ผอม ร้อยละ 1.38 เริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.04 เตี้ย ร้อยละ 7.09 ส่วนสูงเฉลี่ยของเด็กอายุ 18 ปี เพศชายส่วนสูงเฉลี่ย 171.19 เซนติเมตร เพศหญิงส่วนสูงเฉลี่ย 165.52 เซนติเมตร 1

สำหรับการแก้ปัญหาโภชนาการเด็กควรทำควบคู่กันทั้งที่บ้านและโรงเรียน ด้วยการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการที่ถูกต้องให้กับครูและผู้ปกครอง การสนับสนุนอาหารกลางวันที่มีคุณภาพในโรงเรียน และการปลูกฝังพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสมให้กับเด็กทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน กรมอนามัยส่งเสริมให้เด็กวัยรุ่น “สูงสมส่วน Strong Smart Smile” ด้วยชุดความรู้ NEST 1) N= Nutrition เสริมนมเป็นอาหารว่าง 1 กล่อง กินไข่วันละ 1 ฟอง 2) E=Exercise ออกกำลังกายสะสมไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน 3) S=Sleep นอนหลับสนิทอย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง Safe Sex/Sex Education มีความรู้ในการปฏิบัติตัวในเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย 4) T=Teeth แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง อย่างน้อย 2 นาที และไม่กินอาหารหรือเครื่องดื่มหลังแปรงฟันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง 2

อ้างอิง

1. ฐานข้อมูล HDC Services กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้น ณ วันที่ 8 เมษายน 2565

2. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางส่งเสริมวัยรุ่นสูงดีสมส่วน ชุดความรู้ NEST .2560.