สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

  1. 1. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications) คืออะไร

    1. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หมายถึง ชื่อ สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และที่สามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าวหรืออาจกล่าวได้ว่า ชื่อ หรือสัญลักษณ์ที่ใช้ประกอบระหว่างชื่อแหล่งภูมิศาสตร์นั้นกับสินค้าแสดงให้ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคได้ทราบถึงแหล่งกำเนิดของสินค้านั้น ซึ่งแหล่งกำเนิดนั้นส่งผลให้สินค้านั้นมีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะพิเศษที่แตกต่างสินค้าชนิดเดียวกันในท้องถิ่นอื่น

  2. 2.กฎหมายที่คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

    1. พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546

  3. 3.ลักษณะของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขอรับความคุ้มครองได้

    1. 3.1 เป็นชื่อ สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่เรียกหรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์และสามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้น มีคุณภาพ ชื่อเสียงหรือคุณลักษณะเฉพาะ

    2. 3.2 สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้นต้องมีความเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ คือ พื้นที่ของประเทศ เขต ภูมิภาค และท้องถิ่นและให้หมายความรวมถึงทะเล ทะเลสอบ แม่น้ำ เกาะ ภูเขา หรือพื้นที่อื่นทำนองเดียวกัน

    3. 3.3 ไม่เป็นชื่อสามัญที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นชื่อที่ใช้เรียกขานสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งที่จะใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้น

    4. 3.4 ไม่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือนโยบายของรัฐ

    5. 3.5 กรณีเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของต่างประเทศจะต้องปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศนั้นและมีการใช้สืบเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนในประเทศไทย

  4. 4.ผู้มีสิทธิยื่นคำขอขึ้นทะเบียน

    1. 4.1 ส่วนราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์การอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีเขตรับผิดชอบครอบคลุมบริเวณแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า

    2. 4.2 บุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคล หรือ นิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการค้าเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และมีถิ่นที่อยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า

    3. 4.3 กลุ่มผู้บริโภคหรือองค์กรผู้บริโภคสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

  5. 5.การเตรียมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

    1. 1. กำหนดสินค้าที่ต้องการคุ้มครอง รวบรวมข้อมูลและรวมกลุ่มผู้ประกอบการทั้งสายการผลิต (ตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงผู้จำหน่าย) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการขอขึ้นทะเบียน

    2. 2. จัดทำขอกำหนดในการผลิตสินค้า ขอบเขตพื้นที่ในการผลิตความเชื่อมโยงของสินค้ากับพื้นที่ และประวัติศาสตร์ความเป็นมา

    3. 3. จัดทำคำขอขึ้นทะเบียนตามกฎหมายยื่นต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองโดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย

    4. 4. จัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบและกลไกควบคุมการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตามที่ขอขึ้นทะเบียนไว้

  6. 6. ผู้มีสิทธิใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ภายหลังได้รับการขึ้นทะเบียน

    1. 1.ผู้ผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ซึ่งอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า ดังกล่าว

    2. 2. ผู้ประกอบการค้าเกี่ยวกับสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้น

  7. 7.การระงับใช้

    1. ในกรณีผุ้มีสิทธิใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้และนายทะเบียนได้มีหนังสือแจ้งให้ปฏิบัติตามเงื่อนภายระยะเวลาที่กำหนดหากไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นายทะเบียนอาจมีคำสั่งให้ระงับใช้เป็นระยะเวลาไม่เกินสองปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

  8. 8.อายุการคุ้มครอง

    1. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียนแล้วจะได้รับการคุ้มครองตลอดไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาเว้นแต่จะมีการเพิกถอนทะเบียน

  9. 9.การคุ้มครองสำหรับสินค้าเฉพาะอย่าง

    1. สินค้าเฉพาะอย่าง หมายถึง สินค้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศกำหนดเป็นสินค้าเฉพาะอย่าง ได้แก่ ข้าว ไหม ไวน์ และสุรา ซึ่งสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเภทเหล่านี้ จะได้รับความคุ้มครองระดับพิเศษกล่าวคือ หากมีการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับสินค้าที่ไม่ได้มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่ระบุในคำขอ แม้ว่า ผู้ใช้จะได้ระบุแหล่งภูมิศาสตร์ที่แท้จริงก็ตาม รวมถึงการใช้คำว่า ชนิด ประเภท แบบ หรือคำ หรือสิ่งทำนองเดียวกัน ประกอบกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ใช้กับสินค้านั้น เช่น จะบรรยายในฉลากว่า ข้าวชนิดนี้เป็นข้าวชนิดเดียวกับข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ร้องไห้ผลิตจากจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้ เพราะถือว่าสินค้าข้าวเป็นสินค้าเฉพาะอย่างที่ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศกำหนดไว้ เป็นต้น

  10. 10.เอกสารและหลักฐานที่ใช้ในการขอขึ้นทะเบียน

    1. 1. คำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (สช.01) พร้อมสำเนา 1 ชุด

    2. 2. หลักฐานอื่นๆ ของผู้ขอ เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองนิติบุคคล เป็นต้น

    3. 3. สำเนาหนังสือมอบอำนาจ และสำเนาบัตรประจำตัวของผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)

    4. 4. ภาพถ่ายของสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขอขึ้นทะเบียน

    5. 5. ต้นฉบับ สำเนา หรือภาพถ่ายฉลากสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขอขึ้นทะเบียน

    6. 6. เอกสารอื่นๆ ได้แก่

      1. 6.1 เอกสารยืนยันความมีคุณภาพ ชื่อเสียง คุณสมบัติหรือคุณลักษณะอื่นของสินค้า

      2. 6.2 เอกสารยืนยันถึงความเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์

      3. 6.3 ภาพถ่ายแผนที่แสดงขอบเขตพื้นที่ของแหล่งภูมิศาสตร์ที่ขอขึ้นทะเบียน

      4. 6.4 เอกสารยืนยันว่าสินค้ามีแหล่งกำเนิดมาจากพื้นที่แหล่งภูมิศาสตร์

  11. 11.ค่าธรรมเนียม

    1. คำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ฉบับละ 500 บาท

    2. คำคัดค้านการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ฉบับละ 500 บาท

    3. คำอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจของนายทะเบียน ฉบับละ 500 บาท

    4. คำขอแก้ไขทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ฉบับละ 200 บาท

    5. คำขอเพิกถอนทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ฉบับละ 200 บาท

    6. คำขออื่นๆ ฉบับละ 200 บาท