เรื่องที่ 1 

เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์

ที่มีผลต่อการพัฒนาชาติไทย

เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการพัฒนาชาติไทย

  ปัจจัยที่มีผลต่อการสถาปนาอาณาจักรไทยนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ปัจจุบัน เป็นอาณาจักรต่อเนื่องกัน นับเวลามานานกว่า 700 ปี  มีปัจจัยที่ส่งผลต่อการสถาปนาอาณาจักรไทย ได้แก่ ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ และปัจจัยด้านการเมือง


       1.1 การสถาปนาอาณาจักรรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325 - ปัจจุบัน)

อาณาจักรรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานีเริ่มตั้งแต่การย้ายเมืองหลวงเดิมจากกรุงธนบุรีมายังกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจัยที่มีผลต่อการสถาปนาอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ดังนี้

        ด้านภูมิศาสตร์ เป็นพื้นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่เหมาะแก่การเพาะปลูก และใกล้ปากอ่าวไทยเหมาะสมแก่การติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศ 

        ด้านการเมือง ในช่วงปลายสมัยธนบุรีเกิดกบฏพระยาสรรค์ ทำให้บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงดำรงตำแหน่งในขณะนั้น) ได้ทำการปราบกบฏพระยาสรรค์ได้สำเร็จ จึงได้สถาปนาราชวงศ์จักรี และทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมายังกรุงเทพมหานคร โดยลอกแบบสิ่งก่อสร้างบางประการเลียนแบบในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อสร้างความรู้สึก ให้ประชาชนเข้าใจว่ากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีที่สืบทอดต่อเนื่องมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา

      

       1.2 สนธิสัญญาเบาว์ริง

     หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษ และประเทศสยาม (อังกฤษ : Treaty of Friendship and Commerce between the British Empire and the Kingdom of Siam)” หรือบนปกสมุดไทย ใช้ชื่อว่า หนังสือสัญญาเซอร์ จอห์น เบาว์ริง หรือที่มักเรียกกันทั่วไปว่า สนธิสัญญาเบาว์ริง (อังกฤษ : Bowring Treaty) เป็นสนธิสัญญาที่ราชอาณาจักรสยามทำกับ สหราชอาณาจักร ลงนามเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 โดยเซอร์ จอห์น เบาว์ริง ราชทูต ที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย ถือพระราชสาส์นสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียเข้ามาถวายพระเจ้าแผ่นดินไทยและใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์เจรจากับ “ผู้สำเร็จราชการฝ่ายสยาม” 5 พระองค์ ดังนี้

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่) ผู้สำเร็จราชการทั่วพระราชอาณาจักร ประธานผู้แทนรัฐบาล

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย) ผู้สำเร็จราชการพระนคร

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) รักษาในตำแหน่งสมุหพระกลาโหม บังคับบัญชาหัวเมืองชายทะเลปากใต้ฝ่ายตะวันตก

เจ้าพระยารวิวงศ์ พระคลัง และสำเร็จราชการกรมท่า บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายตะวันออก

 

             สาระสำคัญของสนธิสัญญาเบาว์ริง มีดังนี้

  1) คนที่อยู่ในการบังคับอังกฤษ จะอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของกงสุลอังกฤษนับเป็นครั้งแรกที่สยามมอบสนธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ประชากรต่างประเทศ

  2) คนที่อยู่ในการบังคับอังกฤษ ได้รับสิทธิในการค้าขายอย่างเสรีในเมืองท่าทุกแห่งของสยาม และสามารถพำนักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นการถาวรได้ ภายในอาณาเขตสี่ไมล์ (สองร้อยเส้น)

 3) คนที่อยู่ในการบังคับอังกฤษ สามารถซื้อ หรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณดังกล่าวได้

 4) คนที่อยู่ในการบังคับอังกฤษ ได้รับอนุญาตให้เดินทางได้อย่างเสรีในสยาม โดยมีหนังสือที่ได้รับการรับรองจากกงสุล

 5) ยกเลิกค่าธรรมเนียมปากเรือ และกำหนดอัตราภาษีขาเข้า และขาออกอย่างชัดเจน

  5.1) อัตราภาษีขาเข้าของสินค้าทุกชนิดกำหนดไว้ที่ร้อยละ 3 ยกเว้นฝิ่น ที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องขายให้กับเจ้าภาษี  ส่วนเงินทองและข้าวของเครื่องใช้ของพ่อค้าไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน

  5.2) สินค้าส่งออกให้มีการเก็บภาษีชั้นเดียว โดยเลือกว่าจะเก็บภาษีชั้นใน (จังกอบ ภาษีป่า ภาษีปากเรือ) หรือภาษีส่งออก

 6) พ่อค้าอังกฤษ ได้รับอนุญาตให้ซื้อขายโดยตรง ได้กับเอกชนสยามโดยไม่มีผู้ใด

ผู้หนึ่งขัดขวาง

 7) รัฐบาลสยาม สงวนสิทธิ์ในการห้ามส่งออกข้าว เกลือ และปลา เมื่อสินค้าดังกล่าวจะขาดแคลนภายในประเทศ

 

             ผลที่ได้รับจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง

1) อังกฤษประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยการที่รัฐบาลสยามยอมให้อังกฤษเข้ามาตั้งกงสุล มีอำนาจพิจารณาคดีที่คนอังกฤษมีคดีความกัน และร่วมพิจารณาคดีที่คนไทยกับอังกฤษมีคดีความกัน

 2) ข้าว เกลือ และปลาไม่เป็นสินค้าต้องห้ามอีกต่อไป

 3) มีการรับเอาวิทยาการตะวันตกสมัยใหม่เข้าสู่ประเทศ ซึ่งทำให้ชาวต่างประเทศให้การยอมรับสยามมากขึ้น

4) การแลกผูกขาดการค้าของรัฐบาลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ราษฎรสามารถซื้อขายสินค้าได้โดยอิสระ รัฐบาลไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการขายสินค้ามีค่า เช่น ไม้ฝาง ไม้กฤษณา หรืองาช้าง เพราะรัฐบาลจะขาดทุน

5) ข้าว ได้กลายมาเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทย ส่งผลให้การทำนาแพร่หลายกว่าแต่ก่อน และทำให้ราษฎรมีเงินตราหมุนเวียนอยู่ในมือ พร้อมทั้งชาวนามีโอกาสไถ่ลูกเมียที่ขายให้แก่ผู้อื่น และยังทำให้เงินตราต่างประเทศเข้าสู่ราชสำนักเป็นจำนวนมาก

6) ฝรั่งที่เข้ามาจ้างลูกจ้างคนไทยให้ค่าจ้างเป็นรายเดือน และโบนัส คิดเป็นมูลค่าสูงกว่าข้าราชการไทยเสียมาก ส่งผลให้รัฐบาลได้เพิ่มเงินเบี้ยหวัด และค่าแรงแก่ข้าราชการและคนงานมากขึ้น

7) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้สร้างถนน ได้แก่ ถนนหัวลำโพง ถนนเจริญกรุง และถนนสีลม แต่ละเส้นกว้าง 5 ศอก

8) ในสมัยปลายรัชกาลที่ 4 ฝรั่งต่างก็เข้ามาตั้งโรงงานในสยามเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่โรงสีข้าว โรงงานน้ำตาลทราย อู่ต่อเรือ โรงเลื่อยไม้ เป็นต้น

9) การให้สิทธิเสรีภาพในการถือครองที่ดินแก่ราษฎรไทย และชาวต่างประเทศซึ่งรัฐบาลแบ่งที่ดินออกเป็นสามเขต คือ ในพระนคร และห่างกำแพงพระนครออกไปสองร้อยเส้นทุกทิศ ยอมให้เช่าแต่ไม่ยอมให้ซื้อ ถ้าจะซื้อต้องเช่าครบ 10 ปีก่อน หรือจะต้องได้รับอนุญาตจากเสนาบดีเขตที่ล่วงออกไป เจ้าของที่และบ้านมีสิทธิให้เช่าหรือขายกรรมสิทธิ์ได้ โดยไม่มีข้อแม้แต่ล่วงจากเขตนี้ไปอีก ห้ามมิให้ฝรั่งเช่าหรือซื้อโดยเด็ดขาด เมื่อราษฎรได้รับสิทธิในการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ราษฎรก็มีทางทำมาหากินเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง คือ การจำนองที่ดินเพื่อกู้เงิน หรือขายฝาก ขายขาดที่ดินของตนได้



       1.3 การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5

     ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เป็นลัทธิการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก จึงได้ทรงดำเนินนโยบายทางการทูต เพื่อมิให้ประเทศมหาอำนาจใช้เป็นข้ออ้างในการยึดครองประเทศไทย ครั้นต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411 - 2453) เป็นสมัยที่มีการปฏิรูปบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศทันสมัย ที่สามารถรอดพ้นจากลัทธิการล่าอาณานิคมมาได้ เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังส่งผลให้เกิดความเจริญแก่ประเทศชาติในปัจจุบัน


       สาเหตุของการปฏิรูปบ้านเมือง

   ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงเวลาที่ชาติตะวันตกมีการล่าอาณานิคม ส่งผลให้ประเทศเพื่อนบ้านของไทยหลายแห่ง ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาติตะวันตก เช่น พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส นอกจากนี้ ประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศส มีความพยายามขยายอำนาจเข้ามาในดินแดนของประเทศไทย และบริเวณโดยรอบดินแดนของประเทศไทย ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงติดตามเรื่องราวการขยายอำนาจของประเทศชาติชาวตะวันตก และความเจริญของประเทศชาติของชาวตะวันตก จึงต้องการปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัยแบบเดียวกับประเทศชาติชาวตะวันตก เพื่อไม่ให้ใช้เป็นข้ออ้างว่าประเทศไทยเป็นบ้านเมืองป่าเถื่อน ด้อยความเจริญ แล้วถือโอกาสเข้ามายึดครอง ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงดำเนินการปฏิรูปบ้านเมือง โดยมีแนวความคิดในการปฏิรูปการปกครอง 3 ประการ คือ

1) การรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมากขึ้นเป็นการใช้อำนาจของรัฐบาลกลางในการยืนยันอาณาเขตของประเทศไทย เพื่อป้องกันประเทศชาติตะวันตกอ้างเอาดินแดนไปยึดครอง

2) การศาลและกฎหมายที่มีมาตรฐานเป็นสากลมากขึ้น

3) การพัฒนาประเทศ ทรงริเริ่มนำสิ่งใหม่ ๆ เข้ามา เช่น การไปรษณีย์ การรถไฟ การโทรเลข ฯลฯ

 

การปฏิรูปการปกครอง

 การปกครองก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การบริหารบ้านเมืองนั้นอยู่ภายใต้อำนาจบรรดาขุนนางผู้ใหญ่และเจ้านายที่มีทั้งกำลังทหาร อาวุธและไพร่ส่วนพระองค์ อีกทั้งยังมีบทบาทในการควบคุมผลประโยชน์ทางด้านการค้าขาย เช่น การเก็บภาษี และการควบคุมไพร่ เป็นต้น ส่งผลให้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เกิดความไม่มั่นคง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงจัดระเบียบการปกครองเสียใหม่และเป็นรากฐานการปกครองมาจนถึงปัจจุบัน โดยจำแนกออกเป็น 3 ส่วนที่สำคัญ ดังนี้

                1.  การปกครองส่วนกลาง

   การปรับปรุงการบริหารราชการในส่วนกลางของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกตำแหน่งอัครเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือ สมุหกลาโหม และสมุหนายก รวมทั้งจตุสดมภ์ โดยแบ่งการบริหารราชการออกเป็นกระทรวงตามแบบอารยประเทศ มีการจัดสรรอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบเป็นสัดส่วน เพื่อให้มีประสิทธิภาพ และให้มีเสนาบดีเป็นผู้ว่าการแต่ละกระทรวง กระทรวงที่ตั้งขึ้นทั้งหมด เมื่อ พ.ศ. 2435 มี 12 กระทรวง มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้

       (1) กระทรวงมหาดไทย      รับผิดชอบหัวเมืองฝ่ายเหนือและเมืองลาวประเทศราช

         (2) กระทรวงกลาโหม              รับผิดชอบหัวเมืองฝ่ายใต้ หัวเมืองฝ่ายตะวันออก ตะวันตกและเมืองมลายูประเทศราช

       (3) กระทรวงต่างประเทศ   รับผิดชอบเกี่ยวกับการต่างประเทศ

       (4) กระทรวงวัง               รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการในพระราชวัง

       (5) กระทรวงเมือง        รับผิดชอบเกี่ยวกับการตำรวจ บัญชีคน และราชทัณฑ์หรือกระทรวงนครบาล 

       (6) กระทรวงเกษตราธิการ รับผิดชอบเกี่ยวกับการเพาะปลูก เหมืองแร่ ป่าไม้

         (7) กระทรวงคลัง                   รับผิดชอบเกี่ยวกับภาษีอากรและเงินรายรับ งบประมาณแผ่นดิน

       (8) กระทรวงยุติธรรม        รับผิดชอบเกี่ยวกับการชำระคดีและการศาล

       (9) กระทรวงยุทธนาธิการ  รับผิดชอบเกี่ยวกับการทหาร

         (10) กระทรวงธรรมการ          รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษา การสาธารณสุขและพระสงฆ์

       (11) กระทรวงโยธาธิการ    รับผิดชอบเกี่ยวกับการก่อสร้าง ถนน คลอง การช่าง ไปรษณีย์โทรเลข และรถไฟ

         (12) กระทรวงมุรธาธิการ        รับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาตราแผ่นดิน และงานระเบียบสารบรรณ


    ภายหลังได้ยุบกระทรวงยุทธนาธิการไปรวมกับกระทรวงกลาโหม และยุบกระทรวงมุรธาธิการไปรวมกับกระทรวงวัง คงเหลือเพียง 10 กระทรวง เสนาบดีทุกกระทรวงมีฐานะเท่าเทียมกัน และประชุมร่วมกันเป็นเสนาบดีสภา ทำหน้าที่ปรึกษาและช่วยบริหารราชการแผ่นดินตามที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบหมาย เพราะอำนาจสูงสุดเด็ดขาดเป็นของพระมหากษัตริย์ตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และทรงแต่งตั้ง “สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “รัฐมนตรีสภา” ประกอบด้วย เสนาบดี หรือผู้แทน กับผู้ที่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รวมกันไม่น้อยกว่า 12 คน มีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นที่ปรึกษาและคอยทัดทานอำนาจพระมหากษัตริย์ แต่การปฏิบัติหน้าที่ของสภาดังกล่าว ไม่ได้บรรลุจุดประสงค์ที่ทรงหวังไว้ เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ไม่กล้าโต้แย้งพระราชดำริ คณะที่ปรึกษาส่วนใหญ่มักพอใจที่จะปฏิบัติตามมากกว่าที่จะแสดงความคิดเห็น

     นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงแต่งตั้ง “สภาที่ปรึกษาในพระองค์” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “องคมนตรีสภา” ขึ้นอีก มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่ทรงมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงเกิดประโยชน์ต่อราษฎรและประเทศชาติ ประกอบด้วยสมาชิกเมื่อแรกตั้ง 49 คน มีทั้งสามัญชน ตั้งแต่ชั้นหลวงถึงเจ้าพระยา และพระราชวงศ์ องคมนตรีสภานี้อยู่ในฐานะรองจากรัฐมนตรีสภา เพราะข้อความที่ปรึกษา และตกลงกันในองคมนตรีสภาแล้วจะต้องนำเข้าที่ประชุมรัฐมนตรีสภาก่อนแล้วจึงจะเสนอเสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ


2.  การปกครองส่วนภูมิภาค

  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ยกเลิกการปกครองหัวเมือง และให้เปลี่ยนแปลงเป็นการปกครองส่วนภูมิภาคที่มีความสัมพันธ์กับส่วนกลาง  โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 ขึ้น เพื่อจัดการปกครองเป็นมณฑล เมือง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ดังนี้

1) มณฑลเทศาภิบาล ประกอบด้วยเมืองตั้งแต่ 2 เมืองขึ้นไปมีสมุหเทศาภิบาลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งไปปกครองดูแลต่างพระเนตร พระกรรณ

2) เมือง ประกอบด้วยอำเภอหลายอำเภอ มีผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบขึ้นตรงต่อข้าหลวงเทศาภิบาล

3) อำเภอ ประกอบด้วยท้องที่หลาย ๆ ตำบล มีนายอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบ

4) ตำบล ประกอบด้วยท้องที่ 10 - 20 หมู่บ้าน มีกำนันซึ่งเลือกตั้งมาจากผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รับผิดชอบ

5) หมู่บ้าน ประกอบด้วยบ้านเรือนประมาณ 10 บ้านขึ้นไป มีราษฎรอาศัยประมาณ 100 คน เป็นหน่วยปกครองที่เล็กที่สุด มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รับผิดชอบต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ยกเลิกมณฑลเทศาภิบาล และเปลี่ยน เมือง เป็น จังหวัด


3.  การปกครองส่วนท้องถิ่น

  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดให้มีการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในรูปสุขาภิบาล ซึ่งมีหน้าที่คล้ายเทศบาลในปัจจุบัน เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) ขึ้นบังคับใช้ในกรุงเทพฯ ต่อมาใน ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) ได้ขยายไปที่ท่าฉลอม ปรากฏว่าดำเนินการได้ผลดี

    เป็นอย่างมาก ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาล ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ขึ้น โดยแบ่งสุขาภิบาลออกเป็น 2 ประเภท คือ สุขาภิบาลเมือง และสุขาภิบาลตำบล ท้องถิ่นใดเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นสุขาภิบาลประเภทใด ก็ให้ประกาศตั้งสุขาภิบาลในท้องถิ่นนั้น


       1.4 การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงดำเนินพระบรมราโชบาย ดังนี้

1) ปลดปล่อยไพร่ให้เป็นอิสระและทรงประกาศเลิกทาสให้เป็นไทยแก่ตนเอง 

   2) ผลจากปฏิรูปการศึกษาตามแบบตะวันตก เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาถึงขั้นอ่านออกเขียนได้และคิดเลขเป็นไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย บุตรหลานขุนนาง หรือราษฎรสามัญชนที่พ้นจากความเป็นไพร่หรือทาส ถ้าบุคคลใดมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็จะมีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศตะวันตก

   3) ผลการปฏิรูปการศึกษา ทำให้คนไทยบางกลุ่มที่ได้รับการศึกษาตามแบบชาติตะวันตกเริ่มมีกระแสความคิดเกี่ยวกับการเมืองสมัยใหม่ ที่ยึดถือรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ และมีความปรารถนาที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นในประเทศไทย 

      เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พ.ศ. 2453 กลุ่มปัญญาชนต่างก็มุ่งหวังว่า พระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ ซึ่งมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและคงได้ทรงเตรียมพระองค์ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสไว้ แต่ปรากฏว่ายังไม่มีพระราชดำริในเรื่องรัฐสภาและรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ในเวลาเดียวกันประเทศจีนมีการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์แมนจูเปลี่ยนการปกครองประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐเป็นผลสำเร็จ ทำให้ความคิดอยากจะได้ประชาธิปไตยมีมากขึ้น ประกอบกับความไม่พอใจในพระราชจริยาวัตรบางประการของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาที่จะล้มล้างระบอบการปกครอง

     ดังนั้น เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็คือ พวกนายทหารบกทหารเรือและพลเรือน รวมประมาณ 100 คน เรียกตัวเองว่าคณะ ร.ศ. 130 ได้วางแผนการปฏิวัติการปกครองหวังให้พระมหากษัตริย์พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทย

 

สาเหตุที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

     เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรโดยการนำของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เข้ายึดอำนาจการปกครอง มีสาเหตุที่สำคัญ ดังนี้

1) ความเสื่อมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์    

2) การได้รับการศึกษาตามแนวความคิดตะวันตกของบรรดาชนชั้นนำในสังคมไทย

3) ความเคลื่อนไหวของบรรดาสื่อมวลชน                

4) ความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

5) ปัญหาสภาวะการคลังของประเทศ และของโลก


คณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง

    ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชอาณาจักรสยามได้ปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชาติได้ประสบกับปัญหาซึ่งเกิดจากรัฐบาลต้องรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่ร้ายแรงและภัยคุกคามจากต่างประเทศ (โดยเฉพาะประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศส)

   คณะราษฎรภายใต้การนำของพันเอกพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะราษฎรประกอบด้วย กลุ่มบุคคลผู้ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และมีสมาชิกที่มีความคิดแบบเดียวกัน รวมทั้งสิ้น 7 คน ได้แก่ 

1) หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี)   ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามในประเทศฝรั่งเศส  

2) ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี       นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ประเทศฝรั่งเศส

3) ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ      นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ประเทศฝรั่งเศส

4) ร้อยตรีทัศนัย มิตรภักดี         นักเรียนวิชาทหารม้า ประเทศฝรั่งเศส

5) นายปรีดี      พนมยงค์        นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศฝรั่งเศส

6) นายแนบ      พหลโยธิน       นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศอังกฤษ

7) นายตั้ว        ลพานุกรม       นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

    และได้ทำการประชุมครั้งแรกที่บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอเมอราร์ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ซึ่งติดต่อกันนานถึง 4 คืน 5 วัน โดยมีร้อยโท แปลก ที่สมาชิกคณะราษฎรคนอื่น ๆ เรียกว่า “กัปตัน” เป็นประธานในการประชุม ที่ประชุมมีมติตกลงที่จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย โดยตกลงที่ใช้วิธีการ “ยึดอำนาจโดยฉับพลัน” รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงการนองเลือด เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในการปฏิวัติประเทศฝรั่งเศสและการปฏิวัติในประเทศรัสเซีย ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการถือโอกาสเข้ามาแทรกแซงจากมหาอำนาจที่มีอาณานิคมอยู่ล้อมรอบประเทศสยามในสมัยนั้น คือ ประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศส 

   ในการประชุมครั้งนั้น กลุ่มผู้ก่อการได้ตั้งปณิธาน 6 ประการในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งต่อมาหลังจากปฏิวัติยึดอำนาจได้แล้ว ก็ได้นำประกาศเป้าหมาย 6 ประการนี้ไว้ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 และต่อมาได้เรียกว่า “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” คือ

1) จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง

2) จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3) จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4) จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่

5) จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น

6) จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร และที่ประชุมได้ลงมติให้ปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า จนกว่าจะหาผู้ที่เหมาะสมกว่าได้

     หลังจากการประชุมครั้งนั้น คณะผู้ก่อการได้กลับมาประเทศสยาม ได้พยายามหาสมาชิกเพื่อเข้าร่วมก่อการปฏิวัติ โดยได้ติดต่อประชาชนทุกอาชีพ ทั้งพ่อค้า ข้าราชการพลเรือนและทหาร ได้สมาชิกทั้งสิ้น 115 คน แบ่งเป็นสายต่าง ๆ คือ

        1) สายพลเรือน นำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)

        2) สายทหารเรือ นำโดย นาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน)

        3) สายทหารบกชั้นยศน้อย นำโดย พันตรีหลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม)

        4) สายนายทหารชั้นยศสูง นำโดย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)


    โดยที่ประชุมคณะราษฎรตกลงกันว่า ในเรื่องของการปฏิวัติ ความมั่นคง และความปลอดภัยของบรรดาสมาชิก และของประเทศ เป็นหน้าที่ของฝ่ายทหาร และในส่วนของการร่างคำประกาศ ตลอดจนการร่างกฎหมาย และการวางเค้าโครงต่าง ๆ ของประเทศ เป็นหน้าที่ของฝ่ายพลเรือน

        ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะผู้ก่อการสามารถยึดอำนาจและจับกุมบุคคลสำคัญฝ่ายรัฐบาลไว้ได้โดยเรียบร้อย และได้ร่วมกันจัดตั้งคณะราษฎรขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบ รวมทั้งออกประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎร เพื่อชี้แจงที่ต้องเข้ายึดอำนาจการปกครองให้ประชาชนเข้าใจ นอกจากนี้คณะราษฎรได้แต่งตั้งผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหารขึ้น 3 นาย ได้แก่ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช พันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์ โดยให้ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน ขณะที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการบริหารประเทศหลังจากนั้น คณะราษฎรได้มีหนังสือกราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับคืนสู่พระนคร ซึ่งขณะนั้นพระองค์ทรงประทับอยู่ที่วังไกลกังวล  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อดำรงฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรต่อไป ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินจากพระราชวังไกลกังวล กลับคืนสู่พระนครแล้ว คณะราษฎรได้นำพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรบางคนได้ร่างเตรียมไว้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพระปรมาภิไธยมี 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 

   1) พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 

   พระองค์ได้พระราชทานกลับคืนมาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และได้มีพิธีเปิดสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้มีชื่อเรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว” รัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้กำหนดว่า อำนาจสูงสุดในแผ่นดิน ประกอบด้วย อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการซึ่งแต่เดิมเป็นของพระมหากษัตริย์ จึงได้เปลี่ยนเป็นของปวงชนชาวไทยตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยเกี่ยวกับการได้มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้กำหนดแบ่งระยะเวลาออกเป็น 3 สมัย คือ

(1) สมัยที่ 1 นับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกในสมัยที่ 2 จะเข้ารับตำแหน่ง ให้คณะราษฎรซึ่งมีผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทน และจัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นเป็นจำนวน 70 นาย เป็นสมาชิกในสภา 

(2) สมัยที่ 2 ภายในเวลา 6 เดือน หรือจนกว่าจะจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อย สมาชิกในสภาจะต้องมีบุคคล 2 ประเภท ทำกิจกรรมร่วมกัน คือ ประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ ผู้แทนราษฎรซึ่งราษฎรได้เลือกขึ้นมาจังหวัดละ 1 นาย ต่อราษฎรจำนวน 100,000 คน ประเภทที่สอง ผู้เป็นสมาชิกอยู่ในสมัยที่หนึ่งมีจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่หนึ่ง ถ้าจำนวนเกินให้เลือกกันเองว่าผู้ใดจะยังเป็นสมาชิกต่อไป ถ้าจำนวนขาดให้ผู้ที่มีตัวอยู่เลือกบุคคลใด ๆ เข้าแทนจนครบ

(3) สมัยที่ 3 เมื่อจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรได้สอบไล่วิชาประถมศึกษาได้เป็นจำนวนกว่าครึ่ง และอย่างช้าต้องไม่เกิน 10 ปี นับตั้งแต่วันใช้รัฐธรรมนูญ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น ส่วนสมาชิกประเภทที่สองเป็นอันสิ้นสุดลง ผู้แทนราษฎรชั่วคราว จำนวน 70 นาย ซึ่งผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหารจะเป็นผู้จัดตั้งขึ้นในระยะแรกนั้น ประกอบด้วย สมาชิกคณะราษฎร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้ประกอบอาชีพสาขาต่าง ๆ ซึ่งมีความปรารถนาจะช่วยบ้านเมือง และกลุ่มกบฏ ร.ศ. 130 บางคนซึ่งสมาชิกทั้ง 70 คน ภายหลังจากการได้รับการแต่งตั้งแล้ว 6 เดือน ก็จะมีฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ทางด้านอำนาจบริหารนั้นในรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ซึ่งตำแหน่งบริหารที่สำคัญเอาไว้ คือ 

  ประธานคณะกรรมการราษฎร (เทียบเท่านายกรัฐมนตรี) ซึ่งจะต้องเป็นบุคคลที่สามารถประสานความเข้าใจระหว่างคณะราษฎรกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างดี และเพื่อความราบรื่นในการบริหารประเทศต่อไป คณะราษฎรจึงตกลงเห็นชอบที่จะให้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร คณะกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี) ในรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีชุดแรกที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 มีจำนวนทั้งสิ้น 15 นาย เป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน 

2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 

      ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวแล้ว สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเพื่อใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศสืบไป ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้ายในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 และสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับรองให้ใช้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม

      การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามคณะราษฎรภายใต้การนำของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมิต้องสูญเสียเลือดเนื้อแต่ประการใดนั้น เป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยมิได้ทรงต่อต้าน และคิดตอบโต้คณะราษฎรด้วยการใช้กำลังทหารที่มีอยู่แต่ประการใด และทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้กับปวงชนชาวไทยตามที่คณะราษฎรได้เตรียมร่างเอาไว้ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธย นอกจากนี้พระองค์ก็ทรงมีพระราชประสงค์มาแต่เดิมแล้วว่าจะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศแก่ประชาชนอยู่แล้ว จึงเป็นการสอดคล้องกับแผนการของคณะราษฎร ประกอบกับพระองค์ทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและความสุขของประชาชนเป็นสำคัญยิ่งกว่าการดำรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจของพระองค์ 

    รัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 หลังจากนั้นได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมาทางราชการได้กำหนดให้ถือเอาวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันรัฐธรรมนูญ”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้ 

    1) อำนาจนิติบัญญัติ กำหนดให้มีสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง แต่มีบทเฉพาะกาลกำหนดไว้ว่า ถ้าราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ยังมีการศึกษาไม่จบชั้นประถมศึกษามากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด และอย่างช้าต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475

   สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย สมาชิก 2 ประเภท มีจำนวนเท่ากัน คือ สมาชิกประเภทที่ 1 ได้แก่ ผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมาตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนสมาชิกประเภทที่ 2 ได้แก่ ผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในระหว่างที่ใช้บทบัญญัติเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 

     2) อำนาจบริหาร พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี 1 นาย และรัฐมนตรีอีกอย่างน้อย 14 นาย อย่างมาก 24 นาย และในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ กล่าวโดยสรุปในภาพรวมของรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองการปกครองและสังคมไทย ดังนี้

2.1) อำนาจการปกครองของแผ่นดินซึ่งแต่เดิมเคยเป็นของพระมหากษัตริย์ให้ตกเป็นของปวงชนชาวไทยตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงฐานะเป็นประมุขของประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์จะทรงใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ทาง คือ อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี อำนาจตุลาการผ่านทางผู้พิพากษา

2.2) ประชาชนจะได้รับสิทธิในทางการเมือง โดยการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่ควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล ออกกฎหมายและเป็นปากเสียงแทนราษฎร

2.3) ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในทางการเมืองมากขึ้น สามารถแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องต่าง ๆ ได้ ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย และคนทุกคนมีความเสมอภาคภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน

2.4) ในระยะแรกของการใช้รัฐธรรมนูญ อำนาจบริหารประเทศจะต้องตกอยู่ภายใต้การชี้นำของคณะราษฎร ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของราษฎรทั้งมวลในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ความสงบเรียบร้อย ประชาชนจึงจะมีสิทธิในอำนาจอธิปไตยอย่างเต็มที่


ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

1) ผลกระทบทางด้านการเมือง

    การเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อสถานภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก เพราะเป็นการสิ้นสุดพระราชอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลง และทรงยินยอมพระราชทานรัฐธรรมนูญให้กับปวงชนชาวไทยแล้วก็ตาม แต่พระองค์ก็ทรงเป็นห่วงว่าประชาชนจะมิได้รับอำนาจการปกครองที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ โดยผ่านทางคณะราษฎรอย่างแท้จริง พระองค์จึงทรงใช้ความพยายามที่จะขอให้คณะราษฎรได้ดำเนินการปกครองประเทศด้วยหลักการแห่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่พระองค์ก็มิได้รับการสนองตอบจากรัฐบาลของคณะราษฎรแต่ประการใด จนกระทั่งภายหลังพระองค์จึงทรงประกาศสละราชสมบัติใน พ.ศ. 2477

   นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามคำแถลงที่ให้ไว้กับประชาชน

   จากการที่คณะราษฎรได้มอบหมายให้นายปรีดี พนมยงค์ ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการปรับปรุงเศรษฐกิจของประเทศ ปรากฏว่าหลายฝ่ายมองว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจมีลักษณะโน้มเอียงไปในทางหลักเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสิ้นสุดลงแล้วไม่นาน พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี เห็นว่าการบริหารประเทศท่ามกลางความขัดแย้งในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจไม่สามารถจะดำเนินต่อไปได้ จึงประกาศปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา อันส่งผลให้พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นำกำลังทหารยึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ นิติธาดา ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 และหลังจากนั้น พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินสืบไป

   เมื่อรัฐบาลของ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เข้าบริหารประเทศได้ไม่นาน ก็มีบุคคลคณะหนึ่งซึ่งเรียกตนเองว่า คณะกู้บ้านกู้เมือง นำโดยพลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช ได้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 โดยอ้างว่ารัฐบาลได้ทำการหมิ่นประมาทองค์พระประมุขของชาติ และรับนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจอันอื้อฉาวเข้าร่วมในคณะรัฐบาล พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการปกครองประเทศในระบอบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ในที่สุดรัฐบาลก็สามารถปราบรัฐประหารของคณะกู้บ้านกู้เมืองได้สำเร็จ 

   ปัญหาการเมืองดังกล่าว ได้กลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้สถาบันทางการเมืองในยุคหลัง ๆ ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะการพัฒนาการทางการเมืองมิได้เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย และเป็นการสร้างธรรมเนียมการปกครองที่ไม่ถูกต้องให้กับนักการเมืองและนักการทหารในยุคหลังต่อ ๆ มา ซึ่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยต้องประสบกับความล้มเหลว

2) ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

   การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญของไทย จากการที่คณะราษฎรได้มอบหมายให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นคนร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจเพื่อนำเสนอแต่ไม่ได้รับการยอมรับจากคณะราษฎรส่วนใหญ่ ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจจึงยังคงเป็นแบบทุนนิยมเช่นเดิม และเน้นที่การเกษตรกรรมมากกว่าอุตสาหกรรม นอกจากนี้กลุ่มผลประโยชน์ที่ครอบครองที่ดินและทุนอันเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ก็รวมตัวกันต่อต้านกระแสความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่ดินและเงินทุนจากของบุคคลเป็นระบบสหกรณ์

    การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ยังส่งผลทำให้ชนชั้นเจ้านายและขุนนาง ในระบบเก่าถูกลิดรอนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น พระมหากษัตริย์จะได้รับเงินจากงบประมาณเพียงปีละ 1 - 2 ล้านบาท จากเดิมเคยได้ประมาณปีละ 2 - 10 ล้านบาท เงินปีของ

     พระบรมวงศานุวงศ์ถูกลดลงตามส่วน ขุนนางเดิมถูกปลดออกจากราชการโดยรับเพียงบำนาญ และเจ้านายบางพระองค์ถูกเรียกทรัพย์สินสมบัติคืนเป็นของแผ่นดิน

3) ผลกระทบทางด้านสังคม 

     ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาชนเริ่มได้รับเสรีภาพและมีสิทธิต่าง ๆ ตลอดจนความเสมอภาคภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง ในขณะที่บรรดาเจ้าขุนมูลนาย ขุนนาง ซึ่งมีอำนาจภายใต้ระบอบการปกครองดั้งเดิมได้สูญเสียอำนาจและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เคยมีมาก่อน โดยที่คณะราษฎรได้เข้าไปมีบทบาทแทนบรรดาเจ้านายและขุนนางในระบบเก่าเหล่านั้น

    รัฐบาลได้กระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่นด้วยการจัดตั้งเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร มีสภาเทศบาล คอยควบคุมกิจการบริหารของเทศบาลเฉพาะท้องถิ่นนั้น ๆ โดยมีเทศมนตรีเป็นผู้บริหารตามหน้าที่

    รัฐบาลของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2479 โดยกำหนดแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ประเภท คือ สายสามัญศึกษาและสายอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นการเน้นความสำคัญของอาชีวศึกษาอย่างแท้จริง โดยได้กำหนดความมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่เรียนจบการศึกษาในสายสามัญแต่ละประโยคแต่ละระดับการศึกษาได้เรียนวิชาอาชีพเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากเรียนวิชาสามัญ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการที่จะออกไปประกอบอาชีพและมีนโยบายที่จะส่งเสริมการศึกษาของราษฎรอย่างเต็มที่ ตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ดังนั้น รัฐบาลจึงได้โอนโรงเรียนประชาบาลที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลที่รัฐบาลได้จัดตั้งขึ้น ให้เทศบาลเหล่านั้นรับไปจัดการศึกษาเอง ตามที่เทศบาลเหล่านั้นจะสามารถรับโอนไปจากกระทรวงธรรมการได้ ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการทำนุบำรุงการศึกษาของบุตรหลานของตนเอง นำไปใช้ประกอบอาชีพต่อไปอย่างมั่นคงและมีความสุข

    หลังจากได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จเรียบร้อยแล้ว คณะราษฎรได้มีบทบาทและอิทธิพลในทางการเมือง การปกครอง และสังคมของประเทศไทย เป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปี จนกระทั่งในปลายปี พ.ศ. 2490 ได้เกิดการรัฐประหารของคณะนายทหาร ภายใต้การนำของพลโทผิน ชุณหะวัณ และจากนั้นได้ให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป


ความเป็นชาติไทยสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม

(ระหว่าง พ.ศ. 2481 - 2487)

ประวัติจอมพล ป.พิบูลสงคราม

จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีชื่อเดิมว่า “แปลก ขีตตะสังคะ” ชื่อจริงคำว่า “แปลก” เนื่องจากเมื่อแรกเกิดบิดามารดาเห็นว่าหูทั้งสองข้างอยู่ต่ำกว่านัยน์ตาผิดไปจากบุคคลธรรมดาจึงให้ชื่อว่า “แปลก”

ภาพ : ประชุมครบรอบจอมพล ป.พิบูลสงครามถึงแก่กรรม

    ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการดำเนินนโยบายโดยรัฐบาลใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และรัฐบาลสนับสนุนประชาชนคนไทยให้ใช้ของที่ผลิตในประเทศไทยดังมีคำขวัญที่ว่า “ไทยทำ  ไทยใช้  ไทยเจริญ”

    แนวนโยบายของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือ “นโยบายสร้างชาติ” มีความหมายตามที่ปรากฏในคำกล่าวปราศรัยของจอมพล ป. ว่า “ความหมายของการสร้างชาติ”นั้นมีว่า ชาติไทยมีอยู่แล้ว แต่สถานะบางอย่างของชาติยังไม่ขึ้นถึงขั้นระดับสมความต้องการของประชาชาติไทย เราจำเป็นต้องพร้อมใจกัน สร้างเพิ่มเติมให้ดีขึ้นกว่าเดิม ช่วยกันปรับปรุงไปจนกว่าเราทุกคนจะพอใจ หรืออย่างน้อยก็ได้ระดับเสมออารยประเทศ” นำไปสู่การเปลี่ยนโฉมประเทศสยามไปจากเดิม เป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นก็คือ การประกาศสิ่งที่เรียกว่า “รัฐนิยม” อันเป็นประกาศเกี่ยวกับรูปแบบการปฏิบัติทางวัฒนธรรมสำหรับประชาชนที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติที่มีอารยธรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่กำหนดขึ้นเพื่อปรับปรุงแก้ไขวัฒนธรรมบางอย่างของชาติ สำหรับให้ใช้เป็นหลักให้ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติ

    ประกาศรัฐนิยมออกมาในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2482 - 2485 รวมทั้งสิ้นจำนวน 12 ฉบับ และได้มีการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐนิยมดังต่อไปนี้ 

รัฐนิยมฉบับที่ 1 : เรื่อง การใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ

   โดยที่ชื่อของประเทศนี้ มีเรียกกันเป็นสองอย่าง คือ “ไทย” และ “สยาม” แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า “ไทย” รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของประชาชนชาวไทย ดังต่อไปนี้

ก. ในภาษาไทย  ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติให้ใช้ว่า “ไทย”

ข. ในภาษาอังกฤษ

1) ชื่อประเทศ ให้ใช้ว่า THAILAND

2) ชื่อประชาชน และสัญชาติให้ใช้ว่า THAI

แต่ไม่กระทบถึงกรณีที่มีบทกฎหมายบัญญัติคำว่า “สยาม” ไว้ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2482 เป็นต้นไป

  ประกาศมา ณ วันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2482

 

รัฐนิยมฉบับที่ 2 : เรื่อง การป้องกันภัยที่จะบังเกิดแก่ชาติ

  ด้วยรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า ชาติไทยต้องเป็นที่เทิดทูนของชาวไทยอย่างสูงสุดเหนือสิ่งใด ๆ การป้องกันรักษาชาติย่อมเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ร่วมชาติ จักต้องป้องกันอันตรายหรือความเสื่อมโทรมของชาติที่อาจมีมาด้วยประการต่าง ๆ จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดังต่อไปนี้

 1) ชนชาติไทยต้องไม่ประกอบกิจการใด ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์และความปลอดภัยของชาติ

2) ชนชาติไทยต้องไม่เปิดเผยสิ่งซึ่งอาจเป็นผลเสียหายแก่ชาติให้ชนต่างชาติล่วงรู้เลยเป็นอันขาด การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ

3) ชนชาติไทยต้องไม่ทำตนเป็นตัวแทนหรือเป็นปากเสียงของต่างชาติ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติไทย ต้องไม่ออกเสียงหรือแสดงตนเข้าข้างต่างชาติในกรณีที่เป็นปัญหาระหว่างชาติ การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ

4) ชนชาติไทยต้องไม่แอบอ้าง ซื้อขายที่ดินแทนชนต่างชาติ ในทางที่เป็นภัยแก่ชาติ การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ

5) เมื่อปรากฏว่า มีผู้หนึ่งผู้ใดทรยศต่อชาติ เป็นหน้าที่ของชาวไทยต้องเอาใจใส่รีบระงับเหตุนั้น

  ประกาศมา ณ วันที่ 3 กรกฎาคม พุทธศักราช 2482

 

รัฐนิยมฉบับที่ 3 : เรื่อง การเรียกชื่อชาวไทย

   ด้วยรัฐบาลเห็นว่า การเรียกชาวไทยบางส่วนไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียกก็ดี การเรียกชื่อแบ่งแยกคนไทยออกเป็นหลายพวกหลายเหล่า เช่น ไทยเหนือ ไทยอิสาน ไทยใต้ ไทยอิสลามก็ดี ก็ไม่สมควรแก่สภาพของประเทศไทย ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้ จึงประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้

1) ให้เลิกการเรียกชาวไทย โดยใช้ชื่อที่ไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียก

2) ให้ใช้คำว่า “ไทย” แก่ชาวไทยทั้งมวลไม่แบ่งแยก

    ประกาศมา ณ วันที่ 2 สิงหาคม พุทธศักราช 2482


รัฐนิยมฉบับที่ 4 : เรื่อง การเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี

   ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นสิ่งสำคัญประจำชาติ พึงได้รับความเชิดชูเคารพของชาวไทยทั้งมวล จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดังต่อไปนี้

1) เมื่อได้เห็นการชักธงชาติขึ้น หรือลง จากเสาประจำสถานที่ราชการตามเวลาปกติหรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยวหรือนกหวีดเป่าคำนับ หรือให้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติขึ้นหรือลดธงลง ให้แสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

2) เมื่อได้เห็นธงชัยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ ซึ่งทางราชการเชิญผ่านมา หรืออยู่กับที่ประจำแถวทหารหรือหน่วยยุวชนหรือลูกเสือ ให้แสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

3) เมื่อได้ยินเพลงชาติ ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในงานพิธีอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงาน หรือที่อยู่ในวงงานนั้น แสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

4) เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในโรงมหรสพ หรือในงานสโมสรใด ๆ ก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงานหรือที่อยู่ในวงงานหรือในโรงมหรสพนั้น แสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

5) เมื่อได้เห็นผู้ใดไม่แสดงความเคารพดังกล่าวในข้อ 1 - 2 - 3 และ 4 นั้น พึงช่วยกันตักเตือนชี้แจงให้เห็นความสำคัญแห่งการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี

  ประกาศมา ณ วันที่ 8 กันยายน พุทธศักราช 2482

 

รัฐนิยมฉบับที่ 5 : เรื่องให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

  เนื่องด้วยสถานการณ์ของโลกอยู่ในสภาพสงคราม ทุกประเทศทั้งที่เป็นคู่สงครามและเป็นกลาง จำต้องสนับสนุนการเกษตร พาณิชย์และอุตสาหกรรมของชาติเป็นพิเศษ คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่าถึงเวลาจำเป็นที่จะต้องชักชวนชาวไทยให้กระทำเช่นนั้นจึ่งได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดังต่อไปนี้

1) ชาวไทยพึงพยายามบริโภคแต่อาหารอันปรุงจากสิ่งซึ่งมีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

2) ชาวไทยพึงพยายามใช้เครื่องแต่งกายด้วยวัตถุที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

3) ชาวไทยพึงช่วยกันสนับสนุนงานอาชีพ การเกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรมและวิชาชีพของชาวไทยด้วยกัน

4) กิจการสาธารณูปโภคอันใดที่รัฐบาลหรือชาวไทยจัดให้มีขึ้นแล้ว ชาวไทยพึงพยายามใช้และสนับสนุน

5) ชาวไทยผู้ประกอบการเกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรม งานอาชีพ หรือวิชาชีพ อันได้รับการสนับสนุนโดยรัฐนิยมฉบับนี้ ต้องพยายามรักษามาตรฐานปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น และดำเนินกิจการนั้น ๆ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตทุกประการ

  ประกาศมา ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2482

 

รัฐนิยมฉบับที่ 6 : เรื่อง ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ

    ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ ซึ่งได้ประกาศไว้ ณ วันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2477 นั้น ทำนองเพลงเป็นที่นิยมแพร่หลายตามสมควรแล้ว แต่เนื้อร้องจะต้องมีใหม่ เพราะชื่อประกาศได้เรียกว่าประเทศไทยแล้ว จึงได้ประกาศให้ประชาชนเข้าประกวดแต่งมาใหม่ บัดนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกเนื้อร้องบางบทเสนอให้คณะรัฐมนตรีวินิจฉัย คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาพิจารณาแล้ว ลงมติพร้อมกันตกลงตามบทเพลงของกองทัพบกโดยแก้ไขเล็กน้อย จึงประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดังต่อไปนี้

1) ทำนองเพลงชาติ ให้ใช้ทำนองเพลงของ พระเจนดุริยางค์ ตามแบบที่มีอยู่ ณ กรมศิลปากร

2) เนื้อร้องเพลงชาติ ให้ใช้บทเพลงของกองทัพบก ดังต่อไปนี้

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย

เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน

อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล

ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี

ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด

เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่

สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี

เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย

  ประกาศมา ณ วันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2482


รัฐนิยมฉบับที่ 7 : เรื่อง ชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ

   โดยที่รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าการที่ชาติของเราจะเจริญก้าวหน้าสมความปรารถนาอันดีได้ย่อมอยู่ที่ข้าราชการจะต้องช่วยกันทำงานตามหน้าที่อย่างเข้มแข็งและใฝ่ใจทุกวิถีทางที่จะช่วยสนับสนุนพี่น้องชาวไทยให้มีทางประกอบอาชีพ โดยหวังให้ฐานะของคนทุกคนดีขึ้นเป็นลำดับ

    อนึ่ง งานสร้างชาติ เป็นงานที่ใหญ่ยิ่งต้องช่วยกันอย่างพร้อมเพรียง ถ้าพี่น้องชาวไทยทุกคนพยายามแสวงหาอาชีพอันสุจริตสำหรับตนเองและครอบครัวโดยไม่เลือกงาน ประกอบการงานของตนให้มีรายได้พอที่จะทำนุบำรุงครอบครัวของตนให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้น ก็ย่อมจะทำให้ชาติของเราเจริญรวดเร็วโดยมิต้องสงสัย การที่พี่น้องชาวไทยช่วยกันทำงานเช่นนี้ ย่อมได้ชื่อว่าร่วมกันสร้างชาติ คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดังต่อไปนี้

“ชาวไทยทุกคนต้องร่วมกันสร้างชาติโดยทุกคนซึ่งมีกำลังกายดีต้องทำงานประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง ผู้ไม่ประกอบอาชีพเป็นหลักฐานนับว่าเป็นผู้ไม่ช่วยชาติและไม่ควรได้รับความนับถือของชาวไทยทั่วไป”

  ประกาศมา ณ วันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2482


รัฐนิยมฉบับที่ 8 : เรื่อง เพลงสรรเสริญพระบารมี

    โดยเหตุที่ได้บัญญัติให้เรียกชื่อประเทศว่า “ประเทศไทย” รัฐบาลจึงเห็นสมควรแก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมี มิให้มีคำว่า สยาม และตัดทอนข้อความและทำนองให้กระทัดรัดเหมาะสมยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยม แก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบพิศดาร ให้มีข้อความดังต่อไปนี้

ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน นบพระภูมิบาลบรมกษัตริย์ไทย

ขอบันดาล ธประสงค์ใด จงสิทธิดั่ง หวังวรหฤทัย ดุจถวายไชย ชโย

ส่วนทำนองเพลงแบบสังเขปนั้นให้คงไว้ตามเดิม

             ประกาศมา ณ วันที่ 26 เมษายน พุทธศักราช 2483

 

รัฐนิยมฉบับที่ 9 : เรื่อง ภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี

    ด้วยรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า การที่ชาติไทยจะดำรงถาวรและเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปนั้น ย่อมต้องใช้ภาษาและหนังสือของชาติเป็นส่วนประกอบอันสำคัญ คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศรัฐนิยมไว้ดังต่อไปนี้

1) ชนชาติไทย จะต้องยกย่อง เคารพ และนับถือภาษาไทย และต้องรู้สึกเป็นเกียรติยศในการพูดหรือใช้ภาษาไทย

2) ชนชาติไทย จะต้องถือว่า หน้าที่ของพลเมืองไทยที่ดีประการที่หนึ่ง คือ ศึกษาให้รู้หนังสือไทยอันเป็นภาษาของชาติ อย่างน้อยต้องให้อ่านออกเขียนได้ ประการที่สองชนชาติไทยจะต้องถือเป็นหน้าที่อันสำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุนแนะนำชักจูง ให้พลเมืองที่ยังไม่รู้ภาษาไทย หรือยังไม่รู้หนังสือไทย ให้ได้รู้ภาษาไทย หรือให้รู้หนังสือไทยจนอ่านออกเขียนได้

3) ชนชาติไทย จะต้องไม่ถือเอาสถานที่กำเนิด ภูมิลำเนาที่อยู่หรือสำเนียงแห่งภาษาพูดที่แปร่งไปตามท้องถิ่นเป็นเครื่องแสดงความแตกแยกกัน ทุกคนต้องถือว่า เมื่อเกิดมาเป็นชนชาติไทยก็มีเลือดไทยและพูดภาษาไทยอย่างเดียวกัน ไม่มีความแตกต่างกันในการกำเนิดต่างท้องที่หรือพูดภาษาไทยด้วยสำเนียงต่าง ๆ กัน

4) ชนชาติไทย จะต้องถือเป็นหน้าที่ในการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีแห่งชาติ ช่วยแนะนำชักชวนกันสั่งสอนผู้ที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจหน้าที่พลเมืองดีของชาติ ให้ได้รู้ได้เข้าใจในหน้าที่พลเมืองดีแห่งชาติไทย

  ประกาศมา ณ วันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2483

 

รัฐนิยมฉบับที่ 10 : เรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทย

    ด้วยรัฐบาลได้สังเกตเห็นว่า การแต่งกายของประชาชนชาวไทยในสาธารณสถานหรือที่ชุมนุมชน ยังไม่สุภาพเรียบร้อยสมกับวัฒนธรรมของชาติไทย คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดังต่อไปนี้

1) ชนชาติไทยไม่พึงปรากฏตัวในที่ชุมนุมชน หรือสาธารณสถาน ในเขตเทศบาลโดยไม่แต่งกายให้เรียบร้อย เช่น นุ่งแต่กางเกงชั้นใน หรือไม่สวมเสื้อ หรือนุ่งผ้าลอยชาย เป็นต้น

2) การแต่งกายที่ถือว่าเรียบร้อยสำหรับประชาชนชาวไทย มีดังต่อไปนี้

ก. แต่งเครื่องแบบตามสิทธิและโอกาสที่จะแต่งได้

ข. แต่งตามแบบสากลนิยมในทำนองที่สุภาพ

ค. แต่งตามประเพณีนิยมในทำนองที่สุภาพ

  ประกาศมา ณ วันที่ 15 มกราคม พุทธศักราช 2484

 

รัฐนิยมฉบับที่ 11 : เรื่อง กิจประจำวันของคนไทย

    ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า การรู้จักปฏิบัติกิจประจำวันเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวแก่การผดุง ส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ อันจะเป็นผลให้ประชาชนพลเมืองไทยทั่วไปมีสุขภาพแข็งแรงมั่นคง เป็นกำลังของชาติสืบไป คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดังต่อไปนี้        

1) ชนชาติไทยพึงแบ่งเวลาในวันหนึ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ปฏิบัติงานที่เป็นอาชีพส่วนหนึ่ง ปฏิบัติกิจส่วนตัวส่วนหนึ่ง และพักผ่อนหลับนอนอีกส่วนหนึ่ง ให้เป็นระเบียบและมีกำหนดเวลาอันเหมาะสมจนเกิดเป็นนิสัย

2) ชนชาติไทยพึงปฏิบัติกิจประจำวันตามปกติดังต่อไปนี้

ก. บริโภคอาหารให้ตรงตามเวลาไม่เกิน 4 มื้อ

ข. นอนประมาณระหว่าง 6 ถึง 8 ชั่วโมง

ชนชาติไทยพึงตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ประกอบกิจการงานของตนโดยไม่ท้อถอย และหลีกเลี่ยง กับควรหยุดเพื่อรับประทานอาหารและพักกลางวันไม่เกิน 1 ชั่วโมง เมื่อพ้นกำหนดเวลาทำงานเวลาเย็น ควรออกกำลังกายโดยเล่นกีฬากลางแจ้งวันหนึ่งอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือประกอบงานอื่น เช่น ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ หรือปลูกต้นไม้ เป็นต้น และเมื่อชำระล้างร่างกายแล้ว จึงรับประทานอาหาร

3) ชนชาติไทยพึงใช้เวลาว่างเวลากลางคืน ทำการงานอันจำเป็นที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จ หรือสนทนาปราศัยกับบุคคลในครอบครัว มิตรสหาย ศึกษาหาความรู้โดยการฟังข่าวทางวิทยุ

กระจายเสียง อ่านหนังสือ หรือในการชมมหรสพ หรือศิลปกรรม แล้วแต่โอกาส

4) ชนชาติไทยพึงใช้เวลาในวันหยุดงาน ให้เป็นประโยชน์แก่ร่างกายและจิตใจ เช่น ประกอบกิจในทางศาสนา ฟังเทศน์ ทำบุญ ศึกษาหาความรู้ ท่องเที่ยว เล่นกีฬา หรือพักผ่อน เป็นต้น

  ประกาศมา ณ วันที่ 8 กันยายน พุทธศักราช 2484

 

รัฐนิยม ฉบับที่ 12 : เรื่อง การช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก คนชราหรือคนทุพพลภาพ

    ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ในการอยู่ร่วมกันแห่งชุมนุมชนนั้น ความมีใจเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในเยาว์วัย คนชราหรือคนทุพพลภาพ เป็นวัฒนธรรมอันหนึ่งซึ่งบุคคลจักต้องปฏิบัติ คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดังต่อไปนี้

1) ในที่สาธารณสถานหรือในถนนหลวง ให้บุคคลทำการช่วยเหลือคุ้มครองโดยลักษณะที่จะยังความปลอดภัยให้แก่เด็ก คนชราหรือคนทุพพลภาพในการสัญจรไปมา หรือในการหลบหลีกภยันตราย

2) ผู้ใดสามารถกระทำการช่วยเหลือคุ้มครองดังกล่าวในข้อ 1 ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้มีวัฒนธรรม ควรได้รับความนับถือของชาวไทย

ประกาศมา ณ วันที่ 28 มกราคม พุทธศักราช 2485

 

    รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนแปลงประเพณีและมีการสร้างวัฒนธรรมใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2485 ได้จัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นเพื่อจัดระเบียบการดำเนินชีวิตของคนไทยให้เป็นแบบอารยประเทศ โดยประกาศรัฐนิยมฉบับต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองและให้เกิดความทันสมัย อาทิ

1) สั่งห้ามประชาชนกินหมากโดยเด็ดขาด

    2) ไม่ส่งเสริมศิลปะและดนตรีไทยเดิมแต่ส่งเสริมดนตรีสากล ฯลฯ

           3) มีคำขวัญในสมัยนั้นว่า “มาลานำไทยสู่มหาอำนาจ” หากผู้หญิงคนใดไม่ใส่หมวกจะถูกตำรวจจับและปรับ

    4) วางระเบียบการใช้คำแทนชื่อเป็นมาตรฐาน เช่น ฉัน ท่าน เรา

5) มีคำสั่งให้ข้าราชการกล่าวคำว่า “สวัสดี” ในโอกาสแรกที่พบกัน

    ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดสงครามอินโดจีนระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส จากปัญหาเรื่องการใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนซึ่งอยู่ในครอบครองประเทศฝรั่งเศสมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยประเทศฝรั่งเศสไม่ยอมตกลงเรื่องการใช้ร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดนในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2483 ประเทศฝรั่งเศสส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเมืองนครพนม การรบระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทยจึงเริ่มขึ้น ประเทศฝรั่งเศสโจมตีประเทศไทยทางอรัญประเทศ รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งทหารไทยเข้าไปในอินโดจีนทางด้านเขมร แต่ในที่สุดญี่ปุ่นเสนอตัวเข้าไกล่เกลี่ย จนมีการส่งผู้แทนไปลงนามอนุสัญญาโตเกียว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ในครั้งนั้นไทยได้ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงคืน รวมทั้งทางใต้ตรงข้ามปากเซ คือ แขวงจำปาศักดิ์ และดินแดนในเขมรที่เสียให้ฝรั่งเศสไปเมื่อ ปี พ.ศ. 2450 กลับคืนมาด้วย

    ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้าง “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงชัยชนะของไทยต่อประเทศฝรั่งเศส และหนึ่งปีต่อมา จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485

    ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรีไทย ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการประคับประคองประเทศชาติ ให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้หลายประการ ทั้งนี้มีการบอกเล่ากันว่า ท่านขอพระราชทานยศจอมพลให้กับตนเองเพราะท่านต้องการทำสงครามจิตวิทยากับทางกองทัพญี่ปุ่น หลังสงครามโลกสงบแล้ว ท่านต้องติดคุกระหว่างการถูกไต่สวนในฐานะอาชญากรสงครามอยู่ระยะหนึ่งตามพระราชบัญญัติอาชญากรรมสงครามที่รัฐบาลไทยประกาศใช้เป็นกฎหมายหลังสงครามโลก อย่างไรก็ดี ศาลไทยได้พิจารณาเห็นว่า “กฎหมายย่อมไม่มีผลย้อนหลัง” จึงปล่อยตัวท่านเป็นอิสระ หลังจากนั้นท่านก็ได้ประกาศยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด กลับไปใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่บ้านที่ อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยปลูกผักต่าง ๆ เพื่อเลี้ยงชีพ