เรื่องที่ 1 

สถาบันหลักของชาติ

สถาบันหลักของชาติ

 สถาบันหลักของชาติ ประกอบด้วย ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันที่อยู่กับสังคมไทยมาช้านาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นเสาหลักในการสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น เป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชน เป็นบ่อเกิดของความรัก ความสามัคคี นำพาประเทศชาติให้ผ่านพ้นภัยนานาประการ ไม่ว่าจะเป็นภัยรุกรานของประเทศอื่น ภัยจากการล่าอาณานิคมและการแผ่ขยายลัทธิการปกครองอีกทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนในทั่วทุกภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นที่ห่างไกลส่งผลให้มีการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ และเป็นรากฐานให้ประเทศชาติมีความมั่นคงสืบมาจนถึงปัจจุบัน

   ชนชาติไทยในอดีต จึงถือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันสูงสุดของชาติที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำ รวมประเทศชาติให้เป็นปึกแผ่น และพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ปกครอง ดูแลและบริหารประเทศชาติโดยใช้หลักธรรม ที่เป็นคำสอนของศาสนา ด้วยความเข้มแข็งของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีความศรัทธาเลื่อมใสในสถาบันศาสนา ที่เป็นเสมือนเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจให้คนในชาติประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงาม เพราะทุกศาสนาล้วนแต่สอนให้คนประพฤติและคอยประคับประคองจิตใจให้ดีงาม มีความศรัทธาในการบำเพ็ญตนตามรอยพระศาสดาของแต่ละศาสนา และเมื่อพระมหากษัตริย์เป็นผู้ที่ประพฤติตนอยู่ในธรรม และปกครองแผ่นดินโดยธรรมแล้ว ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ต่างอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข จึงทำให้สถาบันชาติ ที่เป็นสัญลักษณ์เปรียบเสมือนอาณาเขตผืนแผ่นดินที่เราอยู่อาศัย มีความมั่นคง พัฒนาและยืนหยัดได้อย่างเท่าเทียมอารยประเทศ ดังนั้น สถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นสถาบันหลักของชาติไทย ที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ สามารถยึดเหนี่ยวจิตใจของปวงชนชาวไทยและคนในชาติมาจวบจนทุกวันนี้

    “ชนชาติไทย” เป็นชนชาติที่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และความเป็นมาที่ยาวนานไม่แพ้ชาติใดในโลก เรามีแผ่นดินไทยที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีพืชพันธุ์ธัญญาหารที่อุดมสมบูรณ์ มีภูมิอากาศ และภูมิประเทศที่เป็นชัยภูมิ อากาศไม่ร้อนมาก ไม่หนาวมากมีความหลากหลายของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีที่ราบลุ่มแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก มีภูเขา มีทะเลที่มีความสมดุลและสมบูรณ์เพียบพร้อมเป็นที่หมายปองของนานาประเทศ นอกจากนี้ชนชาติไทยยังมีขนมธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามหลากหลาย งดงาม เป็นเอกลักษณ์ของชาติที่โดดเด่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ลูกหลานไทยทุกคนควรมีความภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย ในแผ่นดินไทย แต่ก่อนที่จะสามารถรวมชนชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น ทำให้ลูกหลานไทยได้มีแผ่นดินอาศัยอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขหลายชั่วอายุคนมาจวบจนทุกวันนี้ บรรพบุรุษของชนชาติไทยในอดีต ท่านได้สละชีพเพื่อชาติ ใช้เลือดทาแผ่นดิน ต่อสู้เพื่อปกป้องดินแดนไทย กอบกู้เอกราชด้วยหวังไว้ว่า ลูกหลานไทยต้องมีแผ่นดินอยู่ ไม่ต้องไปเป็นทาสของชนชาติอื่น ซึ่งการรวมตัวมาเป็นชนชาติไทยที่มีทั้งคนไทยและแผ่นดินไทยของบรรพบุรุษไทยในอดีต ก็ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้โดยง่าย ต้องอาศัยความรัก ความสามัคคี ความกล้าหาญ ความเสียสละอดทน และสิ่งที่สำคัญ คือ ต้องมีศูนย์รวมใจที่เป็นเสมือนพลังในการต่อสู้และผู้นำที่มีความชาญฉลาดด้านการปกครองและการรบ คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน และหากลูกหลานไทยและคนไทยทุกคนได้ศึกษาพงศาวดารและประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็จะเห็นว่า ด้วยเดชะพระบารมีและพระปรีชาสามารถของบูรพมหากษัตริย์ของไทยในอดีตที่เป็นผู้นำสามารถรวบรวมชนชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น แม้ว่าเราจะเคยเสียเอกราชและดินแดนมามากหมายหลายครั้ง บูรพมหากษัตริย์ไทยก็สามารถกอบกู้เอกราชและรวบรวมชนชาวไทยให้เป็นปึกแผ่นได้เสมอมา และเหนือสิ่งอื่นใด พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ เป็นพระมหากษัตริย์ที่ปกครองประเทศชาติด้วยพระบารมีและทศพิธราชธรรม ใช้ธรรมะและคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวในการปกครอง ทำให้คนในชาติอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข สมกับคำที่ว่า “ประเทศไทย เป็นประเทศแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง”

แผ่นดินธรรม หมายถึง แผ่นดินที่มีผู้ปฏิบัติธรรม และการปฏิบัติธรรมนั้น หมายถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง

แผ่นดินทอง หมายถึง แผ่นดินที่ประชาชนได้รับประโยชน์ และความสุขอย่างทั่วถึงตามควรแก่อัตภาพ

1.1 ชาติ

   การจะรับรู้ความเข้าใจในความเป็นชาติหรือความรู้สึกที่หวงแหนความเป็นชาติได้นั้น ผู้เรียนมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจบริบทของความเป็นชาติเสียก่อน ดังนี้


1.1.1 ความหมาย ความสำคัญของชาติ

    ชาติ หมายถึง กลุ่มคนที่มีภาษา วัฒนธรรม และเชื้อชาติ ประวัติศาสตร์เดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน มีแผ่นดิน อาณาเขตการปกครอง ที่เป็นระบบ เป็นสัดส่วน มีผู้นำหรือรัฐบาลที่ใช้อำนาจ หรือมีอำนาจอธิปไตยที่นำมาใช้ในการปกครองประชาชน

    ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า ชาติ หมายถึง ประเทศ ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกันหรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน


             “ความจงรักภักดีต่อชาตินั้น คือ ความสำนึกตระหนักในคุณของแผ่นดิน

อันเป็นที่เกิดที่อาศัย ซึ่งทำให้บุคคลเกิดความภูมิใจในชาติกำเนิด

และมุ่งมั่นที่จะธำรงรักษาประเทศชาติไว้ ให้เป็นอิสระมั่นคงตลอดไป”


พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ 

ณ ลานพระราชวังดุสิต 3 ธันวาคม พ.ศ. 2529

    เมื่อพิจารณาคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันนั้นก็จะพบว่าคำว่า “ชาติ” นั้น ใกล้เคียงกับคำว่า “ประเทศ” หรือคำว่า “รัฐ”  อยู่ไม่น้อย คือ หมายถึง ชุมนุมแห่งมนุษย์ซึ่งตั้งอยู่ในดินแดนที่มีอาณาเขตแน่นอน มีอำนาจอธิปไตยที่จะใช้ได้อย่างอิสระ และมี การปกครองอย่างเป็นระเบียบเพื่อประโยชน์ของบรรดามนุษย์ที่อยู่ร่วมกัน


1.1.2 ความเป็นมาของชนชาติไทย

เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาของชนชาติไทยนั้นยังไม่มีการสรุปเป็นประเด็นที่สามารถยืนยันได้ชัดเจน เพราะการพิจารณาความเป็นมาของ

ชนชาติไทยนั้น ต้องพิจารณาจากหลักฐานหรืองานวิจัย การค้นคว้าทางวิชาการที่หลากหลายจากนักวิชาการไทยและต่างประเทศ อีกทั้งยังต้องพิจารณามิติทางเอกสาร โบราณคดี เชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม ดังนี้

1) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ข้อมูลที่ปรากฏในพระนิพนธ์เรื่อง “แสดงบรรยายพงศาวดารสยาม และลักษณะการปกครองสยามแต่โบราณ” เป็นการนำข้อมูลของนักวิชาการตะวันตกมาประกอบ สรุปว่าถิ่นดั้งเดิมของชนชาติไทยอยู่ทางตอนใต้ของจีน แถบมณฑลยูนนาน กว่างโจว กวางสี จนกระทั่งจีนแผ่อิทธิพลทางการปกครองลงมา จนทำให้ผู้คนในบริเวณนั้นต้องอพยพลงมาถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน

2) หลวงวิจิตรวาทการ ข้อมูลที่เสนอผ่านผลงานเรื่อง “งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย” ได้อธิบายว่าถิ่นเดิมของชนชาติไทยอยู่บริเวณตอนกลางของจีนแถบมณฑลเสฉวนตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายตั้งแต่แนวแม่น้ำพรหมบุตรไปจนถึงทะเลจีนใต้แถบอ่าวตังเกี๋ย

3) ข้อมูลของจิตร ภูมิศักดิ์ ผ่านผลงานเรื่อง “ความเป็นมาของคำสยามไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ได้ศึกษาผ่านการวิเคราะห์ภาษา และตำนานท้องถิ่นของภาคเหนือ ได้สรุปว่า ถิ่นกำเนิดของคนไทยนั้นครอบคลุมบริเวณกว้างใหญ่ทางตอนใต้ของจีน เวียดนาม ลาว เขมร ภาคเหนือของไทย พม่า ไปจนถึงรัฐอัสสัมของอินเดีย เนื่องจากมีพื้นฐานทางนิรุกติศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน

 4) ข้อมูลของศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร นักวิชาการคนสำคัญของประเทศไทย ท่านได้ศึกษาวิเคราะห์จากหลักฐานของชาวตะวันตกทั้งทางด้านภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และมานุษยวิทยา รวมไปถึงการลงพื้นที่ด้วยตนเอง ได้สรุปไว้ว่า ถิ่นเดิมของคนไทยน่าจะอยู่บริเวณมณฑลกวางสี ทางใต้ของจีน เนื่องจากในเขตดังกล่าวเป็นพื้นที่กลุ่มชนที่มีความหลากหลายทั้งทางวัฒนธรรมและประเพณี


ข้อมูลประวัติความเป็นมาส่วนใหญ่จะอธิบายใกล้เคียงกัน ในลักษณะของการอพยพลงใต้จากจีน แล้วแผ่ขยายลงหลักปักฐานอยู่ในบริเวณกว้างทางภาคเหนือของไทยเกิดเป็นเมืองและเมืองขนาดใหญ่ที่ขยายตัวเป็นอาณาจักรตามมา กล่าวอีกนัยหนึ่ง ตั้งแต่ที่สมัยไทยอพยพลงมานั้น ดินแดนแหลมทองเป็นที่อยู่ของชนชาติมอญ ละว้าของขอม พวกมอญอยู่ทางตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไปจรดมหาสมุทรอินเดีย พวกละว้ามีอาณาเขตอยู่ในบริเวณภาคกลาง มีเมืองนครปฐมเป็นเมืองสำคัญพอถึงพุทธศตวรรษที่ 14 ขอมซึ่งอยู่ทางตะวันออกมีอำนาจมากขึ้นเข้ายึดเอาดินแดนพวกละว้าไปไว้ในอำนาจ แล้วแบ่งการปกครองเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนภาคเหนือ และส่วนภาคใต้ ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 16 สมดุลอำนาจในการแย่งชิงพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงไป มอญกับขอมสู้รบกันจนเสื่อมอำนาจลง และในช่วงเวลานั้นสุโขทัยได้ปรากฏขึ้นมาอย่างชัดเจนในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

จากร่องรอยหลักฐานทางเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ มีการยืนยันและเชื่อว่า ประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยในแหลมทอง (Golden Khersonese) เริ่มต้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 800 (พุทธศตวรรษที่ 8 - 12) เป็นต้นมา โดยมีดินแดนของอาณาจักรและแคว้นต่าง ๆ เช่น อาณาจักรฟูนัน ตั้งอยู่บริเวณทางทิศตะวันตกและชายทะเลของอ่าวไทย และมีอาณาจักรหริภุญชัยทางเหนือ อาณาจักรศรีวิชัยทางใต้ และมีอาณาจักรทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12) บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เป็นต้น และได้รวมตัวเป็นปึกแผ่น มีพระมหากษัตริย์ได้สถาปนาอาณาจักรสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของชนชาติไทย ราวปี พ.ศ. 1762 โดยพ่อขุนศรีนาวนำถม พระราชบิดาของพ่อขุนผาเมือง เป็นผู้ปกครองอาณาจักรจากหลักฐานและข้อมูลข้างต้นนี้ รวมถึงสมมติฐานของแหล่งอารยธรรมต่าง ๆ ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่แหล่งกำเนิดของชนชาติกลุ่มในอดีตจะอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำ อาทิ แหล่งอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มระหว่างแม่น้ำไทกริส (Tigris) ทางตะวันออก และแม่น้ำยูเฟรติส (Euphrates) ทางตะวันตกหรืออารยธรรมอินเดียโบราณหรืออารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำ เป็นต้น ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ชนกลุ่มต่าง ๆ ที่เคยอาศัยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หรือบริเวณรอบอ่าวไทย มีการรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น มีการพัฒนาเป็นชุมชน สังคม และเมือจนกลายมาเป็นอาณาจักรต่าง ๆ ของชนชาติไทยตามพงศาวดาร

  1.1.3 การรวมไทยเป็นปึกแผ่น

ภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรอยุธยา ใน พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้พยายามกอบกู้เอกราชและศักดิ์ศรีของอาณาจักรกลับคืนมา หลังจากการสถาปนาอาณาจักรธนบุรีขึ้น ต้องเผชิญกับสงครามภายนอกจากกองทัพพม่า และสงครามภายใน คือ การปราบชุมนุมที่แย่งชิงความเป็นใหญ่แตกกันเป็นก๊กเป็นเหล่า ช่วงเวลาผ่านไปจนถึง พ.ศ. 2325 อาณาจักรรัตนโกสินทร์เป็นแผ่นดินไทยที่พอจะเรียกได้ว่า “เป็นปึกแผ่น” ขึ้นมาบ้าง ถึงแม้ว่าในเวลาต่อมาจะเกิดสงครามเก้าทัพที่เป็นศึกใหญ่ในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ก็ถือว่าเป็นช่วงแห่งสันติสุขมาได้ยาวนาน

ความเป็นปึกแผ่นของความมั่นคงของสยามเด่นชัดมากขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยาม เป็น “ไทย” กล่าวอีกนัยหนึ่ง “การสร้างชาติ” ได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในยุคสมัยนี้ คือ มีครบทั้งอาณาเขต  ดินแดน ประชากร อำนาจอธิปไตย รัฐบาล ไปจนถึงสัญลักษณ์ของชาติที่แสดงถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย เช่น ภาษาไทย และธงชาติไทย เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้คนในยุคปัจจุบันจะต้องอนุรักษ์หวงแหนให้สามารถดำรงสืบไปในอนาคต

แหล่งกำเนิดของชนชาติไทย จะอพยพมาจากที่ใด จะมีการพิสูจน์หรือได้รับการยอมรับหรือไม่ คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิสูจน์หาความจริง คงปล่อยให้เป็นเรื่องของนักประวัติศาสตร์หรือนักวิชาการ แต่ความสำคัญอยู่ที่ลูกหลานคนไทยทุกคนที่อาศัยอยู่บนพื้นแผ่นดินไทย ต้องได้เรียนรู้และต้องยอมรับว่า การรวมชนชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น และอยู่สุขสบายจนถึงปัจจุบันนี้     คนไทยและลูกหลานไทยทุกคนต้องตระหนักถึงบุญคุณของบรรพบุรุษไทยและพระปรีชาสามารถของบูรพมหากษัตริย์ไทยในอดีตที่สามารถรวบรวมชนชาวไทย ปกป้องรักษาเอกราชและรวบรวมชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น จึงเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต ซึ่งหากจะย้อนรอยไปศึกษาพงศาวดารฉบับต่าง ๆ รวมถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย ตั้งแต่ยุคก่อนการสถาปนากรุงสุโขทัย ให้เป็นราชธานีแห่งแรกของชนชาวไทยแล้ว การสถาปนาราชธานีทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าจะเป็นการสถาปนากรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงการกอบกู้เอกราชหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง 2 ครั้ง ล้วนเป็นวีรกรรมและบทบาทอันสำคัญของพระมหากษัตริย์ไทยทั้งสิ้น

สงคราม 9 ทัพระหว่างพม่ากับไทย

https://www.pleasurecaptains.com

จุดเริ่มต้น..ยืนเคารพธงชาติไทยครั้งแรก

https://hilight.kapook.com/view/142107

เงินถุงแดง

 https://www.stou.ac.th/study/sumrit/5-60/page1-5-60.html

1.1.4 พระมหากษัตริย์ไทยกับการรวมชาติ

การรวมชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น เป็นบทบาทที่สำคัญของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต หากรัฐใดแคว้นใด ไม่มีผู้นำหรือพระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็ง มีพระปรีชาสามารถทั้งด้านการรบ การปกครองรวมถึงด้านการค้า เศรษฐกิจการคลัง รัฐนั้นหรือแคว้นนั้น ย่อมมีการเสื่อมอำนาจลงและถูกยึดครองไปเป็นเมืองขึ้นหรือประเทศราชภายใต้การปกครองของชนชาติอื่น การถูกยึดครองหรือไปเป็นเมืองขึ้นภายใต้การปกครองของอาณาจักรอื่นในอดีต สามารถทำได้หลายกรณี อาทิ การยอมสิโรราบโดยดี โดยการเจริญไมตรีและส่งบรรณาการถวาย โดยไม่มีศึกสงครามและการเสียเลือดเนื้อ สถาบันพระมหากษัตริย์ ได้มีบทบาทสำคัญในการรวมชาติให้เป็นปึกแผ่น รวมถึงการปกป้องประเทศชาติและมาตุภูมิสืบไว้ให้ลูกหลานไทยได้มีแผ่นดินอยู่ ซึ่งหากชนชาติไทยในอดีต ไม่มีผู้นำหรือกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ ในวันนี้อาจไม่มีชาติไทยหลงเหลืออยู่ในแผนที่โลก หรือชนชาติไทยอาจต้องตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของชาติใดชาติหนึ่ง

บทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยในการรวมชาติ

บทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยในการรวมชาติ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 หรือในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของอาณาจักรเกิดขึ้นจากการปรับปรุงการปกครอง ประมวลกฎหมายการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เกิดเป็นยุคทองของการฟื้นฟูวรรณคดี นาฏศิลป์ ดนตรีไทย การค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองโดยเฉพาะกับจีน เกิดเป็น “เงินถุงแดง” ที่นำมาใช้ในช่วงวิกฤตของประเทศ

ภายหลังความพ่ายแพ้ของอาณาจักรพม่า และราชวงศ์ชิงของจีนในการทำศึกกับอังกฤษ พระมหากษัตริย์ไทยในช่วงเวลานั้นได้ตระหนักถึงภัยของ “ลัทธิล่าอาณานิคม” เป็นอย่างดี และทรงตระหนักว่าสยามนี้ต้องมีการปรับตัวและพัฒนาตนเองให้รอดพ้นจากภัยร้ายจากการคุกคามของชาติตะวันตกที่เด่นชัดเริ่มต้นเมื่ออังกฤษเข้ามาขอทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาเกิดวิกฤต ร.ศ. 112 ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่ง ฝรั่งเศสนำเรือปืนเข้ามาถึงแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้พระบรมมหาราชวัง บีบบังคับให้สยามยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้อยู่ใต้อาณัติของฝรั่งเศส พร้อมทั้ง เรียกร้องค่าเสียหายด้วยจำนวนเงินกว่า 2 ล้านฟรังก์ เป็นอีกครั้งที่อิสรภาพของสยามอยู่ในจุดที่อาจตกเป็นเมืองขึ้นหรืออาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก

ในช่วงเวลาดังกล่าวแม้ว่าจะมีภัยรอบด้าน อริราชศัตรูเก่าอย่างพม่า หรือญวนพ่ายแพ้แก่ชาติตะวันตกไปแล้ว ถึงกระนั้นสยามกลับมีความเป็น “ปึกแผ่น” อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ผ่านการเป็น “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่อำนาจของกษัตริย์ช่วยดลบันดาลให้เกิดความผาสุกของราษฎร เกิดเป็นการ “เลิกระบบไพร่ทาส”

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ความเป็นชาติได้เด่นชัดขึ้น ชื่อของประเทศสยามได้รับการยอมรับว่าทัดเทียมกับหลายชาติตะวันตก เมื่อทรงส่งทหารอาสาชาวสยามเข้าร่วมสงครามโลก ครั้งที่ 1 ในภาคพื้นยุโรป สถาบันหลักของประเทศ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็เกิดขึ้นในสมัยนี้ สัญลักษณ์ของชาติ เช่น ธงไตรรงค์ก็เกิดขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของชาติสยามในโอกาสต่างๆ

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่เปลี่ยนระบอบการปกครองของสยามจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ไทย รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามตามคำร้องขอของคณะราษฎร

หลังสมัยรัชกาลที่ 7 จนถึงปัจจุบัน บทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยถึงแม้ว่าจะถูกเปลี่ยนแปลงไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ยังทรงมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการยึดเหนี่ยวจิตใจให้กับปวงชนชาวไทย ผ่านพระราชกรณียกิจในการยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎร “การรวมชาติ” ในบริบทปัจจุบันจึงไม่ใช่ความมั่งคงของดินแดนอีกต่อไป แต่เป็น “ศูนย์รวมจิตใจของปวงชน” ที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นเสมอมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

1.2 ศาสนา


    ศาสนา เป็นลัทธิความเชื่อของมนุษย์ เกี่ยวกับการกำเนิดและสิ้นสุดของโลก หลักศีลธรรมตลอดจนลัทธิพิธีที่กระทำตามความเชื่อนั้น ๆ จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศนั้นจะยึดคำสั่งสอนของศาสนาเป็นหลักในการปกครองประเทศ และมีการกำหนดศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ นอกจากศาสนาจะมีอิทธิพลต่อการปกครองของประเทศแล้วยังมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทยมีการหล่อพระพุทธรูปเป็นงานศิลปะ วัฒนธรรมการไหว้ การเผาศพ วัฒนธรรมเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาเหมือนกัน ดังนั้น ศาสนาจึงเป็นสถาบันที่สำคัญต่อประเทศมาก

1.2.1 ศาสนาพุทธ

ศาสนาพุทธ      https://www.alliedmediaconference.org


       ศาสนาพุทธ ได้เผยแผ่เข้ามาในดินแดนประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยพระเถระชาวอินเดีย เมื่อประมาณ พ.ศ. 236 โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยรวมอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ มีอาณาเขตกว้างขวาง มีหลายประเทศรวมกันในดินแดนส่วนนี้ มีจำนวน 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย พม่า ศรีลังกา ญวน กัมพูชา ลาว และมาเลเซีย ซึ่งพระพุทธศาสนาที่เข้ามาในครั้งนั้น เป็นนิกายหินยานหรือเถรวาทแบบดั้งเดิมมีพุทธศาสนิกชนเลื่อมใสศรัทธาได้บวชเป็นพระภิกษุเป็นจำนวนมาก และได้สร้างวัด สถูปเจดีย์ไว้สักการะบูชา ต่อมาภายหลัง กษัตริย์ในสมัยศรีวิชัยทรงนับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายาน จึงทำให้ศาสนาพุทธนิกายมหายานเผยแผ่เข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยทางตอนใต้ ซึ่งได้มีการรับพระพุทธศาสนาทั้งแบบเถระวาท แบบมหายาน และศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาใหม่ จึงทำให้ประเทศไทยมีผู้นับถือพระพุทธศาสนาทั้ง 2 แบบ มีพระสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย ได้แก่ นิกายเถรวาท และมหายาน

  จากพงศาวดารและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สังคมไทยส่วนใหญ่นับถือมาตั้งแต่ในอดีต และสืบทอดกันมาเป็นช้านาน ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงมีบทบาทสำคัญของวิถีชีวิตคนไทย รวมถึงวัฒนธรรมและประเพณี จนประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาของโลกโดยมี “พุทธมณฑล” เป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาโลก ตามมติของการประชุมองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2548

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันศาสนา มาเป็นลำดับ อาทิ 

   เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2489 รัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะต่อหน้าสังฆมณฑล ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน

   เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2494 รัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติตามโบราณราชประเพณี ด้วยการเสด็จทรงออกผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระองค์ทรงรับการบรรพชาเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ได้รับสมณนามจากพระอุปัชฌาย์จารว่า “ภูมิพโลภิกขุ” จากนั้นเสด็จประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศ โดยพระองค์ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัย ตามแบบอย่างพระภิกษุโดยเคร่งครัด

   รัชกาลที่ 9 ทรงอุปสมบทนาคหลวงมาตลอด โดยเริ่มปีแรกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 ได้เสด็จฯ พระราชดำเนินไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีหม่อมเจ้าสุนทรากร วรวรรณ หม่อมเจ้าอาชวดิศดิศกุล หม่อมราชวงศ์ยันตเทพ เทวกุล และ นายเสมอ จิตรพันธ์ เป็นนาคหลวง

   นอกจากนั้นรัชกาลที่ 9 ยังเสด็จฯ พระราชดำเนินไปในงานพิธีทางศาสนา ที่ประชาชนและทางราชการจัดขึ้นในที่ต่าง ๆ มิได้ขาด อีกทั้งยังทรงสร้างพระพุทธรูปขึ้น ในโอกาสสำคัญเป็นจำนวนมาก

   หลังจากที่รัชกาลที่ 10 ได้ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ เช่น เสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายผ้าพระกฐินหลวงตามวัดต่าง ๆ เป็นต้น


1.2.2 ศาสนาคริสต์

ศาสนาคริสต์    https://www.matichon.co.th/article/news_1768119


      ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่พัฒนาหรือปฏิรูปมาจากศาสนายูดาห์ ซึ่งมีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ประมาณ 2,000 ปี ก่อนคริสตกาล ชนเผ่าหนึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวยิว ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ดินแดนเมโสโปเตเมีย มีหัวหน้าเผ่าชื่อ “อับราฮัม” (อับราฮัม เป็นศาสดาของศาสนายูดาห์) ได้อ้างตนว่า ได้รับโองการจากพระเจ้าให้อพยพชนเผ่าไปอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า แผ่นดินคานาอัน (บริเวณประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน) โดยอับราฮัมกล่าวว่า พระเจ้ากำหนดและสัญญาให้ชนเผ่านี้เป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ต่อไป การที่พระเจ้าสัญญาจึงก่อให้เกิดพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับชนชาวยิว ดังนั้น ในเวลาต่อมาจึงเรียกคัมภีร์ของศาสนายูดาห์และศาสนาคริสต์ว่า “พันธสัญญา”

      ศาสนาคริสต์เข้ามาในประเทศไทยยุคเดียวกับการล่าอาณานิคมของลัทธิจักรวรรดินิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวโปรตุเกส ชาวสเปน และชาวดัตช์ ที่กำลังบุกเบิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งนอกจากกลุ่มที่มีจุดประสงค์ คือ ล่าเมืองขึ้นและเผยแพร่ศาสนาพร้อมกัน เช่น จักรวรรดิอาณานิคมฝรั่งเศส มาได้เมืองขึ้นในอินโดจีน เช่น ประเทศเวียดนาม กัมพูชา ลาว โดยลักษณะเดียวกับโปรตุเกสและสเปน ในขณะที่ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะการเปิดเสรีในการเผยแพร่ศาสนา ทำให้ลดความรุนแรงทางการเมืองลง ศาสนาคริสต์ที่เผยแพร่ในไทยเป็นครั้งแรกเป็นนิกายโรมันคาทอลิก ปรากฏหลักฐานว่าในปี พ.ศ. 2110 (ค.ศ. 1567) มีมิชชันนารี คณะดอมินิกัน 2 คน เข้าสอนศาสนาให้ชาวโปรตุเกส รวมถึงชาวพื้นเมืองที่เป็นภรรยา

       ศาสนาคริสต์ได้รับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์เช่นเดียวกับศาสนาอื่น โดยรัชกาลที่ 9 ทรงอุดหนุนกิจการของศาสนาคริสต์ตามวาระโอกาสต่าง ๆ อยู่เสมอ สามารถสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล โบสถ์และประกอบศาสนกิจได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในงานพิธีสำคัญ ๆ ของศาสนาคริสต์เป็นประจำ ที่สำคัญที่สุด คือ เสด็จพระราชดำเนินเยือนนครรัฐวาติกัน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนทวีปยุโรปเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2503 เพื่อกระชับพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทยกับคริสตจักร ณ กรุงวาติกัน

        เมื่อพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาธอลิก เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ เมื่อวันที่ 10 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 ครั้งนั้นนับว่าเป็นกรณีพิเศษอย่างยิ่ง เพราะไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิกจะเสด็จมาเยือนประเทศไทยเช่นนี้ ได้เสด็จออกทรงรับ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทอย่างสมพระเกียรติ

         สำหรับรัชกาลที่ 10 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทร-มหาภูมิพลอดุลยเดช ไปเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด อาคารคริสตจักร ใจสมาน เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2522 เสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปรับเสด็จ พระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ในโอกาสเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ณ ท่าอากาศยานกองบัญชาการกองทัพอากาศ


1.2.3 ศาสนาอิสลาม

มุสลิมในประเทศไทย  https://pattanieconomy.wordpress.com


        ศาสนาอิสลาม เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยตั้งแต่ยุคสมัยสุโขทัย และช่วงกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา โดยกลุ่มพ่อค้าชาวมุสลิมในคาบสมุทรเปอร์เซียที่เข้ามาค้าขายในแหลมมลายู (อินโดนีเซียและมาเลเซีย) ได้นำศาสนาอิสลามเข้ามา ภายหลังคนพื้นเมืองจึงได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม และบางคนเป็นถึงขุนนางในราชสำนัก ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีชาวมุสลิมอพยพมาจากมลายูและเปลี่ยนสัญชาติเป็นไทย นอกจากนี้ยังมีชาวมุสลิมอินเดียที่เข้ามาตั้งรกราก รวมถึงชาวมุสลิมยูนนานที่หนีภัยการเบียดเบียนศาสนาหลังการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน ศาสนาอิสลามในประเทศไทย จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยสถิติระบุว่าประชากรมุสลิมมีจำนวนประมาณ 2.2 ล้านคน ถึง 7.4 ล้านคน

       ก่อนปี พ.ศ. 2505 กงศุลแห่งประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 9 เพื่อถวายคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับที่มีความหมายเป็นภาษาอังกฤษ โดยรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริว่า ควรจะมีคัมภีร์อัลกุรอานฉบับความหมายภาษาไทย ให้ปรากฏเป็นศรีสง่าแก่ประเทศชาติ เมื่อนายต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรีในสมัยนั้น เป็นผู้นำผู้แทนองค์การสมาคม และกรรมการอิสลามเข้าเฝ้าถวายพระพรในนามของชาวไทยมุสลิมในวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีนั้น รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้จุฬาราชมนตรี แปลความหมายของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานจากคัมภีร์ฉบับภาษาอาหรับโดยตรง สิ่งนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อศาสนาอิสลาม และทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกอย่างแท้จริง

       ในช่วงเวลาที่จุฬาราชมนตรีแปลพระมหาคัมภีร์ถวาย ทุกครั้งที่เข้าเฝ้า รัชกาลที่ 9 จะทรงแสดงความห่วงใยตรัสถามถึงความคืบหน้า อุปสรรค ปัญหาที่เกิดขึ้น และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้พิมพ์เผยแพร่ ในปี พ.ศ. 2511 อันเป็นปีครบ 14 ศตวรรษแห่งอัลกุรอาน ประเทศมุสลิมทุกประเทศต่างก็จัดงานเฉลิมฉลองกันอย่างสมเกียรติ ประเทศไทยแม้จะไม่ใช่ประเทศมุสลิม แต่ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลอง 14 ศตวรรษแห่งอัลกุรอานขึ้น ณ สนามกีฬากิตติขจร เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2511 เป็นวันเดียวกันกับการจัดงานเมาลิดกลาง ในปีนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี และในวันนั้นเป็นวันเริ่มแรกที่พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับความหมายภาษาไทย ได้พิมพ์ถวายตามพระราชดำริและได้พระราชทานแก่มัสยิดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดนเน้นย้ำ ดังนี้

       1. การแปลพระคัมภีร์อัลกรุอานเป็นภาษาไทย ขอให้แปลอย่างถูกต้อง

  2. ขอให้ใช้สำนวนเป็นภาษาไทยที่สามัญชนทั่วไปอ่านเข้าใจได้

        นอกจากนี้ในงานได้มีการพระราชทานรางวัลโล่เกียรติคุณ และเงินรางวัลแก่ผู้นำศาสนาอิสลามประจำมัสยิดต่าง ๆ และทรงมีพระราชดำริให้มีการสนับสนุนการจัดสร้างมัสยิดกลางประจำจังหวัดขึ้น โดยให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณแผ่นดินสำหรับจัดสร้าง ขณะนี้ได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วใน 4 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานในพิธีด้วยพระองค์เอง

        รัชกาลที่ 10 หรือ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร” ในขณะนั้นได้ทรงเคยปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทั้งเสด็จพระราชดำเนินในฐานะผู้แทนพระองค์ และในฐานะของพระองค์เอง ได้แก่ ทรงเป็นผู้แทนพระองค์เปิดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย เสด็จพระราชดำเนินเยือนมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เพื่อพระราชทานถ้วยรางวัลการทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน และโดยเสด็จรัชกาลที่ 9 ไปจังหวัดนราธิวาส และพระราชทานพระคัมภีร์อัลกุรอาน และคำแปลเป็นภาษาไทยแก่คณะกรรมการอิสลาม

1.2.4 ศาสนาซิกข์

 ศาสนาซิกข์  https://www.winnews.tv/news/12566


         ชาวซิกข์ส่วนมากยึดอาชีพค้าขายอิสระ บ้างก็แยกย้ายถิ่นฐานทำมาหากินไปอยู่ต่างประเทศบ้าง และเดินทางไปมาระหว่างประเทศ ในบรรดาชาวซิกข์ดังกล่าว มีพ่อค้าชาวซิกข์ผู้หนึ่งชื่อ นายกิรปาราม มาคาน ได้เดินทางไปประเทศอัฟกานิสถาน เพื่อหาซื้อสินค้าแล้วนำไปจำหน่ายยังบ้านเกิด สินค้าที่ซื้อครั้งหนึ่ง มีม้าพันธุ์ดีรวมอยู่ด้วยหนึ่งตัว เมื่อขายสินค้าหมดแล้ว ได้เดินทางมาแวะที่ประเทศสยาม โดยนำม้าตัวดังกล่าวมาด้วย และมาอาศัยอยู่ในพระบรมโพธิสมภาร ของพระมหากษัตริย์สยาม ได้รับความอบอุ่นใจเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น เมื่อเขามีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เขาจึงได้กราบบังคมทูลน้อมเกล้าฯถวายม้าตัวโปรดของเขาแด่พระองค์ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเห็นในความจงรักภักดีของเขา พระองค์จึงได้พระราชทานช้างให้เขาหนึ่งเชือก ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นในระหว่างเดินทางกลับอินเดีย

         เมื่อเขาเดินทางกลับมาถึงอินเดียแล้วเห็นว่าของที่เขาได้รับพระราชทานมานั้นสูงค่าอย่างยิ่งควรที่จะเก็บรักษาให้สมพระเกียรติยศแห่งพระเจ้ากรุงสยาม จึงได้นำช้างเชือกนั้นไปถวายพระราชาแห่งแคว้นแคชเมียร์ พร้อมทั้งเล่าเรื่องที่ตนได้เดินทางไปประเทศสยาม ได้รับความสุขความสบายจากพี่น้องประชาชนชาวสยาม ซึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองด้วยทศพิธราชธรรมเป็นที่ยกย่องสรรเสริญของประชาชน ถวายการขนานนามของพระองค์ว่า พระปิยมหาราช

          พระราชาแห่งแคว้นแคชเมียร์ได้ฟังเรื่องราวแล้วมีความพอพระทัยอย่างยิ่งทรงรับช้างเชือกดังกล่าวเอาไว้แล้วขึ้นระวางเป็นราชพาหนะ พร้อมกับมอบแก้วแหวนเงินทองให้นายกิรปารามมาดาม เป็นรางวัล จากนั้นได้เดินทางกลับบ้านเกิด ณ แคว้นปัญจาป แต่ครั้งนี้เขาได้รวบรวมเงินทอง พร้อมทั้งชักชวนเพื่อน ให้ไปตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงสยามตลอดไป

         รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในงานฉลองครบรอบ 500 ปี แห่งศาสนาซิกข์ ตามคำอัญเชิญของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา โดยในปี พ.ศ. 2550 มีศาสนิกชนชาวซิกข์อยู่ในประเทศไทยประมาณสามหมื่นคน ทุกคนต่างมุ่งประกอบสัมมาอาชีพภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งพระมหากษัตริย์ไทย ด้วยความมั่งคั่งสุขสงบทั้งกายและใจโดยทั่วหน้า

1.2.5 ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู

สิ่งเคารพสูงสุดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

https://luddawan2905.wordpress.com

พราหมณ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

https://www.thebangkokinsight.com/news/politicsgeneral/general/141712/


       ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ถือเป็นอีกศาสนาหนึ่งที่มีความเก่าแก่ และอยู่คู่ประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน เข้าไปมีส่วนในพิธีสำคัญ ๆ โดยเฉพาะพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่เป็นพระราชพิธีสถาปนาพระมหากษัตริย์ขึ้นเป็นสมมติเทพปกครองแผ่นดินเป็นใหญ่ในทิศทั้งแปด และเป็นการประกาศให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ตามคติพราหมณ์จะประกอบพิธีอัญเชิญพระเป็นเจ้า เพื่อทำการสถาปนาให้พระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ ดำรงธรรมสิบประการ ปกครองประเทศด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ด้วยเหตุนี้พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการส่งเสริม และอุปถัมภ์กิจการของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูในประเทศไทยด้วยดีเสมอมา

ในสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงให้การสนับสนุนกิจการต่าง ๆ ของศาสนิกชนในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ที่เข้ามาอยู่ใต้เบื้องพระบรมโพธิสมภารในประเทศไทยอีกด้วย ดังเห็นได้จากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยศาสนิกชนชาวอินเดียที่นับถือศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู รวมทั้งการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์และเปิดศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ที่สำคัญ เช่น เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2512 พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงเป็นประธานในการเปิดอาคาร “เทพมณเฑียร” ณ สมาคมฮินดูสมาชถนนศิริพงษ์ แขวงเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร

รัชกาลที่ 10 หรือ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร”ในขณะนั้น ได้เคยเสด็จฯ แทนรัชกาลที่ 9 ไปทรงเจิมเทวรูปพระอิศวร พระอุมา พระคเณศร์ พระนารายณ์ พระพรหม และพระราชทานเงินให้แก่หัวหน้าคณะพราหมณ์ ผู้เป็นประธานในการประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

1.3 พระมหากษัตริย์

พระมหากษัตริย์ไทย  http://nsthai.blogspot.com/2016/12/blog-post_14.html

ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศสืบเนื่องมากว่า 700 ปี ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ การปกครองโดยระบบกษัตริย์เป็นวัฒนธรรมที่ไทยรับมาจากอินเดีย พร้อมกับการรับวัฒนธรรมความเชื่อทางศาสนา โดยได้ผสมผสานแนวคิดหลัก 3 ประการเข้าด้วยกัน คือ แนวคิดในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ที่เชื่อว่ากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทพ แนวคิดในพุทธศาสนาที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีสถานะเปรียบประดุจพระพุทธเจ้า ทรงเป็นจักรพรรดิราชหรือธรรมราชา ที่กอปรด้วยราชธรรมหลายประการ อาทิ ทศพิธราชธรรม และจักรวรรดิวัตร 12 ประการ แนวคิดทั้งสองประการดังกล่าวนี้ อยู่บนพื้นฐานของแนวคิดประการที่สาม คือ การปกครองแบบพ่อปกครองลูก ดังปรากฏมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การปกครองโดยระบบกษัตริย์ของไทย มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างจากประเทศอื่น (มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, 2554 : พระราชนิพนธ์คำนำ)

ตามอนุสัญญามอนเตวิเดโอว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ (The Montevideo Convention on the Rights and Duties of State) ค.ศ. 1393 มาตรา 1 ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของรัฐเพื่อวัตถุประสงค์ในกฎหมายระหว่างประเทศว่า รัฐประกอบด้วย ประชากรที่อยู่รวมกันอย่างถาวร ดินแดนที่กำหนดได้อย่างแน่ชัด ความสามารถที่สถาปนาความสัมพันธ์กับต่างรัฐได้ (อำนาจอธิปไตย) และมีรัฐบาล ซึ่งในการปกครองประเทศไม่ว่าจะเป็นระบอบใดก็ตาม เพื่อให้การปกครองเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย จะต้องมีผู้นำเป็นผู้บริหารปกครองประเทศ โดยที่ผู้นำหรือประมุขสูงสุดในการปกครองประเทศของนานาอารยประเทศนั้น จะมีความแตกต่างกันไป ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับระบบการปกครอง ประเพณีนิยมและธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมา หรือบางประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบการปกครองของประเทศนั้น ๆ เช่น มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุด หรือมีประธานาธิบดีเป็นผู้ปกครองประเทศหรือรัฐ สำหรับประเทศไทยเรานั้นมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดในการปกครองประเทศมาตั้งแต่อดีตกาล


       ความหมายของคำว่า พระมหากษัตริย์

         พระมหากษัตริย์ คือ ประมุขหรือผู้ปกครองสูงสุดของประเทศ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมี

พระมหากษัตริย์เป็นประมุขปกครองประเทศ อันเกิดจากแนวความคิดที่ว่า แต่เดิมมนุษย์ยังมีน้อยดำรงชีพแบบเรียบง่ายอยู่กับธรรมชาติ และเมื่อมนุษย์ขยายพันธุ์มากขึ้น ธรรมชาติต่าง ๆ เริ่มหมดไป เกิดการแก่งแย่งกันทำมาหากิน เกิดปัญหาสังคมขึ้น จึงต้องหาทางแก้ไข คนในสังคมจึงคิดว่าต้องพิจารณาคัดเลือกให้บุคคลที่เหมาะสมและมีความเฉลียวฉลาด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้พิจารณาตัดสิน เมื่อเกิดกรณีปัญหาต่าง ๆ ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ทำให้คนในสังคมพอใจ และยินดี ประชาชนทั้งหลายจึงเปล่งอุทานว่า “ระชะ” หรือ “รัชชะ” หรือราชา แปลว่า ผู้เป็นที่พอใจประชาชนยินดี ต่อมาเลยเรียกว่า พระราชา ด้วยเหตุที่ว่าการกระทำหน้าที่ดังกล่าวไม่มีเวลาไปประกอบอาชีพ ประชาชนทั้งหลายพากันบริจาคยกที่ดินให้ จึงเป็นผู้มีที่ดินมากขึ้นตามลำดับ คนทั้งหลายจึงเรียกว่า เขตตะ แปลว่า ผู้มีที่ดินมาก และเขียนในรูปภาษาสันสกฤษว่า เกษตตะ หรือ เกษตร ในที่สุดเขียนเป็นพระมหากษัตริย์ แปลว่า ผู้ที่มีที่ดินมาก ดังนั้น คำว่า พระมหากษัตริย์ ความหมายโดยรวม ก็คือ ผู้ที่ยึดครอง หวงแหนและขยายผืนแผ่นดินไว้ให้แก่ประชาชนหรืออาณาประชาราษฎร์ ที่พระองค์ทรงเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตกอบกู้เอกราชบ้านเมืองไว้ให้ชนรุ่นหลัง อย่างเช่นประเทศไทยของเรานี้ ถ้าไม่มีพระมหากษัตริย์ทรงยึดถือครอบครองผืนแผ่นดินไทยไว้ คนไทยทุกคนจะมีผืนแผ่นดินไทยอยู่ทุกวันนี้ได้อย่างไร อนึ่ง พระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศที่เป็นประมุขของรัฐที่ได้รับตำแหน่งโดยการสืบสันตติวงศ์นั้นอาจจำแนกประเภทโดยอาศัยพระราชอำนาจ และพระราชสถานะเป็น 3 ประการ คือ

1. พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ มีพระราชอำนาจและพระบรมเดชานุภาพเด็ดขาด และล้นพ้นแต่พระองค์เดียว และในอดีตประเทศไทยเคยใช้อยู่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

2. พระมหากษัตริย์ในระบอบปรมิตาญาสิทธิราชย์ (Limited Monarchy) คือ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจทุกประการ เว้นแต่จะถูกจำกัดโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เช่น ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น

3. พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) คือ ในระบอบนี้มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ในการใช้พระราชอำนาจด้านการปกครองนั้น ถูกโอนมาเป็นของรัฐบาล พลเรือน และทหาร พระมหากษัตริย์จึงทรงใช้พระราชอำนาจผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ พระองค์มิได้ใช้พระราชอำนาจ แต่มีองค์กรหรือหน่วยงานรับผิดชอบต่าง ๆ กันไป เช่น ประเทศไทย อังกฤษ และญี่ปุ่นในปัจจุบัน เป็นต้น

พระมหากษัตริย์ของไทย

    หากนับย้อนอดีตประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยโบราณ คำว่า กษัตริย์” หรือนักรบผู้ยิ่งใหญ่ ศึกษาได้จากในสมัยกรุงสุโขทัยมีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก จะมีความใกล้ชิดกับประชาชนมาก เช่น ในสมัยราชวงศ์พระร่วง กษัตริย์จะมีพระนามขึ้นต้นว่า “พ่อขุน” เรียกว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนรามคำแหง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้รับคติพราหมณ์มาจากขอม เรียกว่า เทวราชา หรือ สมมติเทพ หมายถึง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทพมาอวตารเพื่อปกครองมวลมนุษย์ ทำให้ชนชั้นกษัตริย์มีสิทธิอำนาจมากที่สุดในอาณาจักร และห่างเหินจากชนชั้นประชาชนมาก ในสมัยราชวงศ์อู่ทอง จึงมีพระนามขึ้นต้นว่า “สมเด็จ” เรียกว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สมเด็จพระราเมศวร หรือในสมัยรัตนโกสินทร์ แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เริ่มด้วยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลปัจจุบันคือรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นการยกย่องเทิดทูลสถาบันองค์พระมหากษัตริย์ จึงมีพระนามขึ้นต้นว่า พระบาทสมเด็จ เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9)

             ดังนั้นคำว่า “พระมหากษัตริย์ของไทย” อาจมีคำเรียกที่แตกต่างกันตามประเพณีนิยม หรือธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่น เรียกว่า พระราชา เจ้ามหาชีวิต เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน พ่อเมือง พระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัว หรือในหลวง ฯลฯ และพระมหากษัตริย์เป็นได้ด้วยการสืบสันตติวงศ์ หรือโดยการยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์พระองค์เดิมแล้วปราบดาภิเษกตนเองขึ้น

เป็นพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ ในการสืบสันตติวงศ์ต่อกันมาโดยเชื้อพระวงศ์ เรียกว่า พระราชวงศ์ เมื่อสิ้นสุดการสืบทอดโดยเชื้อพระวงศ์ ด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ จะเป็นต้นพระราชวงศ์ใหม่หรือเป็นผู้สถาปนาพระราชวงศ์


พระมหากษัตริย์ไทยกับรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ   https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1766722


      ในอดีตพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของชีวิตและเจ้าแผ่นดิน กล่าวคือ ทรงพระบรมเดชานุภาพเป็นล้นพ้น โดยหลักแล้วจะโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดสิ้นชีวิตก็ย่อมกระทำได้ และทรงเป็นเจ้าชีวิตของที่ดินตลอดทั่วราชอาณาจักร แต่เมื่อภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ระบบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้พระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนแปลง

ไปด้วยคือ ทรงเปลี่ยนฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทในการใช้พระราชอำนาจทั้งปวง

พระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

       รูปแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับอันเป็นกฎหมายแม่บทสูงสุดในการปกครองประเทศ จะต้องกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะรูปแบบประมุขของประเทศไทย คือ พระมหากษัตริย์ที่สืบเนื่องกันมาอย่างยาวนาน ตามประเพณีการปกครองไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และตามรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์จะมีพระราชสถานะและตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ มี 2 ประการ คือ

   1) พระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ เช่น พระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุข หรือพระมหากษัตริย์เป็นอัครศาสนูปถัมภก รวมทั้งทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ดังปรากฎในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) หมวด 2 กษัตริย์ มาตรา 3 กล่าวว่า “กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่น ๆ ซึ่งจะมีบางกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์” และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร) หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 8 กล่าวว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” ซึ่งบทบัญญัติเรื่องนี้ได้รับอิทธิพลมาจากรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น ที่สอดคล้องกับความคิดความเชื่อของคนไทย ทั้งนี้ด้วยมีความประสงค์ที่จะสำแดงพระราชสถานะอันสูงสุดของพระมหากษัตริย์ให้ประจักษ์ คติการปกครองประชาธิปไตยพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมือง จนเป็นเหตุให้เกิดหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่า “พระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำผิด” (The King can do no wrong) ซึ่งหมายถึงผู้ใดจะฟ้องร้องหรือกล่าวหาพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นในทางคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ตาม

  2) พระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามประเพณีการปกครอง ตามหลักทั่วไปพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น คือ แต่เดิมพระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิขาดในทุก ๆ เรื่อง และทุก ๆ กรณีแต่ผู้เดียว ต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ถ้ากรณีใดไม่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนดขอบเขตหรือเงื่อนไขของการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้ พระมหากษัตริย์ก็จะยังคงมีพระราชอำนาจเช่นนั้นอยู่โดยผลของธรรมเนียมปฏิบัติ (Convention) ซึ่งมีค่าบังคับเป็นรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน เช่น พระราชอำนาจในภาวะวิกฤต กล่าวคือ เมื่อเกิดวิกฤตร้ายแรงทางการเมืองถึงการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 17 - 20 พฤษภาคม 2535 ก็ดี จะเห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงเข้ามาระงับเหตุร้อนให้สงบเย็นลงได้อย่างอัศจรรย์ เป็นต้น หรือกรณีพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมาย กรณีของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยหลักแล้ว ร่างกฎหมายไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องนำทูลเกล้าทูลกระหม่อม ภายใน 20 วัน เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ และในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องนำร่างกฎหมายนั้นขึ้นทูลเกล้าถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน นายกรัฐมนตรีต้องนำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว (มาตรา 94) เป็นต้น

สถาบันพระมหากษัตริย์ก่อให้เกิดคุณประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลต่อประเทศชาติมาตั้งแต่โบราณจวบจนปัจจุบันนี้ ทั้งในฐานะที่ก่อให้เกิดการสร้างชาติ การกู้เอกราชของชาติการรักษาและพัฒนาชาติ มีสาระสำคัญที่ควรแก่การนำมาศึกษา คือ

1) พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน 

พระมหากษัตริย์ทรงทำให้เกิดความสำนึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้ว่าสถาบันการเมืองการปกครองจะแยกสถาบันนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่ต้องให้อำนาจของตนภายใต้พระปรมาภิไธย ทำให้ทุกสถาบันมีจุดรวมกัน อำนาจที่ได้มาจากแหล่งเดียวกัน คือ พระมหากษัตริย์ นอกจากนี้พระมหากษัตริย์ยังทำให้เกิดความสำนึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างหมู่ชนภายในชาติ โดยที่ต่างเคารพสักการะและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ร่วมกัน แม้จะมีความแตกต่างกันในด้านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา 

ก็มีความสมานสามัคคีกลมเกลียวกันในปวงชนทั้งหลาย ทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่นและเป็นพลังที่สำคัญยิ่งของชาติ กล่าวได้ว่า พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมของชาติเป็นศูนย์รวมจิตใจ ก่อให้เกิดความสมานสามัคคี และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ  เกิดเอกภาพทั้งในทางการเมืองการปกครองในหมู่ประชาชนอย่างดียิ่ง 

พระมหากษัตริย์ทรงรักใคร่ห่วงใยประชาชนอย่างยิ่งทรงโปรดประชาชนและทรงให้เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดความจงรักภักดีแน่นแฟ้นมากขึ้นไม่เสื่อมคลายพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นถิ่นทุรกันดารหรือมีอันตรายเพียงไร เพื่อทรงทราบถึงทุกข์สุขของประชาชน และพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์อย่างกว้างขวางโดยไม่จำกัด ฐานะ เพศ วัย ประชาชนก็มีความผูกพันกับพระมหากษัตริย์อย่างลึกซึ้งกว้างขวางแน่นแฟ้นมั่นคง จนยากที่จะมีอำนาจใดมาทำให้สั่นคลอนได้

ปชช.เฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ สีหบัญชร https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1482758


2) พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความต่อเนื่องของชาติ 

          สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันประมุขของชาติสืบต่อกันมาโดยไม่ขาดสายขาดตอนตลอดเวลา ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงไปกี่ชุดกี่สมัยก็ตาม แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงอยู่เป็นความต่อเนื่องของประเทศชาติ ช่วยให้การปกครองไม่มีช่องว่างแต่มีความต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะสาเหตุที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่มิได้เปลี่ยนแปลงไปตามรัฐบาลด้วย

https://www.bbc.com/thai/thailand-54492603

https://mgronline.com/daily/detail/9620000111990

https://mgronline.com/daily/detail/9620000111990

3) พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก

      ทำให้เกิดความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างคนในชาติแม้จะมีศาสนาต่างกัน เพราะพระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนาแม้ว่าพระองค์จะทรงเป็นพุทธมามกะ จึงก่อให้เกิดพลังความสามัคคีในชาติ ไม่บาดหมางกันด้วยการมีศาสนาต่างกัน



http://news.muslimthaipost.com/news/32958

ในหลวงและพระราชินีทรงเยี่ยมชาวอุดรธานี

https://www.prachachat.net/royal-house/news-553781


4) พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพลังในการสร้างขวัญและกำลังใจของประชาชน

       พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่มาแห่งเกียรติยศทั้งปวง ก่อให้เกิดความภาคภูมิ ปีติยินดี และเกิดกำลังใจในหมู่ประชาชนทั่วไปที่จะรักษาคุณงามความดี มานะพยายามกระทำความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระองค์ทรงไว้ซึ่งความดีงามตลอดเวลา ทำให้ประชาชนผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมีกำลังใจที่จะทำงานเสียสละต่อไป จึงเสมือนแรงดลใจผลักดันให้ผู้มีเจตนาดี ประกอบคุณงามความดีมุ่งมั่นในการปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง ทั้งในส่วนประชาชน ส่วนราชการหรือรัฐบาล

ร.10 ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

https://www.khaosod.co.th/specialstories/news_287488


5) พระมหากษัตริย์ทรงมีส่วนสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและทำให้การบริหารงานประเทศเป็นไปด้วยดี 

พระมหากษัตริย์ทรงขึ้นครองราชย์ด้วยความเห็นชอบยอมรับของประชาชน โดยมีรัฐสภาทำหน้าที่แทนพระองค์จึงได้รับการเทิดทูนยกย่องเสมือนผู้แทน  อันอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนด้วย การที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะยับยั้งพระราชบัญญัติ หรือพระราชทานคำแนะนำตักเตือน คำปรึกษา และการสนับสนุนในกิจการต่าง ๆ ทั้งของรัฐบาล รัฐสภา และศาล ตามรัฐธรรมนูญจัดได้ว่าพระองค์ทรงมีส่วนร่วมอันสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและก่อให้เกิดผลดีในการบริหารการปกครองประเทศ  อย่างน้อยก็ช่วยให้ฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ทั้งหลายเกิดความสำนึก เกิดความระมัดระวัง รอบคอบมิให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมมากพอสมควร พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและทรงเป็นกลางทาง

การเมืองการกำหนดหลักการสืบสันตติวงศ์ไว้อย่างชัดเจนโดยกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องประกันว่าจะทรงเป็นกลางทางการเมืองได้อย่างแท้จริง และทำให้สามารถยับยั้ง ท้วงติง

ให้การปกครองประเทศเป็นไปโดยสุจริตยุติธรรมเพื่อประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่งต่างจากประมุขของประเทศที่มาจากการเลือกตั้งที่จะต้องยึดนโยบายของกลุ่มหรือพรรคการเมืองเป็นหลัก

6) พระมหากษัตริย์ทรงแก้ไขวิกฤตการณ์ 

สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นกลไกสำคัญในการยับยั้งแก้ไขวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงในประเทศได้ ไม่ทำให้เกิดความแตกแยกภายในชาติอย่างรุนแรงจนถึงต้องต่อสู้กันเป็นสงครามกลางเมือง หรือแบ่งแยกกันเป็นประเทศเล็กประเทศน้อย  ขจัดปัดเป่ามิให้เหตุการณ์ลุกลามและทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะปกติได้ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นด้านประชาชน รัฐบาล หน่วยราชการ กองทัพ นิสิต - นักศึกษา  ปัญญาชนทั้งหลาย หรือกลุ่มต่าง ๆ แม้กระทั่งชนกลุ่มน้อยในประเทศ อันได้แก่ ชาวไทยภูเขา ชาวไทยมุสลิม เป็นต้น


"รัชกาลที่ 10"กษัตริย์จอมทัพไทย

https://pantip.com/topic/35873029


7) พระมหากษัตริย์ทรงส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ 

โดยการยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนและกองทัพ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยจึงทรงใส่พระทัยในการพัฒนากองทัพทั้งทางวัตถุและจิตใจ ทรงเยี่ยมเยียนปลอบขวัญทหาร พระราชทานของใช้ที่จำเป็น ทรงช่วยเหลืออนุเคราะห์ ผู้เสียสละเพื่อชาติ ทำให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่ทหาร ข้าราชการอย่างดียิ่งพร้อมที่จะรักษาความมั่นคงและเอกราชของชาติอย่างแน่นแฟ้น

พระราชกรณียกิจด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

http://www.lertchaimaster.com/forum/index.php?topic=1455.0


8) พระมหากษัตริย์ทรงมีส่วนเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ 

พระมหากษัตริย์ในอดีตได้ทรงดำเนินวิเทโศบายได้อย่างดีจนสามารถรักษาเอกราชไว้ได้ โดยเฉพาะสมัยการล่าเมืองขึ้นในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันก็ทรงดำเนินการให้เกิดความเข้าใจอันดี ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศต่าง ๆ กับประเทศไทย โดยเสด็จพระราชดำเนินเป็นทูตสันถวไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 31 ประเทศ ทำให้นโยบายต่างประเทศดำเนินไปอย่างสะดวกและราบรื่น นอกจากนั้นยังทรงเป็นผู้แทนประเทศไทยต้อนรับประมุขประเทศ ผู้นำประเทศ เอกอัครราชทูต และทูตสันถวไมตรีจากต่างประเทศอีกด้วย


http://www.thaitribune.org/contents/detail/0?content_id=24620&rand=1482785032

9) พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำในการพัฒนาและปฏิรูปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ 

การพัฒนาและการปฏิรูปที่สำคัญ ๆ ของชาติส่วนใหญ่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปูพื้นฐานประชาธิปไตย โดยการจัดตั้งกระทรวงต่าง ๆ ทรงส่งเสริมการศึกษาและเลิกทาส ปัจจุบันพระมหากษัตริย์ทรงเกื้อหนุนวิทยาการสาขาต่าง ๆ

ทรงสนับสนุนการศึกษาและศิลปวัฒนาธรรม ทรงริเริ่มกิจการอันเป็นการแก้ปัญหาหลักทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยจะเห็นว่าโครงการตามพระราชดำริส่วนใหญ่มุ่งแก้ปัญหาหลักทางเกษตรกรรมเพื่อชาวนา ชาวไร่ และประชาชนผู้ยากไร้และด้อยโอกาสอันเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น โครงการฝนหลวง ชลประทาน พัฒนาที่ดิน พัฒนาชาวเขา เป็นต้น

10) พระมหากษัตริย์ทรงมีส่วนเกื้อหนุนระบอบประชาธิปไตย 

บทบาทของพระมหากษัตริย์มีส่วนช่วยเป็นอย่างมากที่ทำให้ประชาชนบังเกิดความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เพราะการที่ประชาชนเกิดความจงรักภักดีและเชื่อมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีผลส่งให้ประชาชนเกิดความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วย เนื่องจากเห็นว่าเป็นระบอบที่เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนนั่นเอง