เรื่องที่ 3 

มรดกไทยที่มีผลต่อการพัฒนาชาติไทย



 มรดกไทยที่มีผลต่อการพัฒนาชาติไทย 

  คุณค่าของภูมิปัญญาไทย ได้แก่ ประโยชน์ และความสำคัญของภูมิปัญญา ที่บรรพบุรุษไทย ได้สร้างสรรค์ และสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง จากอดีตสู่ปัจจุบัน ทำให้คนในชาติเกิดความรัก และความภาคภูมิใจ ที่จะร่วมแรงร่วมใจสืบสานต่อไปในอนาคต เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ สถาปัตยกรรม ประเพณีไทย การมีน้ำใจ ศักยภาพในการประสานผลประโยชน์ เป็นต้น ภูมิปัญญาไทยจึงมีคุณค่า และความสำคัญ ดังนี้

1. สร้างความภาคภูมิใจ และศักดิ์ศรี เกียรติภูมิแก่คนไทย 

   คนไทยในอดีตที่มีความสามารถ ปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์ เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ เช่น มรดกทางภาษาและวรรณกรรม โดยที่มีอักษรไทยเป็นของตนเองตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และมีวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน วรรณกรรมไทย ถือว่าเป็นวรรณกรรมที่มีความไพเราะได้อรรถรสครบทุกด้าน วรรณกรรมหลายเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา 

  ด้านอาหาร อาหารไทยเป็นอาหารที่ปรุงง่าย อาหารส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพรที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ราคาถูก มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และยังป้องกันโรคได้หลายโรค เพราะส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ขิง ข่า กระชาย ใบมะกรูด ใบโหระพา ใบกะเพรา เป็นต้น


2. สามารถปรับประยุกต์หลักธรรมคำสอนทางศาสนา ใช้กับวิถีชีวิตได้อย่างเหมาะสม

   คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยนำหลักธรรมคำสอนของศาสนา มาปรับใช้ในวิถีชีวิตได้อย่างเหมาะสม ทำให้คนไทยเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ประนีประนอม รักสงบ ใจเย็น มีความอดทน ให้อภัยแก่ผู้สำนึกผิด ดำรงวิถีชีวิตอย่างเรียบง่าย ปกติสุข ทำให้คนในชุมชนพึ่งพากันได้  ทั้งหมดนี้สืบเนื่องมาจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เป็นการนำเอาหลักของพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน และดำเนินกุศโลบายด้านต่างประเทศ จนทำให้ชาวพุทธทั่วโลกยกย่องให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางพุทธศาสนา 


3. สร้างความสมดุลระหว่างคนในสังคม และธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

  มรดกไทยมีความเด่นชัดในเรื่องของการยอมรับนับถือ และให้ความสำคัญแก่คนสังคม และธรรมชาติอย่างยิ่ง มีสิ่งที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนมากมาย เช่น ตลอดทั้งปีมีประเพณีไทย 12 เดือน ล้วนเคารพคุณค่าของธรรมชาติ ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง เป็นต้น

  วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยล้วนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสะท้อนภาพชีวิตแบบไทย ทั้งในด้านความเป็นอยู่ ทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อ เช่น “บ้าน” หรือ “เรือน” การสร้างบ้านในอดีตมีการก่อสร้างที่อยู่อาศัย โดยคำนึงถึงสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ และความเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง ถึงแม้ว่าปัจจุบันการดำเนินชีวิตและรูปลักษณ์ของบ้านจะแปรเปลี่ยนไป ชีวิตในบ้านของคนไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ซึ่งค่านิยมบางประการยังคงดำเนินการสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งอย่างต่อเนื่อง

   ดังจะเห็นได้ว่า ลักษณะของบ้านเรือนชี้ให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนโบราณ ทั้งช่างปลูกบ้านและช่างออกแบบ ที่ปลูกบ้านเพื่อประโยชน์และความต้องการใช้สอย ทั้งนี้ คนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำสวน ทำนา ทำไร่ ทำประมง แม่น้ำลำคลองจึงเปรียบเสมือนเส้นโลหิตหล่อเลี้ยงชีวิต เป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งพักผ่อน และเป็นเส้นทางคมนาคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซี่งจะสรุปได้ว่าวิถีชีวิตของคนไทยมีความสมดุลกันทั้งอาชีพ ที่อยู่อาศัย และธรรมชาติได้อย่างลงตัว


https://www.bareo-isyss.com/service/architecture/%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/

https://siamrath.co.th/n/172963