การวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ

การวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ

การทำแผนกลยุทธ์ไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าจะเข้าใจ แต่ก่อนอื่นองค์กรจะต้องทราบรายละเอียดและความเชื่อมโยงขององค์ประกอบของแผนกลยุทธ์ ซึ่งมีอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน คือ ความมุ่งหมายและวิธีการ

  • ความมุ่งหมาย คือ สิ่งที่องค์กรคาดหวัง เป็นภาพขององค์กรในอนาคตที่ผู้บริหารอยากจะเป็นในอีก 2-3 ปี ข้างหน้า ตัวอย่างเช่น Walmart จะเป็นห้างค้าปลีกที่ดีที่สุดในโลก แต่พนักงานทั่วไปอาจไม่รู้ว่าการเป็นห้างค้าปลีกที่ดีที่สุดในโลกนั้นเป็นอย่างไร? มีลักษณะอย่างไร? ดังนั้น จึงต้องมีองค์ประกอบอื่นตามมาทั้งวิสัยทัศน์ พันธกิจ รวมทั้งเป้าหมาย

  • วิธีการ ทำกิจกรรมต่างๆ องค์ประกอบเหล่านี้จะเรียงลำดับตามความสำคัญ โดยมีวิสัยทัศน์เป็นองค์ประกอบหลัก รองลงมาเป็นพันธกิจ เป้าหมาย และวิธีการต่างๆ ตามลำดับ เมื่อองค์กรสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ตามวิธีการที่กำหนดในแผนกลยุทธ์แล้ว ก็จะส่งผลให้เป้าหมายต่างๆ ที่สัมพันธ์กับกิจกรรมนั้นเป็นจริง พันธกิจก็ย่อมเป็นจริงตามไปด้วย และถ้าพันธกิจเป็นจริง วิสัยทัศน์ก็จะเป็นจริงในที่สุด

ในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะสิ่งแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก จนแทบจะไม่มีองค์กรใดที่สามารถเขียนแผนกลยุทธ์ระยะยาว แล้วไม่ปรับระหว่างทางได้ เขียนไปแล้วต้องปรับอยู่เรื่อยๆ เพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจะเห็นได้ว่าหลายธุรกิจได้ล้มหายตายจากไป เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ ตัวอย่าง “โกดัก” หายไปเพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง ล่าสุดมีงานวิจัยบอกว่า “ห้างสรรพสินค้าเซียร์ส” ก็กำลังจะหายไปจากสหรัฐอเมริกาและจากโลกนี้ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า อันเป็นผลกระทบจากกลยุทธ์ เนื่องจากเซียร์สกำหนดจุดยืนไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะขายของยังไงให้โดดเด่น จะทำอย่างไรให้มีเอกลักษณ์และความแตกต่างจากห้างอื่น (จะขายถูกอย่าง “Walmart” ก็ไม่ได้) เซียร์สจึงอยู่ไม่ได้ นี่เป็นเรื่องกลยุทธ์ทางการแข่งขันที่เกิดขึ้น

ดังนั้น การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนจะต้องสร้างความโดดเด่นที่เหนือกว่าคู่แข่งด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการแข่งขัน ในบางคราวอาจไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่ทำให้ลูกค้าเชื่อเท่านั้น อย่างเช่น น้ำยาอุทัยทิพย์ที่ใช้ผสมเครื่องดื่มแก้กระหาย ปัจจุบันเด็กวัยรุ่นนำมาทาแก้ม ทาปาก หรือผงพิเศษ ตราร่มชูชีพ เดิมใช้สำหรับแผลสด ต่อมานิยมนำมาทาแก้สิว สิ่งเหล่านี้เป็นการขยายฐานลูกค้า ที่ทำให้สินค้ายังคงแข่งขันอยู่ได้ ด้วยการเปลี่ยนความเชื่อของลูกค้าที่มีต่อสินค้าให้เข้ากับยุคสมัย

กลยุทธ์การแข่งขันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าหากใช้กลยุทธ์ทางการแข่งขันไม่ถูกต้อง องค์กรจะประสบกับปัญหาทันที ยกตัวอย่าง ห้างสรรพสินค้าหนึ่งมีการขีดเส้นสีเขียวไว้บริเวณจุดจ่ายเงิน “หากยืนรอจ่ายเงินเกินเส้นสีเขียวทางห้างจะเปิดแคชเชียร์ใหม่อีกเครื่องเพื่อบริการลูกค้า” แต่ถ้ากลับมาดูจุดยืนห้างนี้บอกว่า “เป็นห้างที่ขายของถูก แต่ความเป็นจริงแล้วของส่วนใหญ่จะขายแพงกว่าห้างอื่น” ที่เป็นอย่างนั้นเพราะทางห้างดำเนินกลยุทธ์การแข่งขันที่ไม่ถูกต้อง หากจะแข่งขันกันที่ราคา ต้นทุนต้องต่ำ แต่การเปิดเครื่องเก็บเงินหลายๆ เครื่องทำให้ต้นทุนเพิ่มทันที จึงตั้งราคาขายต่ำไม่ได้