เรื่องที่ 2 

คุณประโยชน์ของบุคคลสำคัญ


คุณประโยชน์ของบุคคลสำคัญ

https://th.wikipedia.org/wiki

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา)

     กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงร่วมศึกสงครามขับไล่อริราชศัตรูปกป้องพระราชอาณาจักรตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ซึ่งพระองค์ได้เสด็จไปในการพระราชสงครามทั้งทางบกและทางเรือในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จำนวน 16 ครั้ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จำนวน 8 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำสงครามเก้าทัพกับพม่า

    นอกจากพระองค์จะทรงอุทิศพระองค์เสด็จไปในการศึกสงครามกอบกู้เอกราชและป้องกันพระราชอาณาจักรตลอดพระชนม์ชีพแล้ว ยังทรงเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่บ้านเมือง เมื่อทรงเห็นว่าบ้านเมืองสงบเรียบร้อยเป็นปกติสุข ได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงการพระศาสนา ศิลปะวรรณกรรม และสถาปัตยกรรม ทรงเป็นประธานร่วมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสังคายนาพระไตรปิฎก ทรงสร้างวัดชนะสงคราม (วัดตองปุ) วัดเทวราชกุญชร (วัดสมอแครง) วัดปทุมคงคา (วัดสำเพ็ง) วัดสุวรรณดาราราม เป็นต้น

https://www.thaiquote.org/content/239210

ท้าวสุรนารีวีรสตรีเมืองนครราชสีมา

    เหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันเป็นที่มาแห่งวีรกรรมของท้าวสุรนารี เกิดขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2369 หลังจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้เพียง 2 ปี พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บันทึกความไว้ว่า

"เจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นกบฏ..ฝ่ายอนุเวียงจันทน์ตั้งแต่กลับไปถึงเมืองแล้วก็ตรึกตรองที่จะคิดมาประทุษร้ายต่อกรุงเทพมหานครจึงให้มหาอุปราช ราชวงศ์ สุทธิสารกับท้าวเพี้ยขุนนางผู้ใหญ่มาปรึกษาว่าที่กรุงเดี๋ยวนี้มีแต่เจ้านายเด็ก ๆ ขุนนางผู้ใหญ่ก็น้อยตัวฝีมือทัพศึกก็อ่อนแอ ทั้งเจ้าพระยานครราชสีมาก็ไม่อยู่หัวเมืองรายทางก็ไม่มีที่กีดขวาง การเป็นที่หนักหนาแล้ว ไม่ควรเราจะเป็นเมืองขึ้นชาวอังกฤษก็มารบกวนอยู่เราจะยกทัพไปตีเอากรุงก็เห็นจะได้โดยง่าย..."

    เจ้าอนุวงศ์ หรือเรียกกันเป็นสามัญว่า เจ้าอนุตามที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารนี้เป็นบุตรพระเจ้าบุญสารเสด็จขึ้นครองนครเวียงจันทน์ ต่อจากเจ้าอินทวงศ์เป็นผู้มีความสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ มาแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและรับทำราชการต่าง ๆ โดยแข็งขันสืบมา จนเป็นที่สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัยส่วนมูลเหตุที่เจ้าอนุวงศ์คิดเป็นกบฏ จะเข้ามาตีกรุงเทพฯ กล่าวว่าเนื่องจากทูลขอครัวชาวเวียงจันทน์ ที่ถูกกวาดต้อนมาแต่ครั้งกรุงธนบุรีเพื่อจะนำกลับไปบ้านเมืองแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่พระราชทานให้ตามประสงค์ด้วยทรงพระราชดำริว่า ครัวชาวเวียงจันทน์เหล่านี้ได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่เป็นหลักแหล่งมั่นคงแล้วซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าอนุวงศ์มีความอัปยศ จึงเป็นกบฏจะยกทัพเข้ามาตีกรุงเทพมหานคร

    การเตรียมกำลังเข้ามาตีกรุงเทพฯ ครั้งนั้นเจ้าอนุวงศ์ได้ไปเกลี้ยกล่อมบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ให้เข้าร่วมด้วยเจ้าเมืองใดขัดขืนก็ฆ่าเสีย มีเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ เป็นต้น ราษฎรและเจ้าเมืองอื่น ๆ พากันกลัวอำนาจยอมเข้าด้วยหลายเมือง เมื่อเห็นว่ามีกำลังมากพอก็ให้ยกกองทัพไปพร้อมกันที่เมืองนครราชสีมา

  การที่กองทัพของเจ้าอนุวงศ์ยกผ่านเมืองต่าง ๆ ไปโดยสะดวกก็โดยใช้อุบายลวงเจ้าเมืองกรมการรายทางว่า มีศุภอักษรจากกรุงเทพฯ โปรดให้เกณฑ์กองทัพมาช่วยรบกับอังกฤษเจ้าเมืองกรมการเมืองหลงกลและพากันเชื่อฟังจัดหาเสบียงอาหารให้และไม่มีใครขัดขวางยอมให้ผ่านไปแต่โดยดีทุกเมือง

    เมื่อเจ้าอนุวงศ์ยกกองทัพมาตั้งอยู่ที่เมืองนครราชสีมานั้นเป็นเวลาที่เจ้าพระยานครราชสีมาไม่อยู่ ไปราชการที่เมืองขุขันธ์คงมีแต่กรมการผู้น้อยรักษาเมืองอยู่ เช่น พระยาพรหมยกรบัตร เป็นต้นเจ้าอนุวงศ์ได้สั่งให้พระยาพรหมยกรบัตรเตรียมกวาดครอบครัวขึ้นไปเมืองเวียงจันทน์ให้เสร็จภายในเวลา 4 วัน พระยาพรหมยกรบัตรกลัวอำนาจก็จำต้องยอมทำตามและแกล้งจัดหาหญิงรูปงามให้เจ้าอนุวงศ์เพื่อลวงให้ตายใจ

    ฝ่ายพระยาปลัดซึ่งไปราชการกับเจ้าเมืองนครราชสีมาเมื่อทราบข่าวว่าเจ้าอนุวงศ์ลงมากวาดต้อนครัวเมืองนครราชสีมาไปเป็นจำนวนมาก จึงขออนุญาตเจ้าพระยานครราชสีมากลับมาช่วยครอบครัวและชาวเมืองได้เข้าเฝ้าเจ้าอนุวงศ์ โดยลวงเจ้าอนุวงศ์ว่า เจ้าเมืองนครราชสีมาหนีไปเสียแล้วเจ้าอนุวงศ์หลงเชื่อ ก็มอบให้พระยาปลัด และพระยาพรหมยกรบัตรควบคุมครัวเมืองนครราชสีมา ออกเดินทางไปเมืองเวียงจันทน์

    เหตุการณ์ที่ครอบครัวชาวเมืองนครราชสีมา รวมกำลังกันต่อสู้ครั้งนี้เอง ที่ได้เกิดวีรสตรีคนสำคัญขึ้นในประวัติศาสตร์ของชาติไทยนั่น คือ ท่านผู้หญิงโม ภริยาพระยาปลัดได้ควบคุมกำลังฝ่ายผู้หญิงหนุนช่วยสู้รบอย่างองอาจกล้าหาญ โดยคบคิดวางแผนกับผู้นำฝ่ายชาย และกรมการเมืองจัดหาหญิงสาวให้นายทัพนายกอง ที่ควบคุมครอบครัวไปจนถึงชั้นไพร่จนพวกลาวกับครอบครัวชาวเมืองสนิทเป็นอันดี แล้วออกอุบายแจ้งว่าครอบครัวที่อพยพไปได้รับความยากลำบากอดอยาก ขอมีด ขวาน ปืน พอจะได้ยิงเนื้อมากินเป็นเสบียงเลี้ยงครอบครัวไปตามทาง

    เมื่อเดินทางถึงทุ่งสัมฤทธิ์ก็พร้อมใจกันเข้าสู้ทัพลาว ด้วยอาวุธอันมีอยู่น้อยนิดบ้างก็ตัดไม้ตะบองเสี้ยมเป็นหลาว สามารถฆ่าฟันศัตรูล้มตายเป็นจำนวนมาก หลังจากชัยชนะของชาวครอบครัวเมืองนครราชสีมาครั้งนี้ ทำให้เจ้าอนุวงศ์หวาดหวั่นไม่กล้าที่จะยกทัพลงมายังกรุงเทพฯ พากันถอยทัพกลับไป และถูกปราบจับตัวมาลงโทษที่กรุงเทพฯ ในที่สุด

    จากวีรกรรมของคุณหญิงโมที่ได้รวบรวมครอบครัวชายหญิงชาวเมืองนครราชสีมาเข้าต่อสู้ข้าศึกศัตรูจนแตกพ่ายไปครั้งนั้น เป็นเหตุให้เจ้าอนุวงศ์ไม่ยกทัพไปตีกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จความชอบแต่งตั้งขึ้นเป็นท้าวสุรนารี

https://www.facebook.com/สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ - ช่วง บุนนาค 

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค)

    สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นบุคคลที่มีบทบาทเด่นที่สุดท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย ชื่อเสียงและความสามารถของท่านเริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่ในรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา

    นอกจากนี้พระองค์ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในระหว่างที่รัชกาลที่ 5 ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ จากการที่พระองค์ศึกษาภาษาอังกฤษทำให้เป็นผู้ที่มีความคิดทันสมัย ก้าวหน้ากว่าคนอื่น ๆ ในสมัยนั้น พระองค์ได้นำความเจริญของตะวันตกทั้งทางด้านศิลปวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้

    ทางด้านศาสนา พระองค์ได้ทำนุบำรุงพุทธศาสนาโดยการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ เป็นจำนวนมากทั้งในพระนครและหัวเมือง

    ทางด้านวรรณกรรม การละคร และดนตรี พระองค์ได้ส่งเสริมให้มีการแปลพงศาวดารจีนเป็นภาษาไทย ทางด้านสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง พระองค์ได้รับมอบหมายงานด้านนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ให้ทำการทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มั่นคงและเจริญรุ่งเรือง ได้แก่ การสร้างถนน ขุดคูคลอง การสร้างป้อมปราการ

https://www.facebook.com/1145764992140751/posts/1376493835734531/



สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 57 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาชุ่ม ธิดาพระอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ) ต้นสกุล “โรจนดิศ” เป็นเจ้าจอมมารดา ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2405

    ทรงประกอบพระกรณียกิจด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นงานใหญ่ และงานสำคัญอย่างยิ่งของบ้านเมือง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารประเทศหลายด้าน และทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างสูง ผลงานด้านต่าง ๆ ของพระองค์แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพอันสูง เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนทุกยุคทุกสมัย พระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ ของพระองค์ มีดังนี้

      1. ด้านการศึกษา

ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงปฏิบัติหน้าที่ทางการศึกษา อยู่ในช่วงระยะเวลาสั้นเพียงประมาณ 3 ปี (พ.ศ. 2333 - 2335) แต่พระองค์ ทรงมีพระดำริริเริ่มเป็นเยี่ยมในพระกรณียกิจด้านนี้ ได้แก่

1) ทรงเริ่มงานจัดการศึกษาเป็นครั้งแรก เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนสภาพ “โรงเรียนทหารมหาดเล็ก” ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกสอนวิชาทหารให้แก่นายร้อย นายสิบ ในกรมทหารมหาดเล็ก มาเป็นโรงเรียนสำหรับพลเรือน มีชื่อเรียกว่า “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” และพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียน 

2) ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธรรมการ ได้ทรงจัดวางระเบียบการบริหารราชการของกรมและโรงเรียน กล่าวคือ ทรงวางระเบียบ ข้อบังคับตำแหน่งหน้าที่เสมียน พนักงาน ในการเข้ารับราชการ การเลื่อนตำแหน่ง ลาออก ลงโทษ ตลอดจนทรงกำหนดให้มีการตรวจสอบและรายงานผลตรวจโรงเรียนทั้งในกรุงและหัวเมืองของพนักงานด้วย 

3) ทรงขยายการศึกษาโดยอาศัย “วัด” ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ และอบรมศีลธรรมให้แก่ราษฎรมาแต่โบราณ และ “วัดมหรรณพาราม” เป็นโรงเรียนหลวงแห่งแรกที่ทรงจัดตั้งขึ้น ซึ่งการศึกษาลักษณะนี้ได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วกรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา และเมื่อทรงปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการสอน ตลอดจนจัดพิมพ์ตำราเรียนเรียบร้อยแล้ว ได้ทรงขยายการศึกษาออกไปสู่ราษฎรตามหัวเมืองต่าง ๆ โดยทรงจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นทั่วประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2435

4) ทรงริเริ่มจัดให้มีการตรวจสอบตำราเรียนและออกประกาศรับรอง ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ และความสามารถอย่างเหมาะสม และทรงกำหนดให้มีการปรับปรุงหลักสูตรตำราเรียนขึ้นใหม่ คือ ตำราแบบเรียนเร็ว

5) ทรงจัดตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน” เมื่อ พ.ศ. 2442 ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต่อมา ใน พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก” และเปลี่ยนเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ในเวลาต่อมา

6) ทรงปรับปรุงและแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ของหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งเป็นหอสมุดแห่งเดียวในพระนคร เช่น ทรงกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานจัดงบประมาณสำหรับซื้อหนังสือ กำหนดระเบียบวิธีการยืม และการเป็นสมาชิก เป็นต้น

 

      2. ด้านมหาดไทย

เป็นกิจการสำคัญยิ่งในการบริหารประเทศ พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการก่อตั้งและปฏิรูปการจัดระเบียบการปกครอง ภายในประเทศ และการบริหารราชการของกระทรวงมหาดไทย ได้แก่

1) ทรงจัดการบังคับบัญชางานภายในกระทรวง ให้มีรูปแบบเป็นระบบราชการชัดเจนขึ้น มีลำดับขั้นการบังคับบัญชา มีการแบ่งงานและเลือกสรร ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ารับราชการ โดยการจัดสอบคัดเลือก ตลอดจนออกระเบียบวินัยต่าง ๆ เช่น เลิกประเพณีให้ข้าราชการทำงานอยู่ที่บ้าน กำหนดให้มีการประชุมข้าราชการทุกวัน กำหนดเวลาการทำงาน ตลอดจนจัดระเบียบส่ง ร่าง เขียน และเก็บหนังสือราชการ เป็นต้น 

2) ทรงจัดระบบการปกครองส่วนภูมิภาค ซึ่งเรียกว่า “ระบบเทศาภิบาล” ได้เป็นผลสำเร็จ และนับว่าเป็นผลงานสำคัญที่สุดของพระองค์ โดยทรงรวมหัวเมืองต่าง ๆ จัดเข้าเป็น “มณฑล” และมี “ข้าหลวงเทศาภิบาล” เป็นผู้บังคับบัญชา อยู่ในอำนาจของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยอีกชั้นหนึ่ง สำหรับการแบ่งเขตย่อยลงไปเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน นั้น ใน พ.ศ. 2440 ได้ออก “พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่” บังคับใช้ทั่วพระราชอาณาจักร 

พระราชกรณียกิจด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือทรงริเริ่มจัดตั้ง “การสุขาภิบาลหัวเมือง” ในปี พ.ศ. 2448 โดยเริ่มที่ ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาครเป็นแห่งแรก และนับเป็นการปูพื้นฐานการปกครองส่วนท้องถิ่นดังนั้น พระกรณียกิจด้านมหาดไทยทุกประการ จึงล้วนแต่เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาและด้านมหาดไทยแล้ว พระองค์ยังทรงรับพระราชภาระจัดการและมีส่วนร่วมในการปรับปรุงกิจการด้านอื่น ๆ อีกหลายด้าน ได้แก่ ด้านการป่าไม้ ซึ่งทรงริเริ่มก่อตั้งกรมป่าไม้ขึ้น เพื่อให้หน่วยงานของรัฐได้เข้าไปควบคุมดูแลกิจการป่าไม้โดยตรง และทรงริเริ่ม ให้ดำเนินการออกพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง และกฎข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อเป็นผลประโยชน์ของกรมป่าไม้เป็นหลักสำคัญ และเป็นรากฐานในการ ปฏิบัติงานของกรมป่าไม้มาจนถึงปัจจุบัน ทรงริเริ่มการออกโฉนดที่ดิน

 

     3. ด้านสาธารณสุข

ทรงรับภาระในการจัดการโรงเรียนแพทย์ต่อจาก พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ ทรงมีพระดำริริเริ่มให้มีโอสถศาลา สำหรับรับหน้าที่ผลิตยาแจกจ่ายให้ราษฎรในตำบลห่างไกล ซึ่งปัจจุบัน คือ สถานีอนามัย และทรงจัดตั้งปาสตุรสภา สถานที่ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในปัจจุบันโอนไปอยู่ในสังกัดของสถานเสาวภา สภากาชาดไทย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงรับพระภารกิจด้านงานสรรพากร และงานอุตสาหกรรมโลหกิจ ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนางานมาจนถึงปัจจุบันด้วย 

 

     4. ด้านศิลปวัฒนธรรม

 ทรงริเริ่มและวางรากฐานการดำเนินงานของกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ และพระองค์ท่านก็ทรง อุทิศเวลา ทรงพระนิพนธ์หนังสือ ตำราต่าง ๆ ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี อันเป็นมรดกทางปัญญาของชาวโลกมาจนกระทั่งทุกวันนี้ จนได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ไทย


http://tumsikwae.blogspot.com/2019/03/kromluang-chumphon-khet-udom-sak.html

พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

    พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งราชนาวีไทย ถึงแม้ว่าเสด็จในกรมฯ จะทรงแก้ไข ปรับปรุง ระเบียบการศึกษาให้มีความก้าวหน้า แต่สถานที่ตั้ง โรงเรียนนายเรือนั้นไม่มีที่ตั้งเป็นหลักแหล่งที่มั่นคง ต้องโยกย้ายสถานที่เรียนบ่อย ๆ ซึ่งเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้ผลการเรียนของนักเรียนนายเรือไม่ดีเท่าที่ควร เสด็จในกรมฯ ทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะปรับปรุงกิจการด้านนี้ให้ก้าวหน้า จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานที่ดินเพื่อตั้งเป็นโรงเรียนนายเรือ ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินบริเวณพระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี และได้ดัดแปลงเป็น โรงเรียนนายเรือ เมื่อปี พ.ศ. 2448

    พระอัจฉริยะด้านการดนตรี พระองค์ทรงมีอัจฉริยะทางด้านการดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้หลายเพลง ได้แก่ เพลงดอกประดู่ (เพลงสัญลักษณ์ของกองทัพเรือ) เพลงเดินหน้า เพลงดาบของชาติ ซึ่งทรงนิพนธ์ไว้เป็นโคลงสี่สุภาพ และเพลงสรรเสริญพระบารมี สำนวนขับร้องของทหารเรือนอกจากนี้พระองค์ยังศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณรับรักษาบุคคลทั่วไปโดยทรงเล่าเรียนกับพระยาพิษณุฯ หัวหน้าหมอหลวงแห่งพระราชสำนัก โดยพระองค์จะไม่ทรงยินยอมรักษาใครจนกว่าจะได้รับการทดลองแม่นยำแล้วว่าเป็นยาที่รักษาโรคชนิดพื้น ๆ ให้หายขาดได้เสียก่อนที่จะรักษาผู้ป่วย

    ทรงตั้งฐานทัพเรือที่สัตหีบ ด้วยพระองค์ทรงมีความเห็นทางด้านยุทธศาสตร์ว่า สมควรใช้พื้นที่บริเวณตำบลสัตหีบสร้างเป็นที่มั่นสำหรับกิจการทหารเรือขึ้นตามชายฝั่งและเกาะต่าง ๆ ในอ่าวสัตหีบ เพราะทำเลเหมาะแก่การสร้างเป็นฐานทัพเรือตามพระราชประสงค์ ดังนั้นพระองค์จึงทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานที่ดินที่สัตหีบเพื่อเป็นกรรมสิทธิ์แก่กองทัพเรือ

    ในด้านการป้องกันฐานทัพ ทรงให้ความเห็นว่า ควรสร้างป้อมปืนใหญ่ขนาดตั้งแต่ 16 นิ้วลงมาจนถึง 4.7 นิ้ว และปืนยิงเครื่องบินด้วย ไว้บนยอดเกาะต่าง ๆ ในอ่าวสัตหีบ

https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_13699

ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธนราชบัณฑิต

    พระยาอนุมานราชธน เป็นบุคคลผู้ใฝ่หาความรู้มาตั้งแต่เด็ก ชอบสะสมหนังสืออ่านหนังสือ ศึกษาในชั้นต้นที่โรงเรียนบ้านพระยานานาพิพิธภาษี (โต บุนนาค) ต่อมาเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ จบถึงชั้นมัธยมปีที่ 4 เริ่มแรกทำงานที่โอสถศาลารัฐบาล และโรงแรมโอเรียลเต็ล ตามลำดับ และได้เข้ารับราชการในกรมศุลกากร ตำแหน่งเสมียนพนักงาน ด้วยความขยันในหน้าที่การงาน ท่านจึงได้รับเลื่อนตำแหน่งตามลำดับพร้อมกับรับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุน หลวง พระ พระยา โดยเป็นพระยาอนุมานราชธน ตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมศุลกากร

    ต่อมาหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีคนแรกของกรมศิลปากรได้ชักชวนให้ท่านเข้ารับราชการในกรมศิลปากรในตำแหน่ง หัวหน้ากองศิลปวิทยา จนในที่สุดเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ได้รับแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต หลังเกษียณอายุราชการท่านได้ดำรงตำแหน่งผู้รักษาการตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสถาน โดยเป็นประธานกรรมการชำระปทานุกรม ประธานกรรมการทำอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ประธานกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย และประธานคณะบรรณาธิการคำสารานุกรมไทย เป็นต้น

  ผลงานของพระยาอนุมานราชธน ท่านเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ เป็นบุคคลที่แสวงหาความรู้ จึงเป็นบุคคลผู้รอบรู้ในหลายสาขาวิชา เป็นที่รู้จักของชาวไทยและต่างประเทศ มีดังนี้

1. งานด้านประวัติศาสตร์ ได้แก่ งานแปลเรื่อง อารยธรรมยุคดึกดำบรรพ์ บันทึกความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นจดหมายโต้ตอบระหว่างพระยาอนุมานราชธนกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงษ์

2. งานด้านภาษาศาสตร์ ท่านเป็นนักนิรุกติศาสตร์ เขียนตำรานิรุกติศาสตร์เผยแพร่ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ และเป็นตำราเรียน

3. งานด้านมานุษยวิทยา ท่านได้เขียนตำราเรื่อง วัฒนธรรม ฟื้นความหลังชีวิตชาวไทยสมัยก่อนและการศึกษาเรื่องประเพณีไทย ประกอบด้วยประเพณีเกี่ยวกับชีวิต เกิด - ตาย ปลูกเรือน การแต่งงาน ประเพณีเกี่ยวกับเทศกาลตรุษ - สารท เป็นต้น

ท่านเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาความรู้ทางด้านคติชนวิทยา ซึ่งได้รวบรวมงานเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้าน การละเล่น ความเชื่อและประเพณี โดยแปลนิทานของต่างประเทศ วิจารณ์นิทานไทย ซึ่งผลงานของท่านตีพิมพ์โดยใช้นามปากกา “เสฐียรโกเศศ” ร่วมกับนาคะประทีป ผลงานบางเรื่องที่ท่านแต่งเอง ได้แก่ หิโตปเทศ  ทศมนตรี นิยายเบงคลี กถาสริตสาคร ทิวาราตรี พันหนึ่งทิวา นิทานอิหร่ายราชธรรม สิบสองเรื่อง ฯลฯ

4. ทางด้านภาษาและวรรณคดี ท่านได้เขียนสารานุกรมพร้อมคำอธิบาย และได้จัดทำพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 เพื่อใช้อ้างอิงในภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ท่านเป็นผู้ริเริ่มการเรียนวรรณคดี โดยพิจารณาถึงวรรณศิลป์และบัญญัติศัพท์วรรณคดีในภาษาไทย

  ผลงานทางด้านวิชาการของท่านมีมากมาย ซึ่งได้รับการสรรเสริญทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ พร้อมยกย่องให้ท่านเป็นปราชญ์ของประเทศไทย