แนวทางปฏิบัติธรรมโดยย่อ

การปฏิบัติธรรมคือการปฏิบัติเพื่อให้เห็นความจริงของกาย กับใจเรา โดยการเข้าไปรู้รูปนาม ตามความเป็นจริง ไม่เข้าไปดัดแปลง หรือ แทรกแซงการรู้ที่เกิดขึ้น เมื่อรู้รูปนามไปเรื่อย ๆ จนถึงวันหนึ่ง ใจจะแจ้ง มีปัญญารู้ขึ้นมาว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาให้จิตรับรู้เป็นของ ชั่วคราวทั้งหมด ความสุขก็ชั่วคราว ความทุกข์ก็ชั่วคราว กุศล อกุศล ล้วนเป็นของชั่วคราว แม้กระทั้งร่างกายของเราเองก็เป็นของอาศัยชั่วคราว การที่เราเห็นว่าขันธ์ห้า คือกายกับใจ เราเป็นของชั่วคราว เกิดแล้วก็ดับ นี่เรียกว่าเข้าใจ “ธรรมะ”

เป้าหมายของการศึกษาและปฏิบัติธรรมคือ การรู้ทุกข์ รู้ถึงเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ รู้ถึงสภาพทุกข์ที่ดับไป และรู้ว่าอะไรเป็นหนทางในการดับทุกข์ ดังนั้นความสำเร็จของการศึกษา และปฏิบัติธรรม จึงอยู่ที่การปฏิบัติจนเข้าถึงความพ้นทุกข์ เข้าถึงความเป็นธรรมดาของรูปนาม ความไม่มีตัวตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของรูปนาม เป็นเพราะความ “ไม่รู้หรืออวิชชา” ต่อสภาพความเป็นจริงของสรรพสิ่ง ไม่เข้าใจในธรรมชาติที่เป็นอยู่ จึงทำให้เราเป็นผู้ทุกข์

เครื่องมือในการปฏิบัติธรรม แบ่งออกเป็นสมถะกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

สมถะกรรมฐาน คือ การกำหนดให้จิตเคล้าเคลียอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น คำภาวนา ลมหาย ใจ ภาพนิมิต เป็นต้น ด้วยจิตใจที่สบาย ผ่อนคลาย ไม่เจือปนด้วยความอยากหรือการจงใจให้จิตสงบ เพราะธรรมชาติของจิตนั้นบังคับ ไม่ได้ ให้ตามรู้คำบริกรรมหรือลมหายใจไปเรื่อยๆ จนจิตมีความสงบตั้งมั่นเอง เป้าหมายของการทำสมถะก็เพื่อให้จิตมีความสงบเกิดความ ตั้งมั่น ไม่ถูกกิเลสครอบงำ มีความเป็นจิตที่ปรกติคือ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สามารถนำความตั้งมั่นที่เกิดขึ้นไปใช้ในการเจริญปัญญาต่อ ไปได้

วิปัสสนากรรมฐาน คือ การเข้าไปรู้ความจริงของกายกับใจในปัจจุบัน ด้วยจิตที่เป็นกลาง มีเป้าหมายเพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ เกิด ความเข้าใจตามจริงว่าขันธ์ห้า คือกายกับใจเป็นตัวทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเรา โดยมีรายละเอียดการปฏิบัติดังนี้คือ

สร้างสติสัมปชัญญะ โดยการเข้าไปรู้การเคลื่อนไหวของกายและการหลงไปคิดของใจ เมื่อขาก้าวไปข้างหน้าก็รู้ตัวว่ามีการก้าวของขา เมื่อกำลังยกมือหยิบจับสิ่งใด ก็ให้รู้ถึงอาการเคลื่อนของแขนและมือ เมื่อนั่งก็ให้รู้ว่านั่ง เมื่อนอนก็ให้รู้ว่านอน เมื่อจิตเผลอไปคิด ก็ให้ รู้ว่าหลงไปคิดแล้ว ในการตามรู้กายใจนั้นจะต้องเป็นการตามรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ณ ขณะ เท่านั้นไม่หลงไปคิดนึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว หรือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต ในการปฏิบัตินั้นไม่จำเป็นต้องมีการกำหนด เวลาและสถานที่ ที่จะปฏิบัติ สามารถลงมือปฏิบัติได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ แม้กระทั่งที่ทำงาน ให้สังเกตกายกับใจควบคู่ไปกับการดำรงชีวิต ตามปรกติของเรานี่แหละ แต่ในการตามรู้ตามดูควรประกอบ ไปด้วยจิตที่เบาสบายซึ่งเป็นจิตที่มีคุณภาพ ตั้งมั่นในการรู้ ไม่เพ่งจ้องบังคับจิต ไม่ส่งจิต ออกนอกไปคิดเรื่องอื่นจิตจะรู้สภาวธรรมทั้งปวง ตามความเป็นจริง

เมื่อปฏิบัติไปได้ระยะหนึ่งจิตจะทรงตัวได้เป็นปรกติ จะเห็นสังขารหรืออารมณ์ทั้งหลาย เกิดขึ้น – ตั้งอยู่ – ดับไป เป็นธรรมดาจิตจะว่าง วางเฉย ไม่ยินดียินร้ายและเห็นรูปนามเกิดดับเองตามธรรมชาติ จิตจะมีความเป็นกลางต่อสภาวธรรมโดยแท้จริง สัมมาทิฐิจะเกิดขึ้น สิ่งที่ สามารถสังเกตได้ว่ามีความก้าวหน้าในการปฏิบัติคือ สภาวะคิดจะเกิดขึ้นน้อย ทุกข์นั้นจำเป็นต้องอาศัยคิดเป็นที่เกิด เมื่อคิดเกิดน้อยจึง ทำให้ความทุกข์เกิดขึ้นน้อยตามมาด้วย

เมื่อเห็นและเข้าใจการทำงานของจิตอย่างแจ่มแจ้ง จะรู้ว่า จิตก็ส่วนหนึ่ง อารมณ์ที่เกิดขึ้นก็อีกส่วนหนึ่ง จิตผู้รู้ก็อีกส่วน กายก็อีกส่วน จะเริ่มเห็นว่า ตัวเราไม่มี มีเพียงรูปนามเท่านั้น จิตจะรู้ว่าการที่ยังต้องเข้าไปรู้กายใจนั้น เป็นภาระเมื่อนั้นจิตจะรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเข้าไป รู้ จนไม่อยากปฏิบัติ แต่ก็จะพบความจริงอย่างหนึ่งว่า ถึงแม้เราจะไม่ปฏิบัติ แต่จิตเค้าก็ทำงานเอง เมื่อหลงไปคิด จิตก็รู้ว่าหลงไปคิดเอง และไม่มีตัวเราในการรู้เลย เมื่อถึงตอนนี้จะเข้าใจว่า การรู้ที่ดีที่สุดก็คือการปล่อยรู้นั้นเอง

เมื่อจิตเกิดความรู้ว่าไม่มีตัวตนอย่างแจ่มชัด เมื่อนั้นผู้ปฏิบัติก็จะก้าวพ้นจากโลกียะสู่โลกุตตระจะเกิดความรู้และเข้าใจ ในสิ่งที่องค์ สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ได้เป็นอย่างดี เข้าใจว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจิต เจตสิก รูป ล้วนแต่เกิดขึ้นและดับไปทั้งสิ้น ถ้าจิตเข้าไป อยาก เข้าไปยึดจะทำให้เกิดทุกข์ ทำให้จิตคลายจากความยึดมั่นถือมั่นจาก”ตัวกูของกู” เมื่อนั้นท่านจะพบว่าทุกข์ที่เคยมีอยู่ ลดลงไป อย่างมาก

เมื่อปฏิบัติต่อไปด้วยจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จะสามารถถอดถอนกายกับใจ กลับคืนสู่ธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งตัวผู้รู้ก็ไม่ยินดีที่จะ ยึดไว้ สุดท้ายก็จะพบกับสภาวะหนึ่งที่เรียกว่า “นิพพาน” หลุดพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง ไม่มีการนำไปเกิดอีก กลายเป็นบุคคลที่ถูกโลกลืม และไม่มีวันที่จะทำร้ายโลกอีกต่อไป

ในตลอดสายการปฏิบัติธรรมนั้น ท่านจำเป็นต้องนำเครื่องมือทั้ง 2 อย่างมาใช้ให้เกิดความเหมาะสม โดยให้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็น พื้น และนำสมถะกรรมฐานมาใช้เป็นครั้งคราวเมื่อต้องการให้จิตได้พักผ่อน สุดท้ายในการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันควรมีรูปแบบการ ปฏิบัติที่มีลำดับขั้นชัดเจน เพื่อใช้เป็นเครื่องเช็คระดับความเพียรของตนเอง เช่น ในช่วงเย็นก่อนเข้านอน อาจเริ่มต้นด้วยการสวดมนต์ เดินจงกรมครึ่งชั่วโมง นั่งภาวนาครึ่งชั่วโมงตามลำดับ เป็นต้น

หมายเหตุ - แนวทางปฏิบัติธรรมที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นการสรุปจากคำสอนครูบาอาจารย์ โดยใช้ภาษาที่เรียบง่ายในการนำเสนอ เพื่อให้ท่านที่ไม่ทราบภาษาบาลี สามารถนำไปปฏิบัติได้โดยตรง หากท่านมีความประสงค์จะทราบการปฏิบัติธรรมโดยรายละเอียด เพิ่มเติม ควรค้นหาเพิ่มเติมใน “มหาสติปัฏฐานสูตร”