ทรัพย์สินทางปัญญา

ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง ผลงานอันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทรัพย์สินอีกชนิดหนึ่ง นอกเหนือจากสังหาริมทรัพย์ คือ ทรัพย์สินที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เช่น นาฬิกา รถยนต์ โต๊ะ เป็นต้น และอสังหาริมทรัพย์ คือ ทรัพย์สินที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เช่น บ้าน ที่ดิน เป็นต้น

ประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา

โดยทั่วๆ ไป คนไทยส่วนมากจะคุ้นเคยกับคำว่า "ลิขสิทธิ์" ซึ่งใช้เรียกทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภท โดยที่ถูกต้องแล้วทรัพย์สินทางปัญญาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ที่เรียกว่า ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม และลิขสิทธิ์

ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม ไม่ใช่สังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม แท้ที่จริงแล้ว ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรมนี้ เป็นความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรม ความคิดสร้างสรรค์นี้จะเป็นความคิดในการประดิษฐ์คิดค้น การออกแบบผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะเป็นกระบวนการ หรือเทคนิคในการผลิตที่ได้ปรับปรุงหรือคิดค้นขึ้นใหม่ หรือที่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นองค์ประกอบและรูปร่างสวยงามของตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังรวมถึงเครื่องหมายการค้าหรือยี่ห้อ ซื่อและถิ่นที่อยู่ทางการค้า ที่รวมถึงแหล่งกำเนิดสินค้าและการป้องกันการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม จึงสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

· สิทธิบัตร (Patent)

· เครื่องหมายการค้า (Trademark)

· แบบผังภูมิของวงจรรวม (Layout - Designs Of Integrated Circuit)

· ความลับทางการค้า (Trade Secrets)

· สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication)

ประเภททรัพย์สินทางปัญญา

ลิขสิทธิ์ หมายถึง งานหรือความคิดสร้างสรรค์ในสาขาวรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม งานภาพยนต์ หรืองานอื่นใดในแผนกวิทยาศาสตร์ลิขสิทธิ์ยังรวมทั้ง

· สิทธิข้างเคียง (Neighbouring Right) คือ การนำเอางานด้านลิขสิทธิ์ออกแสดง เช่น นักแสดง ผู้บันทึกเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ในการบันทึกหรือถ่ายทอดเสียงหรือภาพ

· โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Computer Program หรือ Computer Software) คือ ชุดคำสั่งที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อกำหนดให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงาน

· งานฐานข้อมูล (Data Base) คือ ข้อมูลที่ได้รับเก็บรวบรวมขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ

สิทธิบัตร หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) หรือ ผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ (Utility Model) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด

การประดิษฐ์ คือ ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับ ลักษณะองค์ประกอบ โครงสร้างหรือกลไกลของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิตการักษา หรือปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์

การออกแบบผลิตภัณฑ์ คือ ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับการทำให้รูปร่างลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์เกิดความสวยงาม และแตกต่างไปจากเดิม

ผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อนุสิทธิบัตร (Petty Patent) จะมีลักษณะคล้ายกันกับการประดิษฐ์ แต่เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่มีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีไม่สูงมาก หรือเป็นการประดิษฐ์คิดค้นเพียงเล็กน้อย

แบบผังภูมิของวงจรรวม หมายถึง แผนผังหรือแบบที่ทำขึ้น เพื่อแสดงถึงการจัดวางและการเชื่อมต่อวงจรไฟฟ้า เช่น ตัวนำไฟฟ้า หรือตัวต้านทาน เป็นต้น

เครื่องหมายการค้า หมายถึง เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์หรือตราที่ใช้กับสินค้า หรือบริการ ได้แก่

· เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) คือเครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น โค้ก เป๊ปซี่ บรีส แฟ้บ เป็นต้น

· เครื่องหมายบริการ (Service Mark) คือ เครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับการบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น เช่น เครื่องหมายของสายการบิน ธนาคาร โรงแรม เป็นต้น

· เครื่องหมายรับรอง (Certification mark) คือเครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพของสินค้า หรือบริการนั้น เช่น เชลล์ชวนชิม แม่ช้อยนางรำ เป็นต้น

· เครื่องหมายร่วม (Collective Mark) คือ เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมาบบริการที่ใช้โดยบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคม กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน เช่น ตราช้างของบริษัทปูนซิเมนไทย จำกัด เป็นต้น

ความลับทางการค้า หมายถึง ข้อมูลการค้าที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และมีมูลค่าในเชิงพาณิชย์เนื่องจากข้อมูลนั้นเป็นความลับ และมีการดำเนินการตามความสมควรเพื่อรักษาข้อมูลนั้นไว้เป็นความลับ

ชื่อทางการค้า หมาถึง ชื่อที่ใช้ในการประกอบกิจการ เช่น โกดัก ฟูจิ เป็นต้น

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หมายถึง ชื่อ สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้แทน แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และสามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์นั้น เช่น มีดอรัญญิก ส้มบางมด ผ้าไหมไทย แชมเปญ คอนยัค เป็นต้น

ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 "ลิขสิทธิ์ ​หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น" ดังนั้นการใช้ซอฟต์แวร์ที่ผู้อื่นสร้างขึ้นจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากผู้สร้าง โดยใบอนุญาต (license) นี้เป็นสัญญาระหว่างผู้สร้างกับผู้ใช้ซอฟต์แวร์ ใบอนุญาตเป็นการให้สิทธิผู้ใช้ในการใช้ซอฟต์แวร์ได้โดยไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งผลก็คือใบอนุญาตทำหน้าที่เหมือนคำสัญญาว่าผู้สร้างจะไม่ฟ้องร้องผู้ใช้ในการใช้ซอฟต์แวร์ซึ่งถือเป็นสิทธิของผู้สร้างแต่เพียงผู้เดียว

ใบอนุญาตนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท โดย Free Software Foundationได้แบ่งใบอนุญาตด้วยคำถาม 3 คำถามคือ

1. ใบอนุญาตนั้นมีคุณสมบัติเป็นใบอนุญาตซอฟต์แวร์เสรี (free software license) หรือไม่

2. บอนุญาตนั้นเป็นใบอนุญาตแบบ copyleft หรือไม่

3. ใบอนุญาตนั้นเข้ากันได้กับใบอนุญาต GPL หรือไม่

รู้หรือไม่

· ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ถือเป็นงานวรรณกรรม คือ งานนิพนธ์ที่ทำขึ้น ได้รับการคุ้มครองแบบลิขสิทธิ์เท่านั้น ไม่สามารถนำไปขอจดสิทธิบัตร

· ผลงานประเภทที่สามารถจดสิทธิบัตร (Patent) ได้ คือ สิ่งประดิษฐ์ (ยกตัวอย่างสิทธิบัตรที่นักศึกษาสืบค้นส่งอาจารย์) และออกแบบผลิตภัณฑ์ (เช่น การออกแบบสี ลวดลาย รูปร่าง ของสิ่งของ เครื่องใช้ ที่มีคุณค่าในเชิงเศรษฐกิจ

· ในกรณีที่ไม่ได้ทำสัญญาระหว่างกัน เมื่อลูกจ้างทำการเขียนซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ขึ้น ซอฟต์แวร์นั้นย่อมเป็นลิขสิทธิ์ของลูกจ้าง แต่บริษัทสามารถนำซอฟต์แวร์ออกเผยแพร่ หรือจำหน่ายได้ ตามวัตถุประสงค์ของการจ้างงานนั้น

· หากเจ้าของขายลิขสิทธิ์ให้ผู้อื่นแล้ว ก็ยังสามารถแสดงตนว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์นั้นได้

· เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้างของบริษัทนำซอฟต์แวร์หรือผลงานลิขสิทธิ์ที่คิดขึ้นขณะที่เป็นลูกจ้างของเราออกไปหาผลประโยชน์ บริษัทจะต้องให้ลูกจ้างเซ็นสัญญษยกลิขสิทธิ์ในผลงานทุกอย่าง ที่ทำขึ้นขณะเป็นลูกจ้างของเราให้แก่บริษัท

· หากบริษัทคู่แข่งสร้างซอฟต์แวร์ที่มีวิธีการทำงานเหมือนกับซอฟต์แวร์ที่บริษัทเราสร้างขึ้นมาก่อน บริษัทคู่แข่งไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของเรา เพราะ สิ่งที่ไม่ใช่งานลิขสิทธิ์ เช่น ความคิด ขั้นตอน กรรมวิธี ระบบ หลักการ วิธีใช้หรือทำงาน ทฤษฎี แนวความคิด การค้นพบ ข่าวประจำวัน เป็นต้น

· ถ้าถูกจับได้ว่าละเมิดลิขสิทธิ์ต้องเสียค่าละเมิดลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์

· เมื่อพัฒนาซอฟต์แวร์หรือเว็บไซต์เสร็จ จะได้รับการคุ้มครองทันที โดยไม่ต้องไปทำการจดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่เราสามารถไปจดแจ้งลิขสิทธิ์ไว้ได้ เพื่อเป็นการแจ้งให้ผู้อื่นรับทราบ

· การดัดแปลงซอฟต์แวร์ โดยได้รับอนุญาตถือว่าไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

· หากมีผู้มาทำการดัดแปลง คัดลอกซอฟต์แวร์ของบริษัท ทางบริษัทสามารถเอาผิดกับบุคคลเหล่านั้นได้โดยการดำเนินคดีตามกฎหมายได้ทันที แต่บางครั้ง อาจเจรจายอมความได้ หรือเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ก็ได้

· บทลงโทษเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ คือ การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง เช่น ทำซ้ำ ดัดแปลง : มีโทษปรับ 20,000 - 200,000 บาท หากทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับ 100,000 - 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม (สนับสนุนให้เกิดการละเมิด) : มีโทษปรับ 10,000 - 100,000 บาท หากทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุก 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือ 50,000 - 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

· หากเป็น บุคคลธรรมดา ผลงานลิขสิทธิ์จะได้รับการคุ้มครองตลอดชีวิตผู้สร้างสรรค์ + 50 ปี หากเป็น นามแฝง/นิติบุคคล จะได้รับการคุ้มครอง 50 ปี นับแต่สร้างสรรค์

· หากผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เสียชีวิตลงสิทธิในการครอบครองลิขสิทธิ์นั้นจะตกแก่ทายาท(ในระยะเวลาไม่เกิน 50 ปี)

· งานที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพราะอายุแห่งการคุ้มครองสิ้นสุดลง หากนำมารวบรวม ผู้ทำการรวบรวมสามารถเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นได้

· ข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงต่างๆที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารเมื่อนำไปเผยแพร่ต่อ ถือว่าไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

· ถ้ามีผู้ว่าจ้างให้พัฒนาซอฟต์แวร์ โดยมีสัญญาว่าจ้าง ผลงานที่ได้เป็นของผู้ว่าจ้าง ผู้ถูกว่าจ้างนำไปขายต่อให้แก่องค์กรอื่นไม่ได้

· เมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์เสียชีวิตลง จะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้นต่อไปอีก 50 ปี หลังจากเสียชีวิต

· การติชมหรือวิจารณ์ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ ถือว่าไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

· เมื่อซื้อซอฟต์แวร์ หากทำซ้ำ เพื่อป้องกันการสูญหายหรือเสียหาย(Back up) ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์