วิปัสสนาญาณ 16

คำสอนโดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)

ณ โอกาสบัดนี้ อาตมาภาพจะได้แสดงพระธรรมเทศนา ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ตามหัวข้อที่ได้กำหนดไว้ คือเรื่องญาณ 16 เพื่อให้คณาจารย์ นิสิต และญาติโยมทั้งหลายได้มีโอกาสฟัง เพื่อพิจารณาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน หลังจากที่บรรดานิสิตทั้งหลายได้มาเข้าอบรมปฏิบัติกรรมฐานตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2534 เป็นต้น แล้วก็มาสิ้นสุดวันนี้ 8 ตุลาคม 2534 ก็ถือโอกาสบรรยายธรรมเกี่ยวกับเรื่อง ญาณ 16 คือ ลำดับขั้นตอนของวิปัสสนาที่จะเกิดขึ้น ว่าเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร ตั้งแต่ญาณที่ 1 ไป จนกระทั่งถึงญาณที่ 16 ตั้งแต่โลกิยะขึ้นไปจนถึงโลกุตตระ ถึงขั้นละกิเลสเป็นสมุจเฉท เป็นไปอย่างไร ก็จะนำมาแสดงพอสังเขป พอเข้าใจ ตามเวลาที่กำหนดให้

หลังจากผู้มีศรัทธาต่อการประพฤติปฏิบัติกรรมฐาน ได้ลงมือประพฤติปฏิบัติเจริญวิปัสสนา คือตั้งสติกำหนดรู้รูปนามที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกอริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว ทุกขณะ ได้เจริญสติกำหนดให้เป็นไปโดยติดต่อกัน มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ พิจารณากาย อย่างเช่น ลมหายใจเข้า หายใจออก อิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถต่างๆ ทั้งหมด การก้ม การเงย การคู้เหยียด เคลื่อนไหว กำหนดเวทนา การเสวยอารมณ์ สบายกาย ไม่สบายกาย ดีใจ เสียใจ เฉยๆ กำหนดจิตที่ขณะคิดนึกไปสู่อารมณ์ต่างๆ ก็กำหนดที่สภาพจิตใจ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตรู้กลิ่น จิตรู้รส จิตรู้สัมผัส จิตคิดนึก มีสติรู้เท่าทันจิต และกำหนดรู้ถึงสภาวธรรมในจิตใจที่ปรุงแต่งจิตใจ เช่น ความพอใจ ไม่พอใจ สงบ ไม่สงบ สภาวธรรมที่ปรุงแต่งในจิตใจต่างๆ มีความเป็นปกติไม่บังคับ มีสติรู้เท่าทันรูปนามที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบัน ชั่วขณะแวบเดียวๆ ขณะเห็นนิดหนึ่ง ขณะได้ยิน ขณะรู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส คิดนึก มีความติดต่อกันอยู่ก็เกิดวิปัสสนาญาณขึ้น

ญาณที่ 1 เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นญาณที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง รูปธรรมนามธรรม คือ มองเห็นความต่างกันของธรรมชาติ 2 อย่าง คือเห็นรูปก็เป็นลักษณะธรรมชาติอย่างหนึ่ง เห็นนามก็เป็นลักษณะธรรมชาติอย่างหนึ่ง เช่นว่า เห็นว่าการเคลื่อนไหวก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถจะรับรู้อะไรได้ ตัวมันเองไม่สามารถจะรับรู้อารมณ์ได้ เป็นเพียงแต่ธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาแล้วก็สลายตัวไป จัดว่าเป็นรูปธรรม ส่วนตัวที่เข้าไปรู้ เป็นธรรมชาติที่สามารถจะรับรู้อะไรได้ จัดเป็นนามธรรม เห็นความต่างกันของธรรมชาติ 2 อย่าง คือเห็นรูปก็อย่างหนึ่ง เห็นนามก็อย่างหนึ่ง อย่างนี้เรียกว่า สามารถแยกรูปแยกนามได้ เห็นรูปเห็นนามต่างกันไม่ว่าจะเป็นทวารอื่นก็ตาม ขณะที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง มากระทบกาย มีสติรู้ทัน ก็เห็นว่า เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง นั้นก็เป็นแต่ธรรมชาติ ที่มากระทบแล้วก็สลายไป ไม่สามารถจะรับรู้อะไรได้

ส่วนตัวจิตใจเป็นตัวที่เข้าไปรู้ได้ เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง เป็นนามธรรม หรือลมหายใจที่เข้าออกกระทบโพรงจมูก หายใจเข้าเย็น หายใจออกร้อน เป็นตัวที่ไม่สามารถจะไปรับรู้อะไรได้ มีหน้าที่กระทบแล้วก็สลายไป เป็นรูปธรรม ส่วนตัวจิตที่เข้าไปรับรู้ลมหายใจ สามารถที่จะรับรู้อะไรได้ ก็ไปรับรู้ลมหายใจ เป็นนามธรรม เห็นลมหายใจก็อย่างหนึ่ง เห็นตัวที่เข้าไปรู้ลมหายใจก็อย่างหนึ่ง อย่างนี้ก็เรียกว่า มีปัญญาแยกสภาวะรูปนามได้ ก็จะทำให้เข้าใจว่า ในชีวิตนี้มันไม่มีอะไร ในเนื้อแท้จริงๆ แล้วมีแต่รูปกับนามเกิดขึ้นเท่านั้น ปราศจากความเป็นสัตว์เป็นบุคคล ในขณะที่จิตไปสัมผัสรูปนามนั้น ก็ไม่มีสัตว์บุคคล ตัวตนอะไรต่ออะไร เมื่อผู้ปฏิบัติทำความเพียรต่อไป เจริญสติกำหนดรูปนามยิ่งขึ้นไปก็จะขึ้นถึงญาณที่ 2

ญาณที่ 2 เรียกว่า ปัจจยปริคคหญาณ คือ เห็นเหตุปัจจัยของรูปนาม คือจะเห็นว่า รูปนามนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน มีความเกี่ยวข้องเป็นปัจจัยกันเช่นขณะที่การก้าวไปๆ การคู้ การเหยียด การเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นไปเพราะว่ามีธรรมชาติอย่างหนึ่งเป็นตัวเหตุปัจจัย คือมีจิต จิตปรารถนาจะให้กายเคลื่อนไหว กายก็เคลื่อนไหวไป จิตปรารถนาจะยืน กายก็ยืน จิตปรารถนาจะเดิน กายก็เดิน จิตปรารถนาจะนอน กายก็นอน คือลมก็ไปผลักดันให้กายนั้นเป็นไป อย่างนี้เรียกว่า นามเป็นปัจจัยให้เกิดรูป นามคือจิตใจเป็นปัจจัยให้เกิดรูป

รูปที่ก้าวไป รูปที่เคลื่อนไหว เกิดขึ้นมาได้เพราะว่าจิตเป็นปัจจัย ส่วนรูปบางอย่างรูปเป็นปัจจัยให้เกิดนาม เช่นเสียง เสียงมีมากระทบประสาทหู เสียงเป็นรูป เมื่อกระทบประสาทหูซึ่งเป็นรูปด้วยกัน ก็เกิดการได้ยินขึ้น เกิดการรับรู้ทางหูขึ้น ก็จะมองเห็นว่ามันเป็นเหตุปัจจัยกัน เสียงมากระทบจึงเกิดการได้ยินขึ้น เรียกว่ารูปเป็นปัจจัยให้เกิดนาม เย็นร้อนอ่อนแข็งอ่อนตึง เป็นรูปมากระทบกายก็เกิดการรับรู้ซึ่งเป็นนามเกิดขึ้น เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมมีความเพียรดูรูปนาม เห็นความเกิดดับ เห็นความเป็นเหตุเป็นปัจจัยของรูปนามอยู่เสมอก็จะก้าวขึ้นสู่ญาณที่ 3

ญาณที่ 3 สัมมสนญาณ ในสมมสนญาณนี้ก็เป็นญาณที่เห็นไตรลักษณ์ คือเห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงของรูปนาม เห็นทุกขัง คือความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ของรูปนาม เห็นอนัตตา ความบังคับบัญชาไม่ได้ของรูปนาม แต่ว่าการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในญาณที่ 3 นี้ยังเอาสมมุติบัญญัติมาปน ยังมีสุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการได้ฟังมา เอาจินตามยปัญญาความตรึกนึกคิดมาปนอยู่ด้วย ยังไม่บริสุทธิ์ในความเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ทำให้รู้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่ยังมีสมมุติบัญญัติ มีปัญญาที่ได้จากการได้ฟัง จากการคิดพิจารณาขึ้นมา ก็เกิดเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาขึ้น เมื่อผู้ปฏิบัติได้ทำความเพียร กำหนดดูรูปนามเรื่อยไปก็จะก้าวขึ้นสู่ญาณที่ 4

ญาณที่ 4 คือ อุทยัพพยญาณ ในอุทยัพพยญาณนี้ ก็แบ่งเป็น 2 ตอนเป็น ตรุณอุทยัพพยญาณ อย่างหนึ่ง กับเป็น พลวอุทยัพพยญาณ อย่างหนึ่ง คือ เป็นอุทยัพพยญาณอย่างอ่อน กับอุทยัพพยญาณอย่างแก่ คือ ญาณที่ 4 อย่างอ่อนกับญาณที่ 4 อย่างแก่ ในขณะที่ญาณที่ 4 อย่างอ่อน คือตรุณอุทยัพพยญาณนี้ ก็จะทำให้เกิด วิปัสสนูปกิเลสขึ้น ที่จะทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง วิปัสสนูปกิเลส คือกิเลสที่จะทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง คือทำให้วิปัสสนาไม่เจริญขึ้น จะไม่ก้าวหน้า จะหยุดชะงัก ทำให้ผู้ปฏิบัตินั้นหลงติดอยู่ในวิปํสสนูปกิเลสเหล่านั้น วิปัสสนาก็ไม่เจริญขึ้น ทำวิปัสสนากรรมฐานไม่ก้าวหน้า อยู่แค่นั้น เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติจะต้องทำความเข้าใจว่า เมื่อถึงขณะนั้นแล้วมันจะเกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ให้รู้ทัน วิปัสสนูปกิเลสนี้ที่จริงมันก็เป็นธรรมฝ่ายดี เช่น ปิติ ความสุข ความสงบ เป็นธรรมฝ่ายดี แต่มันเสียตรงที่ว่าเกิดความไปยินดีพอใจติดใจในสิ่งเหล่านั้น เรียกว่ามีนิกันตความไปพอใจ วิปัสสนาญาณก็ไม่เจริญ วิปัสสนูปกิเลส ที่เกิดมี 10 ประการนั้น

ประการที่ 1 ก็คือ โอภาส โอภาส ได้แก่ แสงสว่าง เกิดความสว่างขึ้นในใจ จิตใจของบุคคลนั้นจะรู้สึกเกิดความพอใจกับสิ่งอัศจรรย์ในใจที่มันปรากฏขึ้น มีความสว่างในจิตในใจขึ้น มีเหมือนเป็นแสงสว่างอยู่ทั่วตัว เกิดความยินดีพอใจ เมื่อเกิดความยินดีพอใจรูปนามก็มองไม่เห็น ไม่เห็นรูปนาม เพราะมัวติดอยู่กับแสงสว่างเหล่านั้น เรียกว่ามี นิกันติ

ประการที่ 2 เกิดญาณะ ญาณะก็คือ ความรู้ เกิดความรู้แก่กล้าขึ้น มีความรู้สึกว่าตัวเองนั้นรู้อะไรทะลุปรุโปร่งไปหมด จะคิดจะนึกจะพิจารณาอะไรมันเข้าใจไปหมด ก็เกิดความพอใจยินดีติดใจในความรู้ของตนที่เกิดขึ้น วิปัสสนาญาณก็ไม่เจริญก้าวหน้า

ประการที่ 3 ก็คือ ปีติ ได้แก่ความอิ่มเอิบใจ จะมีความอิ่มเอิบใจอย่างมาก อย่างแรงกล้า จิตใจมีความปลื้มอกปลื้มใจปิติอิ่มเอิบอย่างมาก แล้วก็เกิดความยินดีพอใจในปีติเหล่านี้ วิปัสสนาก็ไม่เจริญ

ประการที่ 4 เกิดปัสสัทธิ คือความสงบอย่างแรงกล้า จิตใจมีความสงบอย่างมาก มีความนิ่ง ความสงบ ลงไปอย่างมาก แล้วก็เกิดความพอใจเกิดความยินดี พอใจในความสงบ ที่จริงความสงบมันเป็นเรื่องดี แต่มันไปเสียที่เกิดความยินดีพอใจ ตัวความยินดีพอใจเป็นโลภะ มักจะเกิดขึ้นถ้ารู้ไม่ทัน พอเกิดแล้ว การเห็นรูปนามก็ไม่เห็น ไปติดอยู่กับวิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้

ประการที่ 5 เกิดสุขะ สุขะคือความสุขอย่างแก่กล้า คือ ความสบายใจ ใจเย็นสบายมาก แล้วก็เกิดนิกันติ คือความพอใจในความสบาย เป็นโลภะเช่นกัน วิปัสสนาญาณก็เจริญไม่ได้

ประการที่ 6 เกิดอธิโมกข์ คือตัดสินใจเชื่อ เกิดความเชื่อลงไปอย่างมาก เชื่อถือลงไป แล้วก็ติดใจในความเชื่อถือเหล่านั้น ไม่เห็นรูปนามอีกเหมือนกัน

ประการที่ 7 เกิดปัคคหะ คือความเพียรอย่างแรงกล้า ผู้ปฏิบัติจะเกิดความเพียรอย่างมาก เพราะทำให้ไม่มีความพอดี ก็ไม่เห็นรูปนามต่อไป เพราะเกิดความติดใจในความเพียรนั้น

ประการที่ 8 เกิดอุปัฏฐานะ คือ สติ เกิดสติแก่กล้า มีความรู้สึกว่าสตินี้คล่องว่องไวเหลือเกินที่จะกำหนดรู้สภาวธรรมต่างๆ อารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบในส่วนต่างๆ จุดต่างๆ สติมีความรับรู้ว่องไวมาก แล้วก็เกิดความพอใจในสติที่มีสติระลึกรู้ได้เท่าทัน ที่จริงสติเป็นเรื่องดีเป็นสิ่งที่ควรเจริญให้เกิดขึ้น แต่มันไปเสียตรงที่มีนิกันติ คือมีความยินดีพอใจในสติที่เกิดขึ้น วิปัสสนาก็ก้าวไปไม่ได้

ประการที่ 9 เกิดอุเบกขา คือ ความเฉยๆ จิตใจมีความเฉยมาก ไม่รู้สึกดีใจเสียใจ ใจมีความเฉย แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดนิกันติ พอใจในความเฉยได้ สังเกตได้ยาก มันเฉยแล้วพอใจในความเฉย ไม่โลดโผน วิปัสสนาก็เจริญไม่ได้

ประการที่ 10 นิกันติ ความยินดีติดใจ เป็นตัวสำคัญที่ทำให้วิปัสสนาญาณไม่เจริญฉะนั้น ก็เป็นที่เข้าใจว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ที่จริงเป็นเรื่องดี ปิติก็ดี ความสุขก็ดี ความสงบก็ดี ความรู้สติก็ดี มันเป็นเรื่องดีเกิดขึ้นมา แต่ว่ามันเสียตรงที่มีนิกันติ คือความเข้าไปยินดีติดใจ ทำให้การเจริญวิปัสสนานั้นไม่ก้าวหน้าเพราะไปติดอยู่แค่นั้น

วิธีที่จะผ่านวิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้ไปจะทำอย่างไร ผู้ปฏิบัติก็ต้องมีความแยบคายในการพิจารณาถึงลักษณะความยินดีพอใจที่เกิดขึ้น สังเกตให้ออกว่าขณะนี้เกิดความพอใจ เช่นเกิดความสงบ มีความรู้สึกพอใจในความสงบอยู่ ก็ให้รู้ทันว่า นี่ลักษณะของความพอใจ เกิดปีติ และเกิดความพอใจในปีติก็รู้ว่านี่พอใจๆ เกิดสติ เกิดปัญญา แล้วพอใจ ก็รู้เท่าทันความพอใจ ถ้าเกิดการที่เข้าไปรู้เท่าทันลักษณะของความพอใจได้ ความพอใจนั้นก็จะหลบหน้าไป ก็กลับเป็นปกติขึ้นก็จะก้าวขึ้นสู่อุทัพพยญาณอย่างแก่ คือ

ญาณที่ 4 อย่างแก่ ในญาณที่ 4 อย่างแก่ก็จะเห็นความเกิดดับของรูปนาม มีความบริสุทธิ์ของการเห็น เห็นรูปเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กำหนดไปตรงไหนเห็นแต่ความเกิดดับไปหมด เสียงดังมากระทบหูได้ยิน กำหนดรู้ก็เห็นมันเกิดดับไปเลย ใจที่คิดนึกกำหนดรู้เห็นความเกิดดับไป เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง มากระทบกำหนดรู้ถึงความเกิดดับไปทันที ไม่ว่าจะอารมณ์ส่วนไหนก็ตามที่ปรากฏอยู่ เห็นความเกิดขึ้นดับไปอย่างรวดเร็ว นี่เป็นญาณที่ 4 จากนั้น ถ้าผู้ปฏิบัติทำความเพียรต่อไปไม่ลดละ เพ่งดูรูปนามที่เกิดดับ เกิดดับ อยู่อย่างนั้นเรื่อยไป ก็จะขึ้นสู่ญาณที่ 5

ญาณที่ 5 เรียกว่า ภังคญาณ ในภังคญาณนี้จะเห็นแต่ฝ่ายดับ เห็นรูปนามนั้นดับไป ดับไปด้วยความเร็วเพราะรูปนามเกิดดับรวดเร็วถี่มาก เมื่อญาณแก่กล้า ความรู้สติปัญญาแก่กล้าเข้าไปทันกับรูปนามที่ดับเร็ว มันก็เลยเห็นแต่ดับๆ ๆ ๆ เห็นแต่ฝ่ายดับไป ดับไป ท่านอุปมาเหมือนยืนอยู่ในตรอกมองไปปากตรอก ปากตรอกนั้นเห็นรถวิ่งผ่านแว่บ ผ่านไปๆ ๆ ๆ เห็นแต่ฝ่ายดับๆ ๆ ๆ ไป นี่เป็นญาณที่ 5

เปรียบเหมือนผู้ชายคนหนึ่งที่มีร่างกายอ่อนแอคนหนึ่งเอากระบ่องใบหนึ่งไปตักน้ำ พอจ้วงตักน้ำเสร็จจะยกกระบ่องขึ้นจากน้ำ มันชั่งหนักแทบจะยกขึ้นไม่ไหว แต่เมื่อชายคนนี้ได้บำรุงรางก่ายด้วยอาหารที่สมบูรณ์ รักษาโรคต่างๆ ให้หายขาดและออกกำลังกายเพาะกายทุกวันจนรางก่ายแข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่ เมื่อชายผู้นี้เอากระบ่องใบเดิมไปตักน้ำ พอจวงตักน้ำเสร็จจะยกกระบ่องขึ้นมาจากน้ำ ก็ยกขึ้นมาอย่างง่ายดายเหมือนกับไม่ต้องออกแรงอะไรเลย เช่นเดียวกับวิปัสสนาญาณที่ 5 ภังคญาณนี้ จนบางครั้งทำให้ผู้ปฏิบัติคิดไปว่าเหมือนกับสติสัมปัญญะในการกำหนดอ่อนลงเพราะไม่เกิดอาการชัดเจน เหมือนกับญาณที่ 4 อุทยัพพยญาณ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติยังสำรวมระวังและกำหนดสติปัฏฐาน 4 อย่างไม่ทอดธุระ เมื่อมีความเพียร ไม่ท้อถอย กำหนดดูไปเรื่อยๆ เห็นรูปนามเกิดดับ ดับไป ดับไป ดับไป ก็จะก้าวขึ้นสู่ญาณที่ 6

ญาณที่ 6 เรียกว่า ภยญาณ จะเห็นรูปนามที่มันดับไปนั้นแต่เกิด ความรู้สึกขึ้นในใจว่าเป็นภัยเสียแล้ว เห็นว่ามันเป็นภัย ก่อนนั้นเคยหลงไหล แต่ตอนนี้รู้สึกว่าเป็นภัย คือรูปนามที่ประกอบเป็นชีวิตเป็นอัตภาพเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งดูไปแล้วเป็นแต่รูปนาม มันจะเห็นว่าก็มันดับอยู่อย่างนี้ มันย่อยยับ ต่อหน้าต่อตา ไม่ว่าส่วนไหนมันก็ดับไปหมด สิ่งที่ปรากฏให้รู้ดับไป ตัวที่รู้ดับไป ตัวผู้รู้ดับไป มันมีแต่ความดับไป ดับไป มันรู้สึกว่าเป็นภัย เป็นภัยเสียแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่น่าอภิรมย์เสียแล้วในชีวิตนี้ เป็นภัย จะเปรียบเทียบให้เข้าใจดังนี้ ผู้ถึงญาณนี้เสมือนมี ชาย 2 คน ซ้อมฟันดาบกันโดยใช้ดาบไม้ซ้อมกัน ดังนั้นขณะที่กำลังซ้อมฟันกันอยู่ก็กลัวถูกโดนฟันด้วยดาบไม้ให้เจ็บถ้าเผลอป้องกันตัวไปทัน แต่พอเลิกซ้อมฟันดาบความกลัวนั้นก็จะหายไปหรือเมื่อซ้อมฟันดาบจนชำนาญความกลัวนั้นก็จะลดน้อยถอยลง

ญาณที่ 7 อาทีนวญาณ ก็จะเกิดความรู้สึกว่าเป็นโทษ ในขณะที่เห็นรูปนามดับไป ดับไป เกิดความรู้สึกว่าเป็นโทษ นอกจากจะเห็นภัยแล้ว ยังรู้สึกว่าเป็นโทษอีก จะเปรียบเทียบให้เข้าใจดังนี้ มีชายผู้หนึ่งหาหน่อไผ่เพื่อเอาไปขายและทำอาหารในครอบครัว เมื่อเดินไปถึงตรงกอไผ่ เห็นหน่อไผ่อันหนึ่งซึ่งตรงกับจุดประสงค์อยู่กลางก่อไผ่

พอชายผู้นั้นจะมุดตัวเข้าในกอไผ่ก็ย่อมจะเกิดความกลัวหนามไผ่และกิ่งไผ่ขึ้นมาก่อน เหมือนกับญาณที่ 6

ภยญาณ แต่เมื่อมุดเข้าไปในก่อไผ่ก็ย่อมเจ็บปวดไม่มากก็น้อย เพราะหนามไผ่หรือกิ่งไผ่ขีดข่วนเอาให้ต้องทุกข์และรำคาญ เหมือนกับญาณที่ 7 นี้ แต่เมื่อปารถนาจะเอาหน่อไผ่ก็ยังต้องมุดไปข้างหน้า เช่นเดียวกันกับผู้ปฏิบัติเมื่อถึงญาณนี้ก็ยังกำหนดสติปฐาน 4 อย่างไม่ท้อถอย เพราะปารถนาที่จะละกิเลสอันก่อให้เป็นทุกข์

ญาณที่ 8 คือ นิพพิทาญาณ นิพพิทาญาณนี้จะรู้สึกเบื่อหน่าย ในเมื่อรูปนามเป็นภัยเป็นโทษมันก็รู้สึกเบื่อหน่ายไม่ได้ติดใจเลยในรูปนามนี้ มันน่าเบื่อจริงๆ แต่ก็ไม่หนี ไม่ท้อถอย ก็ยังคงดูต่อไป แต่บางคนก็อาจจะเลิกรา เบื่อมากๆ เข้า การเบื่อหน่ายนี้ไม่ได้เกิดจากการคิดปรุงแต่งแม้แต่นิดเดียว แต่เกิดจากการกำหนดสติปัฏฐาน 4 ได้ทันปัจจุบันหรือเป็นปัจจุบัน ทำให้สติปัญญาเห็นตรัยลักษณ์ อันไม่เทียง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อย่างชัดเจนขึ้นโดยไม่ต้องคิดปรุงแต่ง จะเปรียบเทียบให้เห็นง่ายๆ อย่างเช่นในเมืองที่มีการจาราจลติดขัดทุกวี่ทุกวัน ผู้เดินทางต้องใช้เวลานานจนเหนื่อยอ่อนเมื้อยล้าทุกวัน ผู้เดินทางก็ต้องเบื่อหน่ายต่อการเดินทางทุกครั้ง แต่ก็ต้องทนเพราะต้องไปทำงานเลียงชีพ เช่นเดียวกับผู้ถึงนิพพิทาญานนี้ แต่ต่างกันตรงที่การเบื่อหน่ายของนิพพิทาญาณนั้น เห็นทุกข์โทษของสังขารทั้งหลายที่กำหนดกรรมฐานอยู่ ขอให้ทำความเข้าใจด้วยว่า ไม่ใช่เกิดจากการไปคิดปรุงแต่งให้เบื่อหน่ายขึ้นมาเพราะถ้าไปคิดปรุงแต่งให้เกิดเบื่อหน่ายขึ้นมานั้นอยู่ในเขตญาณเบื้องต้น คือญาณ 2 หรือ ญาณ 3 หรือยังไม่ได้เข้าสู่วิปัสสนาญาณแม้แต่ญาณเดียว ขอให้ทำความเข้าใจไว้ด้วย จะไม่เกิดความเข้าใจผิดหลงญาณในภายภาคหน้า เพราะโดยปกติแล้วมนุษย์ชอบเห็นตัวเองเป็นที่ตั้ง แล้วเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ โดยการคิดและจิตนาการแล้วปรุงแต่งอารมณ์เป็นประจำ จนเกิดวิชาการความรู้ขึ้นมามากมาย เรียกว่าความเฉลียวฉลาดหรือปัญญาของมนุษย์ แต่หาใช่คำว่า ปัญญาที่แท้จริง ในพระพุทธศาสนาไม่ เมื่อผู้ปฏิบัติยังกำหนดสติปัฏฐาน 4 อย่างไม่ลดละ สติปัญญาหรือ พละ 5 ย่อมพัฒนาขึ้นเป็นญาณที่ 9 มุญจิตุกัมยตาญาณ

ญาณที่ 9 มุญจิตุกัมยตาญาณ คือ มีความรู้สึกใคร่จะหนีให้พ้น เมื่อมันเบื่อแล้วก็ใคร่จะหนี มีความรู้สึกอยากจะหนีไป เหมือนบุคคลที่อยู่ในกองเพลิง มันก็อยากจะไปให้พ้นจากกองเพลิงเหล่านี้ จากนั้นเมื่อเพียรพยายามต่อไปก็จะขึ้นญาณที่ 10

เมื่อนิพพิทาญาณถึง ความแก่กล้าก็ย่อมต้องการจะหนีต้องการจะหลุดพ้นจากความเบื่อหน่ายในสังขารนั้น

ซึ่งก็มีอยู่ 2 ทางให้ผู้ปฏิบัติเลือก

ทางที่ 1. คือกำหนดสติปฐาน 4 ต่ออย่างมีความเพียร ด้วยความศรัทธาและมีสติปัญญามีสมธิอันแน่วแน่ จนเข้าสู่ญาณที่ 9 มุญจิตุกัมญตาญาณ

ทางที่ 2. คือเลิกกรรมฐานปล่อยให้วิปัสสนาญาณถอยกลับลงไปจนเป็นปกติ แล้วเริ่มปฏิบัติกันใหม่

ทั้ง 2 ทางเป็นทางเลือก

แต่โดยมากแล้วผู้ปฏิบัติเมื่อปฏิบัติมาถึงขั้นนี้แล้ว ย่อมเลือกทางที่ 1 ทุกคน ยกเว้นผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพ หรือติดความเป็นอยู่ที่สบายตามอารมณ์ของตนเองจนความเพียรนั้นถดถอยลง เมื่อผู้ปฏิบัติเลือกทางที่ 1 กำหนดสติปัฏฐาน 4 ต่อไป การต้องการจะหนีต้องการจะหลุดพ้นถึงความแก่กล้าของเขา พละทั้ง 5 ก็จะปรับเข้าสู่ ความสมดุล โดยธรรมชาติ ย่างเข้าสู่ญาณที่ 10 ปฏิสังขาญาณ

ญาณที่ 10 ปฏิสังขาญาณ ในปฏิสังขาญาณนี้มันจะหาทางว่าทำอย่างไร ถึงจะพ้นได้ ในเมื่อตอนแรกมันใคร่จะหนี พอถึงญาณอันนี้ก็หาทางที่จะหลุดพ้นให้ได้ เป็นญาณที่เห็นทุกข์โทษของสังขารทั้งหลายมาตลอดของการปฏิบัติธรรม มีปํญญาแจ่มชัดขึ้นว่า สังขารทั้งหลาย ตกอยู่ในตรัยลักษณ์ทั้งหมดทั้งสิ้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามภาวะของเขามาตลอด เริ่มผ่อนคลายความยึดมั่นในสภาวต่างๆ ตามสภาพความเป็นจริง การกำหนดภาวนาที่แสนยากลำบากที่ผ่านมาเริ่มปรับเข้าสู่ภาวะปกติ ตามฐานะของการแก่กล้าขึ้นของสติปัญญา ญาณนี้เปรียบเสมือน เด็กทารกที่คลานได้และนั่งได้แล้ว และพยายามที่จะหัดเดิน ต้องลำบากอยู่กับการพยายามลุกขึ้นยืน โดยต้องเกาะ ต้องจับเพื่อให้ทรงตัวยืนให้ได้ พอปล่อยจากการเกาะการจับก็ล้มลงทันที่ ต้องหัดทำแล้วทำอีกจนทรงตัวยืนอยู่ได้โดยไม่เกาะอะไร แต่ยังจะก้าวเดินไม่ได้ ถึงตรงนี้และที่ยืนแล้วล้มเปรียบได้กับ ปฏิสังขาญาณ คือเริ่มจะเดินเป็น หรือเริ่มจะทำได เมื่อเพียรพยายามต่อไป ก็จะขึ้นถึงญาณที่ 11

ญาณที่ 11 สังขารุเปกขาญาณ สังขารุเปกขาญาณนี้ มีลักษณะวางเฉยต่อรูปนาม คือเมื่อกำหนดรู้ หาทางหนี หนีไม่พ้น ยังไงก็หนีไม่พ้น ก็ต้องดูเฉยอยู่ การที่ดูเฉยอยู่นี้ทำให้ สภาวจิตเข้าสู่ความเป็นปกติในระดับสูง ไม่เหมือนบุคคลทั่วไป บุคคลทั่วไปเวลาเกิดเห็น ทุกข์เห็นโทษเห็นภัยนี้สภาวะของจิตใจจะดิ้นรนไม่ต้องการ จะกระสับกระส่ายดิ้นรน แม้แต่ในวิปัสสนาญาณก่อนหน้าสังขารุเปกขาญาณ ก็ยังมีลักษณะความดิ้นรนของจิต คือยังมีความรู้สึกอยากจะหนี อยากจะให้พ้นๆ สภาวะของจิตยังไม่อยู่ในลักษณะที่ปกติจริงๆ มันก็หลุดพ้นไม่ได้ แต่เมื่อมันดูไปจนถึงแก่กล้าแล้วไม่มีทางก็ต้องวางเฉยได้ ซึ่งในขณะที่เห็นความเกิดดับเป็นภัยเป็นโทษน่าเบื่อหน่ายอยู่อย่างนั้นมันก็ยังวางเฉยได้ แม้จะถูกบีบคั้นอย่างแสนสาหัส แทบจะขาดใจมันก็วางเฉยได้ เมื่อวางเฉยได้มันก็จะก้าวขึ้นสู่ญาณที่ 12

เปรียบเสมือนผู้ที่หัดถีบจักรยาน ในระยะแรกต้องขึ้นคล่อมประคองรถจักรยาน แล้วเข็นไปข้างหน้าด้วยเท้ายันอยู่กับพื้น ไม่สามารถที่จะทรงตัวขึ้นถีบจักรยานได้ ต้องคอยให้ผู้อื่นคอยจับรถจักรยานให้ตรงจึงพอถีบได้บ้าง แต่พอคนที่จับปล่อยมือก็ล้มถีบไม่ได้เหมือนเดิม ผู้ที่หัดถีบจักรยานนั้นก็พยายามฝึกแล้วฝึกอีกด้วยตัวเอง จนขึ้นถีบจักรยานไปข้างหน้าได้โดยไม่ล้ม แต่การควบคุมรถจักรยานก็ยังโยกไปช้ายที ขวาทีไปได้สักพักก็ต้องเอาเท้าค้ำกับพื้นอีกตามเดิม เป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยเปรียบเหมือนกับ ญาณที่ 10 ปฏิสังขาญาณ

เมื่อผู้ที่หัดถีบจักรยานพยายามแล้วพยายามอีก ก็สามารถที่จะควบคุมรถจักรยานได้ ให้ถีบไปในทิศทางที่ต้องการโดยสะดวกด้วยความชำนาญ ช่วงนี้เปรียบเสมือนกับสังขารุเบกขาญาณ คือมีการกำหนดสติปัฏฐาน 4 ตามสบายสงบนิ่งไม่มีสิ่งใดที่ติดขัด บางท่านสามารถกำหนดได้อย่างสงบสบายเป็นวัน หรือเดือนๆ ก็มี

แต่ต้องรักษาการภาวนานั้นเสมือนผู้ที่เอาถาดที่มีน้ำมันอยู่เต็มทูลไว้บนศีรษะ แล้วไม่ให้น้ำมันนั้นหกแม้แต่นิดเดียวด้วยความชำนาญ ข้าพเจ้าขอกล่าวย้ำให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดหรือผู้วิเศษใดที่จับให้ท่านถีบจักรยานได้เป็นในทันที่และตลอดกาล ถ้าท่านไม่ฝึกหัดถีบรถจักรยานด้วยตนเอง เช่นเดียวกันของการฝึกสติปัฏฐาน 4 ไม่มีผู้ใดหรือผู้วิเศษใดสามารถจับให้ท่านถึงสังขารุเบกขาญาณ โดยที่ไม่ต้องฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง ดังนั้นท่านทั้งหลายจงอย่าหลงกับคำว่าผู้วิเศษให้มากนัก เพราะไม่เกิดประโยชน์เลย

ญาณที่ 12 อนุโลมญาณ เป็นญาณที่เป็นไปตามอำนาจกำลังของอริยสัจจ์ที่จะสอดคล้องต่อไปในโลกุตตรญาณ จากนั้นก็จะก้าวขึ้นสู่ญาณที่ 13 เรียกว่า โคตรภูญาณ

พอถึงจุดนี้ผู้ปฏิบัติกรรมฐานจงอย่าเข้าใจผิดว่าจะต้องถึงนิพพานแน่นอน เพราะญาณนี้จะเกิดขึ้นในช่วงอึดใจเดียว แต่มีเหตุหลายประการที่จะทำไม่ให้ถึงฝังนิพพาน ดังนั้นผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจงอย่าหลงยึดในอาการนั้นแล้วคิดเข้าข้างตนเองว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไปเสียก่อน โดยลืมหรือทิ้งการกำหนดภาวนา เพราะเมื่อผู้ปฏิบัติสฏิปัฏฐาน 4 เกือบถึงญานที่ 12 นี้เมื่อไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน วิปัสสนาญาณก็จะถอยกลับลงมาที่ญาณ 11 สังขารุเบกขาญาณดังเดิมและเมือกำหนดกรรมฐานต่อโดยไม่ขาดสาย จนสังขารุเบกขาญาณแก่กล้าสมบูรณ์อีกครั้งก็จะเกือบเข้าสู่อนุโลมญาณอีกครั้งเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ จนกว่าปัญญาแก่กล้าถึงฝั่งนิพพาน เปรียบเสมือนมีคนผู้หนึ่งปารถนาจะข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งแต่มีช่องหน้าผาขั้นอยู่ ถ้าจะกระโดดในคราเดียวก็รู้ว่าไปไม่ถึงอีกฝั่งเพราะเกินกำลังของตนเอง แต่ฝั่งที่บุคคลนั้นยืนอยู่มีต้นไม้ใหญ่ที่มีกิ่งใหญ่กิ่งหนึ่งยื่นไปทางช่องหน้าผาฝั่งโน้น เมื่อผู้นั้นปีนขึ้นไปบนต้นไม้แล้วไต่ไปตามกิ่งที่ยื่นไปทางฝั่งโน้น ก็กะระยะแล้วว่าถึงจะกระโดดจากกิ่งไม้นี้ออกไปฝั่งโน้นก็ยังไม่ถึง

คนผู้นั้นก็ต้องไต่ลงจากต้นไม้นั้นหาเชือกหรือเถาวัลย์ที่เหนียวและแข็งแรงทดสอบแล้วว่าสามารถรับน้ำหนักของตนเองได้อย่างสบายไม่มีวันที่จะขาดได้ และมีความยาวน่าจะพอดีที่จะโหนตัวไปฝั่งโน้นได้

คนผู้นั้นจึงไต่ขึ้นไปบนกิ่งไม้ใหญ่นั้นอีก แต่คราวนี้เอาเชือกเถาวัลย์ผูกกับปลายกิ่งไม้นั้นที่ประมาณดูแล้วว่ารับน้ำหนักของตนเองได้สบายในขณะที่โหนอยู่ แล้วจับปลายเชือกอีกด้านหนึ่งไต่ลงมาที่พื้นหน้าผา ถอยห่างจากหน้าผาเริ่มออกวิ่งอย่างรวดเร็วพร้อมทั้งจับปลายเชือกไว้อย่างมั่นคง ตรงนี้เปรียบเสมือนกับ สังขารุเบกขาญาณที่แก่กล้า พอคนผู้นั้นวิ่งถึงริมหน้าผาก็กระโดดอย่างสุดกำลังโหนตัวไปฝั่งโน้น

อาการกระโดดและโหนตัวไปฝั่งโน้นพ้นจากขอบหน้าผาที่ยืนอยู่ เปรียบเทียบได้กับ อนุโลมญาณคือญานที่ 12

(แต่ส่วนมากจะวิ่งมาขอบหน้าผาคือสุดขอบญานที่ 11 ก็จะไม่กล้ากระโดดเสียมากกว่าถ้ายังไม่พร้อมสมบูรณ์)

ถ้าคนผู้นั้นเห็นว่าโหนมาถึงอีกฝั่งได้พอดีก็ย่อมปล่อยเชือกไปยืนอยู่อีกฝั่งหนึ่งอย่าปลอดภัย

แต่ถ้าไม่ถึงฝั่งโน้นคนผู้นั้นก็ไม่ยอมปล่อยมือจากเชือก โหนกลับมายังฝังเดิม เปรียบเสมือนผู้ที่ถึงอนุโลมญาณแล้วแต่ไม่สามารถย่างถึงฝั่งนิพพานได้ ก็ต้องกลับมายืนที่ฝั่งเดิมคือ สังขารุเบกขาญาณ แล้วเริ่มวิ่งกระโดดไปใหม่จนกว่าจะสำเร็จ

แต่ถ้าผู้ปฏิบัติเกิดพละ 5 อ่อนลง หรือหยุดภาวนาต่อ อาจจะด้วยเหตุใดก็ตามวิปัสสนาญาณก็จะถอยกลับสู่ญาณเบื้องต้น แล้วเริ่มต้นกำหนดภาวนาขึ้นมาใหม่ตามลำดับแต่ก็ไม่ยากแล้วเพราะมีความชำนาญ ยกเว้นความคิดปรุงแต่งไปหลงญาณเสียก่อน หรือมีความเข้าใจคำว่าความเพียรผิด กลายเป็นความพยายามตามอำนาจของกิเลสจนพละ 5 ประการไม่สมดุลเสมอกัน ก็จะทำให้เกิดความทุกข์มากในการกำหนดกรรมฐาน

ญาณที่ 13 โคตรภูญาณ คือญาณที่มีหน้าที่โอนโคตรจากปุถุชนก้าวสู่ความเป็นอริยะ ในขณะนั้นจะทิ้งอารมณ์ที่เป็นรูปนามไปรับนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ว่าโคตรภูญาณยังเป็นโลกิยะอยู่ ตัวมันเองเป็นโลกิยะ แต่มันไปมีอารมณ์เป็นนิพพาน แล้วจากนั้นก็จะเกิดมัคคญาณขึ้นมา

ญาณที่ 14 มัคคญาณ มัคคญาณนี้เป็นโลกุตตรญาณ จะทำหน้าที่ประหารกิเลสระดับอนุสัยกิเลส ทำหน้าที่รู้ทุกข์ ละเหตุแห่งทุกข์ แจ้งนิโรธความดับทุกข์ เจริญตนเองเต็มที่ คือองค์มรรค 8 มีการประชุมพร้อมกัน ทำหน้าที่ละอนุสัยกิเลสแล้วก็ดับลง มีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นญาณที่ถึงพระนิพพานหรือโลกุตรภูมิอย่างสมบรูณ์ ได้เชื่อว่าอริยะบุคคลในพุทธศาสนา เป็นพระโสดาบันติมรรค ทำให้อนุสัยกิเลสเบาบางอย่างมากมายและ สามารถละกิเลส 3 ตัวได้อย่างเด็ดขาด ได้แก่

1.สักกายทิฐิสัญโญชน์ คือการยึดถือเป็นตัวตนผิดๆ ในรูปนามนั้นๆ

2. วิจิกิจฉาสัญโญชน์ คือความสงสัยใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

3. สีลัพพตปรามาสสัญโญชน์ คือการถือข้อวัตรปฏิบัติผิดไม่ถูกทาง

ซึ่งกิเลสทั้ง 3 ละขาดจากสันดานได้อย่างเด็ดขาด ก็จะก้าวสู่ญาณที่ 15 ผลญาณ ทันที

ญาณที่ 15 ผลญาณ ผลญาณเป็นโลกุตตรญาณ เกิดขึ้นมา 2 ขณะ เป็นผลของมัคคญาณ ทำหน้าที่รับนิพพานเป็นอารมณ์ 2 ขณะ แล้วก็ดับลง

ญาณที่ 16 ปัจจเวกขณญาณ ญาณพิจารณา มรรค ผล นิพพาน เป็นโลกิยญาณ ญาณพิจารณา เหมือนคนที่ผ่านเหตุการณ์อะไรมา ก็จะกลับพิจารณาสิ่งที่ผ่านมา แต่ญาณนี้ พิจารณามรรคที่ตนเองได้ พิจารณาผลที่ตนเองได้ พิจารณาพระนิพพาน และถ้าคนมีหลักปริยัติ ก็จะพิจารณากิเลสอันใดที่ละไปได้แล้ว กิเลส อันใดที่ยังเหลืออยู่ และถ้าคนไม่มีหลักปริยัติก็พิจารณาแค่ มรรค ผล นิพพาน ในระหว่างที่ญาณก้าวขึ้นสู่อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณนี้ ท่านก็อุปมาให้ฟังเหมือนกับบุคคลที่จะก้าวกระโดดข้ามฝั่ง

ฝั่งมันอยู่ไกลก็โหนเถาวัลย์ ก็ต้องอาศัยกำลังที่วิ่งมาอย่างแรง วิ่งมาด้วยความไว แล้วก็เหนี่ยวเอาเถาวัลย์โยนตัวขึ้นไป ในขณะที่โยนตัวขึ้นไปก็เหมือนเป็นอนุโลมญาณคล้อยไป พอข้ามไปถึงฝั่งหนึ่งก็ปล่อยเถาวัลย์นั้น ในขณะที่ปล่อยนั้นเหมือนกับโคตรภูญาณ คือปล่อยอารมณ์ที่เป็นโลกิยะได้แก่รูปนาม ไปรับนิพพานซึ่งเป็นโลกุตตระเป็นอารมณ์ แล้วก็ตกลงถึงพื้น ในขณะตกลงถึงพื้นเหมือนเป็นมัคคญาณ แล้วพอตั้งหลักได้ก็เป็นผลญาณเกิดขึ้น หลังจากนั้นก็พิจารณา แต่ว่าในสภาวธรรมของโลกุตตระมันเป็นธรรมที่พ้นโลก

ผู้ปฏิบัติที่เข้าถึงแล้วก็ไม่สามารถนำมาแสดงให้แจ่มแจ้งได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตน บุคคลอื่นที่ยังเข้าไม่ถึงจะไม่สามารถจะทำความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง เพราะว่าความคิดความอ่านของปุถุชนก็จะมีความรู้สึกที่อยู่ในโลก เป็นไปในโลกนี้ มันจะมีขอบเขตของการนึกคิดความเข้าใจอยู่ในโลก ส่วนสภาพโลกุตตรธรรมที่พ้นโลกนั้น ปุถุชนจะคิดไปไม่ถึงเลย จะไม่สามารถจะทำความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ นี่ก็เป็นการแสดงลำดับความเป็นไปพอสังเขปของวิปัสสนาญาณ ที่ทำให้บรรลุความเป็นอริยบุคคล ผ่านญาณ 16 รอบที่ 1 ก็ได้สำเร็จเป็นโสดาบันกิเลสยังไม่หมด

แต่ว่าตัดออกไปได้บางส่วน แต่ส่วนไหนที่ตัดขาดไปแล้วจะไม่เกิดขึ้นในจิตใจอีกเลย เช่น ความสงสัยจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย ความโลภที่ประกอบไปด้วยความเห็นผิดหมดไปเลยจากจิตใจ จะมีเห็นอย่างถูกต้อง เข้าใจอย่างถูกต้อง แต่ว่าก็ยังมีความโลภบางอย่าง มีโทสะบางอย่าง แต่ว่าไม่รุนแรงถึงขนาดที่จะกระทำอกุศลกรรมชนิดที่จะนำไปสู่อบาย โสดาบันนี้ ศีล 5 จึงบริสุทธิ์ จะไม่ล่วงศีล 5 เป็นเด็ดขาด แต่ก็ยังมีความโลภ ยังมีความโกรธ แต่ว่าไม่มีความอาฆาตมาดร้าย ไม่มีความตระหนี่ นี่เป็นลักษณะของโสดาบัน ก็เท่ากับทำลายภพชาติไปมากมาย

การที่จะเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไปก็จะเกิดอย่างมาก 7 ชาติ ก็จะสำเร็จเป็นอรหันต์ ถึงแม้จะขาดความเพียร เกิดไปๆ 7 ชาติ ยังไงก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพาน ก็พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด แต่ถ้าหากบุคคลได้เพียรพยายามต่อไป สามารถที่จะดำเนินผ่านญาณ 16 อีกรอบหนึ่งก็ลักษณะเดียวกัน ผ่านญาณ 16 รอบที่ 2 ก็เป็น สกทาคามิบุคคล ผ่านญาณ 16 รอบที่ 3 ก็เป็น อนาคามิบุคคล ผ่านญาณ 16 รอบที่ 4 ก็หมดสิ้นกิเลส เป็นพระอรหันต์ เป็นอเสขบุคคล ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไป พ้นทุกข์

ฉะนั้น ในขั้นต้นนี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจให้ดี ส่วนบั้นปลายก็เป็นไปสอดคล้องของมันไปเอง ขอให้เราทำถูกในขั้นต้น คือมีสติกำหนดรู้รูปนามให้ตรงรูปนามที่เป็นปัจจุบัน เราจะเห็นว่าในญาณทุกญาณที่จะส่งไปถึงโลกุตตรญาณนั้น ตั้งแต่ญาณที่ 1 ไปจนถึงอนุโลมญาณ จะมีรูปนามเป็นอารมณ์ทั้งนั้นเลย มีรูปนามเกิดดับ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นอารมณ์ ฉะนั้นรูปนามจึงเป็นทางเดินของวิปัสสนา วิปัสสนาจะต้องมีรูปนามเป็นอารมณ์ ถ้าขณะใดอารมณ์ตกไปจากรูปนามไปดูอย่างอื่น ก็แสดงว่าตกไปจากทางของวิปัสสนา เช่น ไปดูภาพนิมิต ไปอยู่กับความว่าง ไปติดอยู่กับความสงบ ไม่เห็นรูปนาม มันก็ไปได้แค่นั้น

ฉะนั้นจุดยืนของวิปัสสนาคือมีรูปนามเป็นอารมณ์ตลอดเวลา เราก็เพียรพยายามที่จะกำหนดรู้เท่าทันรูปนามที่เกิดขึ้นให้ได้ปัจจุบันๆ ก็จะเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นไปตามลำดับ ฉะนั้นขั้นต้นเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องทำการศึกษาให้เข้าใจอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม อะไรไม่ใช่รูปไม่ใช่นาม คือ สมมุติบัญญัติ เพื่อกำหนด จะได้ปล่อยวางจากสมมุติบัญญัติคือชื่อต่างๆ ภาษา รูปร่าง ความหมาย ซึ่งเป็นสมมุติบัญญัติออกไป กำหนดให้ตรงปรมัตถ์ และให้ได้ปัจจุบัน และเข้าไปสู่ความปกติ ไม่บังคับ ไม่เคร่งเครียด มันก็จะเห็นธรรมะ เห็นความเป็นจริงของชีวิต

ตามที่ได้แสดงมาวันนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ที่สุดนี้ขอความ เจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทุกท่านทุกคนเทอญ